สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐฯ เตรียมสงเคราะห์คนจนผ่านกองทุน

เตรียมดันร่างกฎหมายกองทุนประชารัฐฯ กำหนดเป็นกองทุนหมุนเวียน อนาคตจ่ายบัตรคนจนผ่านกองทุนนี้ และใช้เงินจัดประชารัฐสวัสดิการต่างๆ ตามมติ ครม. หวังสงเคราะห์อย่างยั่งยืน พบกฎหมายเปิดรับฟังความเห็นผ่านอินเทอร์เน็ต มีผู้มาแสดงความเห็นรวมแล้ว 2 ราย

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค. 2561) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเตรียมออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการทำให้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้มีการตั้งมาก่อนหน้าภายใต้ พ.ร.บ. รายจ่ายประจำปีนั้น (เพื่อสนับสนุนผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจำนวน 4 หมื่นล้านบาท) มีความยั่งยืน

สำหรับแหล่งที่มาของเงินกองทุนนี้ จะได้มาจากการประเดิมของรัฐบาลที่จัดสรรให้ ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และมีการเปิดช่องให้สามารถรับเงินจากการบริจาค และสามารถบริจาคจากแหล่งเงินจากต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศได้ รวมทั้งดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

"เงินประเดิมเบื้องต้นยังไม่ได้กำหนด แต่อนาคตเงินที่จะให้ในบัตรสวัสดิการคนจนก็จะมาจากเงินกองทุนนี้ แต่พ.ร.บ.นี้ก็ยังเปิดช่องให้กองทุนนี้เอาเงินไปใช้แก้ไขความยากลำบากของประชาชนในด้านอื่นได้ด้วย ทั้งแบบบุคคลและกลุ่มบุคคล ส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ได้กำหนด ตอนนี้เป็นการอนุมัติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนนี้ กฎกติกาจะตามมาทีหลัง” ณัฐพร กล่าว

ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีเงินจากพ.ร.บ.โอนงบประมาณ คือเงินที่หน่วยงานไม่ได้ผูกพันงบประมาณตามระยะเวลา ซึ่งปีงบประมาณนี้มีเหลืออีกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยวางแผนว่าจะนำไปเข้ากองทุนดังกล่าวกว่ากว่า 2 พันล้านบาท

ทั้งในร่าง พ.ร.บ. กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมพ.ศ. … ซึ่งถูกเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ http://www.lawamendment.go.th (เพื่อให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 2 ราย) ระบุว่าให้ใช้จ่ายเงินในกองทุนนี้ เพื่อจัดประชารัฐสวัสดิการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้ในการจัดประชารัฐสวัสดิการอื่นๆ ใช้สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ตามมติคณะรัฐมนตรี และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารกองทุนตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ม.ย. 2561 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดเวทีเสวนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโครงการต่างๆ ที่เป็นไปในการสงเคราะห์ แต่ควรจะหันมามุ่งเน้นที่รัฐสวัสดิการมากกว่า

โดยนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้สัมภาษณ์ว่า การดูแลประชาชนที่เป็นสวัสดิการโดยรัฐไม่อยู่ในแผนของรัฐเลย ไม่มีแบบเรื่องการทำรัฐสวัสดิอยู่ในนโยบายของรัฐบาลนี้ และไม่มีอยู่ในแผนปฎิรูปประเทศ

“ประเทศนี้ไม่พร้อมดูแลคน แต่ออกนโยบายประชารัฐ ชวนเชื่อว่าว่ารัฐจะดูแลประชาชน โดยผูกไว้กับการเมือง การเลือกตั้ง ไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้า คสช. ให้เป็นรัฐบาลต่อไป ไม่เช่นนั้นบัตรคนจนอาจหายไป โดยเราถูกหลอกเรื่องรัฐสวัสดิการผ่านนโยบายที่แอบแฝงหวังคะแนนเสียง ให้คนติดกับทางการเมือง ซึ่งนโยบายแบบนี้เป็นการสงเคราะห์ของรัฐ” นิมิตร์กล่าว (อ่านข่าวที่นี่)

สำหรับกองทุนหมุนเวียน คือส่วนหนึ่งของเงินนอกงบประมาณ ซึ่งถือเป็นเครื่องของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ เนื่องจากไม่ผูกยึดกับกฏระเบียบราชการและมีความคล่องตัวในการเบิกจ่าย

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐฯ

1. กำหนดให้มีกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 โดยตั้งขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง กค. และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

2. กำหนดให้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมทำหน้าที่เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชารัฐสวัสดิการตามมติคณะรัฐมนตีเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ผ่านหน่วยงาน มูลนิธิและองค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท ซึ่งเป็นการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

3. กำหนดแหล่งเงินทุนของกองทุนฯ ประกอบด้วย เงินที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐจัดสรรให้ และเงินบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชน

4. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคน โดยมีผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวง กค. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์การลงทุน กฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อสามารถให้ความเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในการบริหารจัดการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

5. กำหนดให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบัญชีและการตรวจสอบที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับทุนหมุนเวียนอื่น

6. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้โอนบรรดาเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในสำนักงานปลัดกระทรวง กค. ไปเป็นของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งให้ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่าด้วยการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

เรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ , เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท