ความจริง(ที่คนลืม) ‘อภิวัฒน์ 2475’ ที่ต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษา

วงเสวนาชวนแลกเปลี่ยนความจริงเกี่ยวกับอภิวัฒน์ 2475 เสนอต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนกระทรวงศึกษา มองจากอดีตสู่อนาคตที่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบหากยังยึดรัฐธรรมนูญ 2560 และมีระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดสร้างความเหลื่อมล้ำ

อนุสรณ์ ธรรมใจ, พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล, ประจักษ์ ก้องกีรติ, วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน “1932 : a year that cannot be changed” (ปีแห่งการอภิวัตน์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล จาก เว็บไซต์ 101 world วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เขียน 'แนวความคิดทางเศรษฐกิจ ของ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์'  และอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมแลกเปลี่ยนความจริงเกี่ยวกับอภิวัฒน์ 2475 ที่ต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนกระทรวงศึกษา มองจากอดีตสู่อนาคตที่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบหากยังยึดรัฐธรรมนูญ 2560 และมีระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำ

มายาคติอภิวัฒน์ 2475 ชิงสุกก่อนห่าม? ร.7 จะพระราชทานอยู่แล้ว?

วิชิตวงศ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงปกครองประเทศไทย เป็นวิวัฒนาการ ไม่ใช่อะไรที่ฉับพลัน เมื่อเราเปิดประเทศสนธิสัญญาเบาริ่ง ทำให้ไทยได้ติดต่อกับโลกตะวันตก และทำให้คนไทยรู้สึกถึงความต่างระหว่างไทยกับฝรั่งหลายขุม คล้ายกับความเจริญของไทยนั้นหยุดนิ่งมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แต่ฝรั่งเปลี่ยนมหาศาล ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม ขณะที่ไทยล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่มีโรงเรียน คนอ่านหนังสือออกมีไม่กี่คนทั้งประเทศ ร.5 จึงเริ่มต้นเลิกทาส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย แม้ว่าจะใช้เวลาอีกกว่า 40 ปีจึงจะเรียบร้อย รวมทั้งการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการ การส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกและทำให้ได้รับแนวคิด เป็นต้น ดังนั้นปัจจัยทั้งภายในและภายนอกจึงส่งผลต่อพัฒนาการของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นก่อน 2475 แต่ 2475 เป็นจุดเปลี่ยนนั้นเอง

พันธวัฒน์ กล่าวว่า การอภิวัฒน์ 2475 ส่วนใหญ่มักนำเสนอข้อมูลจากคนนอก เช่น นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ แต่ข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์กลับไม่ค่อยได้ถูกนำมาเสนอ ซึ่งตนได้พบบันทึกของปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้นเมื่อปี 2515 ในวาระครบรอบ 40 ปีอภิวัฒน์สยาม ซึ่งเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งพูดเกี่ยวกับมายาคติของการอภิวัฒน์ 2475 เช่น การชิงสุกก่อนห่าม

ประการแรก คือคำกล่าวที่ว่า “เหตุการณ์ 2575 เป็นการกระทำโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม และยังไม่มีความเข้าใจในประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้” แต่ ปรีดี บันทึกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มมีเชื้อมาตั้งแต่ ร.5 โดยเฉพาะในกรณีของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และ เทียนวรรณวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบที่กดขี่ประชาชน อันเป็นทรรศนะที่เสี่ยงคุกตะรางอย่างยิ่ง หรือในสมัย ร.6 ก็มีแบบเรียน ‘มูลบทบรรพกิจ’ ในเนื้อหามีส่วนเชิงวิพากษ์ระบอบสมบูรณายาสิทธิ์เช่นกัน พอถึง ร.7 นักศึกษานอกหรือคนรุ่นใหม่ก็มีความต้องการและตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบนี้ เมื่อยึดอำนาจแล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมาก ถึงกับมีผู้ต้องการสมัครเข้าเป็นคณะราษฎรมากมายจนใบสมัครมีไม่พอ

ประการต่อมา คือคำกล่าวที่ว่า “คณะราษฎรชิงยึดพระราชอำนาจ ทั้งที่ ร.7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว” นั้น ปรีดีกล่าวว่า ตนและคณะราษฎรไม่เคยทราบถึงพระราชประสงค์ข้อนี้มาก่อนโดยมีพยานหลักฐานที่ตรวจสอบได้ เช่น การบันทึกการเข้าเฝ้า

'ประจักษ์' ชี้ รธน. ฉบับ ร.7 อยู่ในกรอบสมบูรณาญาสิทธิฯ

ประจักษ์ กล่าวเสริมว่า และเมื่อพิจารณาเนื้อของของรัฐธรรมนูญ ระหว่างฉบับของ ร. 7 กับของคณะราษฎร พบว่า เนื้อหา ของ ร.7 เป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ในกรอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีการกระจายอำนาจ มีเพียงแต่การแต่งตั้งนายกฯ และสามารถปลดได้ ไม่มีการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน พูดง่ายๆ คือเป็นแค่เพียงการให้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระของกษัตริย์มาากขึ้น

ทั้งนี้ ประจักษ์ เห็นว่า ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในตอนนั้น การฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบอุปถัมภ์  เศรษฐกิจตกต่ำ

อภิวัฒน์ 2475 ต้องถูกบันทึกลงในแบบเรียนอย่างถูกต้อง

วิชิตวงศ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์นั้นเพิ่งถูกบิดเบือนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทั้งเรื่องชิงสุกก่อนห่าม หรือกระทั่งเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทย เพราะตอนที่ตนเป็นเด็กนั้นไม่ได้ถูกสอนแบบนี้ และได้รับการปลูกฝังอย่างเกี่ยวกับการอภิวัฒน์และคณะราษฎรอย่างถูกต้อง แต่แม้ว่ามันจะถูกบิดเบื่อนแต่มันไม่อาจทำให้หายไปได้ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาพลังฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอลง ขณะที่พลังเผด็จการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากอะไรบางอย่างเข้มแข็งขึ้น

ประจักษ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะแต่ในสังคมไทยคนชนะไม่ได้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แม้ว่าอภิวัฒน์ 2475 วางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้ประเทศ แต่สิ่งที่เขารับรู้ส่วนใหญ่เป็นความจริงที่คลาดเคลื่อนกับสิ่งที่คณะราษฎรเขียน ประวัติศาสตร์ 2475 ที่เผยแพร่ในไทยกลับเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้าม

“จนถึงตอนนี้ 2475 ยังไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ลงหลักปักฐาน สังคมไทยมีวิธีการจัดการอยู่สองแบบ ไม่พูดถึงเลย พูดถึงแบบผิดพลาดคลาดเคลื่อน ผ่านไป 80 กว่าปีควรมีวันหยุดราชการ ควรเข้าไปอยู่ในแบบเรียน ควรทำให้เป็นสิ่งที่คนจำได้ ในสังคมไทยแม้แต่แบบเรียนยังไม่มีพื้นที่ให้ 2475 คนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียน กว่าจะได้รับรู้จริงจังก็เข้ามหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างแบบเรียนกระทรวงศึกษาในวิชาสังคมศึกษา หลักสูตรล่าสุดปี 2551 เขียนถึงกำหนดประชาธิปไตยไว้เพียงสามบรรทัด ไม่พูดถึงคณะราษฎรหรือ 2475 อยู่ดีประชาธิปไตยก็จุติขึ้นมาอย่างมีต้นสายปลายเหตุ” ประจักษ์ กล่าว

ประจักษ์ ชี้ว่า จุดที่ประชาธิปไตยเริ่มล้มลุกคุกคลาน คือการรัฐประหาร 2490 หลังจากนั้นประชาธิปไตยสะดุด และไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบอบของคณะราษฎรอีกต่อไป ดังนั้นถ้าจะโทษถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยของไทย นั้นคือการรัฐประหารปี 2490 และ 2500 ซึ่งเป็นประเด็นที่เรายังศึกษาและพูดถึงกันน้อย

ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ลึกลงไปเราจะไม่เกิดคำถามว่า 2475 เป็นการปฏิวัติหรือเป็นการรัฐประหาร เพราะถ้าเรียนจะเห็นว่า 2475 นั้นวางรากฐานทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วางรากฐานจิตสำนึกใหม่ รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่จริงหลัง 2475 ในความหมายที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีการเลือกตั้ง มีการให้สิทธิกับประชาชนเป็นครั้งแรก เริ่มมีการกระจายอำนาจผ่านเทศบาล มีการวางรากฐานการศึกษา สาธารณสุขแบบสมัยใหม่ และรัฐเริ่มมีสำนึกในการบริการประชาชน และมีหน้าที่ต้องจัดบริการสนองความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งที่คณะราษฎรมองว่ารัฐมีหน้าที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้  และระบบราชการที่ขยายตัว มีความเป็นมีอาชีพก็เกิดขึ้นหลัง 2475

ประจักษ์ มองว่า ไทยประสบความสำเร็จในการใช้ประวัติศาสตร์สต๊าฟความคิดของคนในสังคมไว้ ประวัติศาสตร์ไทยทำหน้าที่เหมือนยานอนหลับ ยิ่งเรียนมากยิ่งถูกกล่อมเกลา ดังนั้นการปลูกฝังมิติทางความคิดและวัฒนธรรมก็สำคัญ ประชาธิปไตยจะไม่ลงหลักปักฐานถ้าเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาพูดเรื่อง 2475 ซ้ำๆ แบบนี้ทุกปี และเครื่องมือที่สำคัญคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจึงต้องทำให้ 2475 ถูกพูดถึงในแบบเรียน และอยากเสนอให้มีเว็บเกี่ยวกับ 2475 กับหนังเกี่ยวกับ 2475

'อนุสรณ์' กับ 6 ข้อเสนอกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า 2475 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศไทย แต่คณะราษฎรก็มีอำนาจที่ไม่เด็ดขาด เนื่องจากมีสงครามโลกครั้งที่สอง และมีปัญหาทางการเมืองหลายอย่าง เช่น กบฎบวรเดช จนถึงการรัฐประหาร 2490 ทำให้คณะราษฎรสายที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยหมดบทบาททางการเมืองลงไป และผ่านจุดเปลี่ยนทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่การรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ปี 2500 จุดเปลี่ยนผ่านในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จุดเปลี่ยนผ่านเมื่อ 6 ตุลา 2519 และรัฐประหารอีกหลายครั้ง

แม้ตอนนี้ในอนาคตเราจะมีการเลือกตั้ง แต่เราจะไม่ได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงกึ่งประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเนื้อหาหลายมาตราไม่เป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น จึงถือโอกาสนำเสนอข้อเสนอเพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

1. ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองโดยยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นธรรมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพรรคการเมืองต้องแสดงเจตจำนงในการรณรงค์หาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์

2. คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลายและยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

3. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เสรีและเป็นธรรมสามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นใจอย่างกว้างขวางว่าระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งและเชิญองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมจัดการเลือกตั้ง หาก กกต.หรือผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งสามารถสร้างความมั่นใจสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเชิญองค์กรระหว่างประเทศร่วมจัดการเลือกตั้ง

4. เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาลและเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคตแกนนำ คสช ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ (สืบทอดอำนาจ) ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเข้าสู่การเสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองต่างๆ และควรลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งมีความเป็นกลางเป็นธรรมและไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

5. เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนกับความต้องการของ คสช ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้

6. เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเสนอหัวข้อข้างต้น จะทำให้เกิดความมั่นใจ เราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (ไม่ใช่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย) อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

เศรษฐกิจถูกผูกขาดมาตลอด ทำเหลื่อมล้ำสูง ประชาธิปไตยจึงไม่มั่นคง

อนุสรณ์ กล่าวถึงมิติด้านเศรษฐกิจว่า เดิมระบบเศรษฐกิจถูกผูกขาดโดยราชสำนักแบบศักดินา พอมีสนธิสัญญาเบาริ่ง เริ่มมีการเปิดประเทศ มีการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้ดุลอำนาจในสังคมไทยทางเศรษฐกิจเปลี่ยน พอเปิดเสรีก็ทำให้ระบบต้องการแรงงาน และประจวบกับที่ในสมัย ร. 5 ขุนนางต่างก็มีอำนาจมาก ดังนั้นในด้านหนึ่งการเลิกทาสคือลดอำนาจขุนนาง และเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิต ให้แรงงานเคลื่อนตัวได้มากขึ้น หมายความว่าวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างส่วนบน ของระบบการเมืองต้องปรับตัวและปรับวิธีคิด และขณะเดียวกันนักเรียนทุนที่ถูกส่งไปปเมืองนอกก็ย้อนกลับมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงระบบ

86 ปีประชาธิปไตยไทย ระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดเป็นระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ เราเปิดประเทศ มีพลังทุนข้ามชาติ ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็มีอำนาจการผูกขาดสูง ทำให้เกิดความเหลื่อล้ำในทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ไม่มีทางที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ได้

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หลายครั้งคณะราษฎรผลักดันประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ก็จะถูกโต้กลับทันที เพราะเป็นเรื่องการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝ่ายอำนาจเดิม และขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกทำให้อ่อนแอ ไม่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่จะทำอะไรได้มากนัก นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่เราอาจจะต้องใช้ความพยายามที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจตรงนี้ให้ได้ เพื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ถ้ามีการเลือกตั้งเรามีรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส เศรษฐกิจเป็นธรรม นักการเมืองมีคุณภาพ การเลือกตั้งเป็นอิสระและเป็นธรรม ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ และคณะรัฐประหารที่มักอ้างเหตุผลเดิมๆในการยึดอำนาจ หากผู้นำกองทัพได้รับการปลูกฝัง เชื่อมั่น ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เขาก็จะไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรที่นอกวิถีทางประชาธิปไตย ผมหวังว่าอนาคตเราจะมีประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องมั่นคง ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำคือ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลยุติธรรม ต้องทำให้สองสิ่งยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น จะทำให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท