พบ ‘รพ.เอกชน’ ทยอยออก ‘ประกันสังคม’ แม้ผู้ประกันตนมีแนวโน้มใช้บริการมากกว่า ‘รพ.รัฐ’

พบ 'รพ.เอกชน' ทยอยออกจากโครงการ 'ประกันสังคม' ลดลงเฉลี่ย 1.1-2.4% ต่อปี ในรอบปี 2551-2561 จาก 104 แห่ง เหลือเพียง 78 แห่ง แม้งานวิจัยระบุผู้ประกันตนมีแนวโน้มใช้บริการมากกว่า ‘รพ.รัฐ’ ด้าน ‘สมาคม รพ.เอกชน’ ชี้แบกต้นทุนไม่ไหวไม่ได้รับค่าเหมาจ่ายเพิ่ม ต้องทยอยออกโครงการ

15 ก.ค. 2561 จากข้อมูล จำนวนสถานพยาบาลโครงการประกันสังคม ปี 2551-2561 ของสำนักงานประกันสังคม (เข้าถึงข้อมูล ณ 13/7/2561) พบว่าในรอบ 11 ปี ที่ผ่านมา (2551-2561) มีจำนวนสถานพยาบาลหลักที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมลดลงจาก 257 แห่งในปี 2551 เหลือ 237 แห่งในปี 2561 แม้โรงพยาบาลรัฐจะเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 153 แห่งในปี 2551 เป็น 159 แห่ง ในปี 2561 แต่โรงพยาบาลเอกชนกลับลดลงอย่างมากจาก 104 แห่ง ในปี 2551 เหลือ 78 แห่ง ในปี 2561 ส่วนสถานพยาบาลเครือข่าย (ส่วนใหญ่เป็นคลินิก) มีเพิ่มมากขึ้นจาก 2,530 แห่ง ในปี 2551 เพิ่มเป็น 3,758 แห่ง ในปี 2561 สามารถเช็ครายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 2561 แยกตามจังหวัด ได้ที่นี่

ทำไม รพ.เอกชน ทยอยออกจากโครงการประกันสังคม?

ในอดีตพบว่าจากวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงทศวรรษ 2540 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีรายได้ลดลง ทำให้มีความพยายามปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการประกันสังคมก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โรงพยาบาลมีรายได้แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้พบว่าตั้งแต่ปี 2542 มีโรงพยาบาลเอกชนขอเข้าร่วมระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นก่อนเกิดช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในปี 2538 มีโรงพยาบาลเอกชนเพียง 63 แห่งเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม ถึงปี 2545 พบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการประกันสังคมถึง 132 แห่ง (อ่านเพิ่มเติม: เจาะอุตสาหกรรม ‘โรงพยาบาลเอกชน’ ถอดรหัสค่าบริการแสนแพงสู่ ‘ทุนผูกขาด’, TCIJ, 15/11/2558) แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับเปลี่ยนไป จำนวนของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมได้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ดังที่ได้กล่าวไปในขั้นต้น 

เมื่อปี 2560 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน, ชมรมโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคม และตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ที่กำกับดูแลสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อให้ปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น โดยในครั้งนั้นมีการระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคมลดลงเพราะต้นทุนสูงขึ้นจนอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อโรงพยาบาลเอกชนดูแลผู้ประกันตน ประกันสังคมก็ต้องดูแลโรงพยาบาลด้วย แต่ในระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2560 สปส. ไม่ได้เพิ่มอัตราเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพ ด้านแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มขึ้นมากเกือบเท่าตัว ผู้ประกันตนมีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ต้องรับเข้ามารักษามากขึ้น มีการเพิ่มโรคให้รักษาเพิ่มขึ้น มีโรคซับซ้อน โรคเรื้อรัง ล่าสุดเพิ่มรักษาโรคจิตเวชแต่ค่ารักษายังยืนในราคาเดิม  แต่ สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาโดยเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ประกันตนคนละ 1,460 บาทต่อปีเท่านั้น (ข้อมูล ณ ปี 2560) ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบางแห่งทนแบกภาระขาดทุนไม่ไหว เช่น โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ซึ่งรักษาผู้ประกันตนกว่า 1 แสนคน ต้องลาออกจากคู่สัญญา และมีบางแห่งที่จะทยอยลาออกที่ยังอยู่ก็ต้องรัดเข็มขัดจ้างหมอพยาบาลน้อยลง สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงขอให้ปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรมมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม: สมาคม รพ.เอกชน จี้ สปส.เพิ่มค่าหัวรักษาคนไข้ โอดยืนราคา 1,460 นาน 6 ปี, ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2560)

ไม่กระจายตัว กระจุกอยู่ในเขตเมือง

ทั้งนี้ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการวิเคราะห์สถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนได้ทุกสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ที่เผยแพร่ในปี 2559 ได้ทำการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2556-2558 (ใช้ข้อมูลอัพเดท ณ เดือน พ.ค. 2559) รวมทั้งมีการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตนจำนวน 809 คนใน 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา) พบผลการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่

เหตุผลในการเข้าร่วมบริการในระบบประกันสังคม: จำนวนงบประมาณที่ได้รับจากการจัดบริการดูแลผู้ประกันตน เป็นเหตุผลหลักอย่างเดียวของสถานพยาบาลในการเข้าร่วมในระบบประกันสังคม ในขณะที่การเข้าร่วมในระบบประกันสังคมก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์คือ ภาระงานที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรในองค์กร ผลกระทบต่อระบบบริการอื่นในโรงพยาบาล กำไรต่อหน่วยที่ได้จากการจัดบริการให้ประกันสังคมเมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ และภาพลักษณ์สถานพยาบาลจากการรับดูแลผู้ประกันตน จนเป็นเหตุให้หลายแห่งตัดสินใจออกจากระบบประกันสังคม

จำนวนสถานพยาบาลหลักและเครือข่าย: จำนวนสถานพยาบาลหลักมีแนวโน้มคงที่ แต่เป็นที่สังเกตว่าจำนวนสถานพยาบาลเอกชนลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 1.1-2.4 ต่อปี ในขณะที่จำนวนสถานพยาบาลเครือข่ายมีจำนวนรวมมากขึ้น แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสถานพยาบาลภาครัฐ ในขณะที่จำนวนสถานพยาบาลภาคเอกชนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่พบในกลุ่มสถานพยาบาลหลัก ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการที่สถานพยาบาลเอกชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เพราะจำนวนผู้ประกันตนส่วนใหญ่นิยมไปรับบริการจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นหลัก

การกระจายตัวของสถานพยาบาล: สถานพยาบาลทั้งหลักและเครือข่ายมีลักษณะการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ โดยมักกระจุกตัวตามพื้นที่เขตเมือง ทำให้ประชากรที่อาศัยนอกพื้นที่เขตเมืองอาจประสบความยากลำบากในการเข้ารับบริการยามต้องการจำเป็น ทั้งนี้จังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง เช่น กรุงเทพมหานคร จะมีความหนาแน่นของสถานพยาบาลทั้งสองประเภทมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพได้

ผู้ประกันตนนิยมใช้ รพ.เอกชน มากกว่า

งานวิจัยฯ ยังระบุว่าแนวโน้มการใช้บริการทางการแพทย์ทั้งในแผนกผู้ป่วยนอกและแผนกผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนมากขึ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ตามพบว่าจำนวนข้อร้องเรียนมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตน จำนวน 809 คนใน 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา) พบว่าผู้ประกันตนมีแนวโน้มไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ (ร้อยละ 67 และ 33 ตามลำดับ)

โดยเงื่อนไขเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงและการใช้สิทธินั้นรวมกันแล้วถือเป็นเหตุผลหลักของการเลือกใช้สถานพยาบาลของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 73 ส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 22 ตัดสินใจจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเพราะใกล้บ้าน บริการดี และสะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้ร้อยละ 75 ของผู้ที่จ่ายเองนั้น จ่ายไปโดยประมาณต่ำกว่า 5,000 บาทต่อปี

ยังพบอีกว่าร้อยละ 72 พอใจกับการบริการของสถานพยาบาล แต่ร้อยละ 28 คิดว่าการเปลี่ยนต้นสังกัดมีกระบวนการที่ยุ่งยากและไม่ทันต่อความต้องการ และร้อยละ 17.68 เคยประสบปัญหาจากการไปรับบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือการไม่ดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยเท่าที่ควรและบริการช้า นอกจากนี้ร้อยละ 96.54 ของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตนสนับสนุนให้เกิดนโยบายรับรองสิทธิให้สามารถใช้บริการได้ทุกสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท