สุรพศ ทวีศักดิ์: อุดมการณ์ในกฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/metal/2007/04/19/entry-1

 

ในที่สุด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ก็ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เนื้อหาสำคัญอาจแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

 

ส่วนแรก ยืนยันอุดมการณ์ของระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา ที่สืบทอดมาโดย “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี”  ซึ่งระบุไว้ในตอนท้ายของ “หมายเหตุ” ของกฎหมายฉบับนี้ว่า

 

...เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็นผาสุกแก่ประชาชนและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมายให้เป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

 

ที่ว่า “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” นั้น แบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ ด้านการปกครองฝ่ายอาณาจักร และด้านการปกครองฝ่ายพุทธจักร ดังคำปรารภที่แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการตรา พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า

 

ทุกวันนี้ การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไขและจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสังฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย พระศาสนาก็จะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณ ในสงฆ์สำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก

 

ดังนั้นกฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่นี้จึงเป็นการยืนยันอุดมการณ์ของระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา อันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือ ยืนยัน “พระราชอำนาจในการปกครองด้านพุทธจักร” ให้ชัดเจนขึ้น

 

ส่วนที่สอง ระบุเป้าหมายของการอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา ในมาตรา 5 ตรี ว่า

 

เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแล การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามพ.ร.บ.นี้

 

เป็นการระบุรูปธรรมของพระราชอำนาจด้านการปกครองพุทธจักรให้ชัดเจนขึ้นว่า หมายถึง “พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตาม พ.ร.บ.นี้” ซึ่งพระราชอำนาจดังกล่าวนี้มีเป้าหมายเพื่ออุปถัมภ์ คุ้มครอง ปกครองคณะสงฆ์ ส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา รักษาพระธรรมวินัย อันเป็นเป้าหมายแบบเดียวกับรัฐพุทธศาสนายุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

 

ส่วนที่ 3 ระบุรายละเอียดลงไปว่า พระราชอำนาจเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง ถอดถอน ตำแหน่งการปกครองของคณะสงฆ์ระดับสูงอย่างไรบ้าง (นอกเหนือจากพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ที่แก้ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ <ฉบับที่ 3> พ.ศ.2560 ไปแล้วครั้งหนึ่ง) ว่า

 

 “มาตรา 12 มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่ การปกครองคณะสงฆ์ การแต่งตั้งตามวรรค 1 และการดำเนินการตามมาตรา 15 (4) และวรรค 2 ให้เป็นไป ตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้”

 

“มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

 

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้ง พระภิกษุตามมาตรา 12 รูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรค 2 ให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”

 

 “มาตรา 20/1 เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภายใต้บังคับมาตรา 20/2 การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

 

“มาตรา 20/2 การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริ เป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพ.ร.บ.นี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น”

 

จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของกฎหมายสงฆ์ฉบับนี้ เป็นการเน้นความสำคัญของ “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” ซึ่งหมายถึง “พระราชอำนาจในการปกครองด้านพุทธจักร” แบบสมัย ร.5 โดยเชื่อมโยงบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐด้านพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 67 ที่ว่า

 

รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

 

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ มาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลาย พระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าวด้วย

 

การเพิ่มพระราชอำนาจในกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ จึงมีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาชัดเจนขึ้น ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา และมีการแก้ไขข้อความให้เน้น “พุทธเถรวาท” ชัดเจนขึ้น พร้อมกับกำหนดให้รัฐ “มีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลาย พระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าวด้วย” อันเป็นผลของการต่อรองผ่านกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญยุคปฏิรูป

 

เมื่อกล่าวจำเพาะ “เนื้อหา” ของกฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่ ทำให้ผมนึกถึงข้อเสนอของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ในหนังสือ “พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เรื่องเก่าที่เถียงกันใหม่” ตอนหนึ่งว่า “กฎหมายสงฆ์ไม่ควรเน้นเรื่องอำนาจการปกครอง แต่ควรเน้นเรื่องการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้มีคุณภาพมากกว่า”

 

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกว้าง ศาสนาต่างๆ พยายามปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ในแบบที่แตกต่างกัน เช่น ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมี “รัฐอิสระ” ของตนเองที่แยกจาก “รัฐโลกวิสัย” (secular state) คือ “รัฐวาติกัน” ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองทางศาสนาโดยเฉพาะ อันเป็นศูนย์กลางของคริสตจักรทั่วโลก คริสต์คาทอลิกประกาศ “เสรีภาพทางศาสนา” และอ้างว่า “แนวคิดโลกวิสัย” (secularism) มีอยู่แล้วในคัมภีร์ศาสนาของตน ศาสนจักรคริสต์นิกายนี้จึงกระจายอยู่ในรัฐโลกวิสัยและรัฐแบบอื่นๆ (ที่ไม่กีดกันศาสนาคริสต์) ทั่วโลก

 

แปลว่า แม้ศาสนจักรคาทอลิกจะไม่เรืองอำนาจมากในยุโรปแบบยุคกลาง แต่จำนวนศาสนิกกลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในยุโรป หากแผ่ขยายไปทั่วโลก เพราะมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง และมีศาสนจักรในประเทศต่างๆ ที่ปรับตัวตามบริบทการปกครองของประเทศนั้นๆ ช่วยขยายจำนวนศาสนิก ส่วนคริสต์นิกายอื่นๆ ที่ต่างมีศาสนจักรเป็นเอกเทศของตนเอง เมื่อองค์กรไหนประสบปัญหาในการบริหารจัดการ ก็ล้มไปเองทีละแห่งสองแห่ง

 

การปรับตัวเข้ากับเสรีภาพทางศาสนาในโลกสมัยใหม่ หรือโลกเสรีนิยม และการขยายจำนวนผู้นับถือเป็นอันดับหนึ่งของโลกของศาสนาคริสต์ ทำให้อิสลามปรับตัวในด้านตรงกันข้าม คือเน้นความเป็นรัฐศาสนา หรือผนวกศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐมากขึ้น ขณะที่ชาวมุสลิมมีเสรีภาพทางศาสนาในรัฐโลกวิสัยที่คนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ แต่วิถีปฏิบัติแบบคริสต์กลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในโลกมุสลิมแถบตะวันออกกกลาง

 

ส่วนพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา พยามอ้างประวัติศาสตร์ทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีตเป็นเหตุผลในการผนึกรวมศาสนาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา

 

ในอดีตพุทธเถรวาทแถบนี้ระแวงการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ที่มาพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม ต่อมาในช่วงเวลาหนึ่งระแวงลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่วนปัจจุบันระแวงอิสลาม การพยายามผนวกตัวเองเข้ากับรัฐมากขึ้นของพุทธไทยจึงเป็นทางเลือกที่เชื่อกันว่า จะรักษาความมั่นคงของพุทธศาสนาเอาไว้ได้ ทั้งจากภัยคุกคามภายนอกจากศาสนาอื่น และภัยคุกคามภายในที่เกิดจากการสอนผิด ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ถูกต้องตามพระไตรปิฎก

 

แต่ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาไทย ถือว่ามีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นๆ คือทำให้รัฐไทยจะเป็น “รัฐโลกวิสัย” ก็เป็นไม่ได้ จะเป็น “รัฐศาสนา” ก็ไม่ใช่อีก เหมือนกับจะเป็นเสรีประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ จะเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบก็ไม่เชิง จึงต้องฉีก-เขียนรัฐธรรมนูญบ่อยๆ แก้กฎหมายสงฆ์บ่อยๆ แบบที่เป็นมาและยังจะเป็นต่อไป ด้วยประการฉะนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท