ใจ อึ๊งภากรณ์: รัฐไทยให้ความสำคัญกับพลเมืองน้อยเกินไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการพูดคุยกับมิตรสหายและการอ่านความเห็นของเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ผมได้เรียนรู้และมีข้อสรุปบางอย่างจากกรณีที่ทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำ และกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตจากเรือล่มที่ภูเก็ต มันมีหลายประเด็นซ้อนกัน

ผมจะไม่ลงรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับน้ำใจของอาสาสมัครนับร้อย ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ร่วมมือกันเพื่อนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ เพราะเป็นเรื่องที่ชัดเจนและใครๆ ก็ทราบกันทั่วโลก แต่จะขอสำรวจประเด็นปัญหาที่มาจากรัฐไทย

ในประการแรกเราจะเห็นว่าเรื่อง “ความปลอดภัยของพลเมือง” เป็นเรื่องรอง (มากๆ) ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยเด็กๆ หรือความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ผมจะไม่โทษโคชของทีมหมูป่า เพราะจะเป็นเพียงการซ้ำเติมความเจ็บปวดของคนนี้ ซึ่งแน่นอนเขาสรุปทบทวนอะไรจากเหตุการณ์ได้เอง และมันไม่ใช่เรื่องความรับผิดชอบปัจเจกด้วย มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของสังคมและรัฐ แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าในประเทศตะวันตกคนที่ทำงานกับเด็กๆ ในกิจกรรมต่างๆ ต้องผ่านการฝึกฝนในเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด กฏระเบียบต่างๆ เรื่องความปลอดภัยมีมากมาย และนอกจากนี้ถ้ามีแหล่งเที่ยวที่อาจเป็นภัยเมื่อฝนตกหนัก มันจะมีประตูกั้นไม่ให้คนเข้าไปในยามที่ไม่ปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยในการเดินเรือ หรือความปลอดภัยบนท้องถนน สังคมไทยมีมาตรฐานต่ำมาก เพราะไม่มีกฏระเบียบที่เคร่งครัด ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบเพียงพอ มีแต่ตำรวจที่คอยดักเก็บส่วย ไม่มีระบบคมนาคมมวลชนที่ปลอดภัย ไม่มีวันหยุดเพียงพอสำหรับคนทำงาน คนเลยเดินทางหนาแน่นในวันสงกรานต์ฯ ลฯ

การที่เรือล่มที่ภูเก็ต ก็เป็นเพราะไม่มีการประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และไม่มีการคุมลักษณะของเรือท่องเที่ยวและทดสอบระบบความปลอดภัยอย่างดี จึงปล่อยให้บริษัทท่องเที่ยวหากำไรผ่านพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย

ปัญหามาจากการที่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนธรรมดาเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักท่องเที่ยว คนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงานต่างๆ หรือพลเมืองทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะรัฐไทยเน้นความสำคัญของคนชั้นสูงเป็นหลักเท่านั้น

การที่รัฐไทยจะให้ความสำคัญกับพลเมืองธรรมดา ย่อมมาจากพลังประชาชน เราหวังพึ่งผู้นำใจดีไม่ได้

ในประการที่สองรัฐไทยไม่มีการพัฒนาโครงสร้างและหน่วยงานต่างๆ ของสังคมเพื่อปกป้องพลเมือง ไม่มีองค์กรกู้ภัยที่นำโดยทีมคนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทุกอย่างมักกระจุกที่ส่วนกลาง เราขาดอุปกรณ์ต่างๆ และเราไม่ควรต้องอาศัยทหารในเรื่องนี้ เพราะทหารธรรมดาไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องการกู้ภัย และนายพลระดับสูงที่คุมกองทัพก็ไม่สนใจผลประโยชน์ของพลเมืองธรรมดาเลย หน่วยกู้ภัยควรจะเป็นหน่วยพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญเสมอ

เราไม่มีระบบรถพยาบาลสาธารณะในทุกท้องถิ่นที่สามารถวิ่งไปมาทุกวันในขณะที่รถคันอื่นต้องหยุดและหลีกทางให้ เรามีแต่ตำรวจที่คอยบังคับให้รถธรรมดาหลีกทางหรือหยุดจอดเพื่อให้คนชั้นสูงเดินทางไปมาเท่านั้น

ลักษณะความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ฐานะในสังคม และทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐไทยส่งเสริมมานาน และการทำรัฐประหาร การดูถูกคนจนและคนส่วนใหญ่โดยผู้นำรัฐกับคนชั้นกลาง แปลว่าไม่มีการให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองธรรมดาที่จะได้รับการบริการอย่างดีจากรัฐและสังคม ไทยเลยไม่มีระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร ซึ่งอาศัยงบจากการเก็บภาษีคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า

หลายคนได้ชมบทบาทของผู้ว่าฯ จังหวัดในการประสานงานการนำเด็กหมูป่าออกจากถ้ำ และก็มีเหตุผลในการชม แต่ถ้าฟังการแถลงข่าวจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมที่เหลื่อมล้ำ คือพูดขอบคุณ “ความห่วงใย” ของคนชั้นสูง ในขณะที่คนธรรมดาในไทยและทั่วโลกเป็นล้านๆ คนก็ห่วงใยติดตามสถานการณ์มาตลอด และอาสาสมัครคนธรรมดาที่มาช่วยงาน ก็ลงมือทำจริง เช่นชาวบ้านที่ซักผ้าให้นักดำน้ำเป็นต้น แต่สังคมไทยบังคับให้ต้องเริ่มต้นพูดถึงคนชั้นสูงและละเลยพลเมืองธรรมดา

ในประการที่สาม แนวคิดชาตินิยมในไทย สร้างอคติกับคน “ต่าง” ไม่ว่าจะเป็นอคติกับนักท่องเที่ยวจีนหรือเจ้าของกิจกรรมที่เป็นคนจีน หรือเรื่องการที่ไม่ยอมให้สัญชาติกับคนเป็นล้านๆ ที่อาศัยอยู่ในไทย รวมถึงเด็กบางคนและโคชในทีมหมูป่าอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลมอบสัญชาติให้ทุกคนที่ไร้สัญชาติแต่พักอยู่ในไทย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนในสังคมไทยเลิกการเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติของคนอื่น และเลิกใช้คำที่ไม่เคารพคนต่าง

แนวคิดชาตินิยม ที่เน้น “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นการกล่อมเกลาพลเมืองโดยทหารเผด็จการ นักการเมือง นายทุน สื่อกระแสหลัก และระบบการศึกษา เพื่อให้พลเมืองธรรมดาเคารพคนชั้นสูง แต่ละเลยเพื่อนมนุษย์คนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การใช้งบประมาณสำหรับกองทัพ กับคนชั้นสูงในขณะที่ละเลยคนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การมองว่าชาติไทยเป็นของ “ผู้ใหญ่ที่ปกครองเรา” และมันนำไปสู่การกราบไหว้คนข้างบน ในกรณีทีมหมูป่า ยังนำไปสู่การเห่อเศรษฐีต่างประเทศที่อยากดังเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย เหมือนกับที่คนจำนวนมากเคารพอำนาจเงินของเศรษฐีไทย

ถ้าเราจะค่อยๆ แก้ปัญหาดังกล่าว เราจะต้องร่วมกันสร้างทั้งประชาธิปไตยและระบบสังคมนิยม เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อให้สังคมเราเน้นความสำคัญของชีวิตพลเมือง ผ่านการทำงานเพื่อส่วนรวม

บางคนเสนอว่าน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงว่าคนไทยสามัคคีกันได้เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง แต่นั้นเป็นข้อเสนอของคนที่อยากให้เรายอมจำนนต่อเผด็จการและการทำลายประชาธิปไตย แท้จริงแล้วน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างสังคมใหม่ได้ภายใต้ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turnleftthai.wordpress.com/2018/07/15

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท