เมื่อ 'บาร์เซโลนา' เลือกรับผู้อพยพมากกว่านักท่องเที่ยว

หนึ่งในภาพจำอย่างหนึ่งที่ฝ่ายขวาชอบอ้างใช้กันคือการอ้างว่าผู้อพยพเป็น "ผู้รุกราน" หรือเป็นผู้ขออาศัย แล้วมองนักท่องเที่ยวด้วยภาพบวก แต่ทว่าชาวเมืองบาร์เซโลนาไม่ได้มองเช่นนั้น เขาเห็นว่าผู้ที่ทำลายอัตลักษณ์ของเมืองไม่ใช่ผู้อพยพแต่เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป ขณะเดียวกันก็ยินดีต้อนรับผู้อพยพมากกว่าเพราะพวกเขามองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ช่วยสร้างบ้านเมือง

ภาพประกอบ:  Casa Milà (Barcelona) ปี 2010 ที่มา: SBA73/Wikipedia

ในบาร์เซโลนาประเทศสเปน มีผู้คนจำนวนมากที่อยากให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยมากกว่าอยากได้นักท่องเที่ยว พวกเขาเคยเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนยอมรับผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ในครั้งนั้นมีผู้ชุมนุมราว 150,000 คน หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนพ่นสีบนกำแพงเมืองเป็นข้อความว่า "นักท่องเที่ยวกลับบ้านไป ยินดีต้องรับผู้ลี้ภัย" รวมถึงมีการประท้วงเรียกร้องประเด็นนี้ตามมาจากฝูงชนมหาศาลที่มาพร้อมคำขวัญ "บาร์เซโลนาไม่ใช่เอาไว้ขายใคร" และ "พวกเราจะไม่ยอมถูกขับออกไป"

มีเรื่องที่ชวนสงสัยว่าเหตุใดประชาชนเหล่านี้ถึงต้อนรับผู้ลี้ภัยแต่ปฏิเสธนักท่องเที่ยว และกลับมองว่านักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มคนที่จะทำให้พวกเขา "ถูกขับออกไป" ซึ่งผิดกับข้ออ้างของกลุ่มขวาจัดที่มักจะอ้างว่าผู้ลี้ภัยเป็น "ผู้รุกราน" แต่ในบาร์เซโลนาพวกเขาไม่เชื่อตามโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขวาจัด ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับมองว่านักท่องเที่ยวต่างหากที่เป็น "ผู้รุกราน" และเป็นอันตรายต่ออัตลักษณ์ของพวกเขามากกว่า

ในบาร์เซโลนามีปัญหาเรื่องจำนวนชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมแค่ร้อยละ 2 ในช่วงปี 2543 แต่ในปี 2548 ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 15 และในปี 2561 ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 ทั้งนี้ชาวบาร์เซโลนาไม่เคยประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยเลย พวกเขายังยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มีเงินทองแทนนักท่องเที่ยวที่เอาเงินเข้าประเทศด้วยเหตุผลที่ว่า "ผู้อพยพจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเมือง แต่การท่องเที่ยวจะทำให้เมืองขาดเสถียรภาพ" ซึ่งแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบาร์เซโลนาก็เห็นด้วยว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปถือเป็นปัญหา

ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในบาร์เซโลนาช่วงปี 2533 มีการรับนักท่องเที่ยว 1.7 ล้านราย แต่ในปี 2560 พวกเขารับนักท่องเที่ยวมากถึง 32 ล้านราย ถือเป็นปริมาณที่มากกว่าประชาชนในท้องถิ่น 20 เท่า การที่นักท่องเที่ยวทะลักเข้ามามากเกินไปเช่นนี้ทำให้ราคาค่าเช่าสูงขึ้น บีบให้ผู้อาศัยในพื้นที่ถูกขับออกจากย่านของตัวเอง และทำให้พื้นที่สาธารณะแออัดไปด้วยผู้คน

จากการวิจัยของเปาโล เกียกคาเรีย นักสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยตูรินระบุว่า ในกรณีของบาร์เซโลนานั้นมีการแยกแยะระหว่างคนเข้าเมืองสองจำพวกคือนักท่องเที่ยวกับผู้อพยพ แต่ก็ต่างจากที่อื่นที่มองผู้อพยพทางบวกมากกว่านักท่องเที่ยว

ในเรื่องนี้นาตาเลีย มาร์ติเนซ ส.ส. เขตซิวแทตเวลลา ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ของบาร์เซโลนากล่าวว่า พวกเขามองทั้งผู้อพยพเข้าเมืองและนักท่องเที่ยวว่าจะส่งผลดีเพราะพวกเขาหลอมรวมทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้ ทำให้ในแง่อัตลักษณ์แล้วตนเข้าเมืองจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์มากกว่าฉกฉวยเอาอัตลักษณ์ไป แต่ ส.ส. อีกรายหนึ่งคือ ซานติ อิบาร์รา มองต่างออกไปเล็กน้อยคือมองว่าขณะที่ผู้อพยพจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของเมือง แต่นักท่องเที่ยวจะเป็นผู้ฉกฉวยอะไรบางอย่างไป

ตัวเมืองบาร์เซโลนาเองก็เป็นเมืองที่เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมจากผู้อพยพหลากหลายทิศทางมานานแล้วโดยเฉพาะในย่านชนชั้นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป, ชาวลาตินอเมริกา, ชาวแอฟริกาเหนือ หรือแม้กระทั่งชาวจีนหรือชาวปากีสถาน จนมีคนที่มีเชื้อสายดั้งเดิมจริงๆ น้อยมาก แต่สิ่งนี้เองที่กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ทำให้บาร์เซโลนามีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกาตาลุญญาหรือสเปน เด็กลูกผสมที่เกิดจากพ่อแม่ต่างเชื้อชาติกันก็มักจะบอกว่าตนเองเป็น "ชาวบาร์เซโลนา" มากกว่าจะบอกว่ามาจากที่อื่น

แน่นอนว่าในบาร์เซโลนาก็มีพวกเหยียดเชื้อชาติสีผิวแบบที่อื่น แต่ทว่าฝ่ายรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจปล่อยให้การเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นปัญหาลุกลาม โดยตั้งแต่ปี 2553 สภาเมืองมีการดำเนินนโยบายประสานรวมทางวัฒนธรรม (interculture) แทนการดูดกลืนวัฒนธรรม (assimilation) ที่จะเป็นการเคารพในความต่างทางวัฒนธรรมและทางศาสนาซึ่งนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง และทำให้ผู้อพยพไม่กลายเป็นแพะรับบาปเวลาที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายปี

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะทำรายได้ให้กับบาร์เซโลนา แต่ประชาชนบาร์เซโลนาก็มองว่าควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกินไป ปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับเมืองของอิตาลีอย่างเวนิซด้วย โดยที่แพทริเซีย ริกันตี อาจารย์ด้านสภาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์กล่าวว่า มีนักท่องเที่ยวจำพวกที่เรียกวา "มากินทิ้งกินขว้างแล้วก็ไป" ทำให้เกิดมลภาวะต่อท้องถิ่นของพวกเขา นักท่องเที่ยวเหล่านี้สร้างปัญหามากกว่าผู้อพยพเสียอีก

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องความรู้สึกแปลกถิ่นแม้จะอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองซึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์และพลวัติทางอำนาจที่มาจากการท่องเที่ยว แต่กับผู้อพยพแล้วชาวบาร์เซโลนามองว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ทำงานสร้างชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งที่ให้อะไรบางอย่างกับเมือง แต่นักท่องเที่ยวมาแค่เป็นผู้ใช้สิ่งเหล่านี้

เรียบเรียงจาก

'Tourists go home, refugees welcome': why Barcelona chose migrants over visitors, The Guardian, 25-06-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท