Skip to main content
sharethis

จากข่าวอดีตปลัด พม. คดีโกงเงินคนจนกินยาพิษฆ่าตัวตาย ชวนย้อนดูเหตุการณ์ตาย-หายสาบสูญของผู้ต้องหา ที่มีเงื่อนงำน่าสงสัย ชวนตั้งคำถามต่อหลังฉากกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาอุ้มหายทนายสมชาย ผู้ต้องหายิงเจริญ วัดอักษร ผู้ต้องหาคดีออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ

 

พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. คดีโกงเงินคนจน กินยาพิษฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61 พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อายุ 59 ปี อดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกพบว่าเสียชีวิต โดยเบื้องต้นพบสาเหตุเป็นการกินยาฆ่าตัวตาย ขณะที่วาสนา ตะเภาพงษ์ ภรรยาก็กินเช่นกันแต่ล้างท้องได้ทัน โดยก่อนหน้านี้พุฒิพัฒน์อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ คดีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่ง

พนาไพร นราแก้ว ที่ปรึกษากฎหมายของพุฒิพัฒน์และวาสนาได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงถึงเหตุการณ์ โดยระบุว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมาจากความน้อยใจที่ติดต่อบุคคลเพื่อชี้แจงขอคำปรึกษาหลายครั้งโดยไม่ใช่การติดต่อเพื่อหาช่องทางหนีคดี แต่ไม่มีการตอบรับ จนอาจจะทำให้เกิดความเครียดและกดดัน ขณะเดียวกันก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต 3 วัน ตนได้พูดคุยกับพุฒิพัฒน์ในห้องส่วนตัวที่บ้าน พุฒิพัฒน์กล่าวเพียงสั้นๆ โดยไม่ได้ระบุพาดพิงถึงบุคคลใดว่า "ผมไม่ได้ร่วมมือกับเขา ผมสั่งให้หยุด แต่เขาไม่ฟังผม ผมพลาดที่ไว้ใจคนผิด" ขณะที่ในจดหมายที่อดีตปลัดทิ้งไว้ได้ระบุในเรื่องการจัดงานศพให้ตั้งศพไว้ที่วัดนี้ 2 วัน เผาวันที่ 3 ให้ทำแบบเรียบง่าย ไม่ขอพระราชทานเพลิงศพใดๆ ทิ้งสิ้น

วิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ อดีตรองอธิการมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าว โดยทราบว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ดำเนินการการอายัดทรัพย์สินที่คาดว่าเป็นการฟอกเงินจากการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง มูลค่าร่วม 88 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการอายัดบัญชีเพิ่มเติมอีก20 ล้านบาท และอยู่ระหว่างให้พุฒิพัฒน์และภรรยาชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งตนในฐานะมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญทางจิตวิทยา มองว่าอาจมีหลายเหตุผลหลายองค์ประกอบรวมกัน เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินจำนวนกว่า 100 ล้านบาท

วิวัฒน์ชัยเห็นว่า การเสียชีวิตนี้มีเงื่อนงำ เนื่องจากศพของพุฒิพัฒน์มีการเร่งรีบดำเนินการฌาปนกิจผิดสังเกต และ สภ.เมืองปทุมธานี ได้รู้ข้อมูลที่ ปปง.ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้หรือไม่ และจากการนำเสนอข่าวพบว่าวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้าไปพบพุฒิพัฒน์เสียชีวิตไปหลายชั่วโมง ขณะที่ภรรยาล้างท้องทัน และที่สำคัญคดีนี้ยังไม่มีการสอบปากคำจากภรรยา ดังนั้นควรดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นการฆาตกรรมอำพรางหรือไม่ และอายัดศพเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุให้แน่ชัด

ขณะที่ญาติของทั้งผู้ตายและภรรยาไม่มีใครติดใจเหตุการณ์การเสียชีวิตครั้งนี้ และได้ทำพิธีเผาศพในวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่วัดพรหมวงศาราม ศาลา 4

เย็นวันเดียวกัน พ.ต.อ.พีรพล โชติกเสถียร ผกก.สภ.เมืองปทุมธานี ยืนยันว่าที่ผ่านมาพนักงานสอบดำเนินการเก็บหลักฐานอย่างละเอียด หากทางญาติติดใจสงสัยในประเด็นใดๆจริง พนักงานสอบสวนพร้อมไขข้อสงสัยทุกประเด็น แม้จะเผาศพไปแล้ว สำหรับผลชันสูตรพลิกศพอย่างละเอียด คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนน่าจะเสร็จสิ้น

วันเดียวกันที่ พม. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. เปิดเผยถึงผลสอบวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งว่า ผลสอบเสร็จสิ้นและจะดำเนินการสรุปสำนวน มีความหนากว่า 300 หน้า หลังจากนั้นจะต้องส่งให้ฝ่ายกฎหมายตีความเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง หากมีประเด็นข้อสงสัยก็เป็นอำนาจที่ตนจะสั่งสอบสวนเพิ่มเติม แต่หากประเด็นครบถ้วนจะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง พม. (อ.ก.พ.กระทรวง พม.) กลางเดือน ก.ค.นี้ ส่วนกรณีการเสียชีวิตของพุฒิพัฒน์ อดีตปลัด พม.นั้น คิดว่ายังอยู่ในสำนวน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะกรรมการสอบวินัยกำลังสรุปผลสอบ แต่ทั้งนี้จะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องนำเข้าสู่ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาโทษหรือไม่

ส่วนการเสียชีวิตของอดีตปลัด พม.เป็นเพราะความเครียดและถูกกดดันจากการตรวจสอบหรือไม่ พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินการ ไปตามระบบ ไม่ได้ลัดขั้นตอนและบีบคั้นใดๆ คณะกรรมการให้โอกาสทุกคนได้ยื่นเอกสารหลักฐานในการแก้ข้อกล่าวหา ทราบว่าทุกคนได้ยื่นเอกสารจนคณะกรรมการมีความชัดเจนแล้ว จึงได้สรุปสำนวน ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ เมื่อถามอีกว่าข้อความที่พุฒิพัฒน์ระบุว่า “ผมสั่งให้หยุดแล้ว แต่เขาไม่ฟังผม” ตามที่ที่ปรึกษากฎหมายของพุฒิพัฒน์กล่าวอ้าง พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ไม่ทราบและสงสัยเหมือนกัน ไม่รู้จะขยายผลอย่างไร ต้องรอดูสำนวนการสอบสวนของตำรวจว่าพอมีอะไรให้ตีความได้บ้าง

อ้างอิง: Thairath, Voicetv, Dailynews

 

พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ผู้หายสาบสูญหลังข้อหาอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร

12 มี.ค. 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกตำรวจห้านายผลักตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง และไม่มีใครได้พบเขาอีกเลย ขณะที่ตอนนั้นเขาเป็นทนายความให้แก่ผู้ต้องหาห้าคนในคดีก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาทั้งห้าคนอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน ซึ่งทนายสมชายได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อศาล ทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม ต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อัยการสูงสุด ผบ.ตร. รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การกระทำนี้ถือเป็นการตีแผ่ด้านมืดของตำรวจ

หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสืบหาร่องรอยจากหลายส่วน ทั้งกองบัญชาการสอบสวนกลาง และชุดติดตามสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอ ได้ส่งทีมพิเศษหาหลักฐาน เจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่มคนที่ลักพาตัวทนายไป ประกอบด้วย 1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก 2. พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุณญกำพงษ์ 3. จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง 4. ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ 5. พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน โดยศาลอาญาตัดสินให้ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก รับโทษ 3 ปี ในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ส่วนพวกอีก 4 นาย ศาลยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ อีกทั้งยังได้กลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิม

หลังต้องคดีและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ถูกให้ออกจากราชการ และมาช่วยญาติ ทำงานรับเหมาก่อสร้างที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และได้จมน้ำหายไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าหน้าที่พยายามค้นหาอย่างไรก็ไม่พบศพ ถึงแม้การขยายผลสอบสวนหาหลักฐานมัดผู้อยู่เบื้องหลังจะยังไม่คืบหน้า แต่การสืบสวนกลับพบร่องรอยบางอย่างที่บ่งชี้ว่ามีนายตำรวจระดับสูงหลายคนเข้าไปมีส่วนพัวพัน

อ้างอิง: Thairath

 

เสน่ห์ เหล็กล้วน, ประจวบ หินแก้ว ผู้ยิง เจริญ วัดอักษร เสียชีวิตในคุกก่อนขึ้นสืบพยาน

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.47 เจริญ วัดอักษร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกถูกยิงเสียชีวิต พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เสน่ห์ เหล็กล้วน , ประจวบ หินแก้ว , ธนู หินแก้ว , มาโนช หินแก้ว (อดีตสจ.ประจวบคีรีขันธ์) และเจือ หินแก้ว (อดีตกำนัน ต.บ่อบอก) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น และความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

คำฟ้องสรุปว่า จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1-2 ฆ่านายเจริญ โดยใช้ปืนขนาด 9 มม. ยิงนายเจริญรวม 9 นัด จนเสียชีวิต ขณะที่เจริญกำลังลงจากรถทัวร์สายกรุงเทพ-บางสะพาน หลังจากเดินทางไปให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุเกิดที่สี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

เสน่ห์ และประจวบ จำเลยที่ 1-2 กลุ่มมือปืน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้เสียชีวิตเนื่องจากอาการป่วยด้วยโรคเอดส์เมื่อเดือน ส.ค. 2549 ก่อนที่จะขึ้นสืบพยานในศาลชั้นต้น

การตายของมือปืนทั้งสองมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า พยานปากสำคัญในคดีนี้ตายหมดก่อนที่จะได้ขึ้นสืบพยานในศาล และทั้งคู่ตายด้วยโรคเอดส์เหมือนกันอันเป็นสาเหตุการตายที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งต่อศาล นอกจากนั้นฝ่ายญาติไม่รู้ว่าเสน่ห์ เป็นโรคเอดส์ แต่เสน่ห์บอกกับญาติก่อนตาย 1 วันว่า ตนเป็นโรคมาลาเรีย และมาลาเรียขึ้นสมองนานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ให้กินแต่ยาพาราเซตามอล

การตายในคุกแบบมีเงื่อนงำของมือปืนซึ่งเป็นพยานปากเอกทั้งสองคน ทำให้กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ สงสัยเช่นกัน เพราะตลอดเวลาที่ได้เจอกันในศาล ก็ไม่เห็นว่าเสน่ห์จะป่วยด้วยโรคร้ายแรง กรณ์อุมาบอกด้วยว่า ไม่อยากจะคิดว่า มีการฆ่าตัดตอน 2 มือปืน เพื่อไม่ให้สาวถึงผู้บงการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากทั้งสองไม่ได้ตายตามธรรมชาติ แต่ถูกทำให้ตาย ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับจำเลยที่เหลืออีก 3 คน เพราะแม้นายประจวบและนายเสน่ห์ จะเคยซัดทอดนายเจือ-นายธนู และนายมาโนชว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่เมื่อไม่มีบุคคลทั้ง 2 มาให้การในศาลแล้ว โอกาสที่รูปคดีจะเหมือนเดิมก็คงยาก

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานจ้างฆ่าผู้อื่นฯ ให้ประหารชีวิต ส่วนมาโนช และเจือ จำเลยที่ 4 - 5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง มาโนช และเจือ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ด้วย เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอเช่นกัน และระหว่างฎีกาจำเลยที่ 3-5 ได้รับการปล่อยตัว

อ้างอิง: FTAWatch

 

ธวัชชัย อนุกูล ผู้ต้องหาคดีออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ ผูกคอตายที่ดีเอสไอ แต่ชันสูตรพบตับแตกจากการกระแทก

29 สิงหาคม 59 ธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่ดินจังหวัดพังงา ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุมที่ จ.นนทบุรี ในข้อหาออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในพื้นที่ภาคใต้ โดยถูกนำตัวมาควบคุมไว้ในห้องควบคุมผู้ต้องหาชั้น 6 ตึกกรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ

ปลายเดือนสิงหาคม 2559 ธวัชชัยผูกคอฆ่าตัวตายที่ห้องควบคุมผู้ต้องหา ชั้น 6 ตึกดีเอสไอ ดังกล่าว ดีเอสไอตั้งโต๊ะแถลง และมอบให้ตำรวจดำเนินการส่งตรวจพิสูจน์ศพตามขั้นตอน

แต่ต่อมา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ชันสูตรพลิกศพระบุว่า ธวัชชัยเสียชีวิตจากเลือดออกในช่องท้อง ตับแตกจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก และขาดอากาศหายใจ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดการผูกคอตายถึงทำให้ตับแตกได้ นอกจากนี้ เมื่อขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงปิด กลับพบว่าไม่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ ดีเอสไอชี้แจงว่า กล้องซีซีทีวีไม่ได้เสีย แต่ระบบเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา

ชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายผู้ตายติดใจประเด็นการเสียชีวิต การให้การไม่ตรงกันของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีคนพบเห็นว่าผู้ตายใช้เสื้อของตัวเองผูกคอกับบานพับ แต่หัวหน้าควบคุมผู้ต้องหาบอกว่าใช้ถุงเท้า ก่อนจะเสียชีวิต ธวัชชัย ไม่มีอาการซึมเศร้า พูดคุยปกติ

ในที่สุด กระทรวงยุติธรรมจึงตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” สาเหตุการเสียชีวิตธวัชชัยอีกครั้ง โดยมีวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธาน จนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 วิศิษฏ์แถลงว่า คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ตรงกันถึงสาเหตุการตาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการนำส่งศาลเพื่อไต่สวนสาเหตุการตายแล้ว โดยศาลอาญาได้นัดไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตธวัชชัย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 60 ชัยณรงค์ซึ่งจนถึงขณะนี้เชื่อว่าพี่ชายถูกทำให้เสียชีวิต ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม ขอรับศพพี่ชายกลับไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีกรรมทางศาสนา และขอไปต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

อ้างอิง: Thaipublica

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net