'วอยซ์ทีวี' เล็งฟ้องศาลปกครอง หลัง กสทช. แบน (อีกแล้ว) 2 รายการ

ผอ.อาวุโสฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการวอยซ์ทีวี ระบุ กสทช. พักออกอากาศสองรายการข่าวกระทบทั้งเรตติ้งและรายได้ จะปรับแก้ตามที่ถูกท้วงติงแต่ทิศทางการทำข่าวยังเหมือนเดิม กำลังปรึกษาทนาย เล็งฟ้องศาลปกครอง อดีต กสทช. ชี้ คำสั่ง คสช. ให้ กสทช. กด ‘สูตรอมตะ’ แบนสื่อต่อเนื่องและโฉ่งฉ่าง

โลโก้วอยซ์ทีวี

ข่าวการค้นพบทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดในถ้ำขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นที่ปรากฏอย่างแพร่หลาย รวดเร็วบนหน้าสื่อทั้งไทยและต่างชาติ แต่ไม่ใช่ที่รายการข่าว Daily Dose และ Wake Up News ของช่องวอยซ์ทีวี เพราะเมื่อวานนี้เพิ่งมีคำสั่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้พักออกอากาศเป็นเวลาสามวัน (2-4 ก.ค. และ 3-5 ก.ค. ตามลำดับ)

รายละเอียดคร่าวๆ ของการพักออกอากาศสองรายการข่าวมีดังต่อไปนี้

  1. คำสั่งของ กสทช. แบนรายการ Daily Dose จากเทปที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยเปรียบเทียบกรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่กับภาพยนตร์เรื่อง “No Country For Old Men” ว่า ผู้ครองอำนาจเดิมแทรกแซง ข่มขู่ บุคคลที่จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อให้สามารถจัดตั้งพรรคได้ อันเป็นการกีดกันไม่ให้คนยุคใหม่ได้เข้ามาบริหารปกครองประเทศในลักษณะ “No Country For Young Men” และนำเสนอบทสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ผู้ดำเนินรายการมีการแสดงความเห็นโดยปราศจากความเป็นลาง รวมทั้งแสดงความเห็นในเชิงก่อให้เกิดการแบ่งแยกของคนในสังคม ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 3(5) ของประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 (ประกาศฉบับที่ 97) และถือเป็นการออกอากาศเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศ และขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ของวอยซ์ทีวี ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับ กสทช. ฉบับลงวันที่ 4 มิ.ย. 2557
  2. Wake Up News ถูกแบนจากเทปที่มีการสรุปความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส จากการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “การรัฐประหารมักจะถูกกระทำโดยทหารที่ถูกปลูกฝังให้อยากเป็นใหญ่แต่ไม่คิดจะทำตามระบบ ไม่คิดอยากจะเลือกตั้ง คิดแต่จะยึดอำนาจ และเขียนกฎหมายเพื่อให้รองรับการสืบทอดอำนาจ” ก่อนนำคลิปเสียงของเสรีพิศุทธ์ ในงานเสวนาดังกล่าวมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวมีผู้ร่วมเสวนาหลายคน แต่ผู้ดำเนินรายการเลือกที่จะเสนอเฉพาะความเห็นของเสรีพิศุทธ์เท่านั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นความเห็นที่ไม่เห็นพ้องและโจมตีรัฐบาล อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงกระบวนการในการฝึกอบรมและวัฒนธรรมของกำลังพลในกองทัพได้ ถือว่าขัดต่อข้อ 3(5) ของประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และถือเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศ และขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ของวอยซ์ทีวี ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับ กสทช. ฉบับลงวันที่ 4 มิ.ย. 2557
 

ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีกล่าวกับประชาไทว่า ทางวอยซ์กำลังหารือกับทนายความเพื่อเตรียมข้อมูลไปร้องเรียนกับศาลปกครอง  หากวอยซ์เดินหน้าฟ้องศาลปกครองจริงก็จะเป็นครั้งแรกของสถานีฯ ที่จะต่อสู้ในศาลปกครองหลังถูก กสทช. ลงโทษสารพัดชนิดมาร่วม 20 ครั้งนับตั้งแต่รัฐประหาร

“ในกระบวนการไม่มีทางเลือก ต้องไปที่ศาลปกครองอย่างเดียวเพราะโดนมาหลายครั้ง เรายังไม่เคยไปสู้ในทั้งเรียกร้องความยุติธรรมถึงศาลปกครอง ที่ผ่านมาเขาลงโทษมาเราก็ยอมรับสภาพไป ไม่ได้คิดจะต่อสู้ แต่นี่มันหลายครั้ง พอหลายครั้งมากๆ เราก็เชื่อว่าในแง่ของความผิดมันไม่ได้เป็นไปตามที่ กสทช. กล่าวหาหรือที่เขาเชื่ออย่างนั้น เราก็เชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจซึ่งเป็นเสรีภาพตามปรกติของสื่อมวลชนในโลประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ ถ้าเราไปฟ้องศาลปกครอง ก็จะเป็นครั้งแรกที่วอยซ์จะตัดสินใจสู้ในชั้นศาลปกครอง”

ประทีปยังระบุว่า คำสั่งพักออกอากาศยังไม่กระทบบทบาทของวอยซ์ในการเป็นสถานีโทรทัศน์วิเคราะห์ข่าวที่ให้น้ำหนักกับข่าวการเมือง ต่างประเทศ เศรษฐกิจ อันเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากช่องอื่นๆ รายการที่ถูกพักนั้น เมื่อกลับมาก็จะเป็นเหมือนเดิม โครงสร้างรายการจะไม่มีการเปลี่ยน ผู้ดำเนินรายการก็จะไม่เปลี่ยน แต่ต้องระวังมากขึ้นในเรื่องที่ กสทช. ท้วงติงอันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองรายการต้องปลิวชั่วคราว

“ก็ต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา หรือความเห็นที่เขาเคยท้วงติงไว้ เช่น ในแง่ความไม่รอบด้านก็ต้องระวังตรงนี้เพิ่ม ยกตัวอย่างเช่นถ้านักข่าวไปงานเสวนาทางการเมืองประเด็นต่างๆ เนื่องจากเป็นช่วงถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง แล้วมันมีคนที่เป็นตัวแทนไปคุยบนเวทีเสวนาหลายพรรคหลายฝ่าย เวลาจะนำเสนอ ถ้าเราจะปล่อยเสียงก็ควรจะปล่อยเสียงให้ครบทุกพรรค เพื่อไม่ให้เป็นช่องให้เขาหยิบมากล่าวหาว่าไม่นำเสนอรอบด้าน”

“ส่วนประเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงเป็นการตีความของ กสทช. ก็ลำบากเหมือนกันถ้าจะไปหลีกเลี่ยงตรงนั้นเพราะเราก็เน้นข่าวเรื่องการเมือง วิเคราะห์ข่าวการเมืองมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเสนออะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือนโยบาย ถามว่าเรื่องพวกนี้จะไปกระทบกับความมั่นคงตรงไหน อย่างไร ก็เป็นมุมมองของ กสทช. ที่จะตัดสินใจ เราคิดว่ามันไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะมันคือการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริง นักวิเคราะห์อาจมีความเห็นเพิ่มเติมแต่ก็เป็นความเห็นที่อยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ได้บิดเบือน

ประทีปกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการวิเคราะห์หรือนำเสนอข่าวแล้วไปกระทบหรือละเมิดใครนั้นก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะต้องมาพักออกอากาศกัน เนื่องจากในทางปกติก็มีกฎหมายที่จัดการได้ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งผู้ถูกละเมิดหรือพาดพิงจะออกมาปกป้องตัวเอง รวมถึงแรงต้านจากคนดูที่จะมีผลกับความน่าเชื่อถือของสถานีฯ

ว่าด้วยเรื่องเนื้อหาที่ถูก กสทช. เพ่งเล็งเล่นงานมากที่สุด ผอ.ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการตอบว่าส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่ไปพาดพิง วิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหา คสช. หรือรัฐบาล ซึ่งในความหมายรวมๆ หมายถึงการพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หรือพาดพิงนโยบายรัฐบาลด้วย การพาดพิงทหารก็เป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งเช่นกัน

ในกรณีความเสียหายทางธุรกิจ แม้ยังไม่ได้สรุปตัวเลขออกมา แต่ประทีปกล่าวว่าชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของรายการในวอยซ์มีผลกระทบมากต่อความมั่นใจของคนที่อยากมาลงโฆษณาหรือเป็นผู้สนับสนุนรายการ รวมถึงระดับเรตติ้งจากผู้ชม

“ตัวเลขยังไม่ได้สรุปออกมา เพราะจริงๆ ก็แค่สามวัน แต่ในเชิงธุรกิจก็คือการชดเชยลูกค้าให้ได้ ถ้ารายการนี้ออกอากาศไม่ได้สามวันก็จะนับยอดชดเชยให้เขาในวันอื่น แต่กระทบแน่ คงบอกตัวเลขไม่ได้ เพราะนอกจากเรื่องการเสียโอกาสการเอาเวลาไปขายได้เพิ่มก็ต้องเอาเวลาที่จะขายได้เพิ่มมาชดเชยเพราะเราไม่ได้ออกอากาศให้เขาในวันเวลาเดิม ในแง่ความมั่นใจของลูกค้าอันนี้ประเมินยาก ลูกค้าอาจจะมีความมั่นใจลดลงในการมาซื้อโฆษณาหรือสนับสนุนเรา เพราะเดี๋ยวก็ถูกปิดรายการ ถูกพักรายการ เขาก็จะขาดความเชื่อมั่นในการสนับสนุนเรา”

“ในแง่คนดูก็มีผลกระทบ การพักรายการ เวลารายการใหม่ (ที่มาแทนช่วงเวลารายการเดิม) มาบางทีไม่สามารถดึงคนดู้ไว้อย่างรายการเดิมได้ พอรายการหายไประยะหนึ่งแล้วกลับมาก็ไม่ได้หมายความว่าคนดูที่เคยดูยู่จะกลับมาดูทันที มันจะต้องมีเวลาดึงคนดูกลับมาใหม่ เราก็จะมีปัญหานี้เป็นระยะตามที่เราถูกปิด บางทีรายการเรตติ้งกำลังมาดีๆ ก็สั่งพักเรา พอสั่งพักเสร้จ 3 วัน 5 วัน 7 วัน วันเรตติ้งก็หายไป พอรายการกลับมาใหม่ กว่าเรตติ้งจะกลับมาจุดเดิมก็ต้องใช้เวลา”

ด้าน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรรายการ The Daily Dose และ Wake Up News ให้ความเห็นว่า "ไม่เป็นไร อีกสักพักก็กลับมานำเสนอรายการตามปกติต่อ เข้าใจสภาพแวดล้อมของการทำงานขององค์กรอิสระในยุคนี้"

อดีต กสทช. ชี้ คำสั่งคณะรัฐประหารให้ กสทช. กด ‘สูตรอมตะ’ กำกับสื่อต่อเนื่องและโฉ่งฉ่าง

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย เป็นอำนาจพิเศษที่ทำให้ กสทช. พ้นจากการต้องรับผิดชอบทางกฎหมายจากการตัดสินใจแบนสื่ออย่างต่อเนื่องภายใต้ยุคสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งในอดีต กสทช. มีความระมัดระวังมากในการใช้อำนาจในการกำกับสื่อที่มีอยู่แล้วตามในมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า

ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้

“จะเห็นว่าการใช้กรณีนี้ (วอยซ์ทีวี) ต้องใช้ว่าขัดกับประกาศ คสช. เสมอ เพราะว่าอันนั้นคือตัวอิงอำนาจของ กสทช. ถ้าเคสอื่น เช่น รายการละคร ซีรีส์ เกมโชว์ ก็เป็นการใช้อำนาจปรกติตามมาตรา 37 เช่นปรับห้าหมื่น ปรับห้าแสน เตือนให้ปรับเรตรายการให้เหมาะสม หรือเรื่องจริยธรรมสื่อเช่นเรื่องถ้ำหลวงที่สื่อรายงานไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องจริยธรรม กสทช. ก็ไม่ลงโทษอยู่แล้วเพราะไม่มีอำนาจ แต่ถ้าออกอากาศที่ขัดอะไรไปก็อาจจะเตือนหรือปรับ แต่การสั่งแบนรายการมันเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น” อดีตกรรมการ กสทช. กล่าว

สุภิญญายกตัวอย่างการใช้อำนาจตามมาตรา 37 ในกรณีที่สื่อถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายของวันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ที่แม้รายการจะมีความรุนแรงเข้าข่ายมาตรา 37 แต่ กสทช. ก็ไม่ได้สั่งปิดกลางอากาศแต่อย่างใด

“ตอนสื่อถ่ายทอดสดการพยายามฆ่าตัวตายของดอกเตอร์คนหนึ่ง ที่ออกอากาศ 4-5 ชั่วโมง ไม่ยอมหยุดเสียที กสทช. ก็ไม่ได้ใช้อำนาจสั่ง แต่ขอให้สำนักงานขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการถ่ายทอดสด โดยอิงอำนาจตาม ม.37 ซึ่งเคสนั้น กสทช. ใช้อำนาจระมัดระวังมากโดยส่งจดหมายไปยังทุกช่องให้ระมัดระวังการถ่ายทอดสด และไม่ได้ลงโทษย้อนหลัง แม้ ม.37 จะให้อำนาจ กสทช. ให้สั่งระงับรายการได้โดยวาจาถ้ามีเหตุอะไรฉุกเฉินรุนแรง อำนาจเซ็นเซอร์นี้ ม.37 ให้ไว้ใช้กรณีที่ฉุกเฉินรุนแรงจริงๆ ถ้าถูกใช้ในเหตุการณ์ที่ไม่ฉุกเฉินรุนแรงจริงๆ ช่องหรืออะไรต่างๆ ก็สามารถมาร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้ตามกฎหมายปกติ ถ้าไม่มี ม.44 รองรับ กสทช. ก็จะระวังมากในการใช้อำนาจคว่ำบาตรหรือสั่งแบนสื่อ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท