Skip to main content
sharethis

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดผิดกฎหมาย โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 แสนบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสพักผ่อนหรือทำกิจธุระ หากนายจ้างมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเพื่อประโยชน์แก่การผลิต จำหน่าย และบริการอาจให้ลูกจ้างทำงานได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

ทั้งนี้เมื่อให้ลูกจ้างทำงานแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ ส่วนกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 7/7/2561

 กสร.เผยข่าวดีเตรียมให้สัตยาบัน ILO 98 ภายในปี 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ว่า ขณะนี้คืบหน้าไปมาก โดยได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งอาจมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมและให้สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ด้วย

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงแรงงาน และคาดว่าจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเดือนตุลาคม 2561  ในส่วนของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2562 ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาอีกหนึ่งก้าว ในการยกระดับการดูแลแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกัน   อย่างสันติและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่มา: โลกวันนี้, 6/7/2561

หวั่น 8 แมตช์สุดท้ายฟุตบอลโลก เล่นพนันสูงขึ้น ห่วง "แรงงาน" กลุ่มเสี่ยงเกิดหนี้สิน

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา“นับถอยหลัง 8 แมตช์อันตราย เหยื่อพนันจะเลี่ยงหรือจะเสี่ยง?” โดยนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ฟุตบอลโลก 2018 เหลือ 8 แมตช์สุดท้ายชี้ชะตา ซึ่งน่าห่วงว่ากระแสชวนพนันอาจขึ้นสูง ไม่เฉพาะเด็กเยาวชน แต่กลุ่มคนวัยทำงานยิ่งมีเงินยิ่งมือเติบ และเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เล่นพนันบอลมากกว่ากลุ่มเด็กเยาวชน ทั้งจำนวนคนเล่นและจำนวนเงินที่ใช้เล่น ทั้งนี้ คนเล่นพนันบอลที่เสียตั้งแต่เริ่มเล่น มักจะเล่นไม่นานก็เลิก แต่คนที่เล่นแล้วได้ในตอนแรก มักจะได้ใจและเล่นต่อจนถลำลึก เข้าทำนองไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ซึ่งมีประมาณ 6 โลง คือ 1.การงานย่ำแย่ เพราะเอาสมาธิและเวลางาน เวลาเรียนไปหมกมุ่นกับการคิดและหาข้อมูลเล่นพนันบอล

2.แพ้พนันจนเพลีย เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าโชคต้องเข้าข้าง แต่วันนั้นก็ไม่มาถึงเสียที 3.เสียจนหมดตัว เพราะพนันบอลมักจะเดิมพันสูง บางคนเล่นคู่ละหลักหมื่นขึ้นไป ยิ่งเสียมากในคู่ก่อนๆ ยิ่งทำให้ทุ่มหมดหน้าตักในคู่ต่อไป จนเสียหายหนัก 4.กลัวเขามาอุ้ม เป็นอาการของนักพนันที่ไปกู้หนี้นอกระบบมา และยังเคลียร์ไม่ได้ ก็กังวลว่าจะโดนอุ้มไปทำร้าย 5.กลุ้มคุกทุกข์เข็ญ คือ กลุ่มที่กังวลว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สืบสาวมาจนถึงตนเองว่าเป็นผู้เล่นพนัน และมีโทษตามกฎหมายถูกจำคุก และ 6.เห็นหายนะเพื่อน คือ เริ่มเห็นเพื่อนที่เล่นพนันมาด้วยกันประสบผลเสียหาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกออกจากงาน หรือประสบปัญหาครอบครัว

นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า ปัญหาการพนันในกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังคงน่าห่วง ไม่เฉพาะบอลโลก แต่บอลทุกฤดูเอื้อต่อการเล่นพนันได้ ปัญหาใหญ่ คือ การจัดการเรื่องเงินของผู้ใช้แรงงานมักไม่เป็นระบบ สิ้นเดือน กลางเดือน ต้องมาใช้หนี้บัตรเครดิต เพราะกดไปเล่นพนันบอล ส่งผลให้ไม่มีเงินเก็บ คุณภาพชีวิตก็ย่ำแย่ สุดท้ายกลายเป็นภาระของลูกหลาน หลังจากบอลโลกจบต้องจับตาดูว่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกตามเช็กบิลตามทวงหนี้พนันบอล ฝากรัฐบาลทำการบ้านเร่งหาแนวทางป้องกันและหยุดปัญหาการพนันให้ได้

“ต้องยับยั้งสื่อโฆษณาที่โหมกระตุ้นให้เกิดการเล่นพนัน โดยเฉพาะที่มากับสื่อออนไลน์ มือถือ ตอนนี้เว็บไซต์หรือหน้าเพจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก มักพบว่ามีป็อบอัปของเว็บพนันโผล่ขึ้นมาชักจูงใจให้เล่น ซึ่งตรงนี้ต้องเร่งจัดการ ไม่ใช่แค่ลุยกันเฉพาะช่วงบอลโลกเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ในส่วนขององค์กรแรงงานเราอยากเห็นรัฐบาลนี้กล้าหาญ ตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะเป็นการพนันรูปแบบไหนก็ต้องถูกจัดการและควบคุมด้วยคณะกรรมการชุดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีเจ้าภาพในการจัดการปัญหาการพนัน” นายภาคภูมิ กล่าว

นายเอกซ์ (นามสมมติ) หนุ่มโรงงานแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ที่เสียหายกับการพนันฟุตบอล ว่า เริ่มจากเล่นตามเพื่อนๆ ในโรงงาน ค่อยๆ ขยับจากแทงบอลชุด50 บาท ยามใจมาแทงบอลเดี่ยวคู่ละหลักร้อย แทงปากเปล่าสองอาทิตย์เคลียร์กันที จนมาเสียหนักในคืนเดียวราวห้าหมื่นบาท พยายามเล่นหวังจะเอาเงินคืน ช่วงนั้นเสียไปมากกว่าห้าแสน ต้องกู้เงินทุกวิถีทาง ทั้งบัตรเครดิตต่างๆ ทั้งเงินกู้นอกระบบ จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ย่าผู้ที่เลี้ยงผมมา ท่านป่วยแต่มีเงินไม่พอรักษา เพราะเงินที่ย่ามี ก็เอามาช่วยใช้หนี้พนัน ย่าเสียชีวิตโดยที่ตนช่วยอะไรได้ บ้านและที่ดินต้องขายเอาเงินมาใช้หนี้พนัน จึงก้มกราบเท้าย่าและตั้งใจเลิกเล่นพนันตั้งแต่นั้นมา

“กว่าจะใช้หนี้พนันหมดก็หลายปี ส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบผมก็ต้องหนี เพราะถูกขู่จะทำร้าย ผมไม่กล้ากลับบ้าน เก็บตัวอยู่ในหอพัก ไม่มีแม้เงินจะซื้อข้าวกิน การเลิกพนันอยู่ที่ใจล้วนๆ ถ้าตั้งใจจริงเราเลิกได้ เพื่อนไม่โกรธ ไม่เลิกคบ คนใกล้ชิดมีอิทธิพลมาก ถ้าอยู่ในสังคมที่เพื่อนร่วมงานเล่นพนัน เราต้องเข้มแข็ง กล้าปฏิเสธ สถานที่ทำงานต้องหาทางตัดตอนไม่ให้มีคนกลางมาชวนเล่นพนัน และควรส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และสนับสนุนให้มีระบบการดูแลกันและกัน ทุกวันนี้มีโอกาสผมจะพยายามแนะนำน้องๆ ที่ทำงานเสมอ ดูบอลเป็นกีฬา คุยกันวิเคราะห์ผลกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเล่นพนัน” นายเอกซ์ กล่าว

ด้าน นางสาวหนึ่ง (นามสมมติ) อายุ 32ปี กล่าวถึงกรณีที่คนในครอบครัวเล่นพนันบอลจนเกิดผลกระทบว่า พ่อมีอาชีพเปิดร้านขายของเล็ก ๆในชุมชน กิจการพออยู่ได้มาตลอด สักพักเริ่มมาเอ่ยปากยืมเงินจากแม่ จนสุดท้ายขอยืมจากตน เมื่อผิดสังเกตจับได้ว่าพ่อเอาเงินไปเล่นพนันบอล ทั้งรับแทงพนันจากพนักงานบริษัทแถวนั้นแล้วส่งต่อโต๊ะใหญ่ และเล่นพนันเองด้วยจากแทงบอลชุดขยับมาแทงบอลเดี่ยวพอไม่พอใช้ก็มาขอยืมเงินจากตน รวมทั้งให้ไปช่วยค้ำประกันเงินกู้จากคนรู้จักแถวบ้าน ทำให้ตนกับสามีทะเลาะกัน เมื่อไม่พอใช้หนีพนันห้าแสน ก็ต้องขายทุกอย่างในบ้าน สุดท้ายพ่อเลิกเล่นพนันบอลและทำงานหนักทั้งที่อายุ54แล้ว เงินเดือนที่ได้นำมาใช้หนี้ทั้งหมด

“ด้วยความที่เป็นพ่อ ทำให้ลูกไม่อยากเข้าไปยุ่งในตอนแรกที่รู้ว่าเริ่มเล่นพนันบอล แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ลูกๆ เข้าไปดูแลจัดการเรื่องเงินแทนทั้งหมด พ่อเป็นคนขี้เหนียว ไม่คิดว่าเขาจะพลาดขนาดนี้ ทุกวันนี้มาทำงานที่เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ทำให้พ่อหยุดยั้งตัวเองได้ คนแถวนั้นที่เคยเป็นลูกค้าแทงบอลกับพ่อ ได้เห็นป้าย เห็นสื่อรณรงค์หยุดพนันก็หยุดยั้งมีสติกันมากขึ้น แม้ยังมีเล่นพนันกันอยู่บ้างแต่ก็เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น” น.ส.หนึ่ง กล่าว

ที่มา: MRG Online, 6/7/2561

บังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว 3 วันแรก จับต่างด้าวได้กว่า 100 ราย

วันที่ 4 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลการบูรณาการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ร่วมกันออกตรวจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) พบว่า ล่าสุด ตั้งแต่ 1-3 ก.ค. 2561 เพียง 3 วัน สามารถตรวจสอบนายจ้าง สถานประกอบการได้ 298 ราย พบกระทำความผิด 26 ราย แบ่งเป็น ดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 22 ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 4 ราย

ขณะเดียวกัน ได้ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2,879 คน พบกระทำความผิด จำนวน 118 คน เป็นเมียนมา 94 คน ลาว 7 คน กัมพูชา 8 คน เวียดนาม 7 คน และอื่นๆ อีก 2 คน แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 58 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 60 คน โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

"หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย หรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0-2354-1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป" นายอนุรักษ์ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/7/2561

กสร. จับมือประธาน JCC หารือกฎหมายแรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 ได้ให้การต้อนรับ Mr. Yosuhiro Morita ประธานคณะกรรมการด้านแรงงานหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะประเด็น การจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 400 วัน ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งทาง JCC มีความห่วงใยว่าสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมากอาจเตรียมตัวเรื่องงบประมาณไม่ทัน ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นและเป็นธรรมต่อลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งก่อนจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กสร. ได้จัดสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรม ผลจากการรับฟังนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยในประเด็นการเพิ่มอัตราค่าชดเชย ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ผ่านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วและกสร. ได้ยืนยันร่างกฎหมายเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

​อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะต้องมีการพัฒนาในการให้สัตยาบันดังกล่าว โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร สหภาพแรงงาน และสมาคมนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ สำหรับกระบวนการในการเจรจาต่อรองเรื่องที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย เช่น การขยายเวลาในการเจรจา เป็นต้น รวมไปถึงการลดอำนาจของภาครัฐในการแทรกแซงด้วย ซึ่งคาดว่าจะให้สัตยาบันได้ภายในปี 2562

“ผู้ประกอบการถือเป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะต้องรับไปปฏิบัติ กสร.มีความยินดีที่จะชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายและหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้สถานประกอบกิจการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว” อธิบดีกสร.กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/7/2561

ตม.แม่สอดจี้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวผิด กม.เจอโทษปรับหนัก

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 แม่สอด กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 แม่สอด สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก และอาสาสมัคร( อส.) อ.แม่สอด ออกตรวจกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในลักษณะผิดกฎหมายอย่างจริงจัง หลังหมดช่วงเวลาการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผู้บังคับการกองบังคับการด่าน ตม.5 และ พ.ต.อ.ชูศักดิ์ พนัสอัมพร รองผู้บังคับการ ตม.5 ที่ได้มีคำสั่งให้ ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) ได้เพิ่มความเข้มข้นในการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย หลังจากที่หมดระยะเวลาการผ่อนผัน

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 การกวาดล้างจับกุมแรงงานที่ผิดกฎหมายบริเวณตลาดสดพาเจริญ เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนางโมโมอ่อง(Mr. Moe Moe Aung) อายุ 32 ปี สัญชาติพม่า พร้อมพวกรวม 6 คน ในข้อหา เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ โดยแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมนั้นถูกจับกุมระหว่างขายของอยู่ในตลาดพาเจริญ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท พร้อมส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

สำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากพบมีการกระทำผิดซ้ำก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต่อไปนี้หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น

ที่มา: MRG Online, 3/7/2561

ปลัดแรงงานชี้ยังไม่ถึงเวลาปรับโครงสร้าง ‘ประกันสังคม’

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และภาคีเรียกร้องให้มีการปฎิรูประบบประกันสังคม โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นอิสระ ไม่ยึดโยงกับระบบราชการ และบริหารงานอย่างมืออาชีพ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีการเรียกร้องกันมาระยะหนึ่ง

"เรารับรู้ และรับฟังเรื่องนี้มาพอสมควร แต่การจะทำหรือไม่ทำเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากทำจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรายละเอียด หาข้อดีข้อเสียระหว่างการคงสภาพเดิม หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลา ไม่ใช้เรียกร้องแล้วสามารถทำได้ทันที เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำในระดับนโยบาย" นายจรินทร์ กล่าวและว่า นับตั้งแต่มีระบบประกันสังคมในประเทศไทย แม้จะมีปัญหาบ้างในบางเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะได้รีบการแก้ไขจนระบบสามารถเดินไปได้อย่างไม่ติดขัด จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีเรื่องใดที่วิกฤตจนถึงขั้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร

อย่างไรก็ตาม นายจรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แม้จะทำในระดับโครงสร้างไม่ได้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาการให้บริการผู้ประกันตนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสามารถดูแลผู้ประกันตนได้เป็นที่น่าพอใจดีขึ้นตามลำดับจนได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติเรื่อยมา และยังไม่เคยเห็นนานาประเทศมองว่าประกันสังคมของไทยบกพร่องแต่อย่างใด

ทางด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอฟังระดับนโยบายสั่งการลงมา หากมีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างองค์กร ก็ต้องศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เคยศึกษาหรือไม่ว่าองค์กรในลักษณะเดียวกับ สปส.ในต่างประเทศมีโครงสร้างการบริหารอย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า แต่ละประเทศมีโครงสร้างและการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เอง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/7/2561

ปิดศูนย์ทะเบียนแรงงานต่างด้าว ป้อนเข้าระบบกว่า 1.2 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว ว่า มีแรงงานต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 ม.ค.61 จำนวน 1,320,035 คน ดำเนินการภายใน 31 มี.ค. จำนวน 840,736 คน และต่อมามติ ครม. ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. ซึ่งในระยะที่ 2 มี 348,022 คน ผลการดำเนินงานจนถึงวันสุดท้ายในวันที่ 30 มิ.ย. เป็นที่น่าพอใจ มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 347,067 คน คิดเป็น 99.73% เป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน โดยสรุปมียอดแรงงานต่างด้าวที่เดิมทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมาย 1,187,803 คน เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน ส่วนยอดที่หายไปกว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่ออกนอกประเทศไปแล้ว และกลับเข้ามาใหม่ตามเอ็มโอยู บางส่วนอาจยังเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่มีจำนวนน้อยลงมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแผนการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง หากพบกระทำผิด ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกดำเนินคดี คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับ จะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามเข้ามาทำงานภายใน 2 ปี นับส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ส่วนแผนการตรวจสอบปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย จะเริ่มช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค. จะบูรณาการการร่วมกับตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ออกตรวจจับอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศจะมีชุดปฏิบัติการ 113 ชุด เน้นจับในกลุ่มคนผิดกฎหมายก่อน และจะตรวจเข้มใน 3 เดือนแรก ได้มีการประสานทูตทั้ง 3 ชาติ เปิดศูนย์รับส่งคนผิดกลับประเทศ ตามแนวชายแดนจังหวัด ระนอง ตาก เชียงราย ซึ่งการจัดระบบจะทำให้มีฐานข้อมูลต่างด้าวที่ชัดเจน โดยในประเทศมีแรงงานต่างชาติทุกกลุ่ม ทำงานตามกฎหมาย 3.2 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนมาก ซึ่งต่อไปการใช้แรงงานต่างชาติจะต้องตามความจำเท่านั้น

ที่มา: ไทยรัฐ, 2/7/2561

สศอ.แนะเอกชนปรับการผลิต ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น รับแรงงานนอกตีตั๋วกลับบ้าน

นายณัฐพล รังสิตพล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการผลิต โดยจะต้องเริ่มวิเคราะห์กระบวนการผลิตว่าควรจะเริ่มในจุดใดก่อน จากนั้นก็ค่อยๆขยายไปสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ทำให้ในแต่ละขั้นตอนการปรับปรุงใช้เม็ดเงินไม่มาก และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่คุ้มในการนำหุ่นยนต์มาใช้ และต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำ

“แม้ว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมาก เห็นได้จากในช่วงปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดตรวจจับแรงงานต่างด้าว และเร่งดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากรีบกลับประเทศ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการเกิดการช็อกทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตแรงงานต่างด้ายก็จะค่อยๆกลับไปทำงานของประเทศตัวเองมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้น”นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่าในปี 2561 ไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 6,314 – 8,195 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 6,630 – 8,605 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ รองลงมาประเทศเวียดนาม มีค่าจ้างขั้นต่ำ 3,850 – 5,552 บาทต่อเดือน แตกต่างกันตามพื้นที่ มีเงินประกันสังคม 17.5% เงินประกันสุขภาพ 3% เงินประกันการว่างงาน 1% รวมแล้วอยู่ที่ 4,679 – 6,747บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่างจากไทยไม่มาก จึงคาดว่าแรงงานจากเวียดนาม จะเป็นกลุ่มแรกที่ย้ายกลับประเทศ

ส่วนประเทศรองลงมาเป็นประเทศกัมพูชา มีค่าจ้างขั้นต่ำ 5,421 บาทต่อเดือน มีเงินประกันสังคม 0.8% รวมแล้วอยู่ที่ 5,465 บาทต่อเดือน สปป.ลาว ค่าแรงขั้นต่ำ 4,168 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมแล้วอยู่ที่ 4,377 บาทต่อเดือน และประเทศเมียนมา มีค่าแรงขั้นต่ำ 2,910 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 2.5% รวมแล้วอยู่ที่ 2,982 บาทต่อเดือน

ที่มา: ไทยโพสต์, 2/7/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net