Skip to main content
sharethis

"คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช." โดย iLaw X Prachatai สัปดาห์นี้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ประกาศ คสช. ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ประกาศ คสช. 3 ฉบับ ส่งผลให้ประชาชนนับพันต้องไปต่อสู้คดีในศาลทหาร บางคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์ - ฎีกา บางคดีต้องไปต่อสู้กันในพื้นที่ค่ายทหาร พบกับ "ทนายน้อยๆ" อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมที่ต้องขึ้นศาลทหารทั้งในฐานะทนายความและในฐานะจำเลย

000

คุยกับ "ทนายน้อยๆ"
ผู้เผชิญหน้ากับกระบวนการที่ "ศาลทหาร" ตัดสินคดีพลเรือน

เผยแพร่ครั้งแรกใน iLaw, 12 ก.ค. 2561

ภายใต้การปกครองเพื่อควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดย คสช. มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ประกาศให้พลเรือนที่กระทำความผิดในบางประเภท ได้แก่ คดีอาญาในหมวดพระมหากษัตริย์ คดีอาญาหมวดความมั่นคง และคดีฝ่าฝืนประกาศและของคำสั่งของ คสช. เช่น การชุมนุมทางการเมือง ต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งการพิจารณาคดีโดยศาลทหารตัดสินโดยตุลาการที่เป็นทหาร และคดีระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อตัดสินแล้วสิ้นสุดเลยไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา

ข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับจากกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 - 30 พฤศจิกายน 2559 มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร 2,177 คน แบ่งเป็น ศาลทหารกรุงเทพ 327 คน และศาลทหารในต่างจังหวัด 1,850 คน แต่ต่อมากรมพระธรรมนูญเปิดเผยข้อมูลให้กับไอลอว์ว่า ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ถึง 30 เมษายน 2561 มีพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร 1,150 คน ตัวเลขที่ลดลงน่าจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานในทางธุรการของศาลทหารได้เป็นอย่างดี

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ประกาศยุติให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และกลับไปขึ้นยุติธรรมตามปกติ สำหรับคดีที่เกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งฉบับนี้ออกมาเท่านั้น

ทนายอานนท์ นำภา หรือ "ทนายน้อยๆ" นักกิจกรรมทางสังคม และทนายอาสาที่รับทำคดีให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมรายการ "คืนวันพุธ ปลดอาวุธคสช." เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2561 ในฐานะทนายที่มีประสบการณ์ว่าความในศาลทหารและจำเลยผู้ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารเช่นกัน

 

คดีแรกที่ว่าความหลังจากการรัฐประหาร คือ คดีอะไร และบรรยากาศในศลาทหารนั้นแตกต่างจากศาลยุติธรรมอย่างไร?

คดีหลังจากการรัฐประหารแรกๆ ก็จะเป็นคดีของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด และคดีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีครอบครองอาวุธและคดีไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. กับคดีตามมาตรา 112 บ้างประปราย สิ่งแรกที่ศาลทหารแตกต่างจากศาลยุติธรรมทั่วไป คือ แบบฟอร์มต่างๆ เขาจะมีแบบฟอร์มเฉพาะของเขา รวมทั้งระเบียบทางธุรการ ที่น่าสนใจ คือ การไปศาลทหารต้องเดินเข้าไปในค่ายทหาร เช่น ศาลทหารกรุงเทพก็อยู่ในพื้นที่ของกระทรวงกลาโหม จึงนับว่าเป็นค่ายทหารกลายๆ

ตอนนี้ว่าความในศาลทหารสิบกว่าคดีแล้ว คดีส่วนใหญ่อยู่ในศาลทหาร ส่วนที่ต้องไปศาลพลเรือนก็จะเป็นคดี 112 และคดีติดอาวุธ และคดีเกี่ยวกับเสรีภาพแสดงความคิดเห็นระหว่างการทำประชามติ เช่น คดีแจกเอกสารโหวตโนของ "ไผ่ ดาวดิน" ที่ขึ้นศาลยุติธรรม เป็นต้น

 

การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศาลทหารเหมือนหรือต่างการศาลยุติธรรมอย่างไร?

ส่วนตัวคิดว่า ศาลทหารจะมีระบบที่เฉพาะกว่าศาลยุติธรรม แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่น่ารักครับ ในช่วงแรกๆ การเข้าถึงสำนวนคดีของศาลเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก อย่างศาลยุติธรรมเราสามารถเข้าไปดูหรือคัดถ่ายสำเนาเอกสารได้เสมอ แต่ศาลทหารเขาจะไม่ค่อยอยากให้คัดถ่าย ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร ศาลทหารในต่างจังหวัดบางแห่งรายงานกระบวนพิจารณาไม่ค่อยอยากให้คัดถ่าย ทั้งๆ ที่รายงานกระบวนพิจารณานั้นไม่ได้ระบุถึงใจความสำคัญของคดีความแต่อย่างใดไ ม่มีข้อมูลที่อ่อนไหว แต่ศาลทหารก็ไม่ค่อยอยากให้ บางศาลก็ให้ เช่น ศาลทหารกรุงเทพ ศาลทหารเชียงใหม่ แต่บางศาลก็ไม่ค่อยอยากให้ เช่น คดีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของ "ไผ่ ดาวดิน" ซึ่งขึ้นศาลทหารในจังหวัดขอนแก่น

การนัดความต่างๆ ของศาลทหารนั้นจะคล้ายคลึงกับศาลยุติธรรมหาก แต่มีข้อแตกต่างบางอย่าง เช่น การกำหนดวันนัดพิจารณาของศาลทหาร ศาลปกติจะพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งศาลพลเรือนจะพิจารณาคดีจบภายในสามถึงสี่เดือน แต่ศาลทหารนั้นกำหนดนัดพิจารณาคดีเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้งซึ่งบางคดีก็มีพยานหลายปาก สาเหตุที่การพิจารณาคดีของศาลทหารนั้นล่าช้าส่วนตัวคิดว่าบุคลากรไม่เพียงพอ คือ แค่คดีของนายทหารตามปกติก็เยอะแล้ว ยังต้องมาพิจารณาคดีของพลเรือนอีก อีกทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิต่างๆ ทนายจำเป็นต้องซักความอย่างละเอียดยิ่งทำให้คดีล่าช้าเข้าไปใหญ่ 

ก่อนหน้านี้มีคดีตามมาตรา 112 ที่จำเลยจำต้องยอมรับสภาพ เพราะคดีเลื่อนออกไปนานเกินไป เลยยอมรับสภาพดีกว่า "จะได้จบ" หากเป็นศาลยุติธรรมแล้วพยานไม่มาศาลจะเข้มงวดกว่ามาก โดยบางทีศาลจะตัดพยานออกจากบัญชีพยานหลักฐานเลย

 

ศาลทหารในต่างจังหวัดเป็นอย่างไร บรรยากาศแตกต่างจากศาลทหารกรุงเทพอย่างไร?

บรรยากาศจะคล้ายๆ กันหมดทุกแห่ง อย่างแรก รูปทรงตึกและรูปแบบภายในตึกจะคล้ายกัน อย่างที่สอง คือ ศาลจะอยู่ในการดูแลของทหาร ญาติหรือผู้สังเกตุการณ์สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาได้เหมือนศาลพลเรือนอื่นๆ แต่บางคดีถ้าศาลกังวลว่า อาจมารบกวนการพิจารณาคดีก็จะมีการตรวจบัตร ยกเว้นศาลสั่งพิจารณาคดีลับบุคคลอื่นไม่สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้หากแต่เข้ามาในบริเวณศาลได้

 

การต่อสู้คดีในศาลทหาร โดยยกประเด็นหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ศาลทหารรับฟังพยานหลักฐานอย่างไรบ้าง?

แรกๆ จะมีปัญหา เพราะบางทีอัยการทหารก็ไม่เข้าใจ แล้วต่อสู้ว่านี่ไม่ใช่ประจักษ์พยาน เมื่อจำเลยไม่ได้ไปทำความผิดแล้วจะไปสืบเรื่องนี้ทำไม แต่ผมคิดว่า ตุลาการคงจะมีการประชุมกันว่าเราสู้คดีทางหลักการ เช่น คดีห้ามชุมนุมคัดค้านรัฐประหาร โดยปกติเราจะนำสืบจำเลย นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ เพื่อมายืนยันว่า การออกมาคัดค้านรัฐประหารนั้นเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนสามารถทำได้ ซึ่งแตกต่างจากคดีปล้น ฆ่าที่ต้องมีภาพหรือวิดีโอจากกล้องวงจรปิดว่าจำเลยกระทำการนั้นจริงๆ เพราะถ้าเป็นคดีชุมนุมภาพถ่ายต่างๆ ทำได้แค่ยืนยันว่าเข้าร่วมจริง แต่ข้อถกเถียง คือ "ทำได้หรือไม่" ซึ่งคดีในลักษณะนี้จำเลยจะไม่ได้ต่อสู้ว่าเขาไม่ได้ทำ แต่จะต่อสู้ว่า เขาทำได้ ไม่ควรมีความผิดจากการกระทำนั้นๆ

คดีที่ต่อสู้ด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนล้วนๆ ศาลทหารแทบจะยังไม่มีคำพิพากษาออกมาเลย ล้วนอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีทั้งสิ้น เพราะกระบวนการดำเนินไปอย่างล่าช้าและการสืบพยานที่ค่อยข้างยืดยาว ในที่นี้ไม่นับคดีที่จำเลยยอมรับสารภาพ 

ล่าสุดมีคำพิพากษาคดีไม่มารายงานตัวของคุณสิรภพ โดยพิพากษาให้มีความผิดและให้รอการลงโทษจำเลย ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ คือ จำเลยไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร ศาลก็วินิจฉัยแบบทื่อๆ เลยว่า เพราะรัฐประหารแล้วก็เลยมีอำนาจในการออกคำสั่ง และคำสั่งก็ถือเป็นกฎหมาย ไม่มารายงานตัวก็ผิด เป็นนัยว่าคำสั่ง คสช. เป็นกฎหมาย

ผมคิดว่าตุลาการศาลทหารก็มีการคัดกรองมาพอสมควร คือ เลือกคนที่ค่อนข้างเข้าใจในเรื่องพวกนี้ แต่จะตัดสินอย่างไรอีกเรื่องนึงนะ บางทีเขาเข้าใจว่า มีป้ายก็ต้องชูป้าย ความเข้าใจของเขาไม่ใช่คิดแบบทหารอย่างเดียว แต่คนที่ประหลาด คือ อัยการทหารด้วยซ้ำ คัดค้านเรื่องจุกจิก ไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ผมคิดว่าศาลเขาเลือกมาดีอยู่ ส่วนผลของคำพิพากษาต้องคอยดูว่าแต่ละคดีจะเป็นอย่างไร

 

ทนายอานนท์ต้องขึ้นศาลทหารในฐานะจำเลยด้วย ทำอะไรและโดนคดีอะไร?

โอย ขึ้นศาลทหารก็คดีการเมืองสิครับ ผมไปชุมนุมหัวข้อรำลึกถึงการเลือกตั้ง จัดขึ้นที่หน้าหอศิลป์ฯ ผมก็แค่ร้องเพลงจูบเย้ยจันทร์เองโดนเลยคดีแรก (หัวเราะ)

 

ในฐานะจำเลย ทนายอานนท์เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารหรือไม่?

พูดตรงๆ เลยนะ ตอนแรกไม่มีความเชื่อถือเลยนะ ไม่มีเลย เพราะเราเห็นว่า พฤติการณ์ของ คสช. นั้นจงใจใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือ ศาลทหารเขาอยู่ของเขาปกติ แต่ คสช. เข้ามาทำให้เกิดความไม่ปกติ คดีการชุมนุมของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ศาลเปิดรับฝากขังตอนห้าทุ่ม เป็นการว่าความครั้งแรกที่ผมสามารถใส่เสื้อโปโลกางเกงขาสั้นเข้าห้องพิจารณาได้ หรือคดีของ "ไผ่ดาวดิน" ที่ศาลทหารขอนแก่นก็เปิดตอนทุ่มนึง มันเป็นความไม่ปกติจริงๆ ของศาลทหารในยุคแรกๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมันทำให้เราไม่มั่นใจในกระการยุติธรรมของศาลทหาร

ตอนนี้ผมเชื่อมั่นขึ้นนิดนึงอาจจะเพราะยังไม่มีคำพิพากษาออกมาด้วย รวมทั้งมีองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือชาวบ้านเข้าสังเกตการณ์คดีในห้องพิจารณา เป็นการตรวจสอบกระบวนการ ผมว่าศาลทหารมีการปรับตัว คือ มีการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ มากขึ้น แต่ก่อนศาลไม่ให้ผู้รับฟังการพิจารณาจดบันทึกนะครับ โดยให้เหตุผลที่แปลกมากเลย "ห้ามคนไปฟังจด เพราะถ้าจดแล้วมันจะผิด ให้จำเอา" งงละสิ (หัวเราะ) ตอนนี้จดได้แล้วๆ

 

เมื่อไปขึ้นศาลทหาร เคยขอประกันตัวได้ แล้วทำไมต้องไปปล่อยตัวในเรือนจำ?

งงไหมครับ ผมก็งง ทำไมไม่ปล่อยที่ศาลเลย 

มันมีเหตุผลนะ เพราะคนที่ออกประกาศตอนแรกให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเขาไม่ได้บอกว่าขังที่ไหน ครั้นจะเอาไปขังเรือนจำทหารนี่ก็คุกขี้ไก่อะ สังกะสีล้อมๆๆ ผมเคยเห็นครับเพื่อนผมติดคุกทหารมาแล้ว เขาคงคิดว่า แม้จะเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่จะให้ขังที่เรือนจำทหารก็ไม่ได้ เดี๋ยวต่างชาติด่ายับ ก็เลยไปขังที่คุกพลเรือนตามปกติ ทีนี้ถ้าสั่งปล่อยที่ศาลทหาร มันก็จะไม่เชื่อมกับเรือนจำพลเรือนเพราะอยู่คนละที่กัน ก็เลยตัดสินใจไปปล่อยตัวที่เรือนจำ ไม่รู้ว่าจะทำให้ซับซ้อนทำไม ไม่เข้าใจก็ปล่อยที่ศาลก็จบ

เมื่อต้องปล่อยตัวที่เรือนจำ ก็มีการตรวจร่างกายเหมือนผู้ถูกตัดสินว่า กระทำความผิดแล้ว ทั้งๆที่ประกันตัวสำเร็จ ถามว่า ละเมิดสิทธิหรือไม่ ก็เป็นการละเมิดครับ ต้องแก้ผ้าให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ซึ่งผมงงมากว่ามีเครื่องสแกนแล้วทำไมไม่ใช้ มันมีกระบวนการที่ลดทวนความเป็นมนุษย์ของเราอยู่

 

การดูแลจำเลยของศาลทหารแตกต่างจากศาลยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร?

คล้ายๆกัน อย่างจำเลยที่ได้รับการประกันตัวก็มารับฟังการพิจารณาปกติ ส่วนจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันก็จะอยู่ห้องขังใต้ถุนศาล 

ความแตกต่างอย่างนึง คือ ที่ศาลพลเรือน เวลาศาลเข้าห้องพิจารณาเจ้าหน้าที่ศาลก็บอก "เคารพศาล" แต่ถ้าเป็นศาลทหาร เจ้าหน้าที่ศาลจะสั่ง "ทั้งหมด ตรง!" (หัวเราะ)

 

ช่วยยกตัวอย่างคดีที่จำเลยอยากสู้คดีแต่ว่ากลัวเพราะพิจารณาในศาลทหาร

หากจำเลยไม่อยากขึ้นศาลทหาร ก็ยื่นคำร้องไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจศาล แต่คณะกรรมการนี้ส่วนใหญ่ก็จะสั่งให้ขึ้นศาลทหาร มีบ้างที่หลุดรอดมาพิจารณาที่ศาลยุติธรรม แต่บางคดีที่เกิดก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ที่มีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เช่น คดีหนึ่งของคุณทอม ดันดี กลับต้องมาพิจารณาคดีที่ศาลทหาร มั่วเนาะ ที่อ้างว่า คลิปปราศรัยยังอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต จึงมีความผิดต่อเนื่อง มันขัดต่อหลักกฎหมาย

ที่ผมกังวล คือ จำเลยถูกฟ้องคดีต่อศาลทหาร แล้วศาลทหารนั้นขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมก็ขึ้นอยู่กับ คสช. อีกทีนึง

000

รับชมรายการ คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. ได้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ @prachatai และ @ilaw ทุกคืนวันพุธ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และรับชมทาง YouTube ได้ในวันพฤหัสบดี

และร่วมเป็นหนึ่งใน 10,000 รายชื่อเพื่อปลดอาวุธ คสช. ได้ที่ www.ilaw.io

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net