“ความเหลื่อมล้ำแนวราบ” ที่จังหวัดชายแดนใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ปัญหาฮิญาบเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่ความรู้สึกที่ชาวพุทธสะสมมานานแล้วคือ ความเหลื่อมล้ำที่รัฐปฏิบัติไม่เท่ากัน”

เสียงของศิษย์เก่าโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
18 พฤษภาคม 2561

คำโปรยข้างต้นเป็นตัวอย่างความรู้สึกของชาวพุทธในจังหวัดชายแดนใต้ จากเหตุการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อล่าสุดนับจากปี 2547 หากกล่าวแบบคนทั่ว ๆ ไป อาจถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของชาวพุทธในจังหวัดชายแดนใต้ จากเดิมที่เคยรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐไทยเหมือน “ชาติพันธุ์ไทย/พุทธ” ในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งความรู้สึกแบบเดียวกันนี้เองก็เคยเกิดกับคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ในช่วงก่อนหน้าปี 2547 และยังคงรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำที่รัฐไทยปฏิบัติต่อพวกเขามาตลอดจวบจนปัจจุบันได้ แม้ว่าในช่วงหลัง ๆ พวกเขาจะได้รับโอกาสทางการศึกษาและอาชีพมากขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ทางความรู้สึกที่ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนใต้มีต่อ “ความเหลื่อมล้ำ” นั้น มิได้เกิดขึ้นเพียงหลังปี 2547 เท่านั้น หากกลับไปดูประวัติศาสต์ซึ่งสุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้กล่าวไว้ในงานเขียน “เงื่อนไขทางการเมืองที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิพิเศษในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2513 ว่าควรจะมีโควต้าพิเศษสำหรับนักเรียนชาวมาเลย์มุสลิม ในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกตามปกติ โดยทุก ๆ ปีรัฐบาลจะมอบทุนจำนวน 16 ทุน ทุนละ 3,000 บาท จากจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 4 คน ตั้งแต่ปี 2515 นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า 500 คนได้เข้ารับการศึกษาโดยมาตรการนี้ และได้เข้ารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในท้องถิ่นชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่น ๆ แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นความปรารถนาดีของรัฐไทยที่เห็นว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ชนกลุ่มน้อยมาเลย์มุสลิมกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถอยู่ร่วมกันแบบผสมผสานกลมกลืนได้ แต่กลับมีผู้คัดค้านอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นสมาชิกสังคมส่วนใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ต้องการได้รับสิทธิพิเศษเช่นเดียวกัน

ในงานของสุรินทร์ยังชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งต่อโครงการสิทธิพิเศษสู่สถาบันระดับอุดมศึกษานี้ ไม่เพียงเกิดกับชาวพุทธและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เท่านั้น แต่ภายในสังคมมุสลิมเองก็มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างผู้มีทัศนะแบบอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายที่ค่อนไปทางก้าวหน้า โดยฝ่ายแรกคิดว่าทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประชาคมคือ “เยาวชนมาเลย์มุสลิม” ได้ถูกรัฐดึงเอาไปให้การศึกษาเสียเอง ส่วนฝ่ายหลังนั้นเห็นว่าควรจะตักตวงเอาผลประโยชน์จากโอกาสที่รัฐเปิดให้

จากเสียงต่อต้านข้างต้นที่ค่อนข้างรุนแรงทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น (2518-2519) ได้เสนอให้ยุติสิทธิพิเศษเหล่านี้เสีย ด้วยเหตุผลว่า “ข้าพเจ้าต้องการจะปรับปรุงการศึกษาเพื่อว่านักเรียนในภูมิภาคนี้สามารถผ่านการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามสิทธิพิเศษที่มอบให้แก่นักเรียนจากภูมิภาคนี้ก่อให้เกิดความแตกแยก สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพราะคนที่ไม่ใช่มุสลิมเขาไม่พอใจ อีกอย่างหนึ่งนักเรียนสิทธิพิเศษเหล่านี้ก็ไม่พอใจในการศึกษาของตนหลังจากจบการศึกษาแล้ว เพราะรู้สึกมีปมด้อย” แต่ยังมิทันจะได้ดำเนินการใด ๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็พ้นจากตำแหน่งไปก่อน จึงทำให้กระทรวงมหาดไทยยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไป นอกจากนี้ มาในภายหลังพลโทหาญ ลีลานนท์ ได้ดำเนินนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลให้โครงการสิทธิพิเศษได้ขยายจำนวนสูงขึ้น และรวมเอาสถาบันทหาร ตำรวจ และอื่น ๆ เข้าอยู่ในโครงการด้วย

ดังที่กล่าวไปแล้ว แม้ว่ารัฐไทยจะเห็นว่านโยบายการให้สิทธิพิเศษกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างกรณีชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผสมผสานนั้นได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ อย่างที่ Centre for Research on Inequality, Human Security and Ethnicity (CRISE) ได้ทำการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ที่มีประชากรหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน ข้อสรุปสำคัญของโครงการวิจัยของ CRISE คือ การมีความเหลื่อมล้ำแนวราบ (horizontal inequalities) ในวงกว้าง หรือความไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าความเหลื่อมล้ำแนวราบมักมีจุดเริ่มต้นในยุคอาณานิคม แต่ความเสียเปรียบที่กลุ่มต่าง ๆ เผชิญทำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่แม้ปัจจุบัน

“ความเหลื่อมล้ำแนวราบ” ในความหมายของ CRISE นั้นอาจเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือเกี่ยวกับสถานะทางวัฒนธรรมของกลุ่ม ความขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำแนวราบในลักษณะที่ทำให้คนบางกลุ่มมีความเสียเปรียบ ผู้นำของกลุ่มที่ถูกกีดกันทางการเมือง และบรรดาผู้ที่อาจเป็นผู้ตาม ซึ่งมองว่าตนเสียเปรียบทั้งด้านทรัพย์สิน อาชีพ และการได้รับบริการทางสังคม อาจถูกปลุกเร้าให้มารวมตัว กระทั่งก่อเหตุรุนแรงได้ ดังจะเห็นได้จากเสียงของชาวพุทธในจังหวัดชายแดนใต้ข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เป็นข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ต่อสถานการณ์ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนที่พูดถึงความห่วงกังวลของชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี 6 ข้อ หนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ ชาวพุทธรู้สึกกังวลใจคือนโยบายการปฏิบัติต่อศาสนิกที่ขาดดุลยภาพ ชาวพุทธบางกลุ่มมองว่าการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ตนได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกับชาวมลายูมุสลิมและตนสูญเสียโอกาสในหลาย ๆ ด้าน เช่น การที่หน่วยงานภาครัฐบางแห่งสนับสนุนทุนการศึกษา หรือโควต้าการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแก่เยาวชนมุสลิมเป็นพิเศษ ทำให้เยาวชนพุทธรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งการสอบเข้ารับราชการหรือสอบเลื่อนตำแหน่งในหน่วยราชการบางแห่ง มีการจัดสอบในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัครหรือบุคลากรที่เป็นชาวมลายูมุสลิมมากกว่าชาวพุทธ และการยกเลิกครัวพุทธในโรงพยาบาลบางแห่ง เหลือแต่ครัวมุสลิม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีเหมือนคนมลายูมุสลิม

จากปรากฏการณ์ที่หยิบยกมาข้างต้น ในวันนี้รัฐไทยอาจต้องกลับมาทบทวนนโยบายขาดดุลยภาพ ตามที่เป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ทำอย่างไรที่จะลดทอนความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ซึ่งชาวไทยพุทธอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อย และชาวมลายูมุสลิมอยู่ในฐานะชนกลุ่มใหญ่ ในขณะที่ชาวมลายูมุสลิมก็ยังรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ของทั้งประเทศอยู่ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำภายในศาสนิกเดียวกันเองในแต่ละภูมิภาคของประเทศ มิพักต้องพูดถึงกระแสการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ที่ยังผลทำให้ปัญหานี้มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีก

แต่อย่างไรก็ดี หลายๆ ประเทศที่มีคนหลายชาติพันธุ์ เช่น บราซิล อินเดีย มาเลเซีย และแอฟริกา ได้เริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายขจัดความเหลื่อมล้ำแนวราบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความไม่เท่าเทียมของสถานภาพทางวัฒนธรรม ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปสู่การมีสังคมที่เป็นธรรม และเป็นสังคมที่คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์สามารถมีชีวิตอยู่อย่างเสมอกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท