สพฉ.เปิดผลงาน 10 ปี เผยคนใช้สิทธิ 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' กว่าสองหมื่นคน

21 ก.ค. 2561 ที่อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์หลากหลายองค์กรได้จัดประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย "เพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนา" โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยได้นำบูธการจัดแสดงผลงานตลอด 10 ปีทีผ่านมาของ สพฉ. รวมถึงการจัดแสดงและสาธิตการใช้งานอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน และสาธิตการช่วยฟื้นคืนชีพขึ้นพื้นฐาน (CPR) และการฝึกใช้งานเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงานด้วย

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า สพฉ.เป็นอีกหนึ่งในองค์กรที่อยู่ในระบบของสาธารณสุขในประเทศไทยและในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราได้พัฒนาระบบต่างๆ ในการให้บริการประชาชนจนสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้เป็นจำนวนมาก โดยเน้นหลักการพัฒนาผ่านแนวทางห่วงโซ่การรอดชีวิตหรือ Chain of Survival ซึ่งจะเริ่มจากจุดเกิดเหตุซึ่งถือว่าเป็นห่วงแรก เมื่อพบเหตุต้องรีบแจ้งผ่านหมายเลข 1669 หรือผ่าน แอพพลิเคชั่น ems 1669 ห่วงที่ 2 เป็นเรื่องของการเริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตในทันที ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ CPR หรือการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นแบบถูกวิธีโดยเฉพาะการกดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 2-3 เท่า ห่วงที่ 3 คือเรื่องของ การใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันเข้ามาช่วยในการฟื้นคืนชีพก็จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นได้ ห่วงที่ 4 หน่วยปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ มีขีดความสามารถช่วยชีวิตขั้นสูงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และห่วงที่ 5 คือการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลให้พ้นภาวะวิกฤต

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่านอกจากนี้ยังมีผลงานที่มีความคืบหน้าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเรื่องของมาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้มีการกำหนดมาตรฐานผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ชัดเจนขึ้นทำให้ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งไม่ใช่วิชาชีพ เช่น นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ เป็นต้น มีการรับรอง มีการสอบ มีการอบรม ซึ่งถือเป็นการยกระดับการปฏิบัติการให้สูงขึ้น โดยผ่านการดำเนินงานเกี่ยวกับหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินในการตรวจประเมิน และรับรองคุณภาพหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย หรือ TEMSA ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ผ่านการตั้งคณะทำงานรับรองมาตรฐานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ต้องควบคุม การบริหารจัดการองค์กรการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยปัจจุบันมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดทั้งหมดจำนวน 80 แห่ง และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินกว่า 8,700 แห่ง ทั่วประเทศที่อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพ

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ยังมีศูนย์วิชาการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ Emergency Pre-paredness Academy Center (EMPAC) ทำงานคู่ขนานกับการพัฒนาบุคลากรด้วย โดยมีหน้าที่ พัฒนาและจัดทำหลักสูตรเฉพาะทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เกี่ยวกับการฝึกอบรม ฝึกทักษะและความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบเจอในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น หลักสูตรการดูแลผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล หลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หลักสูตรการปฏิบัติการฉุกเฉินในพื้นที่เหตุการณ์ความมั่นคง เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังมีการขยายความร่วมมือด้านการแพทย์ฉุกเฉินในอาเซียน โดยเฉพาะ การอบรมกู้ชีพ การแลกเปลี่ยนบุคลากรให้ความรู้หากเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์การเกิดสึนามิที่ผ่านมาและในส่วนของสถานพยาบาลเอง สพฉ.ก็มีการออกกฎหมายการคัดแยกผู้ป่วย ซึ่งการคัดแยกดังกล่าว นำมาสู่สิทธิ 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' หรือ UCEP ดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยปัจจุบันพบว่ามีประชาชนเข้าถึงกว่า 2 หมื่นราย

“ขอย้ำว่าสิทธิ UCEP หรือ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ คือสิทธิการรักษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น ผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน เป็นต้น สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนกว่าจะพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ภายใน 72 ชั่วโมง” เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าว

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า พัฒนาการที่สำคัญอีกอย่าง คือระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเเบบพิเศษ ที่นอกจากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ทางบกแล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายทางน้ำ และทางอากาศเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย โดยเฉพาะทางอากาศ ที่มี Thai sky doctor ทางภาคเหนือเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา และในอนาคตจะมีการขยายไปทั่วประเทศต่อไป ขณะที่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางน้ำ ก็มีการอบรมการกู้ชีพทางน้ำ ซึ่งวันนี้ การอบรมการกู้ชีพทางน้ำ ได้มีการสอนไปยังโรงเรียนต่างๆ ทำให้นักเรียนสามารถลอยตัวอยู่บนน้ำได้ เชื่อว่า แผนการกระจายความรู้เรื่องการกู้ชีพทางน้ำไปสู่โรงเรียน มีการสอนให้นักเรียนลอยตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กเมื่อ 10 ปีก่อนจาก 1,400 คน เหลือเพียง 700 คนในปีนี้

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าวว่า นอกจากนี้ สพฉ.เอง กำลังจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคตที่มีทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การพัฒนาระบบฝึกซ้อมการกู้ชีพฉุกเฉิน เกี่ยวกับสาธารณภัย การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่การท่องเที่ยวและการกีฬา ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกันนี้ สิ่งที่ต้องเร่งทำและพัฒนาไปสู่อนาคตที่สำคัญ คือ การสื่อสารโซเชียลมีเดีย ที่ทุกวันนี้ ประชาชนมีการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยในปีหน้าและในปีต่อๆ ไป สพฉ.จะมุ่งเน้นการทำสื่อออนไลน์ ให้เพิ่มขึ้น เนื้อหา สำคัญคือ การเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวการการกู้ชีพฉุกเฉินที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ การทำ CPR หรือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต หรือ AED ที่ต้องทำอย่างไร และใครทำได้บ้างผ่านห้องเรียนออนไลน์ เมื่อเรียนแล้ว ก็ต้องมาอบรมเพิ่มเติมอีกด้วย เพราะทุกวันนี้เท่าที่ดูข้อมูลมีการเผยแพร่ความรู้ เรื่อง การทำ CPR แบบผิดๆ อยู่ โดย สพฉ.จะเฝ้าดูและให้ข้อมูลที่ถูกต้องสู่สาธารณะต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท