ห่วงกลุ่มแรงงาน 'พม่ามุสลิม' ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ชี้มีชาวพม่าหลายกลุ่มพบอุปสรรคในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากไม่มีเอกสารจากประเทศพม่า เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน เนื่องจากทางการพม่าอ้างว่าไม่สามารถออกเอกสารให้แก่บุคคลคนที่ไม่ได้พำนักในประเทศได้ เสนอผ่อนผันให้กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
 
ที่มาภาพ: กรมการจัดหางาน
 
3 ก.ค. 2561 กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าจากผลการการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2561 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์ OSS ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 347,067 คน แบ่งเป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 348,022 คน คิดเป็นร้อยละ 99.73 โดยเมื่อรวมกับผลการดำเนินการในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 จำนวน 840,736 คน อย่างไรก็ตามจากผลสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลแรงงานต่างด้าวเพื่อให้มีการควบคุมง่ายขึ้น แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน แบ่งเป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน คิดเป็นร้อยละ 90 จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 จำนวนทั้งหมด 1,320,035 คน 
 
โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และประเทศต้นทางทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของศูนย์ OSS ให้เป็นผลสำเร็จ สำหรับขั้นตอนต่อไปแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก จะไม่มีสิทธิ์อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด ตำรวจ และฝ่ายปกครองจะมีการสุ่มตรวจจากข้อมูลการร้องเรียน และด้านการข่าว ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย
 
"หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงาน ในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น" พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด
 
ห่วงกลุ่มแรงงาน 'พม่ามุสลิม' ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
 
ข้อมูลจาก MWG WEEKLY UPDATE ประจำสัปดาห์ที่ 2 ก.ค.2561 ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ระบุว่าจากมาตรการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาตินั้นมาจากความเชื่อว่าแรงงานจะสามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ แต่พบว่ามีชาวพม่าหลายกลุ่มพบกับอุปสรรคในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจนทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ ซึ่งเครือข่ายฯ พบว่ากลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากไม่มีเอกสารจากประเทศพม่า เช่น บัตรประจำตัวประชาชน  ทะเบียนบ้าน เนื่องจากทางการพม่าอ้างว่าไม่สามารถออกเอกสารให้แก่บุคคลคนที่ไม่ได้พำนักในประเทศได้   
 
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นรัฐบาลไทยควรพิจารณาแนวทางการจัดการที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับกลุ่มพม่ามุสลิมที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาตินี้ได้มี กล่าวคือ 1. รัฐควรมีมาตรการเร่งด่วนผ่อนผันการจับกุมและการส่งกลับแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านหลังจาก 30 มิ.ย. 2561 และรวมถึงผู้ติดตามด้วย 2. เมื่อปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม โดยมีการได้สำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อควบคุมและบริหารจัดการไม่ให้มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และจากปัญหาแรงงานกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านและมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย  ดังนั้นรัฐบาลไทยควรทบทวนยุทธศาสตร์นี้เพื่อปรับใช้กับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย 
 
3. รัฐบาลไทยควรมีนโยบายเฉพาะให้กับกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่สามารถกลับไปยังประเทศต้นทางได้  มีข้อมูลความจริงว่าชาวพม่ามุสลิมมีความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในประเทศต้นทางของเขา การบังคับส่งกลับคืนสู่มาตุภูมิกับคนกลุ่มนี้ไปยังประเทศพม่าอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะการส่งกลับนั้นอาจจะมีข้อกังวลต่อความปลอดภัยของพวกเขา และประเทศไทยต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักการการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) ในระหว่างที่หาทางออกในการให้สถานะให้คนกลุ่มนี้ รัฐบาลไทยควรจะต้องร่วมหาทางออกกับประเทศต้นทางและประเทศที่สามด้วย ทางเลือกนี้จะช่วยให้หน่วยงานระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคได้เห็นปัญหาของคนกลุ่มนี้  และ 4. พิจารณาผ่อนผันให้กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ประกอบกับมาตรา 63/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท