Skip to main content
sharethis

จ่อขึ้นเงินเดือน ศาล-องค์กรอิสระ ประมาณ 10% ย้อนหลัง 4 ปี เตรียมงบฯ รวม 450 ล้าน ชี้ให้สอดคล้องกับที่เคยปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน-ทหาร-ตำรวจ พร้อมชวนย้อนดูปี 57 คสช. อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการ-ดะโต๊ะยุติธรรม งบฯ 390 ล้าน ขณะที่ปี 58 สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ปรับเพิ่มเงินเดือนของตุลาการทหาร กับอัยการศาลทหารให้เทียบเท่าศาลพลเรือน

4 ก.ค. 2561 วอยซ์ทีวี รายงานว่า ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า สนช.จะมีวาระการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ผู้บริหารระดับสูงของข้าราชการด้านกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ ให้สอดคล้องกับที่เคยปรับขึ้นเงินเดือนให้ ข้าราชการพลเรือน ครู ทหาร ตำรวจ และรัฐสภา ไปเมื่อเดือนธ.ค. 2557 ตามการปรับแก้ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับคือ 1. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 3. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ 

ยุทธนา กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าตอบแทนจะย้อน (หมายความว่าจะได้ค่าส่วนต่างย้อนหลัง) ไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะย้อนไปถึงปี 2548 เนื่องจากที่ผ่านมา กสม.ได้รับเงินเดือนตามพระราชกฤษฎีกา ไม่เป็นกฎหมายเหมือนองค์กรอิสระอื่น พร้อมกันนี้ได้เตรียมงบประมาณในส่วนการขึ้นค่าตอบแทนนี้ไว้แล้ว โดยแบ่งเป็นตั้งแต่ปี 2557-2561 วงเงิน 350 ล้านบาท และปี 2561-2562 วงเงิน 100 ล้านบาท รวม 450 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้ปรับขึ้นจากเดิมประมาณ 10% โดยบัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่งมีดังนี้

1.ข้าราชการตุลาการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

2.ตุลาการศาลปกครองซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยประธานศาลปกครองสูงสุด เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

3.ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2555 โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิม 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 42,500 บาท

4.ข้าราชการอัยการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยอัยการสูงสุด เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิม 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 42,500 บาท

5.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งปรับเงินเดือนครั้งล่าสุดปี 2555 รวมทั้งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิมที่ 68,140 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 45,000 บาท ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระ เงินเดือน 80,540 บาท จากเดิม 67,060 เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาทซึ่งเท่ากับของเดิม

โดยก่อนหน้านี้ ไทยพับลิกา รายงานว่า ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร คสช. ได้มีการอนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบประมาณกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท มีผลใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557

นอกจากขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้านกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระแล้ว ก่อนหน้านี้ปี 2558 สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหารฉบับใหม่ ปรับเพิ่มเงินเดือนของตุลาการทหาร กับอัยการศาลทหารเพื่อให้สอดคล้องกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่น โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2498 หลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพื่อเป็นการยกระดับศาลทหารให้เทียบเท่ามาตรฐานศาลพลเรือน

ทั้งนี้ ไอลอว์ เคยรายงานไว้ว่า เงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท ส่วนตำแหน่งพนักงานอัยการปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท ซึ่งอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่รับราชการและอาจสูงสุดได้ถึงประมาณ 140,000 บาท ซึ่งปกติตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลพลเรือนจำเป็นต้องเรียนจบกฎหมายและสอบผ่านหลักสูตรของเนติบัณฑิตยสภาก่อน จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ขณะที่ผู้พิพากษาศาลทหารบางส่วนจบด้านกฎหมาย แต่อีกบางส่วนเช่นกันเป็นข้าราชการทหารที่ไม่ต้องมีความรู้กฎหมายก็ได้ ส่วนอัยการทหารแม้จะจบด้านกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ต้องผ่านการสอบของเนติบัณฑิตยสภามาก่อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net