Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมสารนิเทศชี้แจงนิตยสารไทม์ฉบับ 'พล.อ.ประยุทธ์' ว่าไทยไม่ได้ถอยหลังไปสู่ 'เผด็จการถาวร' แต่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยยั่งยืน' บวกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมปฏิเสธสัมพันธ์แนบแน่นไทย-จีน เพราะไทยคบทุกชาติรวมทั้งสหรัฐ ที่สำคัญห้ามเรียก 'สฤษดิ์น้อย' ต้องเรียก 'ลุงตู่' สะท้อนบุคลิกภาพเปิดเผย-เข้าถึงได้

กรณีนิตยสารไทม์ ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192 ที่ตีพิมพ์บทความ "Thailand’s Leader Promised to Restore Democracy. Instead He’s Tightening His Grip" ของ Charlie Campbell โดยมีภาพปกเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และต่อมาเอกชนในประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้านิตยสารไทม์ระบุว่าจะไม่นำเข้านิตยสารฉบับดังกล่าวมาวางจำหน่ายเพราะ "มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" ตามรายงานของวอยซ์ออนไลน์นั้น

แฟ้มภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างสถานีชุมแสง และสถานีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 11 มิถุนายน 2561 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ปกนิตยสารไทม์ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศโดย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ชี้แจงนิตยสารไทม์ เกี่ยวกับบทความที่ไทม์ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม เรื่องผู้นำไทยสัญญาที่จะคืนประชาธิปไตยแต่กลับกระชับอำนาจ (Thailand's Leader Promised to Restore Democracy. Instead He's Tightening His Grip) ว่า "เป็นบทความที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง"

หนังสือเปิดผนึกดังกล่าวระบุต่อไปว่า "บทความดังกล่าวมีความไม่สมดุลและมีการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปกับบทสรุปที่เป็นเท็จต่อเนื้อหาและวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทความดังกล่าวเขียนขึ้นจากความคิดที่มีอคติเพื่อจะทำให้เป็นไปตามวาระที่สรุปไว้ก่อนแล้ว ผู้เขียนได้เลือกที่จะหยิบข้อมูลเพียงบางส่วนจากการสัมภาษณ์ เพื่อสนับสนุนความเห็นที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านการโควตคำพูดที่เป็นลบจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มการเมือง ซึ่งไม่สะท้อนความเห็นส่วนใหญ่ของคนในประเทศไทย"

ในขณะที่ผู้เขียนพยายามที่จะทำให้รัฐบาลไทยมีความด่างพร้อย ด้วยการระบุถึงจุดอ่อนมากมาย ข้าพเจ้าขอชี้ว่ารัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บทวิเคราะห์ของผู้เขียนบทความระบุว่าประเทศไทยกำลัง 'ถอยหลังไปสู่การเป็นเผด็จการอย่างถาวร' เป็นการกล่าวหาที่เกินจริงอย่างเลวร้าย มองข้ามการดำเนินการของไทยเพื่อไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยยั่งยืนตามโรดแมปที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

ในข้อเท็จจริง นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ตัวเลขสถิติต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดผลขึ้นได้จริง และยังมีการแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกและมีความยากลำบาก อาทิ การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)  มากไปกว่านั้นรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นอย่างที่บทความนำเสนอว่าจะเป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่จะเป็นการช่วยรัฐบาลให้มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการวางแผนระยะยาวและเป็นมาตรการเพื่อให้การปฏิรูปบังเกิดผล

 

หนังสือชี้แจงนิตยสารไทม์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ในจดหมายของอธิบดีกรมสารนิเทศ ยังระบุว่า ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยคุณค่าและนวัตกรรม และอ้างว่าความพยายามเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากคู่ค้าจากสหภาพยุโรป จะเห็นได้จากการเยือนที่ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรีที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ 12 กันยายน ค.ศ. 2016 รัฐบาลได้เลิกใช้ศาลทหารไต่สวนคดีของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่บทความในนิตยสารไทมส์ระบุไว้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว

ในแง่ของความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยที่ไปอ้างถึงกรณีโรงงานผลิตอาวุธร่วมทุนที่ จ.ขอนแก่น ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างจีนและประเทศไทย ที่เป็นการสูญเสียของสหรัฐอเมริกา ในข้อเท็จจริง ประเทศไทยไม่ได้ติดต่อกับจีนฝ่ายเดียว แต่มาตรการดูแลรักษานี้เป็นหนึ่งในโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยได้เชิญจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วม นอกจากนี้ในปีนี้ประเทศไทยกำลังฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด แต่ไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างสมดุลกับทุกประเทศ

"ข้อสุดท้ายแต่สำคัญไม่น้อย คำเรียก "สฤษดิ์น้อย" (Little Sarit) ที่อ้างถึงโดยผู้เขียนบทความ ไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในสาธารณชนชาวไทย และเป็นเรื่องผิดประเด็น ทั้งบุคลิกภาพและบริบททางประวัติศาสตร์ของผู้นำทั้ง 2 คนนั้นต่างกัน ในข้อเท็จจริงคนไทยมักจะเรียกชื่อเล่นยอดนิยมของนายกรัฐมนตรีว่า "ลุงตู่" (Uncle Tu) ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพที่เข้าถึงได้และมีความเปิดเผย เพราะคำว่า "ลุง" เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกขานผู้ที่เป็นสมาชิกในครอบครัว"

"ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะตีพิมพ์จดหมายฉบับนี้ เพื่อชี้แจงผู้อ่านของท่านด้วยมุมมองต่อประเทศไทยที่ยุติธรรมและสมดุล และนอกจากนี้เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นมืออาชีพด้านวารสารศาสตร์ที่นิตยสารไทม์พยายามรักษาเอาไว้" อธิบดีกรมสารนิเทศระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net