ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้

ศาลแขวงเชียงใหม่รับฟ้องกรณี กอ.รส.เชียงใหม่แจ้งความนักวิชาการ นักแปล นักศึกษา 5 คน ถ่ายภาพชูสามนิ้วกับป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ข้อหาฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 ด้านจำเลยชี้ตีความป้ายผ้า-ชูสามนิ้วเป็นต่อต้านรัฐบาลสะท้อนสังคมและสภาวะที่ไม่ปกติ

ตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยยื่นดอกไม้ให้กำลังใจจำเลยคดีไทยศึกษา

4 ก.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลแขวงเชียงใหม่รับฟ้องของอัยการในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่าชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย

คำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมการเมืองโดยแสดงแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และปิดแผ่นป้ายนั้นไว้บริเวณห้องประชุมสัมมนาในงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค. 2560 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว  (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง)  อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น และถ่ายภาพกับป้ายข้อความซึ่งปิดไว้ที่บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาล และทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล เป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล

ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6792/2561 และได้กำหนดวันนัดฟ้องในวันที่ 14 ส.ค. 2561 เวลา 9.00 น. หลังรับฟ้อง จำเลยทั้งห้ายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาลโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่ได้มีโทษร้ายแรง ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไปโดยให้สาบานตัวว่าจะมาตามนัดศาลที่กำหนด

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ระหว่างกระบวนการรับฟ้องคดี มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสังเกตการณ์อยู่ภายในบริเวณศาล นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้งห้าคนที่ศาลอีกราว 40 คน

สุมิตรชัย หัตถสาร หนึ่งในทีมทนายความจำเลยกล่าวว่า ต่อจากนี้จะมีการประชุมทีมทนายและจำเลยทั้งห้าก่อนวันที่ 14 ส.ค. ซึ่งเป็นวันนัดของศาล โดยอาจมีการนัดพยานที่เป็นนักวิชาการที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนว่าจะเตรียมเนื้อหาหลักฐานไปเสนอศาลอย่างไร โดยวันที่ 14 ส.ค.นั้น จะเป็นวันที่จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำให้การว่าจะต่อสู้คดีในประเด็นใดบ้าง

“ข้อกังวลคงเป็นเรื่องว่าทางศาลจะรับฟังพยานหลักฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไร เพราะเนื้อหาของคำฟ้องมีสองส่วน หนึ่ง เกี่ยวกับป้ายใจความว่า เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร อีกกรณีที่อัยการบรรยายคือการยกนิ้วสามนิ้ว เขาก็เขียนในคำฟ้องว่าลักษณะเหล่านี้เป็นการต่อต้านรัฐบาลและอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม เราก็คงต้องโต้แย้งว่าพฤติการณ์เหล่านี้ที่่ถูกอ้างมาไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐบาล การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนปกติ และเป็นเวทีวิชาการ ไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองอะไร” สุมิตรชัยกล่าว

ธีรมล หนึ่งในจำเลยกล่าวว่าคดีนี้สะท้อนถึงความผิดปกติในสังคมไทยที่การแสดงออกของประชาชนในเวทีวิชาการกลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาล และรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อยืนหยัดในเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการพูด การแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการแม้จะถูกดำเนินคดีก็ตาม ทั้งขอให้สังคมตระหนักว่าอย่าลืมประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันที่ไม่ได้มีสถานะทางวิชาการหรือสังคมปกป้องเหมือนพวกตน

“ที่ผ่านมาก็มีกระบวนการที่จะให้เรื่องนี้จบลงง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วรรค 12 ในกฎหมาย 3/2558 ให้ไปรับการอบรม เซ็นเอ็มโอยู หรือเจรจาต่างๆ เยออะแยะมากมายที่จะแยกพวกเราออกจากกัน แต่พวกเราก็ยืนหยัดทั้งห้าคนที่จะสู้ไปด้วยกัน

“ก็ยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ผิด คดีไม่ได้เป็นคดีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เราไม่ได้รู้สึกว่าเราผิดอะไรก็เลยขอพึ่งกระบวนการยุติธรรมแล้วกัน เพราะเราเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะช่วยทำให้เห็นว่าข้อความ เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ไปถ่ายกับป้าย ชูไม้ชูมือทำสัญลักษณ์จะถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้เกิดการยุยงปลุกปั่น กระด้างกระเดื่องหรือเกิดภาพลักษณ์ต่อรัฐบาล คสช. ก็เห็นว่าเป็นอะไรที่ถูกลากไปเชื่อมโยงมากไป เพราะทั้งหมดทั้งมวลเป็นกิจกรรมหรือการแสดงออกที่ต่อเนื่องจากตรงนั้น ไม่ได้มุ่งหมายที่จะคเลื่อนไหวทางการเมืองอย่างที่ผู็มีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลขณะนี้มอง เราเลยคิดว่าเราไม่ผิด และจะยืนยันใช้สิทธิ์ของเราปกป้องคุณค่าในการแสดงออก

ถ้าเทียบกับเคสอื่นๆ แล้วเคสพวกเราก็ง่าย ไม่อยากให้คนที่มาสนับสนุนเราไม่เห็นกลุ่มอื่นที่โดนแบบเดียวกันกับเราที่เขาไม่มีต้นทุนไปสู้ได้ เราไม่ได้เป็นพระเอกแบบนั้น แต่เรามีโอกาสในการใช้สิทธิ ใช้โอกาสเหล่านี้ในการแสดงออกและต่อสู้ร่วมกันกับคนอื่น เพราะเป็นสภาวะไม่ปกติที่พวกเราต้องเจอร่วมกันทั้งประเทศ เพราะสิ่งที่พวกเราทำคือการแสดงออกในพื้นที่เวทีวิชาการเท่านั้นเองแล้วมันก็ถูกขยายความใหญ่โต มันสะท้อนความไม่ปรกติของสังคมเองต่างหากที่สิ่งเล็กน้อย เรียบง่ายและธรรมดามากในพื้นที่ของพวกเราในการนำเสนอจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาล ก็สะท้อนสิ่งที่สังคมนี้ รัฐบาลทหารชุดนี้มองอยู่และพยายามจะควบคุม จัดการ” ธีรมลกล่าว

ภัควดีกล่าวว่า หากศาลยกฟ้องคดีนี้ก็อยากให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีลักษณะเดียวกันที่ประชาชนคนอื่นถูกฟ้องด้วย และระยะเวลาที่ยาวนานเกือบหนึ่งปีก่อนจะสั่งฟ้องทำให้ทั้งจำเลยและทนายความเสียเวลาไปกับคดีที่ไม่มีสาระ

“คาดหวังว่าศาลจะยกฟ้องหากดูจากมูลเหตุ หลักฐาน แรงจูงใจและสภาพแวดล้อม ในขณะเดียวกันอยากให้เป็นบรรทัดฐานว่าถ้ามีชาว้บ้านทั่วไปที่ไม่มีนักศึกษา ปัยญาชน นักวิชาการถูกคดีแบบนี้ก็อยากให้ได้รับการยกฟ้องเช่นกัน ถ้าคดีเราได้รับการยกฟ้อง หังว่ากฎหมายจะพิทักสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนทั่วไป”

“ก็เสียเวลาไปตามนัด แต่ละคนที่โดนคดีบางคนเป็นนักวิชาการ เป็นสื่อ ก็มีธุระต้องไปต่างประเทศบ้าง ที่นู่นที่นี่บ้างก็มีผลกระทบเรื่องเวลาที่ต้องไปรายงานตัว ทนายความก็เสียเวลามาทำคดีแบบนี้ที่เป็นคดีที่ไม่มีสาระเท่าไหร่”

ชัยพงษ์ อีกหนึ่งจำเลยแสดงความเห็นว่าคดีนี้ยังไม่อยู่ในองค์ประกอบที่พอจะรับฟ้องแต่ศาลก็รับฟ้อง และระบุว่าการรายงานตัวต่ออัยการเชียงใหม่ทุกเดือนเป็นภาระ เพราะการรายงานตัวหนึ่งครั้งก็กินเวลาทั้งวัน ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องกลับมา

“ผมคิดว่าคดีนี้ โดยกระบวนการมันก็แปลกๆ เราคิดว่าคดีก็ยังไม่อยู่ในองค์ประกอบที่พอจะรับฟ้องหรือสั่งฟ้องได้ แต่ก็เป็นคดี เพราะคดีนี้ต้องมีองค์ประกอบชุมนุมเกินห้าคน ที่จริง 3-4 คนที่โดนฟ้องก็ต่างกรรมต่างวาระ ไม่ได้รวมตัวกันห้าคนเลย” ชัยพงษ์กล่าว

ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สถิติจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รายงานเมื่อเดือน ก.พ. 2561 ระบุว่ายอดจำนวนคนที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีจำนวน 333 คน ต่อมามีผู้ถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีกในกรณีคนอยากเลือกตั้งที่ชุมนุมที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่หน้ากองทัพบก ที่พัทยา และหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แอมเนสตี้ ร้องไทยยุติดำเนินคดี

 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยการยุติการดำเนินคดีต่อ 5 นักวิชาการดัวย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.amnesty.or.th/latest/news/130/)

คนส.ร้องยุติปิดกั้นการแสดงความเป็นของ ปชช.-เสรีภาพทางวิชาการ

วันนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากกรณีคดีไทยศึกษา ขอให้ยุติการปิดกั้น คุกคามการแสดงความเห็นของประชาชนและเสรีภาพทางวิชาการ และให้ คสช. เร่งจัดการเลือกตั้งตามกำหนด โดยมีใจความดังนี้

แถลงการณ์ คนส.

เรื่อง ยุติการปิดกั้นคุกคามการแสดงความเห็นของประชาชนและเสรีภาพทางวิชาการ

กรณีอัยการภาค 5 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีถือแผ่นป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 จำนวน 5 คนในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 โดยนัดหมายให้ไปรายงานตัวต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในวันที่ 4 กรกฎาคม นี้ ถือเป็นการใช้กฎหมายปิดกั้นคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนรวมถึงเสรีภาพทางวิชาการของคณะรัฐประหารและรัฐบาล คสช. ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

การที่เจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ถือวิสาสะเข้าไปสังเกตการณ์และบันทึกกิจกรรมในการประชุมเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการโดยตรงเพราะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลในผู้เข้าร่วมประชุม เกิดความไม่มั่นใจหรือเกรงว่าการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นทางวิชาการอาจถูกหมายความหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนและส่งผลให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ขณะเดียวกันการที่ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้เกี่ยวข้องในการจัดประชุมถือและติดแผ่นป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นการสื่อสารข้อเท็จจริงและเป็นการแสดงออกอย่างสงบ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีตั้งแต่ต้น

ประการสำคัญ ปัจจุบันได้มีการอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 รวมถึงกฎหมายอื่นในการปิดกั้นคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็นและชุมนุมของประชาชนอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่กรณี “We Walk เดินมิตรภาพ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 20 มกราคม 2561 ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อหาละเมิดคำสั่งดังกล่าวจำนวน 8 คน จนกระทั่งกรณี “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ทั้งบริเวณ Skywalk บริเวณถนนราชดำเนิน บริเวณหน้ากองทัพบก บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ รวมถึงที่พัทยาและหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ต้องหาละเมิดคำสั่งดังกล่าวรวมทั้งสิ้นกว่า 130 คน ถือเป็นการใช้กฎหมายปิดกั้นคุกคามการแสดงความเห็นและการชุมนุมของประชาชนในจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องไปยังหัวหน้า คสช. ดังนี้

1. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 รวมถึงคำสั่งและกฎหมายอื่นที่ไม่วางอยู่บนหลักนิติธรรมและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2. หยุดข่มขู่ คุกคาม และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นและชุมนุมของประชาชนรวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ

3. เร่งคืนอำนาจให้ประชาชนและคืนความปกติสุขให้กับสังคมด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรี บริสุทธิ์ และยุติธรรม ในเวลาที่ได้แถลงไว้

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

4 กรกฎาคม 2561

oooooooo

นอกจากนั้น คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินคดีในไทยยุติการดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งห้า และเรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย คำสั่ง และประกาศทั้งหลาย ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย

4 กรกฎาคม 2561

ประเทศไทย: ยุติการดำเนินคดีกับนักวิชาการเชียงใหม่

(กรุงเทพ ประเทศไทย) – วันนี้คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินคดีในไทยยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งห้าเพราะกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ บุคคลทั้งห้าถูกดำเนินคดีเพราะการใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมของพวกเขา

บุคคลดังกล่าว ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าว และดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ไอซีเจยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย คำสั่ง และประกาศทั้งหลาย ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย ไอซีเจกล่าวในวันนี้

วันนี้ อัยการภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการส่งฟ้องคดีของบุคคลทั้งห้าฐานละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3) จากการแสดงความคิดเห็นในงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การที่ยังคงใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 เพื่อจำกัดการแสดงออกอย่างเสรีโดยไม่ถูกต้องในประเทศไทยนั้นไม่อาจกระทำได้และเป็นอุปสรรคในการกลับคืนมาเป็นประเทศประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรมที่สมบูรณ์ของประเทศไทย” คิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ไอซีเจ กล่าว

“การตัดสินใดเนินคดีกับบุคคลทั้งห้านี้เป็นการละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยโดยชัดเจนและควรได้รับการแก้ไขโดยทันทีพร้อมๆกับการยุติการดำเนินคดีและการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3”

การตัดสินใจของอัยการในการดำเนินคดีกับบุคคลทั้งห้านั้นเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่การจำกัดเสรีภาพพื้นฐานในประเทศมีมากขึ้น

แค่ภายในปีนี้ มีรายงานว่ามีบุคคลอย่างน้อย 132 คน ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ใน 10 คดี และ 6 เหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มคนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้

ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีบุคคลทั้งสิ้นจำนวน 27 คนถูกดำเนินคดีในความผิดทำนองยุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกเป็นเวลา 7 ปี เช่นกัน

จากรายงานขององค์กรพัฒนาภาคเอกชน ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 นั้นพบว่ามีรายงานว่าหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 378 คนถูกดำเนินคดีใน 50 คดี ฐานละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ในเดือนมีนาคมและมิถุนายน 2561 ณ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไอซีเจได้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศทั้งหลายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (rule of law) และการปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน

“สี่ปีได้ผ่านมาแล้วหลังจากการรัฐประหารซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการที่ไม่เหมาะสม เวลานี้ได้เลยผ่านช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อปกป้องระบบยุติธรรมจากการถูกนำไปใช้โดยไม่ถูกต้องและการคุกคามบุคคลเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิมนุษยชนของตน” แอ๊บบ็อต กล่าว

ความเป็นมา

คำสั่งฟ้องของอัยการภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นผลมาจากการร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งห้าโดยเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2560

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชัยพงษ์ สำเนียง และนลธวัช มะชัย ถูกกล่าวหาว่าได้ถือกระดาษขนาด A4 จำนวน 3 แผ่น ซึ่งมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร” ณ งานประชุมวิชาการ

ธีรมล บัวงาม นั้นมีรายงานว่าเขาได้ถ่ายรูปของเขากับป้ายข้อความดังกล่าวและได้โพสรูปภาพของตนเองลงบนสื่อออนไลน์

ด้าน ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ นั้นในฐานะของผู้จัดงานประชุมวิชาการมีรายงานว่าเขาได้เห็นข้อความดังกล่าวและมิได้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อนำข้อความดังกล่าวออก

ประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) โดยในมาตรา 19 21 และ 22 ของ ICCPR ได้รับรองถึงสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก  สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และสิทธิในเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม

หลังจากการรัฐประหาร ไอซีเจได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กรอบกฎหมายใหม่และกฎหมายที่มีอยู่ก่อนแล้วในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก  สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และสิทธิในเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม ได้แก่ การหมิ่นประมาททางอาญา (มาตรา 326-328 ของประมวลกฎหมายอาญา) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา) และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

อ่านเพิ่มเติม

ICJ and TLHR Joint Submission to the UN Human Rights Committee, 13 February 2017

ICJ and TLHR Joint Follow-up Submission to the Human Rights Committee, 27 March 2018

ย้อนไทม์ไลน์เวทีไทยศึกษา เมื่อเขียนป้ายและชูสามนิ้วเป็นคดี (อีกแล้ว)

มูลเหตุของคดีในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปราวหนึ่งปีกว่าๆ เมื่อช่วงวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ที่มีการจัดการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งเป็นเวทีวิชาการนานาชาติที่มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมนำเสนอและรับฟังการเสนอผลงานทางวิชาการด้านไทยศึกษา งานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่

18 ก.ค. 2560 มีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่และมีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย โดยจำเลยทั้งห้าก็ได้ถ่ายภาพในท่าชูสามนิ้ว ซึ่งทั้งการติดป้ายและการชูสามนิ้วกลายเป็นเหตุที่นำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาในอนาคต

176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย

ทหารจ่อเรียกนักวิชาการเข้าพบ หลังชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา

ต่อมา ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เมื่อ 15 ส.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ที่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นจำเลยไปแล้ว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษา

เมื่อ 21 ส.ค. 2560  พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ทั้งยังแจ้งว่าหากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน แต่ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธข้อหา และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 1 ก.ย. ปีเดียวกัน

11 ก.ย. 2560 สืบเนื่องจากมติที่ประชุมของจังหวัดเชียงใหม่ (8 ก.ย.) กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความผู้ต้องหาทั้งห้า และได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาก็ไปตามนัด จากนั้นอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ก็เลื่อนฟังคำสั่งคดีจนรับฟ้องในวันนี้

คดีนี้เป็นที่จับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาสังคมและนักวิชาการจำนวนมาก มีแถลงการณ์หลายฉบับที่ออกมาเพื่อเรียกร้องให้ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้งห้า

กป.อพช.ภาคเหนือ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

28 ประชาสังคม ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

3 องค์กรสิทธิร้องยุติคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58

คณะสังคมศาสตร์ มช. ร้องอธิการฯ เสนอข้อเท็จจริง จนท.ยุติคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

ข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท