Skip to main content
sharethis

สภาการพยาบาล จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยมีพยาบาลวิชาชีพใน รพ.ระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

23 ก.ค. 2561 ที่ จ.น่าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสื่อสารข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 250 คน ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพใน รพ.ระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า พยาบาลนั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการให้บริการสาธารณสุข การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาการพยาบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่าใน 1 ปี ต้องรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จัดรับฟังความเห็นมาโดยตลอด แต่อาจจะไม่ได้เจาะจงถึงวิชาชีพ

นายกสภาการพยาบาล กล่าวต่อว่า จึงได้มีการพูดคุยกันว่า พยาบาลถือเป็นวิชาชีพด่านหน้าและเป็นคนหน้างานที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมาก และเป็นสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขที่มีมากที่สุดในระบบบริการ ดังนั้นน่าจะมีการจัดรับฟังความเห็นเฉพาะจากคนที่อยู่หน้างาน จึงเป็นที่มาของการทำโครงการนี้ร่วมกับ สปสช. โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2560 จัด 1 ครั้งที่กรุงเทพฯ ปี2561 นี้ ขยายเป็น 2 ครั้ง คือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ปีต่อไปอาจจะขยับไปภาคอื่น การรับฟังความเห็นจากพยาบาลถึงปัญหาที่พบเจอในการทำงาน ทางฝ่ายนโยบายจะได้นำไปปรับและแก้ไขเพื่อให้การทำงานจริงมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

“นอกจากการจัดรับฟังความเห็นแล้ว ก็เห็นว่าปัจจุบันมีนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ออกมามาก ปัจจุบันที่เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิ์ หรือ UCEP, ระบบบริการปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกลไกคลินิกหมอครอบครัว(PCC), การคุ้มครองสิทธิ์ผู้ให้บริการมาตรา 18(4) และผู้รับบริการตามมาตรา 41 เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เพิ่งดำเนินการ จึงเห็นว่าน่าจะมีการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งทั้งการให้ข้อมูลและการรับฟังความเห็นเพื่อให้ระบบยั่งยืนเป็นธรรมอยู่คู่กับสังคมไทยได้ต่อไป” รศ.ดร.ทัศนา กล่าว  

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้ร่วมกับสภาการพยาบาลจัดทำโครงการสื่อสารข้อมูลและรับฟังความเห็นผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ซึ่งปี 2561 นี้ จัดเป็นปีที่ 2 สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มพยาบาล โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่า สปสช.จัดรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำในทุกปี แต่อาจจะไม่ได้รับฟังจากกลุ่มพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าของระบบบริการ ทางสภาการพยาบาลจึงเห็นว่าควรจัดรับฟังความคิดเห็นและขยายเนื้อหาเรื่องการสื่อสารข้อมูลเชิงนโยบายต่างๆที่ออกมาด้วย นอกจากรับฟังความเห็น

“ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาจัดระดับใหญ่ที่กรุงเทพฯ ครั้งเดียว ปี 2561 นี้ สภาการพยาบาลหารือและเห็นว่าควรรับฟังในเขตภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งปี 2561 นี้ก็จัด 2 ครั้งและปีต่อไปก็อาจจะขยายไปภาคอื่น ผลการรับฟังที่ผ่านมาก็เข้าสู่กระบวนการตามลำดับ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายประการที่มาจากการรับฟังความเห็น ซึ่ง สปสช.ได้คืนข้อมูลที่ได้จากการรับฟังให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.

โดยได้จัดแบ่งกลุ่มแสดงความเห็นแต่ละกลุ่ม คือ 1.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน 2.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการสนับสนุนงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 3.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน 4.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการดำเนินงานด้านการจัดบริการปฐมภูมิ 5.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการคุ้มครองสิทธิ์ 6.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการคุ้มครองสิทธิ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net