Skip to main content
sharethis
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงข้อมูลอย่างละเอียดกรณี 4 หมู่ป่าอะคาเดมี “ด.ช.มงคล-ด.ช.อดุลย์-นายพรชัย-โค้ชเอก” ขอสัญชาติไทย ระบุกระบวนการทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักเกณฑ์และใช้ปฎิบัติเหมือนกันทุกคนที่ขอสัญชาติไทย 
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561 ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่ากรมการปกครองเป็นหน่ายงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องการพิจารณาให้สัญชาติไทยกับบุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยกระบวนการ และการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ธ.ค. 2559 
 
ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดกรณีทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี จำนวน 13 คน พบว่าไม่มีสัญชาติไทย 4 คน โดยเป็นเด็ก 3 คน และผู้ฝึกสอน 1 คน ประกอบด้วย ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม เกิดวันที่ 10 เม.ย. 2548 อายุ 13 ปี ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน เกิดวันที่ 21 มิ.ย. 2547 อายุ 14 ปี นายพรชัย คำหลวง เกิดวันที่ 3 ก.ย. 2545 อายุ 16 ปี และนายเอกพล จันทะวงศ์ หรือโค้ชเอก อายุ 25 ปี สาเหตุที่บุคคลทั้ง 4 คนไม่ได้สัญชาติไทยเนื่องจากมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งข้อมูลที่ตรวจพบปรากฏว่าทั้ง 4 คนไม่ได้แจ้งการเกิดไม่มีสูติบัตร 
 
ในส่วนของเด็ก 3 คนได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนราษฎรในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามมติ ครม. วันที่ 18 ม.ค. 2548 โดยมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 ขณะที่โค้ชเอก มีหนังสือรับรองการเกิดของโรงพยาบาลแม่สาย แต่ไม่ได้แจ้งเกิดและไม่ได้จัดทำทะเบียนราษฎรจึงไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก 
 
อย่างไรก็ตามการขอสัญชาติไทยของทั้ง 4 คน จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยจากข้อมูลที่ได้รับ แม้บิดามารดาของทั้ง 4 คนไม่ใช่คนสัญชาติไทย แต่ทั้ง 4 คนเกิดในดินแดนประเทศไทย ดังนั้นหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย ได้แก่ สูติบัตรหรือใบเกิด หรือหนังสือรับรองการเกิดที่ นายทะเบียนออกให้ เรียกว่า ท.ร.20/1 จึงเป็นสิ่งสำคัญ 
 
ขณะนี้ประเด็นการขอสัญชาติไทยของทั้ง 4 คน จึงต้องเริ่มต้นด้วยการพิสูจน์ว่าพวกเขาเกิดในประเทศไทย และเมื่อได้รับสูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิดจากนายทะเบียนแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นขอมีสัญชาติไทยต่อไป
 
จากข้อมูลในแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎรของ ด.ช.มงคล  ด.ช.อดุลย์ และนายพรชัย ระบุว่าทั้งสามคนเกิดที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดังนั้น บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ (นายอำเภอ) หรือนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล (ปลัดเทศบาล) แห่งท้องที่ที่เด็กเกิด เพื่อขอให้นายทะเบียนออกหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.20/1 ให้ โดยพยานหลักฐานสำคัญที่จะต้องใช้ได้แก่ บุคคลที่รู้เห็นการเกิด อาจเป็นหมอตำแย ญาติ เพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
 
อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากอายุของเด็กแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องพยานรับรอง ส่วนกรณีของโค้ชเอกเนื่องจากมีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาลแม่สาย จึงสามารถยื่นเรื่องขอแจ้งการเกิดได้ที่เทศบาลตำบลแม่สาย เมื่อนายทะเบียนออกสูติบัตรให้แล้ว ก็จะกำหนดให้เลขประจำตัว 13 หลักและเพิ่มชื่อเข้าในเอกสารทะเบียนราษฎร 
 
สำหรับขั้นตอนต่อไป หลัง ทั้ง 4 คนมีสูติบัตรหรือใบเกิด หรือหนังสือรับรองการเกิด แล้ว ก็คือการยื่นคำขอมีสัญชาติไทย โดยกรณีของเด็กชายมงคล  เด็กชายอดุลย์ และนายพรชัย ถ้าเกิดในประเทศไทยจะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ฯลฯ ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้สัญชาติไทยได้ตามหลักเกณฑ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ธ.ค. 2559   
 
กรณีของ ด.ช.มงคล และนายพรชัย จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่ 1) ถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยโดยมีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ทางราชการได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก เช่น ชาวเขา ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ เป็นต้น บิดาหรือมารดาต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีนับถึงวันที่บุตรยื่นคำขอมีสัญชาติไทย เด็กจะได้รับสัญชาติไทย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามารดาของเด็กชายมงคล และนายพรชัย เป็นชาวไทยลื้อหรือชาวไทยใหญ่ที่มีทะเบียนประวัติไว้แล้ว
 
ขณะที่ข้อมูลของ ด.ช.อดุลย์ ไม่ปรากฏทะเบียนของบิดามารดา และทราบเบื้องต้นว่า ด.ช.อดุลย์ อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของคริสตจักร บิดามารดาทอดทิ้งไปตั้งแต่เล็ก จึงจะเข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่ 2) ถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยแต่ถูกบิดามารดาทอดทิ้ง หรือไม่ปรากฏบิดามารดา เด็กต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 10 ปี และจะต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นคนที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้ง ซึ่งจะขอเอกสารดังกล่าวได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เด็กก็จะสามารถขอมีสัญชาติไทยได้
 
ขณะที่โค้ชเอกก็จะเข้าตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่ 3) ที่ระบุว่าถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่มิใช่ชนกลุ่มน้อย เด็กจะต้องเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบปริญญาตรี แล้วเอาหลักฐานปริญญาบัตรและผลการเรียนไปยื่นขอสัญชาติไทย ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้นายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ กรณีผู้ขอสัญชาติมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ กรณีผู้ขอมีสัญชาติมีอายุเกินกว่า 18 ปี 
 
นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยโดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยด้วยก่อนวันที่ 26 ก.พ. 2535 การขอสัญชาติไทยสามารถดำเนินการได้อีกช่องทางหนึ่ง ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติว่าผู้ขอจะต้องมีหลักฐานการเกิด มีเลขประจำตัว 13 หลัก มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และอาศัยอยู่ติดต่อกันในประเทศไทย โดยกฎหมายให้อำนาจนายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบิดาของโค้ชเอกเป็นชาวไทยลื้อที่เกิดในประเทศไทยจริงตามที่เป็นข่าวถึงแม้จะเสียชีวิตแล้วก็ตามโค้ชเอกก็สามารถขอมีสัญชาติไทยตามช่องทางนี้ได้ 
 
สำหรับระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการรับคำขอมีสัญชาติไทยพร้อมพยานหลักฐานครบถ้วน จนถึงการพิจารณาอนุมัติของนายอำเภอ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่ว่าด้วยเหตุใด สามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 120 วัน 
 
ทั้งนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยยืนยัน หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการใช้ปฏิบัติกับทุกคนที่มีปัญหาและข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันมิได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประโยชน์กับเด็กทีมหมูป่าอะคาเดมี หรือบุคคลอื่นใดหรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net