Skip to main content
sharethis

เช็คประวัติทางการเมือง ‘กลุ่มสามมิตร’ อดีตล้วนแล้วแต่เคยร่วมทางกับไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย 3 คีย์แมนหลักเคยร่วมสร้างรัฐบาลไทยรักไทยปี 44 มาวันนี้หันหัวเรือเตรียมร่วมพลังประชารัฐ หนุนประยุทธ์ เป็นนายกฯ จนอดีต ส.ส. เพื่อไทยยื่น กกต. สอบพลังดูด ประวิทย์ชี้ ใครหนุนประยุทธ์ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับตัวเอง

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองในระยะประชิด อาจจะสงสัยกันอยู่บ้างว่า ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่ปรากฎอยู่ในพาดหัวข่าวการเมืองตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือใครกัน

กลุ่มสามมิตร เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองระหว่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งมีฐานหลักมาจากกลุ่มวงน้ำยม หรือกลุ่มมัชฌิมาเดิม และทั้งสามคนมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อปี 2544 จากการเดินได้สายรวบรวมบรรดา ส.ส. ในพรรคต่างๆ เพื่อเข้ามารวมกันในพรรคไทยรักไทย

กลุ่มสามมิตร : จากซ้ายมือ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ที่มาภาพ wikipedia.org)

กลุ่มดังกล่าว ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 จากการที่สมศักดิ์, สุริยะ พร้อมด้วย ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท ไปพบกับ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข และวันชัย บุษบา อดีต ส.ส.เลย

โดยวันนั้นปรีชาเปิดเผยว่า สุริยะ สมศักดิ์ และตนเองเคยอยู่พรรคกิจสังคมกันมาก่อน และย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน เห็นว่าน่าจะมาระดมสมอง นำนโยบายความคิดของพวกเรามาเป็นนโยบายสานต่อการพัฒนาประเทศ โดยทางกลุ่มเรียกตัวเองว่า กลุ่มสามมิตร มีสุริยะเป็นหัวหน้ากลุ่ม จากนี้จะมีการเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อคุยกับอดีต ส.ส. เพื่อหาแนวร่วม เมื่อรวมกลุ่มเสร็จก็จะมีการพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง หากพรรคไหนมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ทางกลุ่มก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ในเวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับพรรคใด

แต่ที่สุดแล้ว สุริยะ เปิดเผยในภายหลังว่า กลุ่มสามมิตร จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. กลุ่มสามมิตร ได้เชิญอดีต ส.ส.ประมาณ 50 คน  เข้าหารือ ที่สนามกอล์ฟ ไพน์เฮิร์สท เพื่อเตรียมพร้อมในการรวมตัวกันเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ  ส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเป็นอดีต ส.ส.จากภาคอีสาน อาทิ จำลอง ครุฑขุนทด อดีต ส.ส.นครราชสีมา สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา สมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย  ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา  เวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และ น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 

โดยสุริยะ กล่าวถึงการตัดสินใจรวบรวมอดีต ส.ส.เข้าร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐว่า อยากสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาโดยตลอด ถึงแนวทางและนโยบายที่จะดำเนินการทำให้เห็นถึงความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจที่จะช่วยเพราะเชื่อในความสามารถ มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง พร้อมขอให้ทุกคนลงพื้นที่สอบถามความต้องการของประชาชนว่าต้องการนโยบายอะไร เพื่อนำมาสรุปเป็นนโยบายนำเสนอผู้นำพรรคต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมคิด ระบุว่า ไม่รู้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร เพราะตนดูเศรษฐกิจ ไม่ได้ดูการเมือง สัปดาห์ที่ผ่านมาติดภารกิจต่างประเทศ เพิ่งเดินทางกลับมาเมื่อคืนวันที่ 1 ก.ค. กลับมาก็เห็นข่าวเยอะแยะไปหมด ยังงงๆ อยู่เลย การที่กลุ่มสามมิตรประกาศสนับสนุน พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัยนั้น ป็นการตัดสินใจของแต่ละคน และคงเห็นว่าตนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ต่างสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่มสามมิตรระบุดีลการเมืองผ่านตน สมคิดกล่าวว่า

“เพื่อนกันทั้งนั้น พรรคการเมืองส่วนใหญ่รู้จักกันหมด”

และด้วยปรากฎการณ์กล่าวมานี้ สุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส. ลพบุรี สังกัดพรรคเพื่อไทย จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เพื่อขอให้มีการะงับ และไม่อนุญาตให้มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมขอให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับ กลุ่มสามมิตร เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อได้ว่าทั้งสามคนได้พยายาม เชิญชวนโดยใช้ผลประโยชน์ให้ อดีต ส.ส. หลายพื้นที่เข้าร่วมพรรคประพลังประชารัฐ พร้อมกับข้อให้มีการไต่สวนพลเอกประวิตร และรัฐมนตรีคนอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งครั้งหน้า

สำหรับข้อร้องเรียนของ สุชาติ ระบุว่า แม้พรรคพลังประชารัฐ จะยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่กลับพบว่ามีการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ โดยกลุ่มสามมิตรได้เดินสายไปพบปะกับ อดีต ส.ส. เพื่อเชิญชวนให้ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีคนในรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (4) ที่บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

“นายสมคิดใช้ทำเนียบรัฐบาล ในการร่างนโยบาย ของพรรค แล้วยังมีการนัดพบอดีต ส.ส. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เวลา 14.00 น. โดยมีการเสนอผลประโยชน์ให้ พร้อมทั้งให้ดูนโยบาย 10 ข้อ ที่พรรคพลังประชารัฐจะดำเนินการให้เสร็จ โดยอ้างว่าถ้าทำไม่เสร็จจะไม่มีการเลือกตั้ง วันนี้ชาวบ้านกำลังดูอยู่ เบื้องหลังกลุ่มสามมิตรจริงหรือไม่ ขอให้นายสมคิดออกมาพูด ถ้าไม่อยู่ ต้องบอกให้ได้ว่านโยบาย 10 ข้อ ต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ทำไว้เพื่ออะไร เพราะนายสมคิดเป็นคนไปพูดกับนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน และคณะทำงานประสานงานประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตรที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน เม.ย. แล้วนายภิรมย์ก็โทรมาชวนผม จึงบอกว่าจะเอาอะไรไปสู้พรรคใหญ่ๆ เขา นายภิรมย์บอกว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมนโยบาย 10 ข้อไว้แล้ว ผมไม่เชื่อเขาจึงส่งไลน์มาให้ดู” สุชาติ กล่าว

ส่วนในกรณีของ สมศักดิ์ และสุริยะ สุชาติระบุว่า ทั้งสองได้มีการเสนอผลประโยชน์ให้กับอดีต ส.ส. ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30-31 ที่กำหนดว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมเพื่อจูงใจ ให้บุคคลหนึ่งบุคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะมีโทษตามมาตรา 109 จำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท ทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยวิธีการชักชวนของกลุ่มสามมิตร จะถามว่ามีหนี้เท่าไร อยากได้เงินเดือนละเท่าไร และอยากได้เงินก้อนเพื่อทำมาหากินเท่าไร 

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนต่อกรณีนี้ว่า ไม่รู้จักกลุ่มดังกล่าว ส่วนที่ระบุว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถือเป็นเรื่องของเขา ตนไม่ได้รับรู้ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองเกิดขึ้น และตนเองยังไม่ได้ทำอะไร หากใครต้องการจะร้องเรียนก็ร้องไป เพราะตนเองยังไม่ได้ทำอะไร

ใครเป็นใคร ในสามมิตร

สมศักดิ์ เทพสุทิน เริ่มต้นชีวิตในสนามการเมืองระดับชาติจากการได้รับเรื่องตั้งเป็น ส.ส. สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อมาในยุครัฐบาลชวน หลักภัย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลชวนสอง ก่อนย้ายมาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งถือเป็นคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นเพราะตลอดระยะเวลาของรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่เข้าไม่ได้ดำรงในระดับรัฐมนตรี

สมศักดิ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำกลุ่มทางการเมืองในพรรคไทยรักไทย ที่ชื่อว่ากลุ่มวังน้ำยม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สูงของไทยรักไทยในเวลานั้น มี ส.ส. สังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ราว 120 คน 

หลังการรัฐประหาร 2549 สมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมัชฌิมา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค ก่อนจะกลับมาใหม่ใต้ร่มพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งมีอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดแล้วก็ถูกตัดสินยุบพรรคอีกครั้ง พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน  ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของของสมศักดิ์ ได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย

แต่ในการเลือกตั้งปี 2557 ซึ่งถูกตัดสินเป็นโมฆะไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 16 ต่อมาในปี 2561 เขาระบุจะไม่ทำการยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย และได้ประกาศเข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองของตนจากกลุ่ม วังน้ำยม หรือ มัชฌิมา เป็น กลุ่มสามมิตร 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ร่วมกับสมศักดิ์ เทพสุทิน ในสมัยที่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ประสบปัญหาในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็สิ้นสุดลง ในปี 2555 หลัง ป.ป.ช. มีมติสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในปี 2550 จากกรณียุบพรรคไทยรักไทย เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทยในปี 2552 ก่อนจะกลับมาเป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรซึ่งประกาศร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในปีนี้

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นขุนพลคนสำคัญในรัฐบาลทักษิณ เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรค

หลังการรัฐประหารปี 2557 เขารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งกับหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จนกระทั่งในเดือน ส.ค.  2558 ดร.สมคิด จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และปรับให้หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ต่อมาปี 2561 มีกระแสข่าวต่อเนื่องว่า เขาเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญในของกลุ่มสามมิตร

ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส. นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน

อนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย และเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรค ต่อมาได้สนับสนุนพรรคภูใจไทย ซึ่งมีพรทิวา นาคาศัย ภรรยา เป็นเลขาธิการพรรค

ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอดีต สส. เลย พรรคเพื่อไทย และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคพลังประชาชน

เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ภรรยาของปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นอดีต ส.ส. เลย ในสังกัดพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

วันชัย บุษบา อดีต ส.ส. เลย ได้รับเลือกตั้งในปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ดำรงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวย 2 สมัย และเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ก่อนจะลาออกมาเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ

จำลอง ครุฑขุนทด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อหน้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. 2523 ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดพรรคปวงชนชาวไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2531-2535 และย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย

เขาเคย เข้าร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่เวทีสะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553

สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีต ส.ส. สังกัดพรรคไทยรักไทย เขาเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. จนกระทั่งรัฐบาลสั่งการปฏิบัติการณ์กระชับวงล้อมในวันที่ 12 พ.ค. 2553 และแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์

สมคิด บาลไธสง เป็นอดีต ส.ส. หนองคาย หลายสมัย เคยสังกัดหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย 

เวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด 4 สมัย และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้เคยสังกัดพรรคชาติประชาธิปไตย พรรคกิจประชาสังคม พรรคความหวังใหม่

น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เริ่มงานการเมืองระดับชาติโดยเป็น ส.ส.ขอนแก่น ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ เมื่อพรรคความใหม่ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย เขาได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทยหลังการรัฐประหาร 2557


เรียบเรียง: ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักข่าวไทยออนไลน์, ไทยโพสต์ออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net