Skip to main content
sharethis

ฉลาดซื้อ ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกมาตรฐาน จำนวน 5 ตัวอย่าง ในเนื้อไก่สดและตับไก่สด จากจำนวนที่ตรวจพบยา 26 ตัวอย่าง หรือ 41.93% จากทั้งหมด 62 ตัวอย่าง

19 ก.ค.2561 นิตยสารฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ฉลาดซื้อสุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง ได้รับความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างจากเครือข่ายอาสาสมัครผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ 3 กลุ่ม นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน(Fluoroquinolone group) คือ เอนโรฟลอคซาซิน(Enrofloxacin), กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน(Tetracycline group) คือ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline), กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบต้า-แลคแทม (Beta-lactam groups) คือ อะม็อกซีซิลลิน(Amoxicillin)

ผลการตรวจวิเคราะห์    

ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างตกของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) พบ ตกมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะ จำนวน 5 ตัวอย่าง (8.06%) ในยาเอนโรฟลอคซาซิน(Enrofloxacin) เนื่องจากป็นยานอกเหนือบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งสามารถใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างของยานี้ (ตารางที่ 2) และยาด็อกซีไซคลิน(Doxycycline) จำนวน 21 ตัวอย่าง (33.87%) (ตารางที่ 3)  โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิดอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม (ตารางที่ 4)

ประกาศ สธ. อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

จากผลการตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน 5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งอย.อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาทของพรบ.อาหาร พ.ศ. 2522

ส่วนผลวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่อย.ประกาศกำหนด

ส่วน ดร. นิยดา เกียรยิ่งอังศุลี ศูนยฺวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ คือ การดื้อยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ

ส่วนอันตรายของ ยา Doxycyclin

ผลไม่พึงประสงค์  อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่, มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร, มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง,

อันตรายของ Enrolfloxacin

ผลไม่พึงประสงค์ มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียในรายที่ใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า  ทำให้กระดูกอ่อนตามข้อต่อต่างๆเกิดความเสียหายจากผลของยา

ส่วนอันตรายของ ยา Amoxycillin

ผลไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ผลการตรวจสุ่มตรวจ ANTIBIOTIC ของนิตยสารฉลาดซื้อในอดีต

  1. สุ่มตรวจอาหารฟาสฟูดส์กลุ่มจำนวน  18 ตัวอย่าง พบยาด็อกซีไซคลิน(Doxycycline) 13.73 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในแซนวิชไก่อบจำนวน 1 ตัวอย่าง (เก็บตัวอย่าง กันยายน 2559)
  2. สุ่มตรวจเนื้อหมูสดในตลาดและห้างสรรพสินค้าทั่วไป จำนวน 15 ตัวอย่าง พบ ยาคลอร์เททระไซคลีน(Chlotetracycline) จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยเป็นเนื้อหมูในตลาดสด

ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

  1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก
  2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด
  3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม
  4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวดและติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด และเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net