Skip to main content
sharethis
ในขณะที่นักเตะหลายคนกำลังเฉิดฉายร่ายมนตร์แข้งในมหกรรมฟุตบอลโลกที่รัสเซีย แต่เออร์ฟาน เฮซิม ดาวรุ่งเชื้อสายอุยกูร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติจีนชุด ยู-19 ถูกรัฐบาลจีนจับเข้าค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยข้อหา "เดินทางไปต่างประเทศ"
 
 
(ซ้าย) เออร์ฟาน เฮซิม ถ่ายรูปคู่กับลิโอเนล เมสซี ดาวเตะทีมชาติอาร์เจนตินาเมื่อราวปีที่แล้วที่กรุงปักกิ่ง (ที่มา: FIFPro)
 
สหพันธ์นานาชาติผู้ประกอบวิชาชีพนักฟุตบอล (FIFPro) ซึ่งเป็นสหภาพของนักฟุตบอลทั่วโลกออกแถลงการณ์ระบุให้มีการปล่อยตัว เออร์ฟาน เฮซิม นักฟุตบอลชาวอุยกูร์ตั้งแต่ช่วงก่อนมีการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการ โดยที่เฮซิมเป็นนักฟุตบอลอายุ 19 ปี ชาวอุยกูร์ผู้ถูกรัฐบาลจีนจับเขาไปเข้าค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่ ในมณฑลซินเจียงของจีนตั้งแต่เดือน ก.พ. 2561 เขาถูกจับกุมตัวทันทีหลังจากเดินทางกลับจากสเปนและดูไบ
 
ถึงแม้เฮซิมจะเป็นดาวรุ่งที่มีอนาคตไกล เคยติดทีมชาติจีนรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (ยู-19) เคยเดินทางไปแข่งฟุตบอลในหลายประเทศและเมื่อปีที่แล้วเพิ่งเซ็นสัญญาค้าแข้ง 5 ปีกับทีมเจียงซู ทีมฟุตบอลในไชน่าซุปเปอร์ลีก แต่ปัจจุบันเขากลายเป็นหนึ่งในชาวอุยกูร์ราว 1 ล้านคนในซินเจียงที่ถูกทางการจีนจับกุมส่งเข้าค่ายกักกันเพื่อทำการเปลี่ยนความคิดทางศาสนาและการเมือง
 
ลูกยิงจักรยานอากาศของเฮซิมเมื่อปี 2560 (ที่มา: Youtube/wang jinsong)
 
มีข้อมูลน้อยมากที่ออกสู่โลกภายนอกว่าค่ายกักกันในจีนมีลักษณะหรือดำเนินการอย่างไร เท่าที่มีข้อมูลจากคนที่เคยถูกส่งตัวเข้าไปในอดีตเปิดเผยว่าค่ายมีขนาดใหญ่เหมือนเป็นเมืองย่อยๆ หรือหมู่บ้านๆ หนึ่ง มีรั้วลวดหนาม ระบบสอดแนมและตำรวจติดอาวุธ มีหลายคนบอกว่าพวกเขาถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันนี้โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการดำเนินคดีใดๆ เลย และในค่ายกักกันนี้มีการพยายามปรับเปลี่ยนความเชื่อและพยายามทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
 
ในบล็อก Medium ของผู้ใช้งานที่ชื่อ Shawn Zhang ซึ่งเป็นนักศึกษาวิชานิติศาสตร์ใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นภาพจากมุมบนของค่ายกักกัน ซึ่งแบ่งเป็นโซนเรือนจำกับโซนปลูกฝังความเชื่อ นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานข่าวว่ามีการบังคับให้คนที่เป็นมุสลิมกินหมูและดื่มแอลกอฮอล์โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้เป็น "พวกหัวรุนแรง" แล้ว
 
นอกจากกรณีของเฮซิมแล้ว ชาวอุยกูร์ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ก็เคยถูกจับเข้าค่ายกักกันเช่นกัน เช่นนักดนตรีที่พยายามเชื่อมวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอุยกูร์ อะบลาจัน อะวุต อะยับ ถูกจับไปในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีนักศึกษา ป.โทชาวอุยกูร์ที่เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมาเลเซียเดินทางกลับบ้านเพื่อตามหาครอบครัวที่หายตัวไปก็ถูกจับตัวส่งค่ายกักกันเช่นเดียวกัน
 
มีชาวอุยกูร์บางส่วนที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันตกและเคลื่อนไหวเพื่อทำให้คนมาสนใจในเรื่องค่ายกักกันในจีน เช่น เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์ 100 คนประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันจีนกรณีค่ายกักกันที่มีชาวอุยกูร์ถูกขังอยู่กว่าหนึ่งล้านคน
 
โดยมากแล้วทางการจีนมักจะหลีกเลี่ยงการพูดต่อโลกภายนอกถึงค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อ เว้นแต่จะนำเสนอมันออกมาในรูปแบบของตัวเอง เช่น บอกให้นักศึกษาที่มีพ่อแม่ถูกจับเข้าค่ายกักกันพูดถึงค่ายกักกันนี้ในทางที่ดี โดยแทบจะไม่มีการพูดแสดงความคิดเห็นในที่อื่นเลย หรือไม่ทางการก็อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านแนวคิดแบบสุดโต่งของมุสลิม
 
ทั้งนี้ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ยังเคยนำเสนอบทความระบุว่า ทางการจีนมีการพยายามเปลี่ยนมณฑลซินเจียงที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่มากให้เป็นรัฐตำรวจมากขึ้น มีการสร้างค่ายกักกันฯ นับพันแห่ง มีบางแห่งที่ใช้วิธีการน่ากลัวๆ อย่างไม่ยอมให้ผู้ต้องขังทานอาหารจนกว่าจะกล่าวขอบคุณสีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน และมีบางแห่งที่ระบุว่ามีการทารุณกรรมผู้ต้องขัง รวมถึงมีกรณีที่ครูสอนศาสนาอายุ 82 ปีผู้เป็นที่นับถือเสียชีวิตในเรือนจำที่อุรุมฉี
 
มายา หวัง จากองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ประเมินว่า ผู้ต้องขังอาจจะมีจำนวนถึง 800,000 คน ขณะที่ทิโมธี โกรส ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโรส-ฮุลมัน ในรัฐอินเดียนาประเมินว่ามีจำนวนระหว่าง 500,000 ถึง 1 ล้านคน ซึ่งหมายความว่ามีชาวอุยกูร์ที่เป็นเยาวชนถึงวัยกลางคนเคยถูกจองจำ หรือกำลังอยู่ระหว่างถูกจองจำเป็นสัดส่วนราว 1 ต่อ 6 คนถึง 1 ต่อ 3 คน นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้ทั้งกำลังคนและเทคโนโลยีต่างๆ ในการประเมินว่าจะต้องจับชาวอุยกูร์คนใดมาปรับความคิด เช่น เทคโนโลยีจดจำม่านตา นอกจากนั้นยังมีกรณีที่วัยรุ่นต้องส่งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปใส่ในอุปกรณ์ที่นำข้อมูลจากมือถือไปเก็บไว้เพื่อทำการวิเคราะห์ในภายหลัง
 
เรียบเรียงจาก
 
Rising star footballer is among more than a million Uyghurs sent to Chinese ‘re-education’ camps, Global Voices, Jun. 25, 2018
 
FIFPro Statement: Chinese Player 'Detained'., FIFPro, Jun 13, 2018
 
China has turned Xinjiang into a police state like no other, The Economist, May 31, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net