Skip to main content
sharethis

ขั้นต่อไปของการช่วยเหลือ ‘13 หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย’ นับว่ายากไม่แพ้ช่วงค้นหา โดย ‘เดอะการ์เดียน’ ประเมิน 4 วิธีเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากถ้ำหลวง ซึ่งบางแนวทางเสี่ยงอันตรายเพราะระดับน้ำและสภาพภายในถ้ำ ด้านผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าต้องฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ และเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้การช่วยเหลือยากลำบากมากขึ้น

แฟ้มภาพช่วงที่ทีมช่วยเหลือชุดแรกนำโดยนักดำน้ำจากสหราชอาณาจักรพบกับ 13 เยาวชนและโค้ช "ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค. 2561 (ที่มา: เพจ Thai NavySEAL)

ภายในชั่วข้ามคืน คนไทยทั้งประเทศก็ได้รู้จักกับชื่อของ จอห์น โวแลนเทน นักดำน้ำจากสหราชอาณาจักร จากสภาช่วยเหลือผู้ติดถ้ำแห่งสหราชอาณาจักร (British Cave Rescue Council - BCRC) ที่เป็นคนแรกที่พบกับเยาวชนทีมหมูป่า อะคาเดมี พร้อมโค้ชทั้ง 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงเมื่อกลางดึกคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา จนกลายมาเป็นวิดีโอคลิปที่สร้างความปีติยินดีให้กับคนทั่วโลก

โดยจอห์น ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า ในตอนนั้นเขากำลังวางเชือกนำทางให้กับหน่วยซีลกองทัพเรือที่กำลังดำน้ำตามเข้ามา เมื่อเชือกของเขาหมดระยะ จอห์นปักสมอลงกับพื้นโคลนแล้วเงยหน้าขึ้น แล้วเขาก็ได้พบกับทั้ง 13 คน เขากล่าวว่า หากเชือกของเขาสั้นกว่านี้แค่ 15 ฟุต เขาก็คงจะเงยหน้ามาพบกับความมืดของถ้ำและหันหลังกลับเพื่อเริ่มสำรวจเส้นทางใหม่

แต่จะดีใจตอนนี้ก็อาจจะเร็วไป เพราะสิ่งที่ยากกว่าการค้นหา คือคำถามที่ว่าจะพาพวกเขาออกมาอย่างไร ซึ่งสื่อต่างประเทศหลายสำนักก็มีการวิเคราะห์เรื่องนี้ออกมาในหลายแนวทาง

 

ประเมิน 4 แนวทางเคลื่อนย้ายที่ยังมีความเสี่ยง

เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่าในขณะนี้ทีมช่วยเหลือกำลังประเมิน 4 วิธีการในการพาผู้ประสบภัยออกมา ได้แก่ หนึ่ง รอให้ระดับน้ำลดลง ซึ่งถือเป็นวิธีการที่เสี่ยงอยู่พอสมควรเนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แปลว่าอาจจะมีฝนตกลงมาอีกเป็นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอาจจะทำให้ระดับน้ำภายใน้ถ้ำเพิ่มสูงขึ้นไปอีกและทำให้ภารกิจช่วยเหลือทำได้ยากขึ้น เพราะทุกวันนี้แม้ทางทีมกู้ภัยจะระดมเครื่องสูบน้ำออกจากถ้าเต็มกำลังแต่ระดับน้ำก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

สอง เจาะช่องเขา ซึ่งเป็นวิธีที่ทั้ง 13 ชีวิตจะออกมาได้โดยไม่ต้องผ่านกระแสน้ำที่ขุ่น และเชี่ยวกราก แต่วิธีนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยทาง BCRC ให้ความเห็นว่า พวกเด็กๆ อยู่ในจุดที่ค่อนข้างแคบ การขุดเจาะจึงอาจก่ออันตรายกับพวกเขาได้

สาม สอนให้ทั้ง 13 คนใช้อุปกรณ์ดำน้ำและพาดำออกมา ซึ่งดูจะเป็นวิธีการที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แต่ความเสี่ยงก็มีมากเช่นกัน โดยเอ็ด โซเรนสัน ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคขององค์กรกู้ภัยและช่วยเหลือในถ้ำใต้น้ำนานาชาติ (International Underwater Cave Rescue and Recovery Organisation - IUCRR) ให้ความเห็นว่าวิธีดังกล่าวควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะนอกจากทั้ง 13 คนต้องฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงแล้ว ยังต้องฝึกใช้อุปกรณ์ดำน้ำทั้งๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น วิธีนี้จึงอาจก่ออันตรายถึงชีวิตต่อต่อผู้ประสบภัย แล้วทีมช่วยเหลือ

“การต้องพาคนออกมาในสภาวะที่ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ แถมยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม มันง่ายมากที่พวกเขาจะมีอาการตื่นกลัว ซึ่งอาจทำให้พวกเด็กๆ หรือทีมกู้ภัยเสียชีวิตได้” โซเรนสันกล่าว

สอดคล้องกันกับ เบน เรย์มิเนนทส์ นักดำน้ำชาวเบลเยี่ยมที่เข้าร่วมกับทีมช่วยเหลือ ที่ให้ความเห็นว่า การดำน้ำพาผู้ประสบภัยในอยู่สภาพร่างกายอ่อนแอผ่านสายที่เชี่ยวกรากและช่องแคบภายในถ้ำเป็นเรื่องที่ยากและอันตรายมาก เพราะแม้แต่ตัวเขาเองยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำภายในถ้ำในช่วงที่ฝนตกได้

“นี่เป็นหนึ่งในการดำน้ำภายในถ้าที่โหดที่สุดที่ผมเคยทำมา” เบนกล่าว “มันไกล และซับซ้อนมาก แถมยังมีกระแสน้ำ ทัศนวิสัยแทบจะเป็นศูนย์ตลอดเวลา การพาเด็กๆ ออกมาทีละคนจึงมีความเสี่ยงที่พวกเขาจะเกิดอาการตื่นกลัว เพราะพวกเขายังว่ายน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน เวอร์นอน อันสวอธ นักสำรวจถ้ำชาวสหราชอาณาจักรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และสำรวจถ้ำหลวงมานานกว่าหกปี ให้ความเห็นว่าวิธีการนี้น่าจะดีกว่าการปล่อยให้ทั้ง 13 ชีวิตอยู่ภายในถ้ำเป็นเวลาแรมเดือน โดยเขาเสนอให้ส่งทีมดำน้ำกู้ชีพที่มีประสบการณ์ในการพาเด็กๆ ออกมาให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังแนะนำให้ใช้หน้ากากดำน้ำแบบคลุมทั้งหน้าซึ่งง่ายต่อการใช้มากกว่า

สี่ วิธีการสุดท้ายคือการลำเลียงเด็กออกมาผ่าน “โซ่มนุษย์” คือการให้ทีมกู้ภัย ยืนต่อเรียงแถวต่อกันเป็นสายพานแล้วลำเลียงผู้ประสบภัยออกมาทีละคน โดยจะให้ใส่หน้ากากออกซิเจน และเสื้อเวทสูทเพื่อป้องกันความหนาว แต่วิธีการดังกล่าวก็ค่อนข้างจะยุ่งยาก เนื่องจากช่องทางภายในถ้ำนั้นแคบมาก ในบางจุดมีขนาดเพียงหนึ่งคนผ่านเท่านั้น ทำให้ทีมช่วยเหลือต้องถอดเครื่องช่วยหายใจออกอยู่บ่อยๆ เพื่อลอดตัวผ่านช่องแคบ วิธีการนี้ยังใช้เวลานานมาก เพราะจะลำเลียงผู้ประสบภัยออกมาได้ทีละคน หากฝืนเอาออกมาทีละหลายๆ คน แล้วมีการติดขัดระหว่างทาง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนอื่นๆ ด้วย

 

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ร่างกายต้องพร้อม เฝ้าระวังระดับน้ำ

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ผู้เชี่ยวชาญทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดันแรกคือการฟื้นฟูร่างกายของทั้ง 13 ชีวิต ให้พร้อมสำหรับปฏิบัติช่วยเหลือ โดยตอนนี้ทางทีมกู้ภัยได้จัดสรรอาหาร และเครื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการอยู่ในถ้ำนานสี่เดือน พร้อมทีมแพทย์เข้าไปดูแล สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังกันต่อไปก็คือปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในอนาคต และทำให้การช่วยเหลือยากลำบากมากขึ้น

เดอร์การ์เดี้ยน ได้รายงานเพิ่มเติมเมื่อวันพุธนี้ (4 ก.ค.) โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์เรืองฤทธิ์ ช้างขวัญยืน ผู้ประสานงานทีมดำน้ำนานาชาติว่า จะมีพายุฝนเข้ามาภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (6 ก.ค.) ซึ่งอาจจะทำให้น้ำท่วมถ้ำสูงในระดับที่ไม่สามารถลำเลียงเสบียงเข้าไปให้ทั้ง 13 คนได้

ทางทีมกู้ภัยในขณะนี้จึงเริ่มให้เยาวชนที่มีความพร้อมฝึกหายใจผ่านหน้ากากสกูบาแล้ว เพราะต่อให้สามารถสูบน้ำออกจากถ้ำได้หมดก่อนพายุจะเข้า ก็จะยังคงมีบางส่วนของถ้ำที่จำเป็นต้องดำน้ำผ่านอีกอยู่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net