Skip to main content
sharethis

สำรวจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ซึ่งมีการจัดประชุม ครม. สัญจร พบมีการอนุมัติงบไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และทุกครั้งที่ประยุทธ์ลงพื้นที่มักมีคำพูดที่ต้องการส่งสารในทางการเมืองเสมอ

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) หรือที่สื่อมวลชนเรียกขานกันว่า “ทัวร์นกขมิ้น” โดยหลักการแล้วการประชุมคณะรัฐมตรีนอกสถานที่นั้น ถูกใช้เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่จะได้มีโอกาสพูดถึงปัญหา และความต้องการในพื้นที่ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับรู้รับทราบโดยตรงเพื่อเตรียมหาแนวทาง มาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา หรือตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกจุด อย่างไรก็ตามกลไกการประชุมนอกสถานที่นี้ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยรัฐบาลพลเรือนว่าในอีกด้านหนึ่งของเวทีพบปะพูดคุยรับฟัง และแก้ไขปัญหานี้ คือเวทีของการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งสมัยหน้า

แต่ไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลพลเรือนเท่านั้นที่ถูกวิพากษณ์วิจารณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ขยายรวมไปถึงรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาลทหารที่มีเจตนารมย์ในการสืบทอดอำนาจ ที่นอกจากจะจัดวางโครงสร้างการเมืองใหม่ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจ หรือเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ แม้ว่าผู้นำคณะรัฐประหารจะอยู่ปฏิเสธอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ได้มีความต้องการจะสืบทอดอำนาจก็ตามที

กระแสข่าวคราวทางการเมืองที่ดำเนินไปควบคู่กับการปฏิเสธการสืบทอดอำนาจในช่วงที่ผ่านมา กลับสวนทางกับการเกิดขึ้นของกลุ่มสามมิตร ที่นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สามสหายของอดีตนายกรัฐมนตี ทักษิณ ชินวัตร ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินสายพบปะพูดคุยกับเหล่า ส.ส. ในพื้นที่ และพรรคการเมืองต่างเพื่อเข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในนามพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 จนกระทั่งวันนี้มีความเคลื่อนไหวใหม่เกิดขึ้นด้วยแนวทางแบบเดิม วิธีการแบบเดิม ทว่ามีเป้าหมายใหม่คือ การรวบรวม ส.ส. ให้ได้มากที่สุดเพื่อสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังจากมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น

เสียงปฏิเสธของผู้นำเผด็จการ ถูกกลบฝั่งด้วยคำพูดของตัวเอง “แผ่นดินนี้เรียกร้องผม” และ “อย่าลืมไปเลือกตั้งนะ” สองคำพูดนี้อาจจะดูปกติหากไม่ได้เป็นการพูดระหว่างเดินทางไปประชุม ครม. สัญจรที่บุรีรัยม์ซึ่งมีคนรับต้อนรับอยู่ถึง 3 หมื่นคน และระหว่างเดินทางด้วยรถไฟขณะไปประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดนครสวรรค์

นับตั้งแต่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาล คสช. ได้เดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่แล้วทั้งหมด 10 ครั้ง และกำลังจะมีครั้งที่ 11 ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม นี้ ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ  หากพิจารณาจากช่วงเวลาจะเห็นว่า ครม.สัญจร ถูกหยิบยกมาเป็นภารกิจสำคัญอีกครั้งในปี 2560 โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 พลเอกประยุทธ์ ได้สั่งการให้มีการกลับมาดำเนินการประชุม ครม. สัญจรอีกครั้ง โดยกำหนดพื้นที่ทั้งหมด 6 ภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะที่ปี 2557 ไม่มีการประชุมนอกสถานที่ ปี 2558 มีการประชุมนอกสถานที่เพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดประจวบศีรีขันธ์เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2558 โดยในครั้งนั้นมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจกว่า 2,900 นายในการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากก่อนที่จะถึงวันประชุมเพียง 5 วันเจ้าหน้าที่พบวัตถุระเบิดที่ยังไม่ได้ต่อวงจร และกระสุนปืนสงครามจำนวนมาก ในกระสอบที่มีข้อความเขียนว่า ร้อย 1 พัน 1 ซุกอยู่ริมถนนซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่จัดประชุมเพียง 2 กิโลเมตร ซึ่งมีรายงานระบุว่า ศูนย์วิทยุ 191 ได้รับแจ้งเหตุจากชายหาปลา สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ การลงมติเห็นชอบให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าพิเศษด่านสิงขร(อยู่ในจังหวัดประจวบศีรีขันธ์) เพื่อรองรับการค้าชายแดนไทย-พม่า โดยให้มีการดำเนินการกำหนดพื้นที่อนุญาตในการเดินทางผ่านแดนได้ถึง อ.เมืองประจวบฯ 2.เอกสารที่ใช้ในการเดินทาง คือ พาสปอร์ต บอร์ดเดอร์พาส และบัตรผ่านแดนชั่วคราว และ 3.อนุญาตให้ผู้ข้ามแดนสามารถพักค้างได้ 1 คืน ทั้งนี้ในการประชุมยังไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณหรือโครงการต่างๆ แต่อย่างใด

ส่วนการประชุมในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2558 ที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น แม้ทางจังหวัดจะมีโครงการมาเสนอทั้ง 46 โครงการ แต่ก็ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในวาระพิจาณราของคณะรัฐมนตรี และมีการสั่งให้เสนอแผนโครงการไปยังกระทรวงต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่การตั้งงบประมาณประจำปีต่อไป

ตารางการประชุม ครม. สัญจรของรัฐบาล คสช.

วันที่ประชุม

จังหวัดที่ประชุม

งบประมาณเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่

27-28 มีนาคม 2558

ประจวบคีรีขันธ์

ไม่มีการอนุมัติงบประมาณ

29-30 มิถุนายน 2558

เชียงใหม่

ไม่มีการอนุมัติงบประมาณ

21-22 สิงหาคม 2560

นครราชสีมา

ไม่ต่ำกว่า 45,889 ล้านบาท

18-19 กันยายน 2560

สุพรรณบุรี - พระนครศรีอยุธยา

ไม่ต่ำกว่า 89,511.17 ล้านบาท

27-28 พฤศจิกายน 2560

ปัตตานี - สงขลา

ไม่ต่ำกว่า 4,509.97 ล้านบาท

25-26 ธันวาคม 2560

พิษณุโลก - สุโขทัย

ไม่ต่ำกว่า 3,015 ล้านบาท

5-6 กุมภาพันธ์ 2561

จันทบุรี - ตราด

ไม่ต่ำกว่า 1,160 ล้านบาท

5-6 มีนาคม 2561

สมุทสาคร - เพชรบุรี

ไม่ต่ำกว่า 8,268.69 ล้านบาท

7-8 พฤษภาคม 2561

สุรินทร์ - บุรีรัมย์

ไม่ต่ำกว่า 3,476.65 ล้านบาท

11-12 มิถุนายน 2561

พิจิตร - นครสวรรค์

ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

23-24 กรกฎาคม 2561

อุบลราชธานี อำนาจเจริญ

ยังไม่มีการพิจารณา

ส่วนในปี 2559 ไม่มีการประชุม ครม. สัญจรเกิดขึ้นเลย ก่อนจะกลับมามีการประชุม ครม. สัญจรอีกครั้งในปี 2560 ท่านกลางเสียวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเดินสายหาเสียงและเป็นการเจรจาทางการเมืองกับนักการเมืองในพื้นที่ต่างๆ รวมแล้วในปี 2560จนถึงปัจจุบันมี ครม.สัญจรทั้งหมด 8 ครั้ง

ทัวร์โคราชอนุมัติงบประมาณลงพื้นที่ 45,889 ล้าน (สร้างถนน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เยียวยาเกษตรกร)

"เหมือนกลับมาบ้าน" พลเอกประยุทธ์พูดกับประชาชนที่มาต้อนรับ หลังกราบสักการะย่าโม

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยในการประชุมครั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 45,889 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.เห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา(M6) ในกรอบวงเงิน 33,258 ล้านบาท โดยกำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนได้

2.มีการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 2,101.46 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 1,620.67 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 480.79 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

3.อนุมัติงบประมาณ 8,820 ล้านบาท ให้กรมชลประทาน แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 8 พื้นที่ ครอบคลุม 18 จังหวัด

4.อนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลในแปลงที่ดินที่ผ่านความเห็นชอบการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด (จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดร้อยเอ็ด) โดยเป็นไปตามขั้นตอนที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลกำหนดไว้ รวมจำนวน 54 แปลง เนื้อที่ 86-2-38.3 ไร่ ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,771,064 บาท

5.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design Services Agreement) โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่1ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในวงเงินค่าจ้าง 1,706.771 ล้านบาท

ไปสุพรรณบุรี-อยุธยา อนุมัติงบประมาณเกือบ 9 หมื่นล้านช่วยเหลือเกษตรกร

"เวลาเขาชวนไปชุมนุมไม่ต้องไป แล้วไม่ต้องไปชุมนุมต่อสู้เพื่อผม เพราะผมจะสู้เพื่อพวกท่าน” พลเอกประยุทธ์ พูดกับชาวบ้านที่จังหวัดอยุธยา

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18-19 กันยายน 2560 สุพรรณบุรี – พระนครศรีอยุธยา สำหรับมติ ครม. ในวันนั้นได้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 89,511.17 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีการมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจจารณาความเหมาะสมในการก่อสร้างสถานี Hi Speed Train ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย

1.มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216.17 ล้านบาท

2.มีมติเห็นชอบในหลักการการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามแผนงานจะออกแบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 และสามารถเริ่มกระบวนการก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องงบประมาณ

3.อนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จำนวน 2,295.00 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการเงินสำรองรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด

4.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพปศุสัตว์ ปี 2559/60 ออกไปอีก 6 เดือน คือ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561

5.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างสถานี Hi Speed Train ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการออกแบบให้คำนึงถึงภูมิสถาปัตย์และอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองมรดกโลก ทั้งนี้มีการสั่งการให้พัฒนาเส้นทางรถไฟสายเก่าช่วงสุพรรณบุรี-อ่างทอง-ลพบุรี เชื่อมเส้นทางเหนือ-ใต้ และพัฒนาเส้นทางรถไฟนครหลวง-ภาชี ระยะทาง 1 กิโลเมตร

ล่องใต้อนุมัติงบประมาณ 4,500 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดน และมอบทุนการศึกษา

“คนใต้น่ารัก ยิ้มได้เมื่อภัยมา แต่ผมไม่ใช่ภัยขอท่าน ขอให้คิดถึงผมบ้าง วันละนิดก็พอ” พลเอกประยุทธ์ พูดกับประชาชนที่มาต้อนรับ

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ที่จังหวัด ปัตตานี – สงขลา ในครั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4,509.9725 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีงบประมาณ 2561-2564 แบ่งเป็นสายวิชาการ จำนวน 271 อัตรา สายสนับสนุน จำนวน 103 อัตรา รวม 374 อัตรา งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 138.882 ล้านบาท

2.มีมติเห็นชอบ โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2569 สำหรับการให้ทุนการศึกษา 2,519 คน วงเงิน 570.8905 ล้านบาท

3.เห็นชอบมาตรการด้านการเงินสําหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายระยะเวลาโครงการรวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 2,837 ล้านบาท

4.ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 673.2 ล้านบาท

5.ขยายระยะเวลาและปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 90 ล้านบาท

6.เห็นชอบโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิม  และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 200 ล้านบาท

เข้าพื้นที่กลุ่มวังน้ำยม อนุมัติงบน้อย แต่รับเผือกร้อนให้งบ 1,900 ล้านเปลี่ยนเขือนแก่งเสือเต้นเป็นแก้มลิง พร้อมเห็นชอบให้มีแผนสร้างสนามบิน

“อยู่กับฉันนะจ๊ะ ไม่ต้องกลัวคสช. คสช.ใจดี” พลเอกประยุทธ์ พูดกับไก่ชนชื่อเทพประทานพร

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 25-26 ธันวาคม 2560 ที่จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย ในครั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3,015 ล้านบาท ทั้งนี้การอนุมัติงบประมาณในครั้งนี้มีเรื่องเสนอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจากเดิมที่มีการตั้งงบไว้ที่ 6,500 ล้านบาท แต่ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพียง 1,900 บาทให้เป็นการสร้างอาบเก็บน้ำ หรือแก้มลิงแมน โครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมีโครงการมาในหลายรัฐบาลแต่ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เนื่องจากเป็นโครงการที่ภาคประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้การลงพื้นที่พิษณุโลก และสุโขทัย ยังถูกจับตาเป็นพิเศษเพราะเป็นพื้นที่ฐานการเมืองของกลุ่มวงน้ำยม ที่มีสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ สำหรับมติครม. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในพื้นที่มีดังนี้

1.รับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคเหนือตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการสนับสนุนบทบาทและทิศทางการพัฒนาของภาคเหนือ ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เช่น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมระยะทาง 25,506 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณรวมในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 เป็นวงเงินรวม 115,179 ล้านบาท (ไม่ได้มีการอนุมัติงบเพิ่ม เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เดิม)

2.มีแผนพันฒนาระบบคมนาคมขนส่งระบบราง ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ จากเดิมที่ในปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินได้ 24 เที่ยวบิน/ชั่วโมง จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้จนถึงปี 2578 และมีแผนจะสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (พื้นที่บริเวณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน) โดยขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ

3.เห็นชอบโครงการแก้น้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ตามแผนเร่งด่วน 1,900 ล้านบาท จากที่มีการขอทั้งหมด 6,500 ล้านบาท เน้นไปที่การขยายพื้นที่รับน้ำหลากบางระกำโมเดล เป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบัน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการคลองชักน้ำ ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม และประตูระบายน้ำท่านางงาม เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

4.รับทราบแผนงานและโครงการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ในพื้นที่มรดกโลก เมืองประวัติศาสตร์และเมืองบริวาร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ปี 2561-2564 งบประมาณ 1,115 ล้านบาท

เข้าเมืองผลไม้ เห็นชอบตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกให้งบเริ่มต้น 80 ล้านบาท พร้อมติดตามโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก

“อย่ามาบอกว่าสืบทอดอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่ประชาชนไปเลือกเอาเอง” พลเอกประยุทธ์ พูดกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านที่มาต้อนรับ

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตลาด โดยในครั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,160 ล้านบาท

1.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร พร้อมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีผลไม้เมืองร้อนจำนวนมาก ก้าวขึ้นเป็น “มหานครผลไม้ของโลก” พร้อมอนุมัติหลักการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) วงเงินการดำเนินการระยะที่ 1 มูลค่า 80 ล้านบาท

2.สั่งการให้ชลประทานจังหวัดตราด เตรียมความพร้อมและส่งเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง เพื่อขอพิจารณางบประมาณ 980 ล้านบาท

3.รับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยคมนาคมขนส่งภาคตะวันออกของกระทรวงคมนาคมของกระทรวงคมนาคม โดยมีวงเงินงบประมาณรวมในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 รวม 77,323.783 ล้านบาท

4.รับทราบการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมระบบคมนาคมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) รวมพื้นที่เขต ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 236,700 ล้านบาท

เยือนเพชรบุรีรับหลักการแผนพัฒนาภาคกลางตอนล่าง อัดฉีดงบจัดการน้ำกว่า 7,500 พันล้านบาท

“การเลือกตั้งที่จะมาถึง ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการเลือกตั้งมันคือกลไกของประชาธิปไตย แต่ท่านต้องมีความรู้ว่าจะต้องเลือกใครอย่างไร ท่านจะต้องเลือกคนที่เข้ามาหลักการ.... ไปเลือกตั้งกันนะทุกคน เลือกให้ดี” พลเอกประยุทธ์ กล่าวระหว่างเยียมชอบสะพานปลาที่จังหวัดสมุทสาคร พร้อมชี้นิ้วมันเข้าหาตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2561 ที่จังหวัดสมุทสาคร และจังหวัดเพชรบุรี โดยการประชุมครั้งได้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 8,268.69 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากเดิมให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 เป็นให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ณ 30 ธันวาคม มีการวันที่ อนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการฯ เป็นจำนวนเงิน 29,480.20 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,613 ราย และมีการเบิกจ่ายสินเชื่อไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 24,523.51 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,158 ราย แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ทันตามกำหนดเนื่องจากอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับเครื่องจักร อยู่ระหว่างการตรวจรับและส่งมอบเครื่องจักร เครื่องจักรอยู่ระหว่างการผลิต และอื่น ๆ จำนวนรวม 455 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 4,956.69 ล้านบาท จึงได้มีการขยายเวลาออกไป (ไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณเพิ่ม)

2.มีมติเห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ“คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างรวดเร็วในชุมชนชายฝั่ง จำนวน 500 ชุมชน ในระยะเวลา 2 ปี โดยธนาคารออมสิน สนับสนุนเงินทุน (สินเชื่อ) ให้ชุมชนเพื่อเริ่มทำและดำเนินการธนาคารปูม้าและการอนุบาลลูกปูม้าชายฝั่งชุมชนละประมาณ 150,000 – 200,000บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการจัดระบบธนาคารปูม้า การสนับสนุนโรงเรือนและเซลล์แสงอาทิตย์ และเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินการ (งบประมาณราว 100 ล้านบาท)

3.รับทราบแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera) จะมีการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562  วงเงิน 170.69 ล้านบาท

4.เห็นชอบแผนพัฒนาภาคกลางตอนล่าง 4 จังหวัด (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว โดยครม. ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี ภายใต้โครงการการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 573 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 7,400 ล้าน จะมีการเสนอเป็นโครงการขนาดใหญ่ต่อไปนอกจากนี้ ได้เห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเพชรบุรีระยะที่ 3 ฝั่งซ้ายตั้งแต่สะพานวัดจันทราวาส อ.เมือง จ.เพชรบุรี ความยาว 250 เมตร วงเงิน 25 ล้านบาท

เยือนบุรีรัมย์ ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ หั่นงบที่ขอมา 2 หมื่นล้าน อนุมัติเพียง 3,476.65 ล้านเท่านั้น

“วันนี้ท่านผูกเสี่ยวผมมาถึงคอแล้ว ผมก็ต้องเป็นเพื่อนท่านและเป็นครอบครัวเดียวกับท่าน” พลเอกประยุทธกล่าวที่สนามช้างอารีนา หลังชาวบ้านนำผ้าขาวม้ามาผูกที่เอวทับกันยาวไปถึงหน้าอก

ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561 ที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ สำหรับการลงพื้นที่ ครม. สัญจรในครั้งนี้เป็นช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพลังดูดกำลังถูกจับจ้องเป็นพิเศษ และการเดินทางไปยังบุรีรัมย์ที่เป็นฐานการเมืองของเนวิน ชิดชอบ หนึ่งในบรรดานักการเมืองมีที่มีอิทธิพลสูง ทั้งยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่ในการชูมือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2551 ซึ่งมีข้อวิจารณ์อย่างหนาหูว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร การเดินทางไปเยือนบุรีรัมย์ครั้งนี้จึงกลายเป็นจุดที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษว่าจะมีข้อตกลงทางการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่ ทว่าจากกระแสดังกล่าว จากเดิมที่ภาคส่วนต่างๆตั้งโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ท้ายที่สุดแล้ว ครม. ได้มีการอนุมัติงบประมาณให้โครงการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจำนวน 20 โครงการ วงเงิน 3,476.65 ล้านบาทเท่านั้น ประกอบด้วย  

1.อนุมัติโครงการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจำนวน 84 โครงการ วงเงิน 3,476.65 ล้านบาท สามารถดำเนินการได้เลย 40 โครงการ วงเงิน 1,015 ล้านบาท อาทิ โครงการแก้มลิง การพัฒนาลุ่มน้ำชี มูล ป่าสัก การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยซัง ส่งเสริมการแปรรูป การส่งเสริมตลาดการผลิตอาหาร เพื่อป้องกันอุทกภัยใน จ.ชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนที่เหลืออีก 44 โครงการ วงเงิน 2,461.65 ล้านบาท ให้ยกไปดำเนินโดยใช้งบประมาณปี 2562-64

2.นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการแผนพัฒนา กลุ่มภาคอีสานตอนล่างทั้งหมด 5 ด้าน ตามที่ภาคเอกชนได้มีการเสนอมาคือ 1. ด้านการเกษตร แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3. การค้าการลงทุน และการค้าชายแดน 4. ด้านการท่องเที่ยว และ 5. การพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 121 โครงการ วงเงิน 20,706 ล้านบาท

ครม.ใจดีอนุมัติทุกโครงการที่เสนอขอ งบประมาณไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้าน

“ใครขายไม่ได้มาขายตรงนี้มาเดี๋ยวนายกซื้อ จะได้กลับบ้าน..... อย่าลืมไปเลือกตั้งนะ” พลเอกประยุทธพูดกับแม่ค้า พ่อค้าหาบเร่ที่ขายของอยู่ที่สถานีรถไฟ ระหว่างเดินทางด้วยรถไฟจากพิจิตรมายังนครสวรรค์

ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ที่จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ โดยในครั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบโครงการที่ทางจัดหวัดได้เสนอมาเพียงโครงการเดียว คือโครงการขยายถนนในพื้นที่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามมติ ครม. ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ระบว่ามีการอนุมัติโครงการไปบ้าง แต่จากการเสนอของบประมาณของภาคเอกชน และจังหวัดพบว่ามีการเสนอของไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยสรุปหลังจากที่ คสช. เริ่มกลับมาเดินสาย ครม. สัญจรตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเวลานี้มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ต่างๆ ที่ได้ลงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 205,830 ล้านบาท และในการลงพื้นที่ทุกครั้งมักจะมีนักการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาให้การต้อนรับเสมอ สำหรับการประชุม ครม.สัญจร ในครั้งถัดไปจะจัดที่อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ในวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่รัฐบาล คสช. ประชุมครมสัญจร ที่ภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย

(ที่มาภาพทั้งหมดจาก เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net