Skip to main content
sharethis

ย้อนดูการประชุมลับของ สนช. ที่นอกจากเรื่องความมั่นคง หรืองบกลาโหมแล้ว การถอดถอนนักการเมืองย้อนหลัง การพิจารณาคุณสมบัติ กกต. การอภิปรายสมาชิกที่โดดประชุม หรือการผ่านกฎหมายบริหารราชการในพระองค์ ก็ต้องดำเนินการประชุมแบบปิดลับด้วยเช่นกัน

ภาพหน้าจอโทรทัศน์วงจรปิดรัฐสภาเมื่อมีการประชุมแบบปิดลับ (ภาพจากเดลีนิวส์)

ประชุมลับ คือหนึ่งในมาตรการที่ถูกใช้บ่อยในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อที่ 13 ระบุว่า “ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ” ซึ่งจะไม่อนุญาติให้สื่อมวลชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังเนื้อหาการประชุม รวมถึงงดการกระจายเสียง และแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภา

การประชุมลับกรณีล่าสุดที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วบ้านทั่วเมือง คือการประชุมลับของของคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงกลาโหมโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง แต่นอกจากประเด็นด้านความมั่นคงแล้ว การประชุมอื่นๆ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การอภิปรายถอดถอนนักการเมืองย้อนหลัง หรือการอภิปรายสมาชิกที่โดดประชุม ทาง สนช. ก็มีมติให้เป็นการประชุมลับด้วยเช่นกัน และนี่คือ 5 การประชุมของ สนช. ที่น่าตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงต้องเป็นความลับ?”

1. พิจารณาคุณสมบัติ กกต.

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา สนช. ได้มีมติเปิดการประชุมลับเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดใหม่ จำนวน 7 คน ประกอบไปด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีต ผวจ.หลายจังหวัด 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 7.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผลของการประชุมคือมีผู้ผ่านการรับรอง 5 คน ยกเว้นนายสมชาย และนายพีระศักดิ์

การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ กกต. ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยในการสรรหารอบที่ 1 สนช. ได้มีมติไม่รับรองคุณสมบัติของผู้ผ่านการสรรหาทั้งหมด 7 คน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นเหตุให้กระบวนการสรรหา กกต. ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งการประชุมดังกล่าวก็เป็นการประชุมแบบปิดลับด้วยเช่นกัน โดยทาง สนช. อ้างว่า เพื่อต้องการให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ รายงานผลการสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ทั้ง 7 คน ให้ที่ประชุม สนช. รับทราบ

ในอดีต หน้าที่ในการรับรองคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. เป็นของสมาชิกวุฒิสภา โดยในการประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ กกต. เมื่อปี 2556 กลับไม่มีการขอให้เปิดการประชุมลับแต่อย่างใด และนอกจาก นอกจาก กกต. แล้ว ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือบอร์ด กสทช. ทาง สนช. ก็มีมติให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับเช่นกัน

2. อุ้ม 7 สนช. โดดประชุม

ต้นปี 2560 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สนช. หลัง ไอลอว์เปิดเผยว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ 1. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3. นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี 5. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง และ 7. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการประชุม สนช.ในรอบ 90 วัน เสี่ยงต่อการพ้นสมาชิกภาพตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557

จากกรณีดังกล่าว สนช. ได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิกทั้ง 7 คน และได้มีการประชุมลับขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ระบุว่า สมาชิกทั้ง 7 คน ได้ยื่นใบลาเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างถูกต้องตามระเบียบ จึงไม่ถือว่าขาดการประชุม โดยที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม ไอลอว์ได้ติดต่อไปทาง สนช. เพื่อขอดู “รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับกรณีการไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 63 และข้อ 82” แต่ได้คำตอบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นความลับ หรือแม้กระทั่งใบลาของสมาชิกทั้ง 7 คน ทาง สนช. ก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นเอกสารส่วนบุคคล

ในวันเดียวกันนั้น สนช. ยังได้ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. ออก โดยยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน

3. ถอดถอนย้อนหลังยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

16 มกราคม 2558 สนช. เปิดการประชุมเพื่อดำเนินการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเนื่องจากติดภารกิจ จึงส่งผู้เกี่ยวข้อง 9 คนเข้าร่วมอภิปรายแทน

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. หลายคนได้ลุกขึ้นทักท้วงว่า ยิ่งลักษณ์ในฐานะถูกผู้กล่าวหาต้องมาเข้าร่วมการประชุมและตอบการซักถามด้วยตนเอง นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. จึงเสนอญัตติให้เปิดการประชุมลับเพื่อพิจารณาแนวทางการประชุมในกรณีที่ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง โดย,uมติ 153 ต่อ 1 ให้เปิดการประชุมลับ หลังถกเถียงกันเป็นเวลา 40 นาที สนช. จึงได้ข้อสรุปว่าให้ดำเนินการซักถามผู้เกี่ยวข้องในคดีคนอื่นไปก่อน จากนั้นที่ประชุมเริ่มซักถามนายวิชา มหาคุณ กรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และยืนยันไม่ยอมให้ทีมของยิ่งลักษณ์ตอบข้อซักถามแทนเจ้าตัว

4. ถอดถอนย้อนหลังอดีตประธานสภา

17 ตุลาคม 2557 สนช. เปิดการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องที่มาของ ส.ว. โดยที่ประชุมต้องการหาข้อสรุปว่า สนช. มีอำนาจถอดถอนอดีตนักการเมืองทั้งสองคนหรือไม่ นายสมชาย แสวงการได้เสนอญัตติให้เปิดการประชุมลับ โดยอ้างว่าการพิจารณาดังกล่าวอาจกระทบต่อกฎหมาย ข้อเท็จจจิง และบุคคลภายนอก ซึ่งที่ประชุมมีมติ 175 ต่อ 1 งดออกเสียง 6 ให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับ  ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน ทาง สนช. ได้ลงมติเรื่องดังกล่าวด้วยคะแนน 87:75 ให้ สนช. มีอำนาจในการรับรายงานของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา

5. ผ่านกฎหมายบริหารราชการในพระองค์ 3 วาระรวด

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 สนช. เปิดการประชุมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ทางคณะรัฐมนตรีได้ขอให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับ โดยอ้างระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นเรื่องลับที่สุดทุกขั้นตอน

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหลือเพียง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1.สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ และ 3.สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและได้ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยบอกเพียงว่าเป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net