Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพประกอบจากหนังสั้นเรื่องห้องสอบสวนหมายเลขศูนย์ (อ้างใน BKK Clear)

12 ก.ค. 2561 จาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 ก.ค. 2561 นี้ ได้มีการระบุเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงมาใช้ในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้

“มาตรา 13/1 ในการจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือค้นจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจดำเนินการได้ก็ให้เจ้าพนักงานนั้นบันทึกเหตุดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในบันทึกการจับหรือบันทึกการค้น แล้วแต่กรณี”

และ

มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 136 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

“มาตรา 136 การถามคำให้การหรือสอบปากคำผู้ต้องหาในคดีที่มีข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจดำเนินการได้ ก็ให้พนักงานสอบสวนนั้นบันทึกเหตุดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน”

 

ต่อกรณี เพจพนักงานสอบสวนหญิง ได้ระบุในวันที่ 10 ก.ค. 2561 ว่าหากบังคับใช้ตามกฎหมายใหม่ ก็ควรจะให้งบประมาณค่าทำห้องและค่าอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงให้มีพร้อมทุกทีในทุกสถานีตำรวจ 1,482 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งห้องบันทึกภาพและเสียง อย่างน้อยค่าใช้จ่ายต่อห้องประมาณ 100,000 บาท เมื่อคำนวณคร่าวๆ ในการของบประมาณกระทรวงยุติธรรม (กองทุนยุติธรรม) มาอุดหนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 100,000 x 1,482 = 148,200,000 เท่านั้นเอง แต่ก็อย่าลืมอุดหนุนแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงที่ต้องส่งให้ศาลเป็นพยานหลักฐานซึ่งเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้หมดไปด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net