Skip to main content
sharethis

เรื่องราวของพัน น้ำสุพรรณ บัณฑิตป้ายแดง เรียนจบนิติศาสตร์ ที่ทำงานเป็นทนายฝึกหัดอยู่เกือบปีจนหมดระยะเวลาการผ่อนผันทหารเกณฑ์ ท้ายที่สุดก็เลือกเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อสมัครเข้ารับใช้ชาติให้สมชื่อ “ชายชาติทหาร” เมื่อจบหลักสูตรการฝึก ก็ได้ย้ายไปเป็นทหารรับใช้ที่บ้านพันเอกผวน จนตกหลุ่มรักผู้กองฉวีผ่อง และเรื่องราวของทหารเกณฑ์ผู้น้อยที่คิดจะเด็ดดอกฟ้าก็เริ่มต้นขึ้น ในโลกที่ค่ายทหารมีแต่ความสนุกสนาน ตลกขบขัน ความสุข และมิตรภาพ

แต่ดูเหมือนว่า โครงเรื่องที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากปลายปากกาของ กาญจนา นาคนันท์ ผ่านนิยายไตรภาค “ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง และผู้กองอยู่ไหน” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ และละคร รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ไม่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมที่ดีเท่าไหร่นัก หากแต่เป็นการสร้างภาพจำที่ดีให้กับ “สถาบันทหาร” เสียมากกว่า และละเลยที่จะตั้งคำถามความอยุติธรรม จนทำให้มันกลายเป็นเรื่องปกติ

โอกาสน้อยเหลือเกินที่จะพบเจอสาวสวยอย่างผู้กองฉวีผ่อง ที่ค่อยเติมเต็มหัวใจของทหารเกณฑ์ผู้น้อย ไม่มีความรัก ไม่มีความงามแฝงซ้อนอยู่ในค่ายทหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ปรากฎอย่างเด่นชัดที่สุดในค่ายทหารคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการเกณฑ์ที่บังคับให้ชายไทยทุกคนเมื่อมีอายุครบกำหนดจะต้องไปเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ ไปจนถึงการการใช้ชีวิตในค่ายทหารที่ไร้กลไกในการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม

ไม่มีไอ้พันในผู้กองยอดรัก มีแต่เกาลูนเลี้ยงไก่ชน

14 ก.ค. 2561 พลทหารนายหนึ่งอัพโหลดคลิปลงเฟซบุ๊คส่วนตัว ชื่อผู้ใช้เกาลูน ลายน้อย เล่าเรื่องราวความอึดอัดคับข้องใจ ตั้งใจสมัครมาเป็นทหารเกณฑ์รับใช้ชาติ แต่สุดท้ายถูกนำตัวมาเป็นทหารรับใช้ในฟาร์มไก่ชนส่วนตัวของผู้กอง นอนบนแคร่ไม้ หมอนหนึ่งใบ ผ้าห่มหนึ่งผืน มีเตาแก๊ส หมอหุ้งข้าว ตู้เย็นเล็กๆ ตู้หนึ่งที่ใส่อาหารไก่จนเต็มแน่น ไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับแช่อาหารคน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เพิงไม้เล็กๆ ไม่มีประตูเข้าออก ไม่มีห้องน้ำ 4 ด้านเปิดโล่ง รายล้อมด้วยเล้าไก่ พลทหารรายดังกล่าวถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นทหารที่พบเจอลงโซเชียลมีเดีย สุดท้ายแล้วกองทัพสั่งสอบตรวจผู้กองเจ้าของฟาร์มไก่ชน แต่ยืนกระต่ายขาเดียว ยืนยันว่าไม่มีการเรียกทหารไปรับใช้ มีเพียงแต่การยืมตัวมาช่วยราชการเท่านั้น และเป็นไปโดยความสมัครใจ

กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปหลังจากเรื่องนี้ถูกพูดถึงโดยสื่อมวลชน และได้รับความสนใจจากคนในสังคม แต่เชื่อหรือไม่ข่าวคราวลักษณะนี้โครงเรื่องแบบนี้ เวียนวนมาให้เราได้อ่าน ได้เห็นกับแทบทุกปี ทั้งทหารเกณฑ์ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เอาทหารเกณฑ์ไปเป็นเด็กเสริฟในร้านอาหารส่วนตัวของเมียนายทหาร ทำโทษทหารรับใช้โดยการเอาโซ่ล่ามยางนอกล้อรถยนต์ผูกไว้กับเอว ไปจะถึงการทำร้ายร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

เมื่อเรื่องแดงกองทัพก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง บางกรณีได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ บางกรณียังคงเป็นคดีความที่ค้างคา และไม่นานคนก็จะค่อยๆ ลืมเรื่องต่างๆ ไป จนกระทั่งมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาอีก สิ่งเหล่านี้มักถูกแก้ไขที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จากระบบไพร่ ทาส ในโลกเก่า สู่ทหารเกณฑ์ ทหารรับใช้ในโลกใหม่

ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย คือชื่องานวิจัยของ ธนัย เกตวงกต ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ที่เจาะลึกศึกษาถึงที่มาของทหารเกณฑ์ในสังคมไทย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐโบราณ ในรัฐที่ความคิดเป็นความเป็นปัจเจกชน ยังไม่ถูกตระหนักถึง เนื้อตัว ร่างกาย และจิตใจของเราไม่ใช่ของที่เป็นของเรา หากแต่ตัวเราเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถูกดูแลโดยเหล่าขุนนาง ราษฎรทุกคนจึงมีสถานภาพของไพร่โดยปริยาย และไพร่มีพันธะในการทำงานให้กับรัฐในการเกณฑ์แรงงานในแต่ละปี จนกระทั่งในสมัยอยุธยาได้มีการกำหนดวิธีการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร โดยยอมให้ไพร่จ่ายเงินให้กับเหล่าขุนนางเพื่อแลกกับการไม่ต้องรับราชการทหาร ไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารในเวลานั้น ถือเป็นไพร่ที่อยู่นสถานะที่ต่ำที่สุด และผู้คนต่างรู้สึกหวาดกลัวต่อการเป็นทหารมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต

จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่เผชิญหน้ากับปัญหาความไม่สงภายในราชอาณาจักร และปัญหาจากลัทธิล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก จนทำให้รัชการที่ 5 จำเป็นต้องคิดถึงแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความศิวิไลซ์ และคิดถึงการปฏิรูปกองทัพ เนื่องจากกองกำลังที่มีอยู่เดิมมีจำนวนน้อย และไม่มีประสิทธิภาพในการรบ เนื่องจากเป็นกองกำลังที่ถูกระดมมาเป็นครั้งคราวโดยไม่ได้รับการฝึก

เริ่มต้นมีการออกข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122 ขึ้น โดยเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกทหารเกณฑ์ใหม่ และมีการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ถูกรับเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ มีการเริ่มทดลองก่อน 4 มณฑล และมีการออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ 124 (พ.ศ. 2448) ขึ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ยุติธรรมของการ คัดเลือกเป็นทหาร ที่แต่เดิมมีการยกเว้นไพร่พลบาง จำพวก เช่น ไพร่ที่ยอมเสียเงินแทน เป็นต้น ให้ไม่ต้อง รับราชการทหาร และแก้ไขการไร้ความสามารถของ ไพร่ในการใช้อาวุธสมัยใหม่ โดยบังคับใช้ทีละมณฑลจนครบทั้งราชอาณาจักรใช้เวลาทั้งสิ้น 11 ปี ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ลดอำนาจในการควบคุมไพร่พลที่เคยอยู่ในมือของขุนนาง ให้ทหารทุกคนขึ้นต่อรัฐที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง

สำหรับสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ 124 นั้นได้กำหนดให้ ชายฉกรรจ์ที่มีอายุตามเกณฑ์ต้อง เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นทหารรับราชการประจำ 2 ปี เมื่อรับราชการครบ 2 ปีแล้ว ปลดออกเป็นกองหนุน ชั้นที่ 1 และเมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ 1 ครบกำหนด 5 ปี แล้ว จะทำการปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ 2 และเมื่อ อยู่ในกองหนุนชั้นที่ 2 ครบกำหนด 10 ปีแล้ว จึงพ้นจาก ราชการทหาร ทั้งหมดนี้เป็นข้อบังคับที่ใช้โดยทั่วกัน ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดข้อยกเว้นของการเกณฑ์ทหารไว้ด้วยคือ คนเชื้อสายจีน คนป่า คนดอย ผู้พิการ และผู้ที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเว้นโดยเฉพาะ ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2460 ได้กำหนดให้ยกเว้นแก่บุคคล 3 ประเภท คือ 1) คน พิการทุพพลภาพอันแพทย์ได้ตรวจแล้วว่าไม่สามารถ จะรับราชการทหารได้เลย 2) พระภิกษุในศาสนาพุทธ ที่ได้รับสมณศักดิ์และที่เป็นเปรียญ และ 3) คนป่า คนดอย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหา ที่มีบุคคลหนีไปบวชเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้จำต้องกำหนดสมณศักดิ์ของพระภิกษุขึ้นมานั่นเอง

จนกระทั่งปัจจุบันพระราชบัญญัติรับราชการ ทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกอง ประจำการ เป็น 3 จำพวก คือ 1) พระภิกษุที่มี สมณศักดิ์หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์ 2) คนพิการ ทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้และ 3) บุคคล ซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งบุคคลจำพวกที่สาม นี้ในกฎกระทรวงระบุถึงการยกเว้นสำหรับบุคคล สัญชาติไทยที่เป็นคนชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ทั้งยังมีข้อกำหนดในการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกทั้งเกณฑ์จากสมัยรัฐโบราณสู่สมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยกเลิกระบบไพร่ทาส มาสู่การเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ซึ่งมีการบังคับใช้มาจนถึงปัจุบัน แต่ที่สุดแล้วก็อาจจะเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น เพราะถึงที่สุดการเกณฑ์ทหารก็ยังไม่ได้ใช้ระบบสมัครใจ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย สำนึกของผู้คนเริ่มรู้สึกว่า ร่างกาย และจิตใจ เป็นสิ่งที่เป็นของพวกเขา แต่ก็ยังคงมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ ซึ่งที่สุดแล้วทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลือมล้ำตามมา คนจำนวนมาที่เข้าไปรับราการทหารเกณฑ์ยังเป็นผู้มีรายได้ได้น้อย ผู้ที่มีเงินมากก็สามารถติดสินบนเจ้าหน้าที่ทหารที่ดำเนินการตรวจคัดเลือกเพื่อที่จะไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร ซึ่งคล้ายคลึงกับการที่ไพร่สามารถเลือกจ่ายเงินเพื่อที่จะไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ในสมัยรัฐโบราณ เพียงแต่ในเวลานี้เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผยเท่านั้น และผู้รับประโยชน์การกระบวนเปลี่ยนจากรัฐ เป็นนายทหารแทน นอกจากนี้วิธีคิด และการปฏิบัติต่อผู้เข้ารับราชการทหารเกณฑ์ก็ยังคงเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้แตกต่างจากระบบไพร่ ทาส มากนัก

และย้อนกลับไปในอดีต ได้มีการบัญญัติ หน้าที่ของทหารรับใช้ ไว้ในกฎเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2455 ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าการนำทหารไปเป็นคนใช้ประจำตัวนายทหารนั้น เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย โดยอนุญาตให้ทหารชั้นสัญญาบัตรซึ่งมีหน้าที่ปกครองทหารในกรมกองเท่านั้นที่จะมีทหารรับใช้ประจำตัวได้ โดยหากเป็นไปได้จะมีการเลือกจากผู้ที่สมัครใจเท่านั้น โดยทหารที่ถูกเลือกเป็นทหารรับใช้ จะมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทหารที่ตนไปอยู่ด้วย รวมทั้งรับใช้บุตร ภรรยาของนายทหารผู้นั้น ในกิจการบ้านเรือนทุกประการ แม้ทุกวันนี้จะไม่มีการบังคับใช้กฎดังกล่าวแล้ว แต่ยังคงมีนำทหารเกณฑ์ไปรับใช้นายทหารอย่างต่อเนื่อง จนการเป็นจารีตที่ถือปฏิบัติกันสืบมา แม้กระทั่งนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วบางคนก็ยังมีทหารเกณฑ์ไว้คอยรับใช้นอกจากนี้การนำตัวทหารเกณฑ์ไปรับใช้ที่บ้านนายทหาร ยังเป็นช่องทางในการปล่อยทหารเกณฑ์กลับไปใช้ชีวิตนอกรั้วค่าย โดยจะต้องยกเงินเดือนทั้งหมดให้กับนายทหารที่ไปอยู่ด้วย

ยอดความต้องการทหารเกณฑ์เพิ่มสูงขึ้น มีชายไทยปีละครึ่งแสนต้องเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ

สถิติความต้องการทหารกองประจำการตั้งแต่ปี 2547 -2561

ปี

ความต้องการทหารกองประจำการทั้งหมด (นาย)

จำนวนผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร (นาย)

จำนวนผู้ที่ไม่ได้สมัครใจรับราชการทหาร (นาย)

2547

80,345

26,920

53,425

2548

85,444

17,805

67,639

2549

81,090

18,086

63,004

2550

81,701

19,991

61,710

2551

85,760

19,628

66,132

2552

87,041

26,639

60,402

2553

87,452

20,053

67,399

2554

97,280

25,800

65,480

2555

103,555

31,529

72,026

2556

94,480

33,017

61,463

2557

100,865

33,644

67,221

2558

99,373

43,446

55,927

2559

101,307

47,172

54,135

2560

103,097 

50,580 

52,517

2561

104,734 

44,797 

59,937

 

ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงไปเรื่อย แต่ความต้องการกำลังทหารในรอบ 15 ปีนี้ดีดตัวเลขเพิ่มมากขึ้นกว่า 20,000 คน และหากรวมทั้งหมด 15 ปี มีชายทั้งจำนวน 928,417 คน ที่ไม่สมัครใจเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่จำต้องเป็นทหารเกณฑ์จากการจับสลากได้ใบแดง ส่วนคนที่สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์มีเพียงแค่ 459,107 คน

สำหรับเรื่องของงบประมาณรายจ่ายที่รัฐต้องสูญเสียกับการเกณฑ์ทหาร หากคำนวนจำเงินเดือนที่รัฐต้องจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินเดือนให้ 10,000 บาทต่อเดือนต่อคน คำนวณจากยอดทหารเกณฑ์ปี 2560 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 103,097 นาย จำนวนเงินที่รัฐจะต้องจ่ายจะเท่ากับ 1,030,970,000 ต่อเดือน หากคิดเป็นรายปีเท่ากับ 12,371,640,000 ต่อปี

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการเรียกเกณฑ์ทหาร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ กองสัสดีคือค่าใช้จ่าสำหรับคณะกรรมการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายสำหรับการปฐมนิเทศการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี่ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่าวัสดุ และค่าจัดสถานที่ ค่าใช้จ่ายในการสังเกตการณ์ตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองอำนวยการประสานงานตรวจคัดเลือกฯ ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงสถานที่สำหรับการตรวจคัดเลือกฯ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชีเรืยกคัดเลือก และการรับรองผลการตรวจคัดเลือก ค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกอง ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยคณะกรรมการตรวจคัดเลือกฯ ซึ่งประกอบด้วย ค่าพาหนะเดินทาง และค่าอาหารเมื่อรวมทั้งหมดแล้วพบว่า งบประมาณที่รัฐต้องจ่ายให้กับการมีทหารเกณฑ์นั้นอยู่ที่ประมาณ  1.24 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net