Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  RCEP จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและการพัฒนาสิทธิสตรี (RCEP will impact Thailand’s ability to improve people quality of life and advancement of women rights)

เผยแพร่ครั้งแรกใน Bangkok Post, 16 July 2018
https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1504178/investor-vs-state-interests-debate-heats-up 


ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี (แฟ้มภาพ)

หากจะพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร รวมถึงการพัฒนาสิทธิผู้หญิง สิทธิแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม การปฏิรุปที่ดินเพื่อการคุ้มครองสิทธิของชาวนา การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือแม้กระทั่งสิทธิพื้นฐานด้านประชาธิปไตย คงต้องบอกว่ายังมีอะไรให้ทำอีกมากมายในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายใหม่ๆ จะต้องเรียกร้องให้นายจ้าง นักลงทุน และคนรวยมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อประเด็นที่กล่าวมา และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนไทย การกระทำใดก็ตามที่จะเป็นการขัดขวางการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังกล่าวนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้น

ตั้งแต่รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการจัดตั้งรัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิอื่นๆ มากขึ้น ปัญหาเรื่องที่ดินทวีความรุนแรงจนถึงขั้นที่ 811,892 ครอบครัวในประเทศไทยนั้นไม่มีที่ดินทำกิน และ 1.5 ล้านครอบครัวจำเป็นต้องปล่อยเช่าที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินในเมืองไทยนั้นถูกครอบครองโดยกลุ่มคนไม่เกิน 50 คนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเราต้องการเห็นการปฏิรูปที่ดินที่ชาวนาจะได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจากที่ดินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
 
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในชุมชนกลายเป็นปราการด่านหน้าในการต่อสู้ของคนจนในชนบทเพื่อสิทธิในการตัดสินใจเหนือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง แต่กลายเป็นว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน การข่มขู่นั้นมีตั้งแต่การจ้างมือปืนบุกเข้าไปในชุนชนยามวิกาล การสังหารนอกกฎหมาย การขู่ฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า การฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิ การควบคุมสื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย การต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้การจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่นการออกกฎหมายพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะโดยรัฐบาลทหาร รวมถึงการให้สัมปทานกับเหมืองใหม่ การสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกระบวนการตัดสินใจใดๆ สี่ปีหลังรัฐประหาร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากชุมชนอย่างน้อย 222 คนต้องเผชิญกับการขึ้นศาลเพียงเพราะพวกเธอต้องการปกป้องสิทธิในที่ดิน สิทธิความเป็นอยู่ และสิทธิชุมชนของตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าต้องมีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชน หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรม  

ในอนาคตอันใกล้นี้ มีอะไรอีกมากมายที่ต้องทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทย รวมถึงการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย และประชาชนไทยจะต้องจับตากฎหมายหรือนโยบายใดก็ตามที่จะขัดขวางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย และคุณภาพชีวิตของผู้หญิง  

การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  RCEP ครั้งที่ 23 ที่เริ่มขึ้นในกรุงเทพฯ และจะจบลงในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่อาจจะขัดขวางการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทย 

ข้อตกลงทางการค้าอย่าง RCEP และข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ นั้นปกป้องคุ้มครองนายทุนและให้สิทธิพิเศษแก่นายทุนเหนือประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงทางการค้านั้นๆ แต่ไม่ได้ระบุว่านายทุนซึ่งหมายถึงบรรษัทและผู้ถือหุ้นซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการลงนามจะต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายใดๆ กล่าวโดยสรุปคือข้อตกลงการค้านั้นบังคับให้รัฐที่ลงนามไม่ทำการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของนายทุน และถ้าประเทศไทยไม่คิดจะทำการใดๆ ในทางกฎหมายก็เท่ากับว่านักลงทุน บรรษัท และผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิตามกฎหมายในการฟ้องรัฐบาลไทยตามข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นคือคดีต่างๆ เหล่านี้จะไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลไทย แต่จะอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลประเทศอื่นๆ และคดีจะถูกพิจารณาตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการสู้คดีเหล่านี้ และหากประเทศไทยแพ้คดี ไทยอาจจะถูกบังคับให้จ่ายค่าเสียหายหลักพันล้านบาทจากภาษีของประชาชน แทนที่ภาษีเหล่านี้จะถูกใช้ไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย 

ในปี 2558 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติระบุว่ารัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะผ่านกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเฉพาะสิทธิสตรีน้อยลง เพราะกลัวถูกฟ้องภายใต้ข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ว่า “เราเชื่อว่ามีบรยยากาศแ่งความกลัวเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ เมื่อรัฐถูกลงโทษจากการออกข้อบังคับ เช่นข้อบังคับในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางอาหาร การเข้าถึงยาสามัญและยาพิเศษ หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ”

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มวีโอเลียซึ่งเป็นกลุ่มบรรษัทข้ามชาติฝรั่งเศสกำลังฟ้องร้องรัฐบาลอียิปต์ภายใต้ข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (ISDS) เนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประเทศไทยจะสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตได้หรือไม่ ประเทศไทยจะสามารถออกข้อคับให้นายจ้างตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กเพื่อคนงานได้หรือไม่ ประเทศไทยจะสามารถผ่านกฎหมายเรียกร้องให้นายจ้างสมทบทุนเพื่อสวัสดิการที่ดีกว่าสำหรับคนงานและครอบครัวได้หรือไม่

ในเม็กซิโก เมื่อชุมชนเรียกร้องให้มีการคืนที่ดินหลังจากเทศบาลซิมาปานได้จัดหาพื้นที่ทิ้งขยะพิษให้นายทุน และเทศบาลทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในปี 2556 กลุ่มนักลงทุนจากสเปนกลับฟ้องร้องเม็กซิโกภายใต้ข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ และได้รับค่าเสียหายเป็นมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ  เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน เมื่อที่ดินที่รัฐเคยอนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรมถูกยึดคืนและนำไปให้บริษัทใหญ่ แน่นอนว่าเกิดการประท้วงและข้อพิพาททางกฎหมาย รัฐบาลไทยจะสามารถคืนที่ดินให้กับชุมชนเพื่อนำไปใช่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้หรือไม่


ชาวบ้าน "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" รวมตัวตรวจสอบรถเข้าออกเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนใน 6 หมู่บ้านของ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อ 18 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทหลังเหมืองทองคำพยายายามขนแร่ออกจากพื้นที่ (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ในจังหวัดเลย การทำเหมืองทองส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนที่อยู่รอบเหมืองรวมไปถึงการทำเกษตรกรรมของพวกเขา กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกำลังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่พวกเขาสมควรได้รับ ประรัฐบาลไทยจะสามารถออกข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งสั่งหยุดการทำเหมืองทองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย

ข้อสัญญาการคุ้มครองผู้ลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศให้อำนาจบรรษัทเหนือรัฐชาติในศาลปิดลับ หากรัฐผ่านกฎหมาย นโยบาย หรือข้อบังคับใดที่จะมีผลต่อการทำกำไรของบรรษัทเหล่านั้น ข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้จะมีผลต่อประเทศไทยในการออกกฎหมายและข้อบังคับที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย หากบรรษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายหรือนโยบายดังกล่าว ประเทศไทยก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีเหมือนกับอียิปต์และเม็กซิโก

นั่นหมายความว่าประเทศไทยอาจจะไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ออกกฎหมายให้นายจ้างเพิ่มสวัสดิการให้คนงาน ซึ่งรวมถึงการมีบริการรับดูแลเด็กเล็กในสถานที่ทำงาน การเพิ่มวันลาคลอดและดูแลบุตรทั้งฝ่ายแม่และพ่อ การจ่ายค่าแรงคนงานหญิงในช่วงลาคลอดหรือช่วงมีประจำเดือน นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะไม่สามารถออกกฎหมายเรียกร้องให้มีสภาพการจ้างงานที่ปลอดภัยมากขึ้น หรือแม่กระทั่งกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 

หลายคนอาจจะโต้แย้งว่าข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประชาชนชาวไทยพร้อมจะเสียสละคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือไม่ ยังไม่นับความกังวลอีกประการว่าการเติบโตทางเศรษฐิจที่ว่านี้จะไม่นำมาซึ่งการกระจายรายได้ในระดับประเทศ สุดท้ายแล้วคนรวยและชนชั้นนำจะเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับผลประโยชน์จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ และในชั้นล่างสุดของห่วงโซ่การแข่งขันที่ว่านี้ ผู้หญิงมักจะถูกหลงลืมเสมอ งานของผู้หญิงในฐานะแม่และคนดูแลครอบครัวไม่เคยได้รับการยอมรับ และเป็นงานที่ไม่มีค่าจ้าง ผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงที่บ้านและในที่ทำงาน ผู้หญิงตกงานเมื่อสถานการณ์การจ้างงานมีปัญหาและถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานหรือทำงานประเภทใดก็ตามเพื่อเอาชีวิตรอด ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านและดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน ผู้หญิงในประเทศไทยใช้เวลามากกว่าผู้ชายถึง 3.5 เท่าในการทำงานบ้านที่ไม่มีค่าจ้าง

ถ้ารัฐไทยมีความจริงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิง การถกเถียงแลกเปลี่ยนและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชนก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใดๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าประเทศไทยคงไม่ต้องการถูกมัดมือชกและจำกัดโอกาสในการปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยภายใต้ข้อตกลงทางค้าต่างๆ


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปรานม สมวงศ์ สมาชิกสมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD), ผู้แทนองค์กร Protection International ประจำประเทศไทย และนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net