สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25- มิ.ย.-1 ก.ค. 2561

20 ภาคีแรงงานหนุน 'ปฏิรูป สปส.' เน้น 'อิสระ-มืออาชีพ' พ้นราชการ/เตรียมขยายลาคลอดบุตรจาก 90 เป็น 98 วัน/รายงาน TIP Report ยกระดับไทยดีขึ้นสู่ “Tier 2”/คสรท. ชี้ครึ่งปีหลังเสี่ยงคนตกงานมากขึ้น พบภาคธุรกิจขนเครื่องจักรเทคโนโลยีลดต้นทุน/ก.แรงงาน เปิดศูนย์ตรีเทพ ช่วย ป.ตรีมีงานทำ 11 แห่งทั่วไทย

20 ภาคีแรงงานหนุน 'ปฏิรูป สปส.' เน้น 'อิสระ-มืออาชีพ' พ้นราชการ

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ในฐานะนักวิจัยสิทธิแรงงาน กล่าวว่าจริงๆ ประกันสังคมต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ และต้องปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการปรับให้เป็นองค์กรที่ทำงานโดยอิสระ ไม่ใช่เหมือนราชการทุกวันนี้ เนื่องจากประกันสังคมเป็น กองทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินของผู้ประกันตนจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน การทำงานต้องคล่องตัว เป็นอิสระมากกว่าที่จะอิงระบบราชการ เพราะที่ผ่านมากว่าจะพิจารณาแต่ละเรื่องต้องผ่านอนุกรรมการมากมาย อย่างกรณีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมก็ยังไม่ดำเนินการ ล่าสุดตั้งอนุกรรมการยกร่างระเบียบการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่บอร์ดชุดเก่าที่ตั้งขึ้นด้วย ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 จะครึ่งปีแล้วยังไม่มีบอร์ดจริงๆ เสียที        

"นี่คือการทำงานที่ไม่คล่องตัว อิงระบบราชการทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ประกันสังคมต้องทำงานอย่างอิสระ มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ จะเป็นองค์การมหาชน หรือจะเป็นหน่วยงานแบบไหน ขอมีความเป็นอิสระเป็นพอ เพื่อให้มีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วและเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน ยกตัวอย่าง 1.กรณีการปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบในกลุ่มฐานเงินเดือน 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ผมเห็นด้วย เพียงแต่เรื่องนี้ก็อาจติดขัดอยู่ เพราะอาจมีคนเข้าใจผิดว่า การปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบนั้นจะกระทบไปหมด แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทยังจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม ไม่เพียงแต่เรื่องการปรับฐานเงินค่าจ้างเพื่อคิดการจ่ายเงินสมทบ" นายบัณฑิตย์กล่าว      

นักวิจัยสิทธิแรงงานกล่าวอีกว่า 2.การปรับปรุงสูตรการคำนวณ เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน อย่างการจ่ายเงิน 20% ของค่าจ้างตลอด 60 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน จริงๆ ควรมีแนวคิดเอาฐานค่าจ้างสูงสุดมาคำนวณให้ก่อนออกจากงานมากกว่า 3.ในแง่ของกฎหมายประกันสังคมก็ไม่มีการกำหนดหลักการคำนวณเงินบำนาญขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าครองชีพของผู้ประกันตนที่รับบำนาญนั้นๆ ซึ่งจริงๆ ควรมีการคำนวณในแต่ละปีว่า ปีนี้สำหรับผู้ประกันตนที่รับบำนาญเงินที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำมาคำนวณว่า การเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในเรื่องของผู้ประกันตนที่รับบำนาญแล้ว แต่เสียชีวิตก่อน 60 ปี ทายาทจะได้รับไม่เกิน 10 เท่าของบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับ จริงๆ ต้องให้ตามความเป็นจริงที่ผู้ประกันตนจะได้ เช่น ผู้ประกันตนอายุ 55 ปี รับบำนาญไปไม่ถึง 2 เดือนเสียชีวิต ก็ควรให้ทายาทตามจำนวนที่เหลือก่อนผู้ประกันตนจะถึง 60 ปี หรือปรับจำนวนเท่าจาก 10 เท่า เป็น 15 เท่า หรือแล้วแต่สูตรการพิจารณาที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกันตน       

"การทำงานควรต้องทำงานอย่างมืออาชีพ เอาคนเชี่ยวชาญมาบริหาร มีความเป็นอิสระ ไม่อิงกับระบบราชการ อย่างการขยายฐานเงินเดือนเพิ่มเพื่อนำมาคิดเงินสมทบเพิ่มนั้น จริงๆ ต้องควบคู่กัน ทั้งการขยายฐานเงินเดือน กับร้อยละการจ่ายเงินสมทบ เพื่อให้เพียงพอต่อการรับเงินบำนาญชราภาพ สมมุติว่า สปส.จะปรับร้อยละการจ่ายเงินสมทบ เพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4 ก็ต้องมีวิธีประกาศหรือแจ้งเตือนผู้ประกันตนว่าจะปรับเพิ่มในอีก 2 ปีข้างหน้า แล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์อะไร อย่างไปเพิ่มเงินบำนาญ ก็ต้องเพิ่มส่วนนั้น หรือจะเพิ่มส่วนไหนก็ต้องระบุให้ชัดเจน เป็นต้น ประเด็นคือ สปส.ยังทำงานที่ผ่านหลายขั้นตอน การจะพิจารณาหรือให้สิทธิประโยชน์ใดๆ กับผู้ประกันตนก็ต้องผ่านหลายอนุกรรมการกว่าจะเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งหากมีความเป็นอิสระก็จะดีกว่านี้" นายบัณฑิตย์กล่าว         

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า คปค.และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ สนับสนุนการปฏิรูปประกันสังคม อย่างเรื่องการจ่ายเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้ประกันตนเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปที่ทาง สปส.กำลังดำเนินการ ถือเป็นเรื่องที่ดี ทราบมาว่าขณะนี้อยู่ในขั้นการให้ความรู้ความเข้าใจ เพราะประชาพิจารณ์ผ่านไปแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งการเก็บเพิ่มส่วนนี้ประมาณ 800-1,000 บาท/คน ขึ้นกับเงินเดือนแต่ละคน จะทำให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเพิ่มก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม และจะส่งผลดีต่อสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ฯลฯ 

นายสมพร จองคำ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ สปส.ต้องเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การบริหารงานให้รวดเร็วขึ้น ส่วนเรื่องการเก็บเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ไม่ได้เห็นต่าง แต่เห็นว่าข้ามขั้นตอนไป จริงๆ ต้องไปดูก่อนว่าให้รัฐเอาเงินที่ค้างจ่ายสมทบ 56,000 ล้านบาท เอามาช่วยในเรื่องให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกกลุ่มก่อนดีกว่าหรือไม่ เพราะกรณีการเก็บเงินสมทบเพิ่มในผู้มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไปก็จะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มฐานบน แต่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อภาพรวมจริงๆ ข้างล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนมาก 80% ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ไปด้วย ต้องมาคุยก่อนว่าส่วนล่างได้อะไรด้วย จริงๆ การเอาเงินไปก็เหมือนมีนัยยะอะไรหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าการเก็บเงินจะเป็นอย่างไร ก็น่าคิดอยู่

ที่มา: มติชน, 1/7/2561

เตรียมขยายลาคลอดบุตรจาก 90 เป็น 98 วัน

30 มิ.ย. 2561 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้เตรียมผลักดันในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรโดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร และปรับเพิ่มสิทธิวันลาเพื่อคลอดบุตร จากเดิมที่สามารถลาคลอดบุตรหนึ่งครรภ์ได้ 90 วัน เป็น 98 วัน

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาซึ่งได้กำหนดให้ภาครัฐต้องดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์ ระหว่างและหลังคลอด และต้องให้วันหยุดมารดาหลังคลอด 14 สัปดาห์  โดยให้นับรวมการลาเพื่อตรวจครรภ์และลาคลอดบุตรใน 98 วัน เนื่องจากเป็นสิทธิการลาประเภทเดียวกัน ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานกรรมการกฤษฎีกาและหากร่างดังกล่าวผ่านก็จะนำเสนอให้สนช.พิจารณาเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการจัดสิ่งแวดล้อมให้สิ่งแวดล้อม ให้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ที่ผ่านมา กสร. ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นายจ้าง ลูกจ้างเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายกำหนดและเป็นการดำเนินการโดยความสมัครใจและขึ้นอยู่กับความพร้อมของนายจ้างทั้งในเรื่องสถานที่ การบริหารจัดการและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการจะออกกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบก่อน

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 30/6/2561

คสรท. ชี้ครึ่งปีหลังเสี่ยงคนตกงานมากขึ้น พบภาคธุรกิจขนเครื่องจักรเทคโนโลยีลดต้นทุน

นายชาลี ลอยสูง รองประธานสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นถึงสถานการณ์แรงงานครึ่งปีหลัง 2561 ว่า ยังคงน่าเป็นห่วง เสี่ยงที่จะว่างงานมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักร เข้ามาทดแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุนมากขึ้น ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน ก็มีความลำบาก เพราะผู้ประกอบการ ลดหรือเลิกโอทีไปเลย ทำให้แรงงานขาดรายได้ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับแรงงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ จะต้องพัฒนาฝีมือ ทักษะพร้อมกับฝึกอาชีพเสริม เพื่อที่จะได้นำมาประกอบอาชีพหลังทำงานประจำเสร็จ

รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่าสำหรับงานที่ตลาดต้องการมากในขณะนี้คือ งานที่เกี่ยวข้องกับทักษะ ฝีมือ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามา

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 30/6/2561

รายงาน TIP Report ยกระดับไทยดีขึ้นสู่ “Tier 2”

ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ฉบับล่าสุดของสหรัฐฯ ประกาศยกระดับให้ประเทศไทย อยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2” ปรับอันดับดีขึ้นจาก เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ ที่อยู่ติดกันมา 2 ปี ขณะที่ “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” ก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม เทียร์ 2 เช่นกัน

โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยได้พยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการปัญหาการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อน แต่การดำเนินการยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ

ทั้งนี้รายงานได้ระบุข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในรายงานปีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับปีที่ผ่าน อันได้แก่ การเสนอให้ไทยสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าข่ายมีความผิดและมีส่วนในกระบวนการการค้ามนุษย์ รวมถึงการพิพากษาและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ได้เสนอให้ ไทย ควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ อาทิ ผู้อพยพ ชาวประมง บุคคลไร้สัญชาติ และเด็กผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกัน ไทยควรดำเนินคดีนักค้ามนุษย์ด้วยการใช้แนวทางที่เน้นผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่ “มาเลเซีย” ถูกปรับลดอันดับลงสู่ “เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์” จากอันดับ เทียร์ 2 ในปี 2017 โดยรายงานระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียพยายามอย่างหนักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งออกกฏมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดต่างๆ แต่ผลงานเมื่อเทียบกับปีก่อนไม่ได้ดีขึ้นจนมีนัยสำคัญ พร้อมระบุว่า “ความพยายามในการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ของภาครัฐยังไม่เพียงพอ”

ส่วน “บังกลาเทศ” ยังคงระดับเดิมอยู่ที่ “เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์” โดยให้เหตุผลว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในบังกลาเทศยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง และเมื่อปีที่ผ่านมามีการประกาศลงโทษผู้กระทำผิดน้อยกว่าเป้าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ “ฟิลิปปินส์” ยังคงอันดับเดิมที่ “เทียร์ 1” เป็นปีที่ 3 ติดกัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การทำงานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่มีผลงานโดดเด่น คงรักษาคุณภาพไว้เท่าเดิม โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครอง และการเข้าช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น บริการการฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจ และการฝึกอบรมเพื่อจัดหางาน เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/6/2561

มอบเงินทดแทน 4,990,000 บาท แก่ทายาทแรงงานไทยที่เสียชีวิตขณะทำงานในสิงคโปร์

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหาร ร่วมมอบเช็คเงินทดแทนให้แก่ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ มีแต้ม อายุ 45 ปี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากการทำงานในประเทศสิงคโปร์ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยนายพงศ์ศักดิ์ มีแต้ม ปฏิบัติหน้าที่ลูกเรือของบริษัท RCL Shipmanagement Pte Ltd และเสียชีวิตด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เนื่องจากเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจอุดตัน ที่โรงพยาบาล สลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ซึ่งสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.สิงคโปร์) ได้ดำเนินการประสานกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ และนายจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้เสียชีวิต และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสอบสวนพบว่า การเสียชีวิตของนายพงศ์ศักดิ์ฯ เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ฯ จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ส่งเช็คธนาคารทหารไทย จำนวน 204,000 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,990,000 บาท สั่งจ่ายในนามนายน้อม มีแต้ม ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียชีวิต กระทรวงแรงงานจึงได้ประสานให้ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ฯ มารับเช็คเงินทดแทนของผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทายาท โดยแบ่งสิทธิประโยชน์เป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน คือ บิดา และบุตรของนายพงศ์ศักดิ์ฯ จำนวน 4 คน

พล.ต.อ. อดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะส่งผลให้คนงานได้รับความคุ้มครอง รวมถึงสิทธิประโยชน์ อัตราค่าจ้าง สวัสดิการตามกฎหมายแรงงานของประเทศนั้นๆ กล่าวคือหากประสบภัย เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต จะได้รับการคุ้มครองดูแลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม อีกทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว หลบซ่อนหรือวิตกกังวลว่าจะถูกจับได้ เพราะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ หากประสบปัญหาในต่างประเทศ สำนักงานแรงงานไทยหรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ จะเป็นตัวแทนรัฐบาลในการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศเช่นกัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/6/2561

ก.แรงงาน เปิดศูนย์ตรีเทพ ช่วย ป.ตรีมีงานทำ 11 แห่งทั่วไทย

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้ชื่อ “ศูนย์ตรีเทพ” ดำเนินการภายใต้สโลแกน “ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ” ตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งตั้งขึ้นทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร เน้นการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นผู้อำนวยศูนย์ฯ มีแรงงานจังหวัดเป็นเลขานุการ ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. - 30 ก.ย.2561

นางเพชรรัตน์ กล่าวต่อว่าศูนย์ตรีเทพแห่งนี้จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการแรงงานในพื้นที่ มีตำแหน่งงานว่างในพื้นที่สำหรับวุฒิปริญญาตรี การจับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ บริการให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพรายบุคคล ส่งต่อการบริการจัดหางานและฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ติดตามการมีงานทำรายบุคคล

ส่วนผู้ที่ต้องการฝึกทักษะเพิ่มกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถมีงานทำประกอบอาชีพอิสระหรือรับงานไปทำที่บ้านได้

โดยศูนย์ตรีเทพทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ จะเป็นการบูรณาการร่วมกันตามแนวทางประชารัฐเพื่อให้คนไทยมีงานทำ อาทิ คณะกรรมการร่วมภาค เอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถานประกอบการในจังหวัดจะส่งข้อมูลความต้องการทักษะ รวมทั้งจำนวนผู้ฝึกงานที่สถานประกอบการมีความประสงค์ ความร่วมมือของสถานศึกษาในการสำรวจข้อมูลผู้กำลังจะจบการศึกษา เพื่อส่งต่อข้อมูลการฝึกงานในสถานประกอบการ และกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนกรณีเลิกจ้างในการเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่ภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/6/2561

กอช.เร่งถกรื้อกม. ขยายส่งเงินสะสม หวังดูดสมาชิกเพิ่ม

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่าง การหารือเพื่อทบทวนการแก้ไขกฎหมายของ กอช. เรื่องการขยายอัตราการจ่ายเงินสะสมของรัฐบาล จากปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 1.32 หมื่น บาทต่อปี และจ่ายสมทบของสมาชิก รวมถึงการขยาย ช่วงอายุในการสมัครสมาชิก เป็นเริ่มต้นตั้งแต่ 7 ปี จนถึงอายุ 63 ปี จากเดิมอยู่ที่ 15 ปี ถึง 60 ปี เพื่อให้มีแรงจูง ใจในการออมเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้ง หมดภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกทั้งสิ้น 5.64 แสนคน โดยสมาชิกอายุตั้งแต่ 15-30 ปี สัดส่วน 6.1%, สมาชิกอายุ 30-50 ปี สัดส่วน 42.3%, สมาชิกอายุ 50-60 ปี สัดส่วน 37.1% และสมาชิกอายุตั้ง แต่ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัด ส่วน 14.6%

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้ยังตั้งเป้าหมายสมาชิกกอง ทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ได้ 1 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอยู่ที่ 5.64 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมา กอช.ได้พยายามเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการออมของสมาชิกให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญ ของรัฐบาลชุดนี้คือการสนับ สนุนพฤติกรรมและวินัยการ ออมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีรายได้เพียงพอรองรับการดำรงชีวิตในช่วงเกษียณ และ เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูง อายุ ที่ปัจจุบันประชากรมี อายุเพิ่มสูงขึ้น

โดยปัจจุบันมีแรงงานทั้งสิ้น 43 ล้านคน เป็นแรง งานในระบบประมาณ 16 ล้าน คน และเป็นแรงงานนอกระบบประมาณ 27 ล้านคน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าจะดำ เนินการอย่างไรเพื่อให้แรง งานที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ และเป็นสมาชิกของ กอช.มากที่สุด

"ปีนี้ตั้งเป้าหมายให้มีสมาชิก กอช. ที่ 1 ล้านคน แต่ถ้าท้ายที่สุดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่เป็นอะไร เพียงแต่ให้มีอัตราสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็พอ โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กอช.ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสามารถดำเนินการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ กรอกข้อมูลรายละเอียดของการสมัคร พร้อมส่งเงินสะสมงวดแรก" นายวิสุทธิ์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 27/6/2561

สนร.โซล ย้ำทำงานเกาหลีระบบ EPS ไม่ต้องเสี่ยงถูกจับส่งกลับ

จากกรณีกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี มีมาตรการจัดเจ้าหน้าที่ออกระดมจับกุมชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดในระยะนี้ เนื่องจากพบผู้พำนักเกินเวลาอนุญาต เป็นจำนวนสูงมากกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยเกินกว่า 100,000 คน ทำให้ต้องเข้มงวดกวดขันอย่างเข้มข้น ชาวต่างชาติผู้มีพฤติกรรมลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ ต้องหลบหนีและหลบซ่อนตัว ดังปรากฎเป็นคลิปที่มีคนไทยหลบหนีการจับกุมที่ถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ผู้ถูกจับส่งกลับจะต้องจ่ายค่าเครื่องบินเองเป็นเงินราว 600,000 วอน และถูกขึ้นบัญชีห้ามเข้าสาธารณรัฐเกาหลี ไม่ต่ำกว่า 5 ปี

สนร.โซล ในนามของกระทรวงแรงงาน ประเทศไทย ขอเน้นย้ำว่า หากต้องการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนท้องถิ่น

ไม่ต้องกังวลถูกจับกุมส่งกลับ สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทุกจังหวัด Smart Job Center ทั่วประเทศ หรือติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/overseas

ที่มา: สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul, 25/6/2561

คสรท. เผยแรงงานมีชีวิตลำบากหนี้มาก ขณะนายจ้างลดโอทีอ้างขาดทุน

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในขณะนี้ยังมีความลำบากอยู่ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วก็ตาม เนื่องจากนายจ้างลดการทำงานล่วงเวลาลง ขณะที่บางส่วน ผู้ประกอบการก็ไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยอ้างว่าขาดทุน ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็ต้องยอมรับสภาพไป เนื่องจากกลัวตกงาน ไม่มีงานทำ ทั้งนี้ในปัจจุบันแรงงานกว่าร้อยละ 90 มีภาระหนี้สินจึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยที่ไม่ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากมีการขึ้นค่าแรง ก็จะส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือภาคแรงงานเป็นการเฉพาะ

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 25/6/2561

คสรท.เดินรณรงค์ส่งเสียงถึงภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมเชิญทุกภาคส่วนร่วมถกแถลงแต่ไร้เงาเจ้าหน้าที่รัฐไทย ILO พร้อมรับช่วยแก้ปัญหาโดยใช้กลไกไตรภาคี

วันที่ 24 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ร่วมกับองค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้เดินรณรงค์ เรื่องสถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย “สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ในชีวิตการทำงานของคนงานแม้ว่ากระบวนการผลิต หรือรูปแบบทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การกดขี่ขูดรีดยังคงรูปแบบเดิม แต่มีความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่กลไกกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่ปฏิบัติไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนงาน ทั้งแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน แรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรม และบริการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ที่ยังคงมีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน เช่น แรงงานในระบบ ประกอบด้วย

1.ลูกจ้างภาครัฐ การจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้นตามสัญญาจ้างชั่วคราว จ้างงานนอกงบประมาณ ค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการจ้างงานดังกล่าวมีการจ้างงานอยู่ทุกหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ

2.ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ากฎหมายให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์การขึ้นมา เพื่อปกป้องคุ้มครองได้ แต่ก็ยังถูกแทรกแซงจากรัฐ เช่นการเจรจาต่อรองด้านสวัสดิการ แม้ว่าระบบทวิภาคจะเจรจาตกลงกันได้ แต่ว่า ต้องไปสู่ระบบการอนุมัติเป็นมติในคณะรัฐมนตรี การเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์รัฐยังเป็นผู้กำหนด การที่ถูกแบ่งแยกออกจากลูกจ้างเอกชนการใช้กฎหมายคนละกฎหมายทำให้ขบวนแรงงานอ่อนแอ แต่ว่าก็มีความพยายามที่จะทำงานร่วมกันอยู่ตลอด

3.ประเด็นปัญหาลูกจ้างภาคเอกชน แม้ว่ากฎหมายจะให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิได้แต่ปัญหา มีมากมายจากฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ การบังคับใช้ หรือกลไกปฏิบัติกลับไม่เอื้อต่อการคุ้มครอง และทำให้คนงานเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ เช่นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ยังคงเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้องไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล เมื่อเจรจาเสร็จสิ้นแล้วนายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ผู้นำแรงงาน หรือสมาชิกสหภาพแรงงานถูกกลั่นแกล้ง ไม่ให้เข้าทำงาน และถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้แรงงานนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวต้องใช้เวลายาวนาน

เรื่องต่อมา คือประเด็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ซึ่งไม่มีกฎหมายแรงงานฉบับไหนสามารถปกป้องคุ้มครองแรงงานได้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาชีพที่เสี่ยงกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้ราคา ชีวิตไม่มีหลักประกัน ขณะนี้มีการเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตร ด้วยเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ประสบปัญหาอันตรายจากสารเคมีมากมาย ซึ่งทั้งต่อแรงงานภาคเกษตร และตัวเกษตรกรเองด้วยเกิดโรคระบาดต่างๆทั้งคน สัตว์ และพันธ์พืชเป็นต้น

ประเด็นแรงงานนอกระบบในกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน ภาคบริการต่างๆ ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองจากอาชีพที่ไม่มั่นคงทางรายได้ ความปลอดภัยในการทำงานด้วยต้องแบกรับความเสียงต่างๆเองทั้งหมด แม้ว่า บางอาชีพจะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่าก็ไม่ได้มีการปฏิบัติ หรือคุ้มครองได้จริง

ประเด็นต่อมา กรณีปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 4 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการของนายจ้างที่อ้างว่า ขาดแคลนแรงงาน และต้องการที่จะใช้แรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งขอให้รัฐประกาศให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานในอาชีพสงวน ที่รัฐเคยกำหนดไว้ราว 39 อาชีพนั้นได้ ด้วยประชากรที่เป็นคนไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งการจ้างงานแรงงานข้ามชาติภายใต้ความต้องการมากขึ้น พร้อมทั้งแรงงานเหล่านั้นก็ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากอย่างต่อเนื่อง แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารรถรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้มีค่าจ้าง สวัสดิการที่ดีได้ แม้ว่าบางพื้นที่จะมีการลุกขึ้นมาเรียกร้องบ้างว่ายังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เรื่องการยึดเอกสารต่างๆของแรงงานข้ามชาตินายจ้างยังคงกระทำอยู่เช่นเดิม แม้รัฐจะมีการจัดการขึ้นทะเบียนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ซึ่งภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้จะสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว ซึ่งยังมีแรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมือถึงกำหนดระยะเวลาการผ่อนผันรัฐก็จะปราบปรามจับกุมแรงงานข้ามชาติ และลงโทษนายจ้างที่ให้ทำงาน และพักอาศัย อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีเสียงของนายจ้างที่ออกมาส่งเสียงให้มีการผ่อนผันไปก่อนอีกเช่นเดิม

จากที่ตนกล่าวมาเป็นเพียงภาพรวมของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ละสาขา อาชีพ ซึ่งในรายละเอียดการลงพื้นที่ไปสัมผัสปัญหาจริงเพื่อทำความเข้าใจคนงานมากขึ้น ยิ่งในอนาคตตามที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ชาติ  ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การบริการ แต่หากมองภาพที่เกิดขึ้นคือ อนาคตคนงานต้องเผชิญต่อภาวะเสี่ยงต่อการตกงาน ความเสียงหายต่อคนงานย่อมตามมาซึ่งรัฐไม่ได้กล่าวถึง หรือว่าจะวางมาตรการอย่างไรเพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต ซึ่งอาจมีคนตกงานจำนวนมากเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาแทนคนในการทำงาน

แม้ว่า รัฐบาลจะปลอบใจคนทำงานว่าการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะใช้ หลักสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ ในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิคนทำงาน และประชาชน แต่อย่างไรก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ และยังขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่จะเห็น คนงานขบวนการแรงงาน และภาคประชาชน

การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปกป้องคุ้มครองสิทธิให้เป็นไปตามหลักการทางสากลโดยไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยไม่ปิดกั้น และต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ประชาชน สามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นปฏิญญาสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิรัฐบาลต้องแสดงออกถึงความจริงใจในการยัดถือปฏิบัติ และคสรท. ขอเรียกร้องให้ ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ผู้ใช้แรงงาน ประชาชน ในทุกสาขาอาชีพได้ตระหนักถึงสิทธิแห่งตน รวมพลังกันจัดตั้งองค์กรของตนเองขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิแห่งตน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สืบต่อไป และคสรท.จะติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และนำเสนอต่อภาคีต่างๆทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ด้วย

ซึ่งในเวที ถกแถลง “การละเมิดสิทธิแรงงาน”ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.),นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท., นางธนัญภรณ์ สมบรม ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง, นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคสรท., นางสาวสุรินทร์ พิมพา ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ , ตัวแทนสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย,ตัวแทนแรงงานนอกระบบ,และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)

ซึ่งสรุปเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานได้ดังนี้ ประเด็นกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างปิดงาน หลังจากที่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และชุมนุมเจรจากันจนยุติทำข้อตกลงกันได้ระหว่างนายจ้าง และสหภาพแรงงานฯแล้ว ซึ่งขณะนี้นายจ้างได้รับลูกจ้างส่วนหนึ่งกลับเข้าทำงาน แต่ว่ายังเหลือสหภาพแรงงาน พร้อมสมาชิกอีกกว่า 400 คนที่นายจ้างยังไม่เรียกให้กลับเข้าทำงาน ซึ่งส่วนนี้ยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ต้องการที่จะให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้นายจ้างรับลูกจ้างทั้งหมดที่เหลือกลับเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสหภาพแรงงานเองก็มีปัญหาสมาชิกลดลงเหลือไม่เกินกึ่งหนึ่ง โดยจะมีการเรียกประชุมใหญ่กัน เนื่องจากลูกจ้างส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำงานก็มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาภายใน

สภาพปัญหาหลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันได้นายจ้างได้ให้ลูกจ้างรายงานตัวเพื่อเข้าทำงาน แต่มีส่วนหนึ่งกว่า 400 คนที่ไม่ได้กลับเข้าทำงาน นายจ้างได้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ใช้ระยะเวลา 2 เดือน เพื่อทำกิจกรรมCHR ทำความสะอาดวัด โรงเรียน บ้านพักคนชรา ทำแนวกันไฟ จากนั้นก็อบรมในค่ายทหาร จังหวัดสระบุรี และค่ายทหารที่ราชบุรี แม้ว่าจะทำกิจกรรมตามที่นายจ้างจัดให้แล้ว ก็ยังไม่ได้เรียกให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ซึ่งได้มีข่าวมาอีกว่า หากลูกจ้างใน 400 กว่าคนต้องการที่จะกลับเข้าทำงานต้องไม่ร่วมเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ถือว่า เป็นการละเมิด แทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งขณะนี้สมาชิกสหภาพแรงงานค้อนข้างกลัวไม่ได้กลับเข้าทำงานจึงไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน อีกประเด็นคือหากสมาชิกฯต้องการกลับเข้าทำงานต้องเขียนจดหมายถึงบริษัทฯก่อนแล้วจึงจะเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งสหภาพแรงงานเองก็ทำหนังสือเพื่อสอบถามเรื่องกลับเข้าทำงาน ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้ร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว

ประเด็นต่อมาสถานการละเมิดสิทธิแรงงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง นั้นสภาพปัญหาการจ้างงานระยะสั้น เป็นการจ้างงานชั่วคราวสัญญาจ้างปีต่อปีทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงาน ปัญหาการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งแรงงานสัญญาจ้างไม่สามารถที่จะเข้าเป็นสมาชิดสหภาพแรงงานได้ หากมาร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานก็อาจไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างให้ อีกประเด็นคือ หากคนงานตั้งครรภ์ จะไม่ถูกต่อสัญญาจ้างเช่นกัน หรือบางรายเมื่อคลอดบุตรจะลาได้เพียงหนึ่งเดือน ไม่สามารถใช้สิทธิลาคลอด 90 วันได้ การลาป่วย พักร้อน ลากิจจะถูกนำมาพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาจ้างด้วยทำให้คนงานส่วนนี้ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิอย่างมาก เรื่องความไม่มั่นคงในการมีงานทำ และการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งการจ้างงานแบบสหภาพแรงงานจะอ่อนแอลง เพราะไม่สามารถมีสมาชิกเพิ่มได้เลย

กรณีแรงงานนอกระบบ ด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิแรงงาน แม้แรงงานนอกระบบจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ว่าไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านแรงงานนอกระบบ แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือผู้รับงานไปทำที่บ้านก็ยังขาดเรื่องการบังคับใช้ทำให้แรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการดูแล ด้านสิทธิสวัสดิการ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง หากรวมตัวนายจ้างก็จะไม่ส่งงานให้ทำ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาชีพอีก

การละเมิดสิทธิแรงงานในภาคตะวันออกนั้นนายจ้างมีแนวคิดเรื่องลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนั้นคือการลดคน กดค่าจ้างให้ต่ำแต่นายจ้างไม่เคยบอกว่ากระทบเรื่องผลประกอบการที่ต่ำลง ซึ่งค่าจ้างที่เป็นเพียงค่าจ้างที่ตำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนงานและครอบครัว นายจ้างบางแห่งผิดข้อตกลงเรื่องสภาพการจ้างที่ตกลงโดยไม่ได้สนใจเรื่องผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิการมอบหมายงานล่วงเวลาที่นายจ้างได้ใช้วิธีการให้เซ็นต์ชื่อรับการทำงานล่วงเวลาไว้ล่วงหน้า หากจะไม่สามารถทำได้ คนงานต้องหาคนอื่นมาทำงานแทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้ลูกจ้างต้องรับข้อเสนอของนายจ้าง แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่ากระบวนการที่จะเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก หากยื่นข้อเรียกร้อง รวมตัวกันเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็พิพาทแรงงาน และนายจ้างปิดงาน

กรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในพื้นที่นครปฐม-สมุทรสาคร มีหลายประเด็นกรณีแรกนายจ้างไม่ยอมแจ้งลูกจ้างว่า บริษัทล้มละลาย โดยปล่อยให้ลูกจ้างทำงานตามปกติแต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่ก็ไม่เลิกจ้างจนกระทั้งนายจ้างถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ลูกจ้างจึงได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเพื่อให้เข้ามาดูแล ซึ่งเมื่อมีการฟ้องศาลชนะก็ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเพื่อขายทอดตลาด ซึ่งประเด็นนี้ยังมีกรณีคนงานผลิตลำโพง ซึ่งอันนี้นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย แจ้งเพียงให้ฟ้องศาลหากต้องการสิทธิ

ประเด็นที่สอง กรณีการกำหนดการเกษียณอายุ 60 ปี ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการประกาศบังคับใช้ ซึ่งแรงงานในหลายสถานประกอบการไม่มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุ เมื่อกฎหมายออกมาก็มีการแสดงเจตนาที่จะขอเกษียณอายุ แต่ว่าโรงงานทอถุงเท้ากับอ้างว่าไม่มีเงินจ่ายชดเชยการเกษียณอายุให้ ทางสหภาพแรงงานจึงไปร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (กรอก คร. 7) เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายภายใน 90 วัน ซึ่งล่าสุดนายจ้างได้ยินยอมจ่ายให้กับลูกจ้างที่ต้องการเกษียณอายุ จำนวน 18 คน ซึ่งในโรงงานดังกว่า มีคนงานที่สูงอายุทำงานอยู่ตั้งแต่อายุ 60-77 ปีด้วย

ปัญหาการเลิกจ้างผู้นำแรงงาน กรณีนางอภันตรี เจริญศักดิ์  ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นเเนล (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างตั้งแต่การก่อตั้งสหภาพแรงงานครั้งแรก โดยการขับเคลื่อนช่วงแรกมีหลายคนโดยมีการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) กรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างได้รับกลุ่มเข้าไปแต่ว่าไม่ได้มอบหมายงาน และนายจ้างได้ฟ้องศาลให้ยกเลิกคำสั่ง แต่ศาลก็ตัดสินยืนตามครส.ให้รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างก็ยื่นฟ้องแต่ศาลฎีกา ปัญหายังไม่จบหลังจากนายจ้างได้มีการขายเฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ ให้กับบริษัท คิวเอสเอ ไทยเบฟ และบริษัทยัม เรสเตอรองท์ฯอ้างว่าผู้ซื้อไม่มีตำแหน่งที่จะรองรับนางอภันตรี จึงต้องขอเลิกจ้างเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการนำประเด็นดังกล่าวร้องต่อครส.อีกครั้งซึ่งทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับนางอภันตรีกลับเข้าทำงานอีก ซึ่งก็มีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล และมีการนัดเพื่อไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ประเด็นคือ เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าว

จากนั้นทางคสรท. ได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ถึงประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เชิญตัวแทนภาครัฐมารับข้อเสนอด้วยแต่ว่าไม่มีตัวแทนมาร่วม หรือรับหนังสือดังกล่าว โดยผู้แทนILO ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหา และพร้อมที่จะรับเป็นคนกลางในการที่จะพูดคุย ซึ่งในส่วนของผู้ใช้แรงงานสามารถเสนอประเด็นร้องเรียนผ่านองค์กรสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ(สรส.) เพื่อร้องเรียน ประเด็นปัญหามายังILO  เพื่อการให้ความช่วยเหลือ รณรงค์ ให้เกิดการเจรจาร่วมกัน ด้วยระบบไตรภาคี รัฐ นายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง

ที่มา: Voice Labour, 24/6/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท