Skip to main content
sharethis

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ยกกรณีศึกษาไทยและสิงค์โปร์ โดยชี้ว่าชนชั้นกลางมีโอกาสถูกขัดเกลาให้เป็นคนหัวอนุรักษ์นิยมง่ายกว่าชนชั้นล่าง เผย 2 ปัจจัย “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ “คนดี” คืออุปสรรคประชาธิปไตยไทย ส่วน ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เสนอว่าชนชั้นกลางอาจหันหลังให้เผด็จการ หากสถาบันทางการเมืองเข้มแข็ง

แวดวงการศึกษาทางรัฐศาสตร์เคยเชื่อว่าชนชั้นกลางคือกำลังสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตย ยิ่งประเทศไหนมีชนชั้นกลางเยอะ ประเทศนั้นก็มีโอกาสจะเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น แต่ปรากฏการณ์ทั่วโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้เหล่านักรัฐศาสตร์ต้องกลับมาตั้งคำถามกับแนวคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นขบวนการชนชั้นกลางในไทยที่ร่วมกันต่อต้านรัฐบาลพลเรือนของทักษิณและยิ่งลักษณ์ อีกทั้งประเทศที่มีชนชั้นกลางจำนวนมากอย่างประเทศจีน และสิงคโปร์ ก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนา “Middle Classes in Southeast Asia : Hegemony and Illiberalism” ขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ.ดร.อีริก คูฮอนต้า จากมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสต์ ธรรมศาสตร์ อาจารย์ดุลยภาพ จาตุรงคกุล จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คลิปเสวนา "Middle Classes in Southeast Asia : Hegemony and Illiberalism"

 

ชนชั้นกลางถูกขัดเกลาให้ยอมรับเผด็จการง่ายกว่าชนชั้นแรงงาน

การชุมนุมของ กปปส. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

อีริก คูฮอนต้า เริ่มอภิปรายด้วยการยกโควทของอริสโตเติ้ล นักปรัชญาการเมืองกรีกที่กล่าวไว้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไปนั้นมีความความมั่นคงและยั่งยืนกว่าระบอบคณาธิปไตยก็ เพราะว่ามีชนชั้นกลางเป็นปัจจัยสำคัญ หากประชาธิปไตยไร้ซึ่งชนชั้นกลาง และชั้นล่างมีจำนวนมาก ย่อมเกิดปัญหา และพังทลายอย่างรวดเร็ว”

แม้จะเป็นถ้อยคำที่กล่าวเอาไว้นานกว่า 300 ปีก่อนคริสตกาล แนวคิดดังกล่าวได้ส่งผลต่อแนวคิดของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างมาก และได้กลายมาเป็นทฤษฎีการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modenization Theory) ที่อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การก่อตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดแบบเสรีนิยม มีความอดกลั้นทางการเมือง และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ชนชั้นกลางจึงเป็นกำลังสำคัญในการท้าทายอำนาจเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามคูฮอนต้ากล่าวว่า วิธีคิดดังกล่าวมองข้ามปัจจัยด้านอุดมการณ์ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้างพฤติทางการเมืองของชนชั้นกลาง ข้อเสนอของเขาคือชนชั้นกลางสามารถถูก “กล่อมเกลา (socialized)” ให้เชื่อและยอมรับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมและกลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมภายในประเทศ และเมื่ออุดมการณ์ดังกล่าวครอบงำสังคมได้ในระดับที่ไม่มีอุดมการณ์อื่นท้าทายได้ อุดมการณ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นอำนาจนำ (hegemony) ในท้ายที่สุด โดยคูฮอนต้าได้นิยามชนชั้นกลางว่าหมายถึง คนที่เป็นแรงงานมีฝีมือ อาศัยอยู่ในเมือง ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป และไม่มีทุน

คูฮอนต้ากล่าวว่า จริงที่อุดมการณ์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระบอบการเมืองภายในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าอุดมการณ์มีผลอย่างยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคม โดยในกรณีของประเทศไทย อุดมการณ์ที่มีผลต่อการประกอบสร้างพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยคือแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ แนวคิดเรื่อง “คนดี”

อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถูกสถาปนาขึ้นโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนไทย ที่รักความมีเสถียรภาพ (stability) ความมีระเบียบ (order) ความสามัคคีของคนในชาติ (national unity) และความจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ แนวคิดทั้งหมดนี้นำไปสู่การให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดทางการเมืองแบบผูกขาดไปในท้ายที่สุด

อุดมการณ์ที่สองคือแนวคิดเรื่อง “คนดี” ซึ่งถูกคิดค้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งคูฮอนต้าอธิบายว่าคึกฤทธิ์เป็นคนที่นิยมระบอบศักดินา (fuedalism) อย่างมาก คือชื่นชอบสังคมมีลำดับชั้นโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นจุดสูงสุดของสังคม รองลงมาคือช้าราชการ นักการเมือง และประชาชนตามลำดับ เมื่อมีแนวคิดตั้งต้นมาจากระบบศักดินา คึกฤทธิ์จึงไม่ชอบการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมแต่มองว่าคนทุกคนควรจะทำหน้าที่ของตัวเองในสังคมให้ดีอย่างมีศีลธรรม และปราศจากความเห็นแก่ตัว (self-interest) การเมืองจึงอุดมการณ์ของคึกฤทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ เพราะขอแค่เพียงให้คนดีได้ขึ้นมาปกครอง ประเทศก็จะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ในระบอบดังกล่าว การทำรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และยอมรับได้เพื่อขับไล่ผู้ปกครองที่ไม่มีศีลธรรมลงจากอำนาจ และสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ

คูฮอนต้าสรุปว่า อุดมการณ์ทั้งสองข้างต้นได้ทำให้แนวประชาธิปไตยของไทยขัดแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของความชอบธรรมในการปกครองที่ยึดติดกับแนวคิดทางศีลธรรมและศาสนา แทนที่จะเป็นหลักนิติธรรมและเสียงข้างมาก มองการแข่งขันทางการเมืองและการตรวจสอบถ่วงดุลว่าเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยของสังคม ให้ความสำคัญกับคนดีมากกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง สนับสนุนสังคมที่มีลำดับชั้น ทั้งๆ หนึ่งในเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยคือการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และสุดท้ายคือยอมรับการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ทางออกของวิกฤติการเมืองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย

คูฮอนต้ากล่าวต่อว่า อุดมการณ์ “การเมืองแบบไทยๆ” และ “คนดี” ปรากฏตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านวิกฤติการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเรื่อง สว. แต่งตั้งของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ การเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองขบวนการ กปปส. จวบจนมาถึงรัฐบาล คสช. ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังเดินตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่เน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้การนำของกองทัพ มากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน

คล้ายคลึงกับประเทศสิงคโปร์ ที่แม้จะมีการเลือกตั้ง และมีสัดส่วนชนชั้นกลางมากที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พรรคกิจกรรมสังคมกลับชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยได้เต็มปาก ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจความพึงพอใจในระบอบการปกครองในปี 2009 ชาวสิงคโปร์กว่า 93% ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกพึงพอใจกับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าชนชั้นกลางในสิงคโปร์ไม่มีแนวโน้มที่จะตั้งคำถาม หรือท้าทายรูปแบบการปกครองกึ่งอำนาจนิยมของประเทศตัวเองเลย เนื่องจากมีอุดมการณ์สามประการที่ครอบงำความคิดชนชั้นกลางสิงคโปร์อยู่นั่นคือ 1. “ความอยู่รอด (survival)” คือแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองและประเทศอยู่รอดได้ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่างๆ 2. “หลักปฏิบัตินิยม (pragmatism)” คือแนวคิดที่เน้นประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริง และ 3. “หลักคุณธรรมนิยม (meritocracy)” คือแนวคิดที่ให้คุณค่ากับความสามารถของตัวบุคคล

คูฮอนต้ากล่าวว่าชนชั้นนำสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมืองว่า “พรรคกิจสังคมเหมาะสมที่จะปกครองประเทศ (หลักปฏิบัตินิยม) เพราะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (หลักคุณธรรมนิยม) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทาย (ความอยู่รอด)” สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนเชื่อว่าประเทศมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการเมือง จึงจำเป็นจะต้องให้ผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางการเมืองสูงอย่างพรรคกิจสังคมบริหารประเทศต่อไป ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคกิจสังคมได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องได้จริง ในแง่นี้แนวคิดเรื่องคุณธรรมนิยม จึงไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องคนดีของประเทศไทยมากนัก เพราะเป็นการสนับสนุนให้คนเพียงบางกลุ่มบริหารประเทศได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ในท้ายที่สุดอุดมการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความชอบธรรมให้ชนชั้นสูงปกครองประเทศต่อไป เพราะมองว่าชนชั้นนี้เหมาะสมที่สุดในการบริหารประเทศ

คูฮอนต้าอธิบายว่า อุดมการณ์ดังกล่าวยังถูกใช้เป็นข้ออ้างของรัฐบาลในการมองข้ามปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพราะมองว่าการที่คนยากจนนั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่มีความพยายามหรือความสามารถมากพอ แม้สิงคโปร์จะมีพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคคนงานที่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นล่าง แต่พรรคดังกล่าวก็วิพากษ์วิจารณ์พรรคกิจสังคมแค่ในระดับนโยบายเท่านั้น

แต่ก็ใช่ว่าพรรคกิจสังคมจะไม่ถูกท้าทายเลย โดยในการเลือกตั้งปี 2011 พรรคกิจสังคมได้เสียงในสภาไปเพียง 66 เปอร์เซ็น ซึ่งลดลงเกือบ 10 เปอร์เซ็น จากการเลือกตั้งในปี 2005 แต่คะแนนเสียงหายไปเหล่านี้กลับไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่มาจากเขตพื้นที่ผู้ใช้แรงงานอาศัยอยู่เยอะ จึงกลายเป็นว่าชนชั้นที่พยายามจะท้าทายระบอบการเมืองของสิงคโปร์ไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่เป็นชนชั้นแรงงานเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพรรคกิจสังคมก็พยายามจะปรับตัวเพื่อดึงเสียงของชนชั้นแรงงานกลับมา โดยมีการออกนโยบายลดเงินเดือนรัฐมนตรี ลดราคาที่อยู่อาศัย และพัฒนาระบอบขนส่งมวลชนให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากขึ้น

คูฮอนต้าสรุปว่าชนชั้นกลางไม่เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสมอไป ชนชั้นกลางสามารถสลับไปมาระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา เพราะชนชั้นเหล่านี้มีโอกาสถึงการศึกษามากกว่าชนชั้นล่าง จึงถูกสถาบันทางสังคมกล่อมเกล่าให้เชื่อในอุดมการณ์ของรัฐได้ง่ายกว่าชนชั้นล่าง

“ความย้อนแย้งของเรื่องนี้คือยิ่งชนชั้นกลางมีการศึกษามากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งถูกขัดเกลาให้มีแนวคิดตามอุดมการณ์ของรัฐได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับชนชั้นแรงงาน ชนชั้นแรงงานมีแนวโน้มที่จะท้าทายระบอบการเมืองอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนชั้นกลางอย่างขัดเจน” คูฮอนต้ากล่าว

 

ชนชั้นกลางไทยสลับไปมาระหว่างฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านประชาธิปไตย

การชุมนุมของ กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เมื่อเดือนธันวาคม 2556 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องชนชั้นกลางในไทยมักมีข้อจำกัดอยู่สองประการคือ 1. พยายามอธิบายว่าชนชั้นกลางต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแบบตายตัว เช่นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เป็นฝ่ายสนับสนุนทหาร หรือเป็นไม่เอาการเลือกตั้ง และ 2. คือมักมุ่งศึกษาความพยายามของชนชั้นนำไทยมากเกินไป ในงานศึกษาของเธอ กนกรัตน์ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่เคยร่วมชุมนุมกับพันธมิตร และ กปปส. จำนวน 100 คน ซึ่งเป็นทั้งผู้ชุมนุมทั่วๆ ไป ไปจนถึงระดับแกนนำ

ข้อค้นพบของกนกรัตน์คือ ชนชั้นกลางสลับไปมาตลอดระหว่างฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านประชาธิปไตย โดยในระยะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย (democratic transition) เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 ชนชั้นกลางมีบทบาทอย่างยิ่งในการท้าทายเผด็จการทหาร แต่เข้าสู่ช่วงการทำให้ประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่น (democratic consolidation) ชนชั้นกลับมีแนวโน้มที่จะต่อต้านประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งทำให้ชนชั้นล่างมีอำนาจมากขึ้น ชนชั้นกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากการเมือง ชนชั้นกลางไทยจึงเริ่มแสวงหาอำนาจทางการเมืองผ่านการนิยมตัวเองเป็นมวลชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

“เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ดุลยภาพ จาตุรงคกุล กล่าวว่า นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มักจะตีความแนวคิดของอริสโตเติ้ลผิดซึ่งนำไปสู่การทำความเข้าใจชนชั้นกลางที่คลาดเคลื่อนตามไปด้วย แม้อริสโตเติ้ลจะมองว่าชนชั้นกลางจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตย แต่เขาก็เสนออีกเช่นกันว่า เมื่อคนเราถูกทิ้งให้อยู่กับความโลภของตนเองจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง กล่าวคือมนุษย์ไม่ได้จำเป็นต้องยึดติดอุดมการณ์เสมอไป หากแต่ยึดติดกับผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง นั่นหมายความว่าชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตลอดเวลาเพื่อรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ของตัวเองไว้

ดุลยภาพยังเสนออีกด้วยว่าเราควรจะมองคำว่า “เสรีนิยม” แยกออกจากคำว่า “ประชาธิปไตย” เพราะสองสิ่งนี้ไม่ได้จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป เนื่องจากแนวคิดประชาธิปไตยเน้นหลักความเท่าเทียมกัน ขณะที่แนวคิดเสรีนิยมเน้นเรื่องเสรีภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการสร้างแคมเปญ Respect My Vote ซึ่งเป็นแนวคิดแบบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่าย กปปส. ก็มีการทำแคมเปญ Respect My Tax ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดเสรีนิยม

 

เผด็จการปรับตัวตลอดเวลา

ประจักษ์ ก้องกีรติ เริ่มอภิปรายโดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะปกติแล้วคูฮอนต้าขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิชาการสายสถาบันนิยม ส่วนตัวเขามักจะศึกษาเรื่องการเมืองเชิงวัฒนธรรม แต่วันนี้เขาต้องการจะเสนอว่าการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางจำเป็นต้องกลับไปศึกษากลไกลทางการเมืองเชิงสถาบันด้วย

ประจักษ์เห็นด้วยกับคูฮอนต้าว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับ คนดี มีบทบาทอย่างยิ่งในการเมืองไทย แต่คำถามที่น่าคิดต่อคือรัฐไทยใช้วิธีการใดในการเผยแพร่อุดมการณ์ดังกล่าว เพราะต้องไม่ลืมว่านอกจากอุดมการณ์ทั้งสองแล้ว กลุ่มการเมืองต่างๆ ก็พยายามจะสถาปนา และเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองขึ้นมาท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วยเช่นกัน แต่เมื่ออุดมการณ์เหล่านี้มาปะทะกัน ฝ่ายอุนรักษ์นิยมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า เนื่องจากสถาบันทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เช่นพรรคการเมือง และภาคประชาสังคมในไทยยังคงอ่อนแอเกินกว่าจะท้าทายระบอบการเมืองในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ กระแสเศรษฐกิจโลกที่ดูจะดำเนินไปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เกิดการเมืองแบบประชานิยมเพิ่มมากขึ้น นักการเมืองเริ่มแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองผ่านนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นแรงงาน ซึ่งนโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับชนชั้นกลาง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าประชาธิไตยและการเลือกตั้งเป็นภัยคุกคามของพวกเขา หากประเทศนั้นมีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ก้าวหน้า และตอบสนองคนหลากหลายชนชั้น  ชนชั้นกลางก็อาจจะเลือกที่จะดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย แต่ในกรณีของไทย สถาบันทางการเมืองเหล่านั้นกลับอ่อนแอ ชนชั้นกลางไทย จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสนับสนุนระบอบเผด็จการเพื่อให้ตัวเองได้เข้าถึงอำนาจทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net