Skip to main content
sharethis

สื่อตั้งข้อสังเกตท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กรณีรัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ระบุ ว่าก่อนหน้าการเข้ารับตำแหน่งทรัมป์ เองก็เคยแฉพฤติการณ์ดังกล่าว แต่หลังจากที่ตัวเองได้ตำแหน่งแล้วก็เริ่มกลับคำและพูดถึงเรื่องนี้แบบไม่เต็มปากเท่าเดิม

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน (ที่มา: slavicsac.com)

เมื่อไม่นานนี้มีการพบปะหารือระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย รวมถึงมีการสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารของรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปี 2559 ของสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

สื่อนิวยอร์กไทม์นำเสนอในเรื่องนี้โดยตั้งข้อสังเกตย้อนไปตั้งแต่ช่วงก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งว่า ทรัมป์เคยนำเสนอหลักฐานด้านข่าวกรองที่แสดงให้เห็นว่าปูตินเป็นผู้สั่งโจมตีทางไซเบอร์เพื่อปั่นป่วนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2559 หลักฐานที่ทรัมป์นำเสนอในครั้งนั้นมีทั้งเอกสารและอีเมลจากเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซียและข้อมูลลับสุดยอดอื่นๆ จากแหล่งที่ใกล้ชิดกับปูติน โดยในข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยว่ารัสเซียพยายามแฮ็กระบบและใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีในการป่วนการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไร

แต่หลังจากนั้นทรัมป์ก็ไม่ได้พูดถึงข้อค้นพบข้างต้นอย่างชัดเจนและหลังจากการประชุมร่วมกับรัสเซียในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ฟินแลนด์ก็ตอบคำถามนักข่าวเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียโดยบอกว่ารัสเซียไม่ได้ตั้งเป้าหมายกับสหรัฐฯ ซึ่งฟังดูขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ แดน โคท กล่าวไว้หลายวันก่อนหน้านี้ แม้ว่าเขาจะนั่งห่างจากทรัมป์ออกไปไม่มากนักในห้องทำงานคณะรัฐมนตรี

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาทรัมป์ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อซีบีเอสในแบบที่กลับคำอีกครั้ง โดยบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาโทษปูตินในเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่ก็เชื่อว่าปูตินมีส่วนเกี่ยวข้องในทางอ้อมในฐานะ "ผู้เป็นผู้นำประเทศ" เท่านั้นไม่ใช่ในทางตรง รวมถึงอาจจะมีคนกลุ่มอื่นก็ได้ที่ก่อเหตุ

สำหรับสาเหตุที่ทรัมป์ต้องกลับคำไปมาเช่นนี้ มีผู้ช่วยประธานาธิบดีที่ใกล้ชิดกับทรัมป์แต่ไม่ประสงค์ออกนามบอกกับสื่อนิวยอร์กไทม์ว่าเป็นเพราะถ้าหากทรัมป์ยอมรับว่ามีการพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2559 จากรัสเซียแล้ว ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นการแทรกแซงที่ไม่สำเร็จก็ตาม มันก็จะทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการตำรงตำแหน่งปัจจุบันของทรัมป์

ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2560 มีการประชุมสรุปประเมินสถานการณ์ย่อๆ จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงหลายคนของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมด้วยในวันนั้นบอกว่ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวกรองจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าปูตินมีบทบาทในการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เช่น อีเมลที่ฝ่ายข่าวกรองกองทัพรัสเซียฉกมาได้จากพรรคเดโมแครตและวางแผนร่วมกับวิกิลีคส์ว่าจะเผยแพร่อีเมลนี้อย่างไรดี

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงแหล่งข่าวกรองที่เป็นบุคคลยึนยันบทบาทของปูตินในกรณีนี้เช่นกัน โดยมีการสืบสวนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาลโอบามาแล้ว หัวหน้าซีไอเอ จอห์น เบรนแนน ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวสำคัญเหล่านี้พบว่ารัสเซียโจมตีทางไซเบอร์ต่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และทำให้อีเมลปี 2557-2558 รั่วไหลไปอยู่ในมือรัสเซีย แต่ในตอนนั้นมีการส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานความมั่นคงระสูงตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนโดยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมวันที่ 6 ม.ค. 2560 ทรัมป์ก็ออกมาขยายผลอ้างประณามชาติอื่นๆ ทันทีโดยบอกว่า "รัสเซีย, จีน และประเทศอื่นๆ อย่างพวกกลุ่มและประเทศภายนอก" เป็นผู้เริ่มต้นโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ แต่ทรัมป์ก็กล่าวหลังจากนั้นว่าเรื่องนี้ไม่มีผลต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามาก็ออกจากตำแหน่งไป หนึ่งในนั้นคือเจมส์ โคมีย์ ที่ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอผู้ที่ถูกไล่ออกในเดือน พ.ค. 2560 เพราะไม่ให้สัตย์จงรักภักดีต่อทรัมป์และยังคงสืบสวนเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซียต่อไป แม้แต่ พล.อ. ไมเคิล โรเจอร์ส ผู้ที่ได้รับการต่ออายุงานจากทรัมป์จนกระทั่งเกษียณในปีนี้ก็เชื่อว่าเรื่องการแทรกแซงจากรัสเซียเกิดขึ้นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ระบุว่ารัสเซียพยายามโจมตีแทรกแซงทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ ในแบบรุกคืบหนักมาก เช่น ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมากระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ารัสเซียพยายามใช้มัลแวร์โจมตีโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ามาควบคุมหรือปิดระบบที่สำคัญ และในสัปดาห์ที่แล้วโคทก็บอกว่าภัยทางไซเบอร์ของรัสเซียถือว่าคุกคามหนักระดับอันตรายจนถือได้ว่ารัสเซียเป็น "ต่างชาติที่รุกล้ำหนักที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย" โคทยังบอกอีกว่าสิ่งที่รัสเซียทำเป็นการพยายาม "บ่อนทำลายประชาธิปไตย" ของสหรัฐฯ

ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนใหม่ในรัฐบาลทรัมป์ คริสโตเฟอร์ เอ เฟรย์ ก็เห็นตรงกันว่ารัสเซียเป็นอันตรายจากความพยายามแทรกแซงและ "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก" ในสหรัฐฯ แต่สำหรับทรัมป์เองแล้ว มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากรับตำแหน่งเขาก็มีท่าทีเปลี่ยนไปเกี่ยวกับจุดยืนเรื่องการแทรกแซงของรัสเซีย โดยอ้างว่าการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียเป็นเรื่องที่พวกเดโมแครตปั้นขึ้นเพื่อโจมตีเขา และถึงแม้ว่าจะถูกกดดันจากสาธารณชนทำให้ล่าสุดในขณะที่เขาไปเยือนฟินแลนด์ทรัมป์ก็เริ่มพูดถึงเรื่องนี้เสียงอ่อยลงแต่ก็ไม่ได้ยอมรับจริงจังในเรื่องการแทรกแซงจากรัสเซีย โดยมีการพูดเลี่ยงประเด็นอ้อมๆ เช่น บอกว่าเขามั่นใจในศักยภาพของฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ แต่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาใดๆ

เรียบเรียงจาก

  • From the Start, Trump Has Muddied a Clear Message: Putin Interfered, New York Times, Jul 18, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net