Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

นับจากวันที่ 28 มิถุนายน 2561 จนถึงวันที่ 5 กรกฏาคม 2561 เสียงระเบิดในสวนยาง โดยเฉพาะจังหวัดยะลา มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านไทยพุทธที่เข้าไปกรีดยางจำนวน 4 คนได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ซึ่งแน่นอนว่า ปฏิบัติการดังกล่าวก็ไม่ต่างกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่อาจหาผู้รับผิดชอบในการก่อเหตุได้ จะมีก็แต่เพียงการคาดเดากันตามจุดยืนและชุดประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการครั้งนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่งคือ ลักษณะในการก่อเหตุที่ใช้ทุ่นระเบิดเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรงในสวนยางพาราของพลเรือนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ โดยรูปแบบการวางทุ่นระเบิดบนพื้นที่ปลูกยางพารานั้น เคยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อปี 2553 แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย การนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงมาร่วม 8 ปี จึงมีนัยยะที่สำคัญอยู่ไม่น้อย

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นสารที่อาจอ่านได้ว่า ความรุนแรงที่เคยมีรูปแบบพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้านความมั่นคงในช่วงหลายปีที่ผ่านมากำลังมีทิศทางกลับมาพุ่งเป้าไปยังพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า สวนยางพาราที่เกิดเหตุทั้งหมดอยู่ในจังหวัดยะลา และเป็นสวนยางของชาวไทยพุทธทั้งหมด ปรากฏการณ์นี้ยังส่งสารความน่ากังวลต่อไปอีกว่า ความรุนแรงครั้งนี้มีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่พลเรือนที่เป็นชาวพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ การเกิดเหตุกับพวกเขาจะนำไปสู่ความบาดหมางใจและรอยแผลเพิ่มมากขึ้น

ประการที่สอง จำนวนความถี่และความต่อเนื่องในการก่อเหตุ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 วันที่ผ่านมา แม้ว่าเพจศูนย์สันติวิธี ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนพี่น้องชาวสวนยางพาราให้ระวังผู้ก่อการร้ายวางระเบิดชนิดเหยียบเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า เป็นฝีมือของ “ผกร.” (อ่าน) แต่การก่อเหตุก็ยังคงเกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม “เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ” ก็ยังได้ออกแถลงการณ์ “ประณามการก่อเหตุอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม” โดยมีข้อเสนอไปถึงกลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มใด ๆ ที่ปฏิบัติการครั้งนี้ให้ยุติการกระทำอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมต่อพลเรือน รวมทั้งการใช้ทุ่นระเบิดต่อการสังหารบุคคลและยุติการโจมตีพลเรือนทันที และให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในปี พ.ศ.2540 และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมก็เกิดเหตุอีกครั้ง หลังจากนั้นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้คู่สงครามคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (อ่าน) และตามมาด้วยแถลงการณ์ของสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ โดยประณามการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องเพื่อยุติการใช้วัตถุระเบิดเช่นเดียวกัน ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเพจศูนย์สันติ (อ่าน)

ประการสุดท้าย การพุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือนและการเลือกสถานที่สวนยางในการก่อเหตุ เป็นรูปแบบปฏิบัติการที่มีความจงใจและหวังผล ส่งผลให้มีการอนุมานจากทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่จะขับไล่คนไทยพุทธหรือไม่ ? แต่กระนั้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มันสร้างให้เกิดความกลัวและความหวาดระแวงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ในช่วง 8 วันที่ผ่านมาแม้ว่าเสียงระเบิดจะดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความเสียหายทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน แต่ดูเหมือนว่า การให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มีน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ที่ออกมา ซึ่งมีเพียงไม่กี่ฉบับ ทั้ง ๆ ที่ความรุนแรงครั้งนี้ถือว่าเป็นการยกระดับรูปแบบของการใช้ความรุนแรงในชายแดนใต้ขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรและที่ไหน รวมถึงความไม่ชัดเจนในตัวผู้ก่อเหตุและเหตุจูงใจ แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ก็ไม่ควรนอนใจ และต้องไม่ยอมรับกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งควรจะต้องมีการศึกษาเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ เพื่อความกระจ่างกันต่อไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: งามศุกร์ รัตนเสถียร เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net