Skip to main content
sharethis

"คณิน บุญสุวรรณ" ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี บำเพ็ญกุศล ณ วัดธาตุทอง ศาลา 8 เริ่มวันที่ 3 ก.ค. โดยฝากผลงานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ยืนยันจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ เป็นประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย และยังเป็นผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบที่สร้างอุปสรรคต่อพรรคการเมือง

แฟ้มภาพคณิน บุญสุวรรณ ร่วมเสวนาเมื่อ 7 กันยายน 2552 (ที่มา: CBN Press)

หลังมีรายงานว่า "คณิน บุญสุวรรณ" อดีต ส.ส.ร. 2540 และคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง ด้วยวัย 71 ปีที่บ้านพักเมื่อคืนวันที่ 1 กรกฎาคม หลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ รพ.จุฬาภรณ์นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานกำหนดการบำเพ็ญกุศล ณ วัดธาตุทอง ศาลา 8 ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ดังนี้

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2561 เวลา 17.00 น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรมศพ

วันพุธที่ 4 ถึงวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2561
เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561
เวลา 17.00 น. พระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง

สำหรับประวัติของคณิน บุญสุวรรณ ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ เขาเป็นชาว จ.ชลบุรี เกิดวันที่ 15 ตุลาคม 2489 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คนของ อำมาตย์ตรีแปลก และนางเสงี่ยม ภรรยาชื่อกรประภา บุญสุวรรณ (ชื่อเดิม เพ็ญศิริ) มีธิดา 2 คน

การศึกษาจบโรงเรียนกาญจนศึกษา โรงเรียนชลบุรีสุขบท มัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

เขาเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งวิทยากรโท สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร ต่อมาช่วยราชการ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

เส้นทางการเมืองของเขาในปี 2522 เป็น ส.ส.ชลบุรีสมัยแรกในการเลือกตั้งซ่อม สังกัดพรรคกิจสังคม

ปี 2526 ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ปี 2528 ส.ส. กทม. เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์

27 กรกฎาคม 2529 ส.ส. (สอบตก)
16 ตุลาคม 2529 ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (ลาออก 19 พ.ค.2531)

22 มีนาคม 2535 ส.ส.(สอบตก) บุรีรัมย์ พรรคสามัคคีธรรม
13 กันยายน 2535 ส.ส. ชลบุรี เขต 1 พรรคเอกภาพ (ยุบสภา 19 พ.ค. 2535)
15 ตุลาคม 2535 กรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน
2535 กรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
19 ตุลาคม 2535 กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2 กรกฎาคม 2538 ส.ส.(สอบตก) จังหวัดชลบุรี เขต 1 พรรคเอกภาพ
29 สิงหาคม 2538 รองหัวหน้าพรรคเอกภาพ

26 ธันวาคม 2539 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดชลบุรี (ส.ส.ร.ชลบุรี) (พ้นตำแหน่ง 11 ต.ค. 2540)
15 มกราคม 2540 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
15 มกราคม 2540 กรรมาธิการประชาสัมพันธ์

14 มิถุนายน 2543 หัวหน้าพรรคไทยมหารัฐ (ลาออก 13 ก.ย.2544)

คณิน เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง โดยมักแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง โดยผลงานทางวิชาการที่เขาเขียนเช่น ประวัติรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญต่างประเทศ จีนสามยุค และ 7 ปีปฏิรูปการเมืองไทย ฯลฯ

ในปี 2551 คณินเผยแพร่หนังสือ "รัฐธรรมนูญ 2550 ทำไมต้องแก้" อธิบายเหตุผล 15 ประการ ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ทีละมาตรา โดยที่มาตราที่ควรแก้ไขอันดับแรกคือ บทเฉพาะกาล โดยคณินเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหาร แต่ในความรู้สึก ในหัวใจของนักประชาธิปไตยและอีกหลายคนยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ในขณะที่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาที่ไม่ชอบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สร้างความระส่ำระสายทางการเมือง นอกจากนี้เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 6 ประเด็น ขณะที่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองของคณินนั้น เขาเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไข และใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550

โดยในโอกาสครบรอบ 12 ปี ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เขาให้สัมภาษณ์ประชาไท ยืนยันข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับด้วย

"เหตุผลที่ผมบอกว่า ควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หมายความว่า ควรจะนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุงแก้ไขและนำไปใช้แทนรัฐธรรมนูญ 50 เพราะปี 50 มันแก้ไม่ได้ มันมีเป็นร้อยๆ ประเด็นที่ผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ วิธีการเขียน เนื้อหาสาระ หลักการ แล้วแก้ไปความวุ่นวายก็จะตามมา เพราะมีทั้งกับระเบิด กับดัก มีทั้งกลเกม กลไกต่างๆ ดูคล้ายๆ ว่ามันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นสมรภูมิให้ผู้คนมาฟาดฟันกัน ความสามัคคีมันก็ไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยุติธรรม มันเห็นชัดเจนว่าบทบาทของฝ่ายตุลาการที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญ 50 มันเกินเลยไปกว่าที่สังคมจะคาดหวังความยุติธรรมที่จะได้รับจากฝ่ายตุลาการ กลายเป็นว่าฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงกระบวนการในการเมือง ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองต่างๆ

แต่อย่างน้อยที่สุดที่ผมเสนอไว้คือ ถ้ายังไม่สามารถจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือไม่สามารถนำเอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับแก้แล้วใช้บังคับแทน สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือต้องแก้ไขที่บทเฉพาะกาล เพราะมีหลายมาตราที่ให้สืบทอดบรรดาองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักนิติธรรม และกระบวนการประชาธิปไตยด้วย และที่สำคัญยิ่งคือ มาตรา 309" คณินให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งเมื่อปี 2552 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

ในระยะหลังนั้นเขาเป็นประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ที่ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างมากในช่วงก่อนการทำประชามติ รวมทั้งวิจารณ์พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นการทำลายพรรคการเมือง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

โดยการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเรื่องสุดท้าย คือการแสดงความไม่เห็นด้วย กรณีที่ สนช.รับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักการให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจสั่งจำคุกบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลา 1 เดือน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net