Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา 'จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว' ชี้ควรจัดระเบียบ แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมหาทางออกอย่างยั่งยืน ระยะสั้นควรทบทวนคืนพื้นที่ขายให้แก่ผู้ค้า ระยะกลางควรมีการปรึกษาหารือแนวทางในการจัดระเบียบ และระยะยาวควรมีการพัฒนากฎหมายขึ้นมาดูแล

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้จัดเวทีเสวนา “จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว” ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 350 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและ WIEGO

ในช่วงแรกมีการนำเสนอ “นโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกทม.  ภูมิทัศน์สวยใส คนยากไร้อดตาย” โดย กัณณิกา อังศุธนสมบัติ นักวิจัยอิสระ และเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินรายการโดย บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กัณณิกา อังศุธนสมบัติ นำเสนอสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า หลังมาตรการหยุดผ่อนผันและการจัดระเบียบทางเท้าที่ผ่านมาเกือบสองปี ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่สามารถขายในพื้นที่เดิมได้ทำให้ขาดรายได้ ต้องนำเงินเก่ามาใช้จนหมด ทำให้เป็นหนี้ บางคนช่วงมีรายได้ผ่อนบ้านและรถ เมื่อไม่มีรายได้ต้องหยุด และกระทบต่อการศึกษาของบุตรหลาน เป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ต้องประคองตัวเอง ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยไม่สามารถเข้าถึงอาชีพชั้นสูงได้ และเป็นอาชีพที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น รายได้เป็นเงินหมุนเวียนแต่ละวัน ซื้อของมาขายและเก็บผลกำไรไว้ใช้จ่าย ผู้ค้าดั้งเดิมจะมีความชำนาญในพื้นที่ สามารถให้ข้อเสนอแนะได้ว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างไร ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ค้ากับการจัดระเบียบ ด้านการเยียวยา กทม. หาตลาดเอกชนให้แต่ค่าใช้จ่ายสูง บางแห่งอยู่ไกล ไม่มีผู้ไปซื้อ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อร้านค้าข้าง ๆ หาบเร่แผงลอย ทำให้ขาดรายได้เพราะไม่มีผู้ซื้อมาเดินจับจ่ายใช้สอยในบริเวณดังกล่าว เส้นทางเปลี่ยว และมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ผู้ค้าในตลาดสดขายผักได้น้อยลง รวมทั้งมีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งส่งผลมาจากความเครียด และบางรายฆ่าตัวตาย

กัณณิกา กล่าวถึงทางออกของปัญหาว่า การจัดระเบียบมีความจำเป็น เพราะในอดีตมีการถูกร้องเรียน ทั้งความสะอาดและกีดขวางทางเท้า กทม. ควรใช้โอกาสนี้จัดระเบียบใหม่ ต้องคืนอาชีพให้กับผู้ค้า และผู้ค้าก็ต้องปรับตัว

เรวัตร ชอบธรรม นำเสนอว่า ที่ผ่านมาได้เดินทางไปร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกรุงเทพมหานคร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็น street food ที่ดีที่สุดในโลก แต่ทำไม กทม .จึงยกเลิก อีกทั้งหาบเร่แผงลอยยังสร้างประโยชน์กับทุกระดับ เป็นตัวกระจายสินค้าให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม มีผู้มาใช้บริการทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว จึงอยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญ

ช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว” วิทยากรคือ รศ.ดร. นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. สมชัย จิตสุชน สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. และ วิทูรย์ ศรีแก้ว สำนักเทศกิจ กทม. ดำเนินรายการโดย พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

รศ.ดร.นฤมล นิราทร อภิปรายว่า หาบเร่แผงลอยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากสูงมาก กทม. เป็นหน่วยปฏิบัติที่รับนโยบายจากรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่มีความเป็นมิตรกับผู้ค้า และเรื่องการจัดระเบียบนี้ไปไกลกว่าอำนาจหน้าที่ของกทม. เราจะสร้างโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างไร ผู้ค้ามีลักษณะหลากหลาย ต้องมองผู้ค้าว่าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และ SME เป็นการทำธุรกิจ รัฐจะมีนโยบายดูแลอย่างไร แต่ละรายต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อจะได้กลับไปประกอบอาชีพได้ แต่ผู้ค้าต้องมีการปรับตัว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าไปขายในพื้นที่เดิม ผู้ค้าต้องเผชิญกับการแข่งขันกับรสนิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ ต้องทันสมัย การขายอาหารต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น แต่จุดเด่นคือคนยุคนี้คนวิ่งหาความสัมพันธ์ทางใจ และหาบเร่แผงลอยมีสิ่งที่คนขายของในร้านสะดวกซื้อไม่มี รวมทั้งการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนก็เป็นสิ่งจำเป็น

วิทูรย์ ศรีแก้ว ร่วมอภิปรายว่า นโยบายมาจากข้อกฎหมาย ซึ่งมาจาก คสช. ตั้งแต่การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ จนถึงหาบเร่แผงลอย ปัจจุบันจุดที่ยกเลิกแล้วห้ามกลับไปขายอีก ต้องรอการกำหนดจุดผ่อนผันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป ซึ่ง กทม. ต้องเสนอจุดผ่อนผันต่อหัวหน้าสำนักงานตำรวจในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร

ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าวว่าประเด็นหาบเร่แผงลอยเป็นประเด็นทาง นโยบายมากกว่าเรื่องกฎหมาย นโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเกี่ยวข้องกับคนในระดับที่สูงมาก คสช. เป็นทหารจึงเน้นเรื่องระเบียบวินัย นโยบายค่อนข้างเร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลาปรับตัว ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้าง มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง และเน้นการมีส่วนร่วม ส่วนผู้ค้าต้องเข้ามาอยู่ในกรอบ และนำเสนอเรื่องราวปัญหาสู่ผู้มีอำนาจในระดับสูงด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้สามารถประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดการของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการสนับสนุนให้ไปอยู่ในที่ใหม่ที่ดีจริง ๆ

รสนา โตสิตระกูล อภิปรายว่า นโยบายทางการเมืองต้องมองเรื่องปากท้องของประชาชน และป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หาบเร่แผงลอยช่วยให้การว่างงานในประเทศลดลง รัฐบาลต้องทำให้ทุกคนมีงานทำจะลดอาชญากรรมลงได้ สี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้เงินเป็นแสนล้าน แต่ไม่ถึงเศรษฐกิจฐานราก เพราะอุ้มคนรวยทำให้รวยขึ้นและมีจีดีพีสูงขึ้น แต่คนทั่วไปจนลง ลำบากมากขึ้น รัฐปล่อยให้กิจการขนาดใหญ่กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ให้อิสระเสรีกับกลุ่มทุนมากเกินไป ถ้าคนเล็กคนน้อยอยู่ไม่ได้ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ก็อยู่ไม่ได้  

รสนา กล่าวต่อว่า รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการสั่งการ เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีเสรีภาพในการดูแลผู้คนในท้องถิ่น หาบเร่แผงลอยช่วยคนมีรายได้น้อย  ต้องให้แต่ละชุมชนหรือประชาคมมาช่วยกันดูแล รักษาความสะอาดและระเบียบทางเท้า และการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายมีความสำคัญเพราะจะทำให้เสียงดังมากขึ้น

หลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนา เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐควรทบทวนยกเลิกนโยบายนี้ และคืนพื้นที่ค้าขายให้กับกลุ่มหาบเร่แผงลอยที่เคยได้รับอนุญาตอยู่เดิม

2. ให้โอกาสผู้ค้าได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการจัดระเบียบกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย อันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เขต เครือข่ายผู้ค้า ตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อาชีพหาบเร่แผงลอยได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเมืองและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ไม่ใช่การยกเลิกหาบเร่แผงลอยออกไปจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร

3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ค้าในทุกพื้นที่เพื่อให้กลุ่มผู้ค้าสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่เขตในพื้นที่และกำกับดูแลให้สมาชิกในพื้นที่ได้ปฏิบัติตามแนวทางและข้อเสนอแนะอันเกิดจากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน เช่น การดูแลเรื่องความสะอาด การดูแลพื้นที่ตั้งแผงลอยให้มีทางเดินไม่น้อยกว่า1.5 เมตร การควบคุมเวลาตั้งแผงค้าให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมทั้งการลงโทษผู้กระทำผิด

4. จัดหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

5. พิจารณาออกกฎหมายเรื่องการค้าริมทางเท้าเพื่อให้เกิดการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในระยะยาว และป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนเป็นผลกระทบกับการประกอบอาชีพโดยสุจริตของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net