Skip to main content
sharethis

นักข่าวรอยเตอร์ 2 ราย ถูกศาลตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการหลังจากที่พวกเขาเปิดเผยข้อมูลเรื่องทหารพม่าสังหารประชาชนชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินน์ดิน ผ่านการเสนอข่าวเชิงลึกให้รอยเตอร์

ด้านองค์กรเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยกเลิกการตั้งข้อหากับนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตัวเองทั้งสองคนนี้ ขณะที่ทนายความของทั้งสองคนมองว่ายังมีความหวังที่จะแก้ต่างให้พวกเขาในเรื่องนี้

12 ก.ค. 2561 สื่ออิระวดีรายงานว่าศาลแขวงในเขตตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งตั้งข้อหาให้นักข่าวรอยเตอร์ 2 คน มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการจากการที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำเอกสารลับของรัฐบาลออกเผยแพร่ 

สองนักข่าว วะลง (Wa Lone) และ จ่อซออู (Kyaw Soe Oo) ถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 3 [1] ที่ระบุถึงกรณีความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว โดยในกฎหมายระบุว่าผู้ที่ละเมิดจะถูกจำคุกสูงสุด 14 ปี อย่างไรก็ตามนักข่าวทั้งสองคนแก้ต่างว่าพวกเขาไม่ได้มีความผิดเพราะไม่ได้มีเจตนาสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลเลย พวกเขาแค่ทำหน้าที่รายงานข่าวโดยไม่ได้เก็บข้อมูลหรือสำเนาเอกสารใดๆ มาจากรัฐบาล

ขิ่นหม่องซอ (Khin Maung Zaw) ทนายความของนักข่าวสองคนนี้เปิดเผยว่า รัฐบาลกล่าวหาจำเลยทั้งสองคนว่าทำการเก็บข้อมูลลับของรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 และอ้างว่าจำเลยทั้งสองคนจะนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่กับศัตรูหรือใช้มันสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐบาล หรือนำไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งทางทนายความบอกว่าเขาไม่พอใจต่อการตั้งข้อหาของศาลและมีแผนการจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยจะมีการนัดสืบพยานอีก 6 รายในชั้นศาลอีกภายในวันที่ 16 ก.ค. ที่จะถึงนี้

นักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 คนถูกขังก่อนการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2560 ทันทีหลังจากที่ถูกจับกุม พวกเขากำลังทำข่าวสืบสวนสอบสวนกรณีที่กองทัพรัฐบาลพม่าสังหารชาวโรฮิงญา 10 คนรวมถึงเด็กในหมู่บ้านอินน์ดินทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หลังจากนั้นสื่อรอยเตอร์ก็นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นรายงานเชิงลึก ในเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมารัฐบาลทหารก็ประกาศว่ามีการสั่งลงโทษทหาร 7 นาย ด้วยการจำคุก 10 ปีจากการที่พวกเขาสังหารคนนอกกระบวนการกฎหมาย

สตีเฟน เจ แอดเลอร์ ประธานรอยเตอร์และหัวหน้ากองบรรณาธิการกล่าวว่าทางรอยเตอร์รู้สึก "ผิดหวังอย่างมาก" ต่อคำวินิจฉัยของศาลและบอกว่าการดำเนินคดีกับนักข่าวของพวกเขา "ไม่มีมูลความจริง" แอดเลอร์บอกว่านักข่าวของเขาทำงานอย่างอิสระและไม่เลือกข้าง ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ เลยที่บ่งบอกว่าพวกเขาผิดกฎหมาย ทำให้การตั้งข้อหาของศาลในครั้งนี้ทำให้น่าสงสัยต่อพันธกรณีของรัฐบาลพม่าในเรื่องเสรีภาพสื่อและหลักนิติธรรม

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ก็เคยมีกรณีนักข่าว 5 รายจากวารสารยูนิตีเจอนัลถูกตั้งข้อหามาตรา 3 [1] [a] ว่าด้วยความลับทางราชการและต่อมาก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และลดโทษเหลือ 7 ปี หลังจากอุทธรณ์ผ่านศาลระดับภูมิภาค

ในวันเดียวกันกับที่มีการตั้งข้อหา องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Article 19, แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกเลิกการตั้งข้อหานักข่าว 2 รายล่าสุด โดยที่แมธธิว บูเออร์ ประธานโครงการภาคพื้นเอเชียของ Article 19 กล่าวว่าการวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องอยุติธรรม เพราะนักข่าวทั้ง 2 คน ต่างก็เสี่ยงชีวิตเพื่อเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกซ่อนไม่ให้สาธารณชนรับรู้ ควรจะชื่นชมการทำงานที่ส่งเสริมการตรวจสอบของพวกเขามากกว่าจะดำเนินคดีกับกระบวนการกฎหมายที่ "ไร้สาระอย่างที่สุด"

เรียบเรียงจาก

Two Reuters Reporters Charged With Violating Official Secrets Act, The Irrawaddy, 09-07-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net