Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

อนุสนธิกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จำนวน 15 คน ได้เป็นโจทก์ฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 คน เป็นจำเลย เพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,113 และ 114 ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสิบห้าอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกา ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 1688/2561 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2561 พิพากษายืนตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเหตุที่รัฐธรรมนูญฯ(ชั่วคราว)ปี 57 เป็นกฎหมาย คือ

“...เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากันในด้านอื่น...”

และให้เหตุผลว่าเหตุที่ยกฟ้อง เนื่องเพราะมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยชั่วคราวปี 57และมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 60ได้ให้การรับรองไว้ ดังนั้น การกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่าเมื่อมีคำพิพากษาฎีกาออกมาแล้วคดีนี้ย่อมเป็นที่สิ้นสุด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแนวคำพิพากษาฎีกาหรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ แต่ในทางวิชาการยังมีการถกเถียงกันไม่จบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะนำไปสู่พัฒนาการหรือความเจริญงอกงามทางปัญญายิ่งๆขึ้นไป

ประเด็นสำคัญที่ถกเถียงที่ว่านั้นก็คือ ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั่นเอง เพราะนับแต่ครั้งล่าสุดที่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว หลังจากนั้นเวลาที่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ตามเมื่อมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารก็มักจะเลี่ยงการใช้เหตุผลนี้ แต่ใช้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฯได้รับรองไว้ หรืออ้างความเป็นผู้เสียหายว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไปเลย โดยไม่ได้อ้างความเป็นรัฎฐาธิปัตย์มาอธิบายแต่อย่างใด แต่เมื่อไม่นานมานี้ศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลว่า “เป็นความชอบธรรมของระบอบรัฐประหาร”ซึ่งก็สร้างความฮือฮาพอสมควร แต่ล่าสุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารกลับมีการหยิบยกความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มาอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้ง นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) นั้นหมายถึงผู้มีอำนาจอธิปไตยหรือผู้เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน ไม่ต้องเชื่อฟังผู้ใดอีก ส่วนจะเป็นใครก็สุดแท้แต่ว่าใครเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือของบ้านเมืองใด แผ่นดินหรือบ้านเมืองนั้นมีระบอบการปกครองอย่างไร ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์ คือ พระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นในระบอบประชาธิปไตยรัฏฐาธิปัตย์ก็คือประชาชน(ประชา+อธิปไตย) ส่วนในระบอบที่มาจากการรัฐประหารนั้นก็แล้วแต่ว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีใครหรือกฎหมายใด เช่น รัฐธรรมนูญ ฯลฯ อยู่เหนือกว่าอีกหรือไม่  

สำหรับไทยเราในปัจจุบันนั้นผมมีข้อสังเกตว่าในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ได้บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล และ ในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 ก็บัญญัติให้อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เช่นกัน

ฉะนั้น ในเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ปวงชนจึงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั่นเอง


จะเอาผิดผู้ที่ทำรัฐประหารสำเร็จแล้วได้หรือไม่

ผมขอยกตัวอย่างในต่างประเทศมาสัก 2 กรณี คือ

กรณีแรก คือกรณีของกวางจูที่เกาหลีใต้ที่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2523 จนมีคนตายและสูญหายกว่า 2,000 คน ซึ่งต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคนคือ Chun Doo Wan และ Roh Tae Woo พร้อมกับพรรคพวก แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในการรัฐประหารที่สำเร็จไม่ควรถูกนำกลับมาพิจารณาเพื่อลงโทษ ต่อมาจึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อพิจารณาเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูเป็นกฎหมายพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองและพรรคพวกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองต่อสู้ว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสามารถกระทำได้ โดยให้เหตุผลว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการรัฐประหารเป็นอันตรายร้ายแรงและจะต้องทำให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัยนี้

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวอดีตประธานาธิบดีทั้งสองจึงถูกดำเนินคดี จนศาลสูงสุดได้พิพากษาให้ Chun Doo Wan ถูกจำคุกตลอดชีวิตและ Roh Tae Woo ถูกจำคุก 17 ปี และที่เหลืออีกตามความหนักเบาของโทษ แต่ต่อมาเมื่อติดคุกได้ประมาณ 2 ปีก็มีการอภัยโทษให้ทั้งหมด หลังจากนั้นเกาหลีใต้ก็ไม่มีการรัฐประหารอีกเลย

กรณีที่สอง คือกรณีของตุรกีในการรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร 12 กันยายน 2523 ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” นำโดยนายพล Kenan Evren และตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดี โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯมาตรา 15 ว่า การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ไม่อาจทำได้

ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา 3 ปี มีประชาชนเสียชีวิต 5,000 คน ถูกจำคุก 6,000 คน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ได้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกมาตรา 15 ที่ว่านี้ ซึ่งสมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง

ต่อมา พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายพล Kenan Evren อายุ 97 ปี และนายพล Tahsin Şahinkaya อายุ 89 ปี และ 18 มิถุนายน 2557 ศาลพิพากษาให้นายพลทั้งสองจำคุกตลอดชีวิต และถูกถอดยศทางทหารทั้งหมดอีกด้วย

มองเขา มองเรา ประวัติศาสตร์การเมืองไม่ว่าที่ใดในโลกย่อมซ้ำรอยกันเสมอ อยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเองครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net