ปรากฏการณ์ 13 หมูป่าบอกอะไรกับเราได้บ้าง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1.จะดังได้ก็ต้องมีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยม (Brilliant plot)

ปัจจัยพื้นฐานของปรากฏการณ์ครั้งนี้คือมีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยมเพราะองค์ประกอบต่างๆ สามารถสอดรับกันอย่างลงตัวและส่งผลกระทบทางจิตวิทยามวลชนได้ลึกซึ้ง โดยเริ่มต้นจากตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นเด็กบ้านนอกไร้เดียงสา เป็นทีมฟุตบอลซึ่งเข้าไปเที่ยวในถ้ำเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ในเวลาต่อมา (หากเป็นกลุ่มเด็กแว้น นักท่องเที่ยวจีน  กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฯลฯ ที่เข้าไปในถ้ำด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ก็ย่อมได้รับความสนใจหรือความเห็นอกเห็นใจที่ลดลงไป) สำหรับสถานที่เกิดเหตุคือดอยนางนอนในอำเภอแม่สายดูเร้นลับและมีเสน่ห์แบบทางเหนือตามสายตาของคนต่างถิ่น  การช่วยเหลือกลุ่มหมูป่าในถ้ำยังพบความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน  อันเกิดจากอุปสรรคและภัยคุกคามดังเช่นความคดเคี้ยวของถ้ำและน้ำท่วมจากฝนที่ตกอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ประชาชนต้องลุ้นอย่างใจจดใจจ่อถึงขั้นนอนไม่ค่อยหลับถึงชะตากรรมของกลุ่มหมูป่าที่หากไม่เสียชีวิตก็กำลังเผชิญกับความอดอยาก  ที่สำคัญสื่อมวลชนยังแต่งแต้มสีสันปรากฏการณ์ด้วยคำเล่าลือต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับเรื่องลึกลับและไสยศาสตร์ที่เป็นความเชื่อฝังลึกในสังคมไทย ซึ่งยังสะท้อนออกมาได้ผ่านพิธีกรรมสารพัดในการช่วยกลุ่มหมูป่า ตอกย้ำโดยคำทำนายของบุคคลศักดิ์สิทธิ์อย่างครูบาบุญชุ่ม[1] เช่นเดียวกับทฤษฎีสมคบคิดซึ่งหลายทฤษฎีมีเนื้อหาหลุดโลกยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ปรากฏารณ์ยังได้วีรบุรุษคือบรรดาผู้พยายามช่วยเหลือกลุ่มหมูป่า อย่างเช่นหน่วยซีลและผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ได้ชื่นชมกับยกย่องและมีตัวร้ายกับตัวตลกในคนๆ เดียวกันคือ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้ได้เกลียดชังกับล้อเลียน ปรากฏการณ์ยังสร้างจุดสูงสุดทางอารมณ์ให้มวลชนหลายครั้งเช่นตอนที่นักดำน้ำค้นพบเด็กและโค้ชซึ่งนั่งรวมกันอย่างน่าเวทนา  จ่าแซมเสียชีวิตขณะพยายามขนถังออกซิเจน การพยายามนำกลุ่มหมูป่าออกจากถ้ำที่สื่อบอกว่าอันตรายมาก ฯลฯ ก่อนทุกสิ่งทุกอย่างจะคลี่คลายไปแบบเปี่ยมสุขในตอนจบ ประดุจดังเทพนิยายหรือตำนานพื้นบ้านในยุคใหม่ที่สามารถถูกแต่งเติมโดยสื่อมวลชนและการเล่าลือกันผ่านโซเชียลมีเดียได้ตามใจของประชาชนทั่วไป (โซเชียลมีเดียมอบอำนาจให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องแม้ว่าจะไม่ได้ไปถึงปากถ้ำด้วยตัวเอง อันเป็นปรากฏการณ์แบบโลกเสมือนจริงหรือ Virtual reality กระนั้นก็ยังสามารถสร้างแรงกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงๆ ได้)

 

2. การพุ่งทะยานของลัทธิชาตินิยม

ปรากฏการณ์ 13 หมูป่าเกิดขึ้นในเวลาแห่งขาลงของคสช.และความซบเซาของลัทธิชาตินิยมไทยซึ่งถูกซ้ำเติมโดยความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมาเรื่อยๆ ย่อมทำให้คนจำนวนมากรู้สึกแปลกแยกและโหยหาบรรยากาศเก่าๆ ที่คนไทยรักสามัคคีกับช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามภาพฝันๆ แบบลัทธิชาตินิยม การแสดงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย[2] และการมีส่วนร่วมของคนหลากหลายกลุ่มอาชีพในการช่วยเหลือกลุ่มหมูป่า (ต่อมารัฐได้หยิบฉวยโดยการตีตราว่าเป็นเรื่องของ “จิตอาสา” ซึ่งเป็นคำสำคัญในลัทธิราชาชาตินิยม) ได้ร่วมกันจุดกระแสลัทธิชาตินิยมให้พุ่งทะยานขึ้น  ยิ่งลัทธิชาตินิยมมีความโดดเด่นมากเพียงใด มวลชนก็ยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นอีก จนเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะมีตัวละครอื่นเช่นนักประดาน้ำชาติต่างๆ  ได้มาดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างน่าประทับใจ ลัทธิชาตินิยมก็สามารถผนวกคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้เช่นการสร้างความรู้สึกว่าประเทศไทยมีเสน่ห์หรือแรงดึงดูดบางอย่างให้ต่างชาติได้มาเสี่ยงชีวิตเพื่อร่วมภารกิจและบุคคลเหล่านั้นเป็นเพียงแค่แขกรับเชิญคือไม่สามารถมีบทบาทนำในการช่วยเหลือได้เท่ารัฐ

ตามความคิดของผู้เขียน ลัทธิชาตินิยมที่แท้จริงต้องอิงอยู่กับหลักความเท่าเทียมกันของชนชั้น รวมไปถึงแนวคิดเสรีนิยมบางอย่างเช่นการยอมรับความหลากหลายและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  ในความจริงยังมีชนชายขอบในสังคมไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกับกลุ่มหมูป่า แต่รัฐต้องการสร้างผลงานเป็นรูปธรรมและง่ายดายจากการช่วยเหลือบุคคลเพียงกลุ่มเดียวซึ่งเป็นจุดสนใจของมวลชน ดังนั้นปรากฏการณ์  13  หมูป่าถือได้ว่าอิงแอบอยู่บนลัทธิชาตินิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านสื่อ (ที่กำกับโดยรัฐ) อย่างที่เรียกว่า Entertainment Nationalism ที่ถูกจุดกระแสให้ดังได้อย่างรวดเร็ว เพราะง่ายสำหรับการบริโภคของมวลชนประดุจอาหารจานด่วน

3. การเสริมสร้างอำนาจนำแบบรวมหมู่ (Collective Hegemony)

ความโด่งดังของปรากฏการณ์ 13 หมูป่าประการหนึ่งเกิดจากการประโคมข่าวโดยรัฐ ในฐานะเป็นเรื่องเปรียบเทียบ (Allegory) ที่รัฐต้องการสะท้อนให้คนไทยเห็นว่าพวกเขาต้องพึ่งพิงรัฐในฐานะผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาตลอดกาล อันเป็นการตอกย้ำถึงความภักดีของประชาชนที่มีต่อรัฐ[3] นอกจากนี้รัฐยังได้จ่าแซมเป็นสัญลักษณ์ของผู้พลีชีพซึ่งเป็นภาพจำลองของการเสียสละขั้นสูงสุดของรัฐเพื่อประชาชนแม้จะเป็นทหารนอกราชการก็ตาม[4] กระนั้นสำหรับตัวรัฐเองประกอบไปด้วยตัวละครทางการเมืองอีกหลายกลุ่มซึ่งพยายามเสริมสร้างอำนาจนำแบบรวมหมู่ (เพราะในปัจจุบันไม่มีใครสามารถกุมอำนาจนำแบบเด็ดขาดได้) โดยการแย่งชิงบทบาทนำในการช่วยเหลือกลุ่มหมูป่าอย่างเช่นกองทัพ คสช. ราชการ และที่ขาดเสียไม่ได้คือ พวกนิยมเจ้า ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและอนาคตที่กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักการเมืองเข้ามาแบ่งอำนาจร่วม จึงทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านั้นถือว่าชะตากรรมของกลุ่มหมูป่ามีผลกระทบอย่างสูงต่ออำนาจนำอันขาดเสถียรภาพของตนเหนือสังคมไทยซึ่งกำลังหมกมุ่นอยู่กับชะตากรรมของกลุ่มหมูป่า  อันเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมีสถานีวิทยุออนไลน์ของบุคคลบางกลุ่มซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกลุ่มการเมืองเหล่านั้นได้เสนอทฤษฎีสมคบคิดว่าปรากฎการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่ใช่เหตุบังเอิญ

ปรากฎการณ์ 13 หมูป่ายังเสริมสร้างอำนาจนำของรัฐส่วนกลางเหนือท้องถิ่นท่ามกลางกระแสแนวคิดการกระจายอำนาจ  กลุ่มหมูป่าเปรียบได้ดังตัวแทนของคนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยการช่วยเหลือจากรัฐส่วนกลางโดยมีตัวแทนคือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งบังเอิญมีความโดดเด่นกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งคะแนนความนิยมหายไปจากการหาเสียงหน้าปากถ้ำ เพราะท้องถิ่นมีบทบาทด้อยกว่าเพราะขาดกำลังคนและความเชี่ยวชาญในการรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งปัจจุบันไปประจำอยู่จังหวัดพะเยาคือนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรยังเป็นภาพของ “คนดี” จากกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของท้องถิ่น อันอาจส่งผลกระทบต่อความคิดในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคตก็เป็นได้

4.การโหยหาสังคมในอุดมคติของชาวโลก

เช่นเดียวกับคนไทย ชาวโลกเองต่างก็จำเจกับข่าวซึ่งมักนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ในด้านเลวร้ายเช่นสงครามกลางเมือง  ภัยพิบัติ การก่อการร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชาติ และโดนัลด์ ทรัมป์ ฯลฯ   แม้ว่ากลุ่มหมูป่าจะอยู่ในประเทศโลกที่ 3 แต่เนื้อเรื่องอันยอดเยี่ยมของปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมีจุดเริ่มต้นคือบรรดานักประดาน้ำนานาชาติเข้าร่วมภารกิจ[5] สามารถดึงดูดความสนใจและความเอื้ออาทรจากคนทั่วมุมโลกโดยปราศจากการแบ่งแยกศาสนาหรือเชื้อชาติใด อันเป็นสังคมในอุดมคติตามแนวคิด Cosmopolitanism   ที่ชาวโลกโหยหาเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถดูได้จากคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวต่างๆ  ทว่าก็มีประชากรโลกที่เคราะห์ร้ายไม่แพ้กันไม่ว่าชาวโรฮิงญา ชาวซีเรีย ชาวเยเมน ฯลฯ รวมไปถึงผู้อพยพเข้าไปในยุโรปเป็นจำนวนมากที่ชาวโลกอาจหลงลืม ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะชาชินกับเหตุการณ์ดังกล่าวจากการนำเสนอของสื่อกระแสหลักมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และหลายประเทศก็เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในประเทศตัวเองเป็นจำนวนมาก  ปรากฎการณ์ 13 หมูป่าจึงจุดกระแสความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ของชาวโลกเพียงผิวเผิน เป็นภาพปรากฎที่สร้างความสุขให้แก่ชาวโลกเพียงชั่วคราว

นัยไม่นับการเกาะกระแสทั่วโลกไม่ว่าโดยเจ้าของบริษัทขนาดยักษ์ องค์กรเกี่ยวกับฟุตบอลนานาชาติ ผู้นำของประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะนายโดนัลด์ ทรัมป์ก็เป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่ต้องการหยิบฉวยเอาความโหยหาเช่นนี้ของชาวโลกมาเพื่อคะแนนเสียง จากการที่เขาได้ทวิตเตอร์ยกย่องทางการสหรัฐฯ ในการเข้าช่วยเหลือเด็กติดในถ้ำ ทำให้มีคนออกมาโจมตีเป็นจำนวนมากว่าเขา (แสร้ง) เห็นอกเห็นใจพวกหมูป่าแต่ไม่ใส่ใจชะตากรรมของเด็กๆ ที่ถูกถูกแยกจากพ่อแม่ซึ่งอพยพหนีเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย

 

เชิงอรรถ

[1] ปรากฏการณ์  13 หมูป่ายังตอบสนองความโหยหาของชาวพุทธเป็นจำนวนมากท่ามกลางความเสื่อมโทรมของศาสนาพุทธอันเกิดจากพฤติกรรมอันไม่ดีไม่งามของพระภิกษุที่ได้รับการเสนอผ่านสื่อเสมอมา อย่างกรณีครูบาบุญชุ่มนั้นตั้งอยู่บนคติผู้มีบุญมาโปรดสัตว์อันมีมานานในสังคมไทย คำทำนายที่ถูกต้องของท่านยิ่งทำให้ชาวพุทธรู้สึกว่ายังมีพระดีบารมีล้นพ้นหลงเหลืออยู่ เมื่อมีการถกเถียงในบรรดาพลเมืองชาวเน็ตระหว่างพวกเสรีนิยมกับพวกอนุรักษ์นิยมว่าควรจะให้การยกย่องใครมากกว่ากันระหว่างคนที่ปฏิบัติภารกิจจริงๆ  กับนักบวชที่อิงกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ก็ได้มีชาวพุทธหัวอนุรักษ์นิยมจำนวนมากได้ออกมาปกป้องครูบาอย่างแข็งขัน

[2]  ตามความจริงแล้วก็ไม่สามารถมีใครบอกได้ว่าความห่วงใยเช่นนี้จะมีในคนไทยทั้งหมด เราต้องพยายามซื่อสัตย์กับตัวเองว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความสุขกับการหายนะของคนอื่น ไม่เช่นนั้นคงจะไม่มีข่าวอาชญากรรมอย่างการทำร้ายร่างกายกันหรือการปล้นจี้ เท่าที่ผ่านมามีคนโพสต์ในเฟซบุ๊คเป็นทำนองว่ากลุ่มหมูป่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว อันทำให้ประชาชนชาวเน็ต (Netizen) เข้าไปโจมตีเป็นอย่างมาก คนที่มีความคิดดังกล่าวส่วนใหญ่จึงขาดเวทีในการแสดงออก ปรากฎการณ์หมูป่าจึงเป็นการจัดภาพจำลองของการมีศีลธรรมของคนไทยให้อยู่ในมิติเดียว จนกลายเป็นภาพฝันๆ ของสังคมไทยที่คนรู้สึกอิ่มเอมเป็นอย่างยิ่ง

[3]  เป็นสาเหตุว่ากลุ่มประชาชนที่เข้าไปช่วยเหลือในหลายครั้งถูกลดบทบาทอย่างเช่นนายกสมาคมน้ำบาดาลไทยถูกกีดกันไม่ให้เข้าถ้ำ  ถึงแม้ว่ามีปัจเจกชนหลายคนจะมีชื่อเสียง (ในขณะที่หลายคนเป็นเพียงตัวตลก น่ารำคาญ)  ได้รับการยกย่องเสียยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน  แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะ เพราะภาพปรากฎของพวกเขาก็ไม่สามารถมีพลังหรือยืนยงได้เท่ากับรัฐ หรืออาจจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐผ่านคำว่า “จิตอาสา”

[4] มีบุคคลอีกมากมายที่เสียสละตัวเองให้กับสังคมในวงกว้างและเป็นระยะเวลาอันยาวนานยิ่งกว่าจ่าแซมแต่ไม่ได้รับเกียรติในการจัดพิธีศพอย่างใหญ่โต หรือได้รับรูปปั้นจากเฉลิมชัย โฆษิตพิพัตน์ เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถตอบสนองความตอบการเช่นนี้ของรัฐได้ ด้วยบทบาทของเขาหรือเธออย่างเช่นเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือกลุ่มประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐและนายทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

[5] นักประดาน้ำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นฝรั่งผิวขาว อันเป็นการหวนระลึกถึงแนวคิดหลายศตวรรษก่อนที่ยังคงทรงอิทธิพลไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนั้นคือคนขาวมีความเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่นและเป็นภาระของคนขาวในการปกป้องดูแลคนเหล่านั้น (White man’s burden)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท