Skip to main content
sharethis

สนช. ผ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติฉลุย ส่งประยุทธ์ทูลเกล้า ภายใน 20 วัน ชวนย้อนดูปัญหายุทธศาสตร์ฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วม  รบ.ใหม่จากการเลือกตั้งก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ฯ ไม่ทำมีบทลงโทษ นักวิชาการชี้ เนื้อหา ‘มั่นคง’ ไม่พูดเรื่อง ‘โปร่งใส’ ‘มั่งคั่ง’ ไม่พูดเรื่อง ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ‘ยั่งยืน’ ไม่พูดเรื่อง ‘มีส่วนร่วม’ พร้อมเปิดข้อเสนอแก้เกมจาก ‘'ปิยบุตร-อนุสรณ์'’

วันนี้ (6 ก.ค. 61) ไอลอว์รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ เห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 183 คน โดยใช้เวลาพิจารณาภายใน 1 ชั่วโมง เห็นชอบกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งขั้นตอนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นําขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน เพื่อให้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้

หลังจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งใช้เวลา 22 วัน โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะนำไประบุเพิ่มเติมในแผนแม่บทต่อไป และสรุปผลการศึกษาว่า “เห็นควรให้ความเห็นชอบ” ต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช.

คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า แผนแม่บทจะจัดทำในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยจะจัดทำเป็นแคมป์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำร่วมกัน และให้แล้วเสร็จทันปีงบประมาณ 2563 โดยตัวชี้วัดที่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ชาติจะถูกนำไปใส่ในระดับแผนแม่บทหรือโครงการ เป็นชั้นๆ ให้เชื่อมโยงกันต่อไป และการติดตามผล จะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามผลจากหน่วยงานรัฐ และระบบโปรแกรมให้หน่วยงานรัฐใช้กรอกอีกขั้นหนึ่ง

ปัญหาการมียุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับปัญหาของยุทธศาสตร์ชาตินั้น จากการประมวลข้อวิจารณ์ต่างๆ พบว่ามี 4 ประเด็นดังนี้ 

1. ไอลอว์ ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อใช้บังคับแล้ว นอกจากหน่วยงานราชการที่ต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว พรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายใดๆ ก็ต้องจัดทำให้อยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ และการแถลงนโยบายของรัฐบาลหรือการจัดทำงบประมาณก็ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเหมือนกันหมด รวมทั้งมีการกำหนดขั้นตอนลงโทษในกรณีที่หน่วยงานนั้นๆ ทำผิดจากยุทธศาสตร์ไว้ด้วย ในขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ต้องรับผิดใดๆ จึงอาจกล่าวได้ว่ากรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ จะสำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

2. จำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด 35 คน พบว่า มาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน กรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งอีก 17 คนโดย คสช. ประธานวุฒิสภาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอีก 1 คน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ย่อมเท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คนจาก 35 คน คือคนที่ คสช. วางเอาไว้ ก็เป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในคณะกรรมการชุดนี้ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

3. นอกจากประเด็น ประเด็นที่ 1 แล้ว ไอลอว์ ยังมองว่า ยุทธศาสตร์ชาติถูกบังคับให้ต้องจัดทำตาม “พิมพ์เขียว” ที่มีก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติ ครม. ปี 2558 เป็นผู้จัดทำฉบับร่างซึ่งเขียนไว้ล่วงหน้าก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 (อันเป็นฉบับที่เขียนระบุให้มียุทธศาสตร์ชาติ) และร่างฉบับนี้ก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เปิดพิมพ์เขียว ‘ร่างยุทธศาสตร์ชาติ’ พบคำว่าความมั่นคง 222 คำส่วนคำว่าความยุติธรรมหาไม่เจอ

4. ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในมาตรา 28 เขียนเปิดช่องเอาไว้ว่า การรับฟังความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มีการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน - 20 พฤษภาคม 2560 มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,051 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 8 คน สนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 22 มิถุนายน 2560

ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจาก 4 ประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีข้อวิจารณ์อื่นอีก เช่น อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ชาติเดิมในปี 2558 ที่เป็นพิมพ์เขียวของยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน ในกรณีการพัฒนา EEC อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ว่า นโยบายอุตสาหกรรมของยุทธศาสตร์ชาติเน้นการลดภาษีกลุ่มทุน (รัฐเสียรายได้ภาษี 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559) แต่ไม่มีมาตรการ “การบังคับ” ให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษถ่ายทอดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ไทย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เขียนข้อวิจารณ์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติไว้ว่า เนื้อหายุทธศาสตร์ชาติสรุปสั้นๆ ได้ว่า “พูดอีกก็ถูกอีก” เป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย ปัญหาก็คือ เป้าหมายโลกสวย ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ นั้น เมื่อแยกส่วนออกมาดูแล้วอาจจะขัดแย้งกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดนิยาม และยุทธศาสตร์ที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

สฤณี ตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีลักษณะเด่นสามประการ 1.) นิยาม ‘ความมั่นคง’ ที่กว้างขวางอย่างยิ่ง ไม่มีเนื้อหาใดๆ ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่พูดถึงการแก้ปัญหาและพัฒนากองทัพ โดยเฉพาะการยกระดับ ‘ความโปร่งใส’ (transparency) 2.) เป้าหมาย ‘มั่งคั่ง’ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้พูดถึงการสร้างและคุ้มครอง ‘สนามแข่งขันที่เท่าเทียม’ (level playing field) ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3.) เป้าหมาย ‘ยั่งยืน’ พูดถึง “การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ระบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมเกิดขึ้น” แต่ยังมิได้ระบุยุทธศาสตร์ใดๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมิได้สะท้อนรูปธรรมของ ‘การมีส่วนร่วม’

ผ่านแล้ว คว่ำยังไง?

คสช. อ้างว่า ยุทธศาสตร์ชาตินั้นถูกจัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน...”  และยังกำชับอย่างเร่งรัดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 275 “ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคสอง ให้แล้วเสร็จ ภายใน 120 สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดําเนินการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ”

โดยขั้นตอนคร่าวๆ ของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์เสนอร่างให้ ครม. หลังจากนั้นหากเห็นชอบจะส่งต่อให้ สนช. หากประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน วิธีการที่น่าสนใจคือการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้กฎหมายหลักที่ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ มีผู้เคยเสนอขั้นตอนการแก้ไข้ไว้คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ด้วยเหตุที่ยุทธศาสตร์ชาติจัดทำมาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น ต้องแก้ไขที่รัฐธรรมนูญด้วย โดย ปิยบุตร เคยเสนอไว้ว่า ลำดับแรกคือต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยมีวิธีการคือ (1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พ.ศ. ... เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย (2.) เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว (3.) เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และนอกจากนี้ปิยบุตรยังเสนอให้ทบทวน พ.ร.บ. ทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อนุสรณ์  เสนอว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

สำหรับร่างยุทธศาสตร์มีสาระสำคัญ 6 ด้านดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้น การยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) ต่อยอดอดีต โดยมองกลับไปที่รากเหง้านำมาประยุกต์ผสมผสานให้สอดรับกับ บริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) ปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ (3) สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคตด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด

3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของชาติ

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ความสำคัญการดึงเอาพลังของ ภาคส่วนต่างๆ ร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม

5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐ โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net