Skip to main content
sharethis

มองกฎหมายคณะสงฆ์ผ่านประวัติศาสตร์ เมื่อการเมืองในอาณาจักรกับการเมืองในศาสนจักรสัมพันธ์กันเรื่อยมาและส่งผลต่อกันและกัน ผลลัพธ์คือกฎหมายคณะสงฆ์ในช่วงเวลาต่างๆ ย่อมแอบอิงกับสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุค

- กฎหมายคณะสงฆ์คือภาพสะท้อนระบบและเจตจำนงทางการเมืองในแต่ละยุค

- ความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติและมหานิกายมีผลต่อการออกกฎหมายคณะสงฆ์

- บทบาทของมหานิกายที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกประชวร ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่พุทธศาสนา บวกกับความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย ทำให้สายธรรมยุติรู้สึกไม่มั่นคง

- การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้ส่งผลต่อวงการสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างไร

ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวดในวันที่ 5 ก.ค. 2561 โดยมีสาระสำคัญคือการคืนพระราชอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม และแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ หลังจากที่มีการแก้ไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อปลายปี 2559 เพื่อคืนพระราชอำนาจการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแก่พระมหากษัตริย์

‘ประชาไท’ สนทนากับ ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยนั้นสัมพันธ์กับรูปแบบการปกครองและความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายธรรมยุติและฝ่ายมหานิกายมาโดยตลอด ส่วนการแก้กฎหมายครั้งนี้ อาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

อาณาจักร-ศาสนจักร

ชาญณรงค์กล่าวว่า หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เป็นการเข้ามาควบคุมความประพฤติของสงฆ์ผ่านการให้โอวาทมากกว่าเป็นการใช้กฎหมายบังคับ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการออกกฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเรียกว่า กฎพระสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการออกกฎเกณฑ์ตามวาระที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น โดยให้กรมสังฆการีมีอำนาจดูแลจัดการคณะสงฆ์และการละเมิดวินัย แต่ยังไม่มีการสร้างรูปแบบการปกครอง

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ พระมหากษัตริย์ต้องการสร้างสถาบันสงฆ์ให้มีความเรียบร้อย จึงมีการออก พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 หรือ พ.ศ.2445 โดยในตอนต้นของกฎหมายฉบับนี้มีคำปรารภว่า

‘ทุกวันนี้การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไข และจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว

‘และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสังฆมณฑล เป็นไปตามแบบแผนกันเรียบร้อย พระศาสนาก็จะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณในสังฆ์สำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก’

“พูดง่ายๆ คือต้องการให้การปกครองสังฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย เป็นประโยชน์แก่ศาสนาและอาณาจักร ในแง่นี้ก็คือการเข้ามาคุมคณะสงฆ์ การสร้างรูปแบบการปกครองสงฆ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของรัฐ มันจึงอาจไม่เกี่ยวกับวินัยโดยตรง

“นอกจากนี้ ยังมีข้อความของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสนิพนธ์ไว้ตอนท้ายของแถลงการณ์คณะสงฆ์ที่ออกมาก่อนหน้า พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ว่า ภิกษุสงฆ์แม้มีวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่งซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไป และควรอนุวัตตามบ้านเมืองโดยไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนี้ สรุปคือภิกษุสงฆ์ต้องมีกฎหมายและพึงฟังอยู่ 3 ประเภท คือกฎแผ่นดิน กฎวินัย และจารีต ที่น่าสนใจคือกฎหมายแผ่นดินมาก่อนพระวินัย พ.ร.บ. นี้เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรเรียนรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง” ชาญณรงค์ กล่าว

การเมืองทางโลก-การเมืองทางสงฆ์

ภายหลังจากมี พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 พระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งคณะสงฆ์ที่เป็นผู้ปกครองระดับสูงลงไปจนกระทั่งถึงระดับเจ้าอาวาสพระอารามหลวงบางแห่ง กล่าวได้ว่ามีอำนาจเต็มที่ในการจัดการคณะสงฆ์โดยเฉพาะตำแหน่งทางการปกครอง

นอกจากนี้ คณะธรรมยุติยังได้สิทธิ์ปกครองตนเองโดยไม่ต้องขึ้นกับการปกครองของผู้ปกครองใดๆ ที่มาจากฝ่ายมหานิกาย ขณะที่ฝ่ายธรรมยุติหากได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองก็สามารถปกครองพระสงฆ์มหานิกายได้ ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของฝ่ายมหานิกายที่รู้สึกว่าการจัดสรรอำนาจไม่มีความเป็นธรรมเมื่อคนกลุ่มน้อยกว่ามีสิทธิ์ปกครองคนกลุ่มใหญ่กว่า

“เป็นเหตุให้กลุ่มยุวสงฆ์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มปฏิสังขรพระศาสนาวางแผนประชุมกันลับๆ หาวิธีเข้าถึงรัฐบาลเพื่อเสนอ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่ปรับรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ในช่วงเวลานั้น คือสมเด็จพระสังฆราชไม่มีอำนาจปกครองโดยตรง แต่ปกครองผ่านสังฆมนตรี สังฆสภา และคณะวินัยธรซึ่งมีลักษณะเหมือนฝ่ายตุลาการของฝ่ายบ้านเมือง

“ในช่วงนี้ผมคิดว่าความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติกับมหานิกายไม่ได้ลดลง แต่ขัดแย้งกันมากกว่าเดิม เพราะตอนที่เสนอ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีคำปรารภว่าการปกครองสงฆ์แบบที่เป็นอยู่ หมายถึงตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นการไม่เคารพผู้อาวุโส คือพระหนุ่ม เณรน้อย ที่มาทำหน้าที่ในสังฆสภาสามารถอภิปรายพระเถระได้ จึงยุบเสีย และที่ว่าขัดแย้งก็คือสมาชิกที่เลือกมาจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเลือกยังไง พระสงฆ์จากมหานิกายก็เยอะกว่า เวลามีการอภิปรายลงมติทำให้กลุ่มธรรมยุติเสียเปรียบพอสมควร พอถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงทำการแก้กฎหมาย พูดง่ายๆ คือไม่ให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง รวบอำนาจมาไว้ที่มหาเถรสมาคม”

ธรรมยุติ-มหานิกาย

ชาญณรงค์ อธิบายอีกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี 2505 ระบุให้มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งไม่ต่ำกว่า 4 รูป แต่ไม่เกิน 8 รูป ขณะที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขปี 2535 ขยายเป็น 12 รูป

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขปี 2535 ยังแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เปลี่ยนเป็นระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และมีการขยายความว่าในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามของสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีความอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

“ผมคิดว่าช่วงที่มีการปรับปรุงปี 2535 ความตึงเครียดระหว่างธรรมยุติกับมหานิกายเริ่มผ่อนคลายลงมาก ไม่มีการดูหมิ่นกันออกนอกหน้าแล้ว ไม่ขัดแย้งกันเหมือนรุ่นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ความผ่อนคลายนี้แสดงผ่านการปรับปรุงกฎเกณฑ์การได้มาซึ่งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และการขยายจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมเพิ่มเป็น 12 รูปทำให้บรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ในสายมหานิกายมีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการด้วย อีกทั้งความอาวุโสโดยสมณศักดิ์ก็มีผลสำคัญ เพราะช่วงนั้นมีสมเด็จทางสายมหานิกายอยู่มาก ก็ค่อยๆ ขับเคลื่อนมาตามลำดับ สมเด็จในสายมหานิกายมีเพิ่มขึ้นขณะที่สายธรรมยุติกลับน้อยลง นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สายมหานิกายมีบทบาทสูง

“โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวรทรงอาพาธ ปี 2547 ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ในช่วงเวลานั้นทำให้สายมหานิกายเข้าไปมีอำนาจมากพอสมควร อย่างเช่นสมเด็จเกี่ยว (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)) ก็มีบทบาทสูงในคณะสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ทำให้สายมหานิกายได้ชั้นสมเด็จ ได้ชั้นพระราชาคณะ พอสมเด็จเกี่ยวมรณะภาพหลังจากนั้นก็เหลือสมเด็จวัดปากน้ำ วัดชนะสงคราม ก็ขึ้นมา ความอาวุโสได้ ทำให้มหานิกายมีบทบาทสูง

“เท่ากับเป็นสิบสามสิบสี่ปีที่มหานิกายมีบทบาทสูงและแผ่บทบาทนี้ออกไปมากขึ้นๆ ผนวกกับความสัมพันธ์ระหว่างมหานิกายกับวัดธรรมกาย เพราะธรรมกายก็เป็นศิษย์สมเด็จเกี่ยว สมเด็จเกี่ยวก็เป็นศิษย์วัดปากน้ำด้วย มีสายสัมพันธ์กันอยู่ แล้วกรณีวัดพระธรรมกายมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มันก็สะท้อนว่าคณะสงฆ์ไม่อยากปฏิเสธธรรมกายเพราะกลัวภัยคุกคามที่มาจากเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทเข้ามาสนับสนุนธรรมกายให้มีบทบาทขึ้นมา เมื่อฝ่ายปกครองสงฆ์กับฝ่ายธรรมกายผนึกกันทำให้ฝ่ายมหานิกายดูน่ากลัว”

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้บทบาทของมหานิกายโดดเด่นขึ้นคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ชาญณรงค์ อธิบายว่าสายมหานิกายมีความเป็นเสรีนิยมอยู่พอสมควร อย่างน้อยในด้านการศึกษาเล่าเรียนของสายมหานิกายก็ไม่ค่อยจำกัดตัวเอง ยอมรับความคิดใหม่ๆ ในด้านวิถีปฏิบัติ

“ขณะที่ธรรมยุติต้องระมัดระวังในแง่พระธรรมวินัย ความคิดแบบก้าวหน้า และการแสดงออก จะเรียกว่าอนุรักษนิยมก็ได้ การบุกเบิกสิ่งใดก็ไม่อยากทำแบบโผงผาง การเรียกร้องสิทธิจากรัฐก็ไม่ทำ เพราะไม่อยากเปิดตัว ไม่อยากถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐและการเมือง แต่สายมหานิกายไม่ค่อยสนใจ ก็ไปมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองกลุ่มที่ถูกรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549

“ท่าทีที่เปิดรับความคิดใหม่ๆ และบุกเบิกอะไรใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นในสายมหานิกายมากกว่า ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเข้าไปมีบทบาทในมหาเถรสมาคมด้วย เริ่มทำให้ท่านเข้าไปมีบทบาทในการผลักดัน การเปิดรับวิทยากรตะวันตก เปิดรับความคิด เพื่อปรับปรุงการเผยแผ่คำสอน การจัดอีเวนต์ต่างๆ แม้กระทั่งการประชุมในวันวิสาขะโลก การประชุมร่วมกันระหว่างเถรวาทและมหายาน ล้วนเป็นบทบาทของอธิการบดีมหาจุฬาฯ ส่วนหนึ่งเมื่อพระสายมหานิกายสมณศักดิ์ถึงและเข้าไปมีบทบาทในมหาเถรสมาคม ปรากฏว่าคนที่มีความคิดก้าวหน้าเข้าไปก็ทำให้มหานิกายเติบโตผ่านการศึกษา ขณะที่การศึกษาของสายธรรมยุติหดตัว”

แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป

“ผมคิดว่ามีสายที่สมาทานธรรมยุติที่อาจเป็นพระและฆราวาส ที่รู้สึกว่าปล่อยไว้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จะมีสมเด็จพระสังฆราชจากสายมหานิกายและมีความสัมพันธ์กับธรรมกาย มันสร้างความไม่มั่นคงมากในสายธรรมยุติ”

และหลังจากนี้บทบาทของสายมหานิกายคงมีการชะลอตัวพอสมควร เพราะมีบาดแผลจากความเสรี ความไม่ระมัดระวังด้านพระธรรมวินัยมากเกินไป ไม่ได้มีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ทรงวินัยแบบธรรมยุติ เพราะฉะนั้นการควบคุมมหานิกายจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของฝ่ายบ้านเมืองที่จะทำได้ โดยอ้างว่าพระสายมหานิกายไม่ค่อยอยู่ในพระธรรมวินัย การจะให้สมณศักดิ์ การเลื่อนชั้นเป็นผู้ปกครอง ก็อาจมีเหตุผลไม่ให้ขึ้นไปได้

“ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เห็นว่าพระสงฆ์ที่ควรได้รับการโปรดเกล้าให้มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็อาจเทไปทางสายธรรมยุติมากกว่า เพราะมีภาพลักษณ์พิเศษที่ทำให้คนเชื่อว่ามีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยกว่าสายมหานิกาย ในแง่นี้มีผลกระทบต่อสายมหานิกายแน่นอน”

ผลที่จะตามมา

มองในแง่ผลที่จะติดตามมาจากการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งนี้ ชาญณรงค์ กล่าวว่า ในแง่จิตวิทยา คณะสงฆ์ทั้งธรรมยุติและมหานิกายจะมีความรู้สึกว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความมั่นคงสูง เพราะความมั่นใจของคณะสงฆ์ไทยอยู่ที่การอุปถัมภ์ของรัฐ เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐเข้ามาสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ค่อนข้างตรงมาก ย่อมเป็นเจตนารมย์ของคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้วที่จะให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศเข้ามาอุปถัมภ์ค้ำชู เสียงที่ออกมาส่วนใหญ่จึงเห็นดีด้วย

“แต่ในแง่การแต่งตั้ง พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกสรรเองหรือมีกระบวนการอื่นที่ทำให้การเลือกสรรเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ถ้ากระบวนการนั้นยังเป็นระบบอุปถัมภ์อยู่เหมือนที่เคยเป็นก็อาจมีปัญหาถ้าผู้ที่สนองพระบรมราชโองการไม่จริงจังหรือไม่โปร่งใสในการเลือก เพราะภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่มั่นคงในสังคมไทย คนที่จะเข้าถึงอำนาจก็คือคนที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจ”

ส่วนในแง่การควบคุมดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัยนั้น ชาญณรงค์ กล่าวว่า

“ผมคิดว่าระบบที่มีการควบคุมให้อยู่ในพระธรรมวินัยก็มีส่วนดี แต่ในแง่การปล่อยให้คณะสงฆ์พัฒนาตัวเองอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่เข้าไปอิงอาศัยอำนาจรัฐจะเกิดขึ้นยากมากในอนาคต ส่วนตัวคิดว่ารัฐไม่ควรมีบทบาทกำหนดรูปแบบของคณะสงฆ์ รูปแบบวัตรปฏิบัติของพระ ควรปล่อยให้คณะสงฆ์ได้พัฒนาตัวเองภายใต้อุดมการณ์ พระธรรมวินัย และสิทธิตามกฎหมาย น่าจะเกิดความมั่นคงยั่งยืนกว่าในอนาคต”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net