รัฐบาลใหม่มาเลเซียเดินหน้ารถไฟฟ้าสายใหม่ หลังหั่นงบได้ 47% จากแผนรัฐบาลเดิม

หลิมกวนอิง รมว.คลังของพรรครัฐบาลชุดใหม่มาเลเซีย "แนวร่วมแห่งความหวัง" ปัดฝุ่นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากรัฐบาลชุดเก่าโดยตั้งงบก่อสร้างราว 1.36 แสนล้านบาท ลดได้ 1.23 แสนล้านบาท หรือ 47% จากงบที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอไว้สูงถึง 2.59 แสนล้านบาท โดยการหั่นงบรอบนี้ เป็นการทำตามสัญญาช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะลดงบประมาณของโครงการที่มีการใช้จ่ายสูงเกินจริง

หน้าแรกของแผ่นพับแสดงข้อมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 โดยล่าสุด รมว.คลังมาเลเซียคนใหม่ สั่งหั่นงบประมาณลง 47%

แผนที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากสถานี Bandar Utama ไปยัง Johan Setia ระยะทาง 37 กม.

มาเลเซียกินีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบรางเบา LRT3 อีกครั้งหนึ่ง สามารถปรับลดการใช้งบประมาณโครงการนี้ไปได้จำนวนมากโดยคงประสิทธิภาพเดิมไว้ จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการระงับโครงการไปในสมัยรัฐบาลของนาจิป ราซัค ทั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยปรับงบประมาณเหลือ 16,630 ล้านริงกิต หรือ 136,000 ล้านบาท หรือลดลงจากเริ่มร้อยละ 47 ขณะที่รัฐบาลเดิมเสนอใช้ประมาณ 31,650 ล้านริงกิต หรือ 258,900 ล้านบาท

โดย รมว.คลังของรัฐบาลปัจจุบัน หลิมกวนอิง ระบุว่าการตั้งงบประมาณใหม่สำหรับโครงการถไฟฟ้า LRT3 ความยาว 37 กม. รอบนี้ช่วยประหยัดเงินของประเทศได้ 15,020 ล้านริงกิต หรือราว 122,800 ล้านบาท โดยการงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่ทำตามที่สัญญาเอาไว้ช่วงเลือกตั้งว่าจะลดการใช้งบประมาณโครงการสูงเกินจริงจากรัฐบาลก่อน

สำหรับรายละเอียดของการหั่นโครงการ ได้แก่ 1. มีการลดการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าแบบ 6 ตู้โดยสาร 42 ขบวน เหลือสั่งซื้อแบบ 3 ตู้โดยสาร 22 ขบวน โดยผลการศึกษาใหม่ระบุว่าขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสารไปจนถึงปี พ.ศ. 2578

2. ลดขนาดก่อสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้า 3. ออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใหม่ โดยยึดรูปแบบสถานีที่มีอยู่เดิมคือ Kelana Jaya LRT แทนการออกแบบเป็นสถานีขนาดใหญ่

3. ยกเลิกการก่อสร้าง 5 สถานีรถไฟฟ้า LRT เนื่องจากผลการศึกษาพบว่ายังมีผู้โดยสารน้อย

4. ยกเลิกอุโมงค์และทางยกระดับความยาว 2 กม. ที่ยังไม่จำเป็น ที่สถานี Persiaran Hishamuddin และ Shah Alam

5. ขยายเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จไปอีก 4 ปี จากเดิมปี 2563 ไปเป็นปี 2567 โดยโครงการจะสร้างเสร็จช้าไป 4 ปี เนื่องจากมีการตัดงบประมาณที่เรียกว่า "ค่าเร่งก่อสร้าง" ออกไปด้วย

หลิมกวนอิง ยังแถลงถึงรายละเอียดการปรับลดงบประมาณในครั้งนี้ต่อไปว่า ถึงแม้งบ 16,630 ริงกิต จะถือเป็นงบประมาณครอบคลุมรายจ่ายโครงการทั้งหมด รวมไปถึงค่าสัญญารับเหมา, ค่าจัดซื้อที่ดิน, ค่าบริหารโครงการ, ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา, ค่าปฏิบัติการ และค่าต้นทุน อีกทั้งยังคัดรวมกับภาวะเงินเฟ้อช่วงที่มีการก่อสร้างไว้แล้ว การประเมินงบประมาณโครงการใหม่ยังช่วยลดค่าดอกเบี้ยได้อีกถึง 14,000 ล้านริงกิต หรือราว 115,000 ล้านบาท ด้วย

นอกจากแถลงประกาศเรื่องนี้แล้ว ในวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียยังปฏิเสธคำขอของบริษัท Prasarana Malaysia ที่ของบประมาณโครงการเพิ่ม 22,000 ล้านริงกิต หรือ 180,000 ล้านบาท ด้วย โดยทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังระบุว่าพวกเขาจะไม่ให้งบประมาณเพิ่มเติมจนกว่าจะมีการทบทวนปรับงบประมาณใหม่ในทางที่จะทำให้ใช้งบประมาณน้อยลงขณะที่ยังคงคุณภาพ ความสมบูรณ์ และความปลอดภัย ของระบบรางและบริการเอาไว้ได้

ทางการมาเลเซียแถลงอีกว่ารถไฟฟ้า LRT3 เป็นโครงการที่สำคัญซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 36,700 ราย ต่อชั่วโมงในทุกเส้นทาง ช่วยแก้ปัญหารถติดได้สำหรับถนนในเขตกลังถึงเปตาลิงจายา โดยที่พวกเขาใช้วิธีการที่เรียกว่าหุ้นส่วนส่งมอบโครงการ (project delivery partner หรือ PDP) ซึ่งเป็นการหารือและปรับการจัดหาวัตถุดิบระหว่างหุ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Prasarana Malaysia, บรรษัทร่วมทุนการก่อสร้างของมาเลเซียเอ็มอาร์ซีบี จอร์จ เคนต์ และคณะกรรมการการขนส่งทางบก

เรียบเรียงจาก

Putrajaya greenlights LRT3 after halving cost, Malaysiakini, 12-07-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท