พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ในวันที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังรอวันเสื่อมสลาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา แม้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เป็นประเด็นหรือเป็นเรื่องระดับชาติ

โดยนัยนี้เราจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในส่วนของวงการการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลต่อระบบการจัดการศึกษาของไทยอย่างไรบ้าง

ประการแรก สถาบันการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่จากระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังเข้ามา ซึ่งส่งผลให้มีการปรับลดบุคลากรในสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ผู้สอนในสถาบันการศึกษาลง

ประการที่สอง ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนสามารถอาศัยหรือพึ่งพาแหล่งความรู้จากนอกสถาบันการศึกษาในระบบได้ ทั้งในและต่างประเทศ

ประการที่สาม การเรียนที่ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของสังคมหรือชุมชน ทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนประหนึ่งนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง คือ เท้าไม่ติดดิน เรียนจบมาเพื่ออวด เพื่อแสดงสถานะทางสังคมเหนืออื่นใด มากกว่าการเรียนเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ประการที่สี่ การเรียนการสอน แนวท่องจำ หรือแนวปรนัยแบบเดิม ถือได้ว่าเป็นแนวที่การปฏิบัติที่ล้าหลัง ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสภาพการณ์ปัจจุบันได้ โดยที่แนวการเรียนการสอนแบบปัจจุบันหรือ 4.0 ก็คือ การเรียนการสอนแบบใช้ปัญญาญาณ (Critical Thinking) ให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์เองเป็น ทั้งยังช่วยให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างดีอีกด้วย ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องคิดหรือปฏิบัติแบบเดียวกับผู้สอน ผู้เรียนสามารถคิดต่างจากครูผู้สอนได้ในเชิงการวิเคราะห์เนื้อหาที่เรียน

คำถามที่มีคำตอบในลักษณะปลายเปิด ควรถูกนำมาใช้ในการออกข้อสอบมากขึ้น แต่ทั้งนี้ การสอบหรือการวัดผลด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้ภาระของผู้สอนเพิ่มมากขึ้นกว่าแนวปรนัย ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่ใช้กันแล้ว การที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังเดินแนวนี้อยู่ถือว่ายังล้าหลังอยู่มาก

ประการที่ห้า ค่านิยมปริญญาของคนไทยที่น้อยลงในปัจจุบัน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับความนิยมน้อยลงไปด้วย ไม่เหมือนเมื่อหลายปีก่อน ที่คนไทยเห่อปริญญาบัตรแบบกลายเป็นค่านิยม ปัจจุบันทางเลือกทางลัดในการศึกษามีมากขึ้น เช่น การศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่เลือกสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย เป็นทางเลือกในการศึกษาของพวกเขาอีกต่อ

ประการที่หก การทำงานด้านวิจัยที่ไม่เป็นโล้เป็นพายของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งก็คืออาจารย์หรือนักวิชาการที่ทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่สามารถวิจัยประเด็นปัญหาที่สำคัญจริงๆ ของสังคมไทย เช่นเดียวกันกับที่มีการพบว่างานวิจัยที่ทำกันจำนวนมากนั้นไม่ถูกนำมาใช้ชีวิตจริงเลย หรือนำมาใช้ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนงานวิจัยทั้งหมด คือสักแต่วิจัยไปเท่านั้นเอง ทำวิจัยกันไปเพื่อตอบสนองหรืออยากได้ทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือผู้วิจัยอยากได้เงินงบประมาณแค่นั้นเอง งานวิจัยแทบไม่ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมใดๆ เลย ซึ่งก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง แถมงานวิจัยที่ทำกันนั้นยังตั้งอยู่บนฐานของระบบอุปถัมภ์ หรือระบบเส้นสายภายในระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้วิจัย นับเป็นความน่าละอายส่วนหนึ่งในแวดวงวิชาการของไทย

ประการที่เจ็ด คุณภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด ยังคงเต็มไปด้วยระบบเส้นสาย ไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งเข้าถึงห้องเรียน ข้อนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อาจารย์ที่เข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยโดยมหาวิทยาลัยนั้นๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนใหญ่ไม่เคยซึมซับรับรู้แนวทางการเรียนการสอนแบบ student center หรือ Critical Thinking ความรู้จึงถูกผูกขาดหรือจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน บนฐานความคิดของอาจารย์ท่านนั้นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ความรู้ของอาจารย์ที่ล้าสมัย (เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก) ไม่สัมพันธ์หรือไม่สามารถแปรสภาพองค์ความรู้ให้สัมพันธ์กับการแก้ไขหรือมองปัญหาสังคม อาจารย์ผู้สอนไม่ปรับตัวให้อยู่กับกระแสปัจจุบัน มีลักษณะของอาการท่าดีทีเหลว (Monkey Suit) ก็เป็นเหตุประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความเสื่อมค่าของมหาวิทยาลัย เพราะความรู้แขนงใดๆ ก็ตาม หากไม่ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของสังคม ความรู้นั้นก็ไร้ค่า เกินความจำเป็นจำเป็นที่จะรู้ ไม่รู้จะรู้ไปเพื่ออะไร

ประการที่แปด การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เหมือนเช่นที่อาจารย์นิพนธ์ กลิ่นวิชิต จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวไว้ว่า “ผมสอนที่ (ม.ราชภัฏ) สวนสุนันทาเด็กเพิ่มทุกปี แต่ที่ม.กรุงเทพเด็กลดทุกปี” ซึ่งอาจหมายถึงนัยทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองก็เป็นได้ ควรที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยหรือภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาพึงพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ความเสื่อมหรือล้าสมัยของมหาวิทยาลัยของไทยจากสาเหตุเศรษฐกิจนี้ได้ ขณะที่ในปัจจุบันความรู้ได้ถูกทำให้มีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก จากฐานของระบบออนไลน์และปัญญาประดิษฐ์

หากสถาบันการศึกษาของไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว เชื่อว่าอีกไม่นานคงเหลือแต่ซาก มิหนำซ้ำยังต้องแข่งขันกับสถาบันการศึกษาของต่างประเทศอีกด้วย และโอกาสพ่ายแพ้ก็มีสูงเสียด้วย ถ้าคุณภาพของสถาบันการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น

นอกเหนือไปจากการที่หน่วยงานหรือสถาบันของเอกชนปัจจุบันเองยังนิยมสร้างองค์กรการศึกษาเฉพาะทางของตัวเอง เพื่อตอบสนองหรือป้อนบุคลากรให้กับกิจการของตนเอง เช่นเดียวกับที่ชุมชนไทยเองเวลานี้ก็มีทางออกโดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด นั่นคือ ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน (The learning Center for Community) ที่นำความรู้ ลัดตัดตรงเข้าไปยังวิถีชีวิตของชุมชนเลยทีเดียว รวมถึงการทำให้ชุมชนเล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโลก (Global Community) ด้วยเทคโนโลยี 4.0 โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฐานหรือพึ่งพามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

จึงเป็นอันว่า ณ เวลานี้ มหาวิทยาลัยของไทยรูปแบบปัจจุบันใกล้เข้าขั้นเอวังเข้าไปทุกขณะแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท