Skip to main content
sharethis

'มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์' เสนอ 'อธิบดีกรมควบคุมโรค' เนื่องในวันตับอักเสบโลกให้พิจารณาเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัย-ลดข้อจำกัดในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาดีในระบบประกันสุขภาพมากขึ้น

 

(ซ้ายมือ) ผู้รับมอบหนังสือ นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุขนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค รองประธานคณะอนุกรรมการป้องกันควบคุมโรคตับอักเสบจากไวรัส

23 ก.ค. 2561 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณะสุข ห้องประชุมจันทวิมล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ได้ร่วมเข้ายื่นข้อเสนอต่ออธิบดีกรมควบคุมโรคให้เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันถึงแม้ว่าระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยได้ครอบคลุมถึงตัวยาการรักษา แต่เงื่อนไขในการวินิจฉัยโรคนั้นทำให้ผู้ป่วยยังไม่สามารถไปถึงขั้นตอนการรักษาได้ หรือแม้ว่าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจริงแต่หากยังไม่ถึงเกณฑ์การเข้ารับการรักษาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้

โดยในวันนี้ กรมควบคุมโรคจัดแถลงข่าวสัปดาห์วันตับอักเสบโลกเพื่อเปิดแคมเปญสำหรับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการแถลงถึงตัวยารักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิด DAAs ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ ระบุว่า ปัจจุบันตัวยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้นมี โซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ (Sofosbuvir/Ledipasvir) สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 1,2,4,5,6  และ เพคอินเตอเฟรอน โซฟอสบูเวียร์ ไรบาไวริน (Peginterferon/Sofodbuvir/Ribavirin) สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 3 แต่เนื่องจากตัวยาทั้งหมดนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียา จ(2) ที่มีเงื่อนไขและแนวทางกำกับที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่ระบุว่าโรงพยาบาลที่จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคนั้นต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองหรือต้องเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในความเป็นจริงโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับท้องถิ่นนั้นมีจำนวนแพทย์ดังกล่าวไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยต้องการวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซีในแต่ละครั้งอาจจำเป็นต้องเดินทางข้ามอำเภอหรือข้ามจังหวัด และขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยนั้นก็ไม่ได้จบลงด้วยการไปโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียว นั่นเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายคนหลุดจากระบบการตรวจวินิจฉัยจากปัญหาค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

“การรักษาโรคไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามียาที่ดีเสมอไป หากระบบยังไม่เอื้อหนุนให้คนสามารถรับรู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ยาที่ต่อให้มีประสิทธิสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ป่วยในประเทศลดลงได้” จีระศักดิ์ ศรีประมง หัวหน้าโครงการเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ กล่าว

นอกจากนี้ระบบการคืนเงินกลับไปยังหน่วยบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมีเงื่อนไขที่ว่าหากผู้ป่วยนั้นได้รับการยืนยันว่าป่วยจริงแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การรักษาก็ยังไม่สามารถรับยาได้ เช่น ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อจริงจากการตรวจ RNA แต่มีค่าเชื้อน้อยกว่า 5,000 IU/ml ผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถรับยาได้ต้องกลับมาตรวจเพิ่มอีกภายหลัง

“โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินโรคช้า ถือว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามได้เป็น 10 ปี แต่ก็ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนได้ หากการรักษายังต้องรอให้ผู้ป่วยป่วยถึงขั้นวิกฤติแล้วค่อยทำการรักษา ความชะล่าใจนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถกำจัดไวรัสตับอักเสบซีออกไปได้” จีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net