Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้การรับคดีของ 'บิลลี่' ที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายเป็นคดีพิเศษเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทางการไทยยังคงต้องดำเนินการมากกว่านี้

แฟ้มภาพ kim chaisukprasert

2 ก.ค.2561 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ได้ออกแถลงการณ์การร่วมเพื่อแสดงความยินดีที่ดีเอสไอรับคดีของ พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ เม.ย. 2557 ที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายเป็นคดีพิเศษ และเรียกร้องให้การสืบสวนสอบสวนมุ่งเน้นไปที่การค้นหาชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ การนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือสถานะเช่นใด มาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และให้มีการบอกกล่าวถึงความก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวนต่อครอบครัวของบิลลี่โดยครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์ร่วมยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดให้มีการดำเนินการให้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครองที่จะคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเกิดสัมฤทธิ์ผลตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประไทย รวมถึง การเข้าภาคยานุวัติอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และการผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้การทรมาน การกระทำอื่นๆที่เป็นการประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังมีความล่าช้าอยู่ในปัจจุบัน

แถลงการณ์การร่วมระบุว่า การสืบสวนสอบสวนกรณีที่นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การค้นหาชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ การดำเนินการบอกกล่าวถึงความก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวนต่อครอบครัวของบิลลี่โดยครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง และการนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือสถานะเช่นใด มาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวในวันนี้ นอกจากนี้ องค์กรข้างต้นยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดให้มีการดำเนินการให้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครองที่จะคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกิดสัมฤทธิ์ผลตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประไทย เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังมีความล่าช้าอยู่มากในปัจจุบัน

ในวันที่ 28 มิ.ย. 2561 หลังจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (‘ดีเอสไอ’) กระทรวงยุติธรรม ได้ออกแถลงการณ์อันน่ายินดีว่าดีเอสไอมีมติให้กรณีที่นักกิจกรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง  พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ซึ่งถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้นเป็น “คดีพิเศษ” ที่ต้อง “ดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547” ซึ่งหมายถึงการสืบสวนสอบสวนโดยดีเอสไอนั่นเอง

มีผู้พบเห็นนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในจังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่บิลลี่ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้น บิลลี่ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและนักกิจกรรมเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติโดยอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เผาและทำลายบ้าน พื้นที่เกษตรกรรม และทรัพย์สินอื่นๆของพวกเขา

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศดังกล่าวจากดีเอสไอ เพื่อให้ทราบชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ ภริยาของบิลลี่ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ได้ทำการยื่นคำร้องต่อดีเอสไอมาเป็นเวลานาน รวมทั้ง ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ได้ทำการเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายปี โดยขอให้ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อิสระ เป็นกลาง มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ซึ่งได้มีการเปิดตัวพิธีสารดังกล่าวร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พิธีสารมินนิโซตาฉบับปรับปรุงนี้ได้เน้นย้ำว่าหากผู้สืบสวนสอบสวนไม่สามารถระบุแหล่งที่ตั้งศพหรือซากศพได้ พวกเขายังคงต้องรวบรวมหลักฐานแวดล้อมโดยตรงอื่นๆ ต่อไป โดยพยานหลักฐานเหล่านี้อาจเพียงพอต่อการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข้อมูลจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์การที่บิลลี่ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหาย แต่การสืบสวนสอบสวนของตำรวจในช่วงสี่ปีที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังมิได้ดำเนินการตามข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้หลายต่อหลายครั้งว่าจะทำการภาคยานุวัติอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ไทยนั้นยังคงล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในการนำความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียหายจากการบังคับให้สูญหายและครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้น ผู้กระทำผิดยังคงสามารถหลบเลี่ยงบทลงโทษบางประการได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบังคับให้สูญหายนั้นยังมิใช่ความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย

อนุสัญญาดังกล่าวได้ยืนยันว่า “บุคคลจะถูกบังคับให้สูญหายไม่ได้” และระบุให้รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องสืบสวนสอบสวนการกระทำที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม และทำให้การกระทำผิดดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึง “ความร้ายแรงอย่างยิ่ง” ของการกระทำดังกล่าว

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบที่จะทำการภาคยานุวัติ ICPPED แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 ไอซีเจได้รับทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่าการภาคยานุวัติ ICPPED จะเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการตรากฎหมายภายในประเทศเพื่อรับรองให้อนุสัญญาฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายในประเทศ

นอกเหนือจากการภาคยานุวัติ ICPPED แล้ว ประเทศไทยยังคงต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินคดีต่ออาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention against Torture หรือ CAT)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้การทรมาน การกระทำอื่นๆที่เป็นการประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดเฉพาะภายใต้กฎหมายไทยนั้นยังคงล่าช้า

กระทรวงยุติธรรมประเทศไทยได้อธิบายว่าปัจจุบันการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะรอบที่สองต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (‘ร่าง พ.ร.บ.’) นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ขอเรียกร้องให้มีการเร่งรัดกระบวนการดังกล่าว

ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ฮิวแมนไรท์วอช ซึ่งได้เคยพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับต่างๆหลายครั้ง ยังคงกังวลว่าจากเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ร่างล่าสุดนั้นถ้านำมาบังคับใช้จะทำให้เนื้อหาในกฎหมายที่ออกมานั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2560 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2561 กลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอช ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย รวมถึงกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย เกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่จำเป็นต้องปรับแก้เพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

ความเป็นมา

“การบังคับให้สูญหาย” นั้นได้รับการนิยามไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าหมายถึงการจับกุมหรือคุมขังบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตัวแทนบุคคลดังกล่าว ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหายนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการประกันโดยกฎหมายระหว่างประเทศหลายประการ รวมถึง การห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลไว้ตามอำเภอใจ การทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) นั้นมักจะให้คำอธิบายว่าการบังคับให้สูญหายนั้นเป็น “การกระทำผิดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์” และเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ “รุนแรงและชัดเจน”

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ICCPR และ CAT ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ในการที่จะต้องดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี ลงโทษ และให้การชดเชยและเยียวยากับผู้เสียหาย ในอาชญากรรมการทรมาน การประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ ดีเอสไอนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และมีอำนาจเหนือคดีอาญาพิเศษ ซึ่งรวมถึงคดีที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ความผิดที่มีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม และความผิดที่มีผู้ทรงอิทธิพลเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net