Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 ประตู main gate ของ Korea University

ภาพข้างบนนี้ถ่ายจากหน้าประตู ‘main gate’ ของ Korea University เป็นเครื่องเตือนใจถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยและชาวบ้านในชุมชน  Anam ของกรุงโซล ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร ในปี 1960

เกาหลีใต้และไทยดูจะไม่ห่างกันมากในแง่ความลุ่มๆดอนๆ ของเสถียรภาพประชาธิปไตย เพราะการรัฐประหารและปราบปรามประชาชนบ่อยครั้งตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ความแตกต่างอยู่ที่ว่าพวกเขาเรียนรู้ที่จะเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจนเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ ด้วยข้อคิดง่ายๆว่า

“We will not forget what they wanted”


การต่อสู้ของประชาชนเกาหลีใต้

หนึ่งในการรำลึกถึงความสูญเสียในอดีตของประชาชนเกาหลีใต้ เกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์เกาหลีใต้ชื่อ ‘National Security’ (Namyeong-dong 1985 in Korean) บทภาพยนตร์เขียนขึ้นมาจากความทรงจำของ คิม กึน แต อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักการเมือง เขาถูกลักพาตัวและถูกซ้อมทรมานเพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของรัฐบาลนายพลชุน ดู ฮวาน

กรณีของคิม กึน แต เป็นเพียงกรณีการละเมิดสิทธิ์เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ท่ามกลางการกวาดล้างประชาชนจำนวนมาก ภายใต้ระบอบเผด็จการอันยาวนานของนายพล ชุน ดู ฮวาน ระหว่างทศวรรษที่ 1980’s สะท้อนถึงแบบแผนการละเมิดสิทธิประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการได้เป็นอย่างดี หนังเรื่องนี้นำข้อถกเถียงถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในเกาหลีใต้กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง


โปสเตอร์ภาพยนต์ Namyeong-dong 1985

นับตั้งแต่นายพลชุน ดู ฮวาน ทำการรัฐประหารขึ้นครองอำนาจทางการเมือง หลังเหตุการณ์สังหารอดีตประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ในปี 1979 ประชาชนเผชิญการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างกว้างขวาง มีผู้คนถูกทำร้ายในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจับกุมนักเขียน นักกิจกรรม การกวาดล้างผู้นำฝ่ายซ้าย การสลายการชุมนุมคนงาน นักศึกษาประชาชนอีกหลายระลอก ประชาชนนับแสนคนถูกป้ายสีว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ มีการซ้อมทรมาน ผู้คนจำนวนไม่น้อยสูญหายและหากยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ ฯลฯ

สัญญาณของการเปลี่ยนผ่าน เกิดขึ้นหลังการลุกฮือของประชาชนชาวเกาหลีใต้อีกครั้งในปี 1987 จนสามารถกดดันให้สภานิติบัญญัติแก้กฎหมายให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีการเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลโดย โร แต วู ประธานาธิบดีที่สืบทอดอำนาจจากนายพลชุน ดู ฮวาน เริ่มแสดงการยอมรับความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และตรากฎหมายฟื้นฟูเกียรติให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ

ในปี 1989 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยโจมตีพิเศษระหว่างการลุกฮือของชาวเมืองกวางจู ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบทางมโนธรรม และเปิดเผยข้อมูลการทารุณกรรมของกองทัพต่อประชาชน จนกระทั่งในปี 1990 องค์กรภาคประชาสังคม 41 องค์กรจัดกิจกรรมรำลึกการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจู และนั่นปูทางสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้

เมื่อเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ระหว่างปี 1995-2010 ก็ทำให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมในสังคมเกาหลีใต้ก้าวหน้าอย่างมีพัฒนาการตามมาเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี 2010 มีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงขึ้นมา และรัฐบาลพลเรือนทยอยออกแบบขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียดลออ เพื่อชำระความผิดที่ระบอบเผด็จการกระทำต่อประชาชน


กฎหมายพิเศษอุทิศแด่ขบวนการประชาธิปไตย “May 18”

การเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลพลเรือนเปิดฉากขึ้นได้ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการค้นคว้าหาความจริงและคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย มีการเรียกร้องอย่างสูงในหมู่ประชาชนในการคืนความยุติธรรมให้แก่ “ขบวนการประชาธิปไตย” (Democratization Movement) ซึ่งตกเป็นเหยื่อของปราบปรามของระบอบเผด็จการ ที่เมืองกวางจู เมื่อปี 1980

แม้ว่าประธานาธิบดีพลเรือนในเวลานั้นอย่างนายคิม ยอง ซัม (1992-1997) จะวิจารณ์การกระทำของอดีตประธานาธิบดี นายพลชุน ดู ฮวาน อยู่บ้าง แต่คิม ยอง ซัมกลับเชื่อว่าการดำเนินคดีทั้งสองอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพการเมืองและความไม่สงบทางสังคม คิมโต้แย้งความพยายามฟ้องร้องคดีอาญาต่ออดีตประธานาธิบดี ชุน ดู ฮวาน โดยกล่าวว่า “ให้ความจริงควรสงวนไว้สำหรับการตัดสินทางประวัติศาสตร์ในอนาคต” ในระหว่างที่เขาสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1993 มีผู้ชุมนุมไปขัดขวางคิม ยอง ซัมเข้าคารวะสุสานมังวอนทง เพราะโกรธแค้นจากข้อความดังกล่าว

ในปี 1994 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและญาติผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูในปี 1980 ได้เรียกร้องให้มีค้นหาความจริงและดำเนินคดีกับชุน ดู ฮวาน และพวกในข้อหากบฏ ฆาตกรรม และทรยศต่อชาติ

แรกเริ่มเดิมที อัยการของกรุงโซลตัดสินใจที่จะระงับการดำเนินคดีกับอดีตผู้นำกองทัพ 2 คน คือชุน ดู ฮวาน และ โร แต วู  โดยมีความเห็นว่าการยึดอำนาจเมื่อปี 1979 เป็นการรัฐประหารที่กระทำการสําเร็จ แต่ก็ทำการควบคุมเฉพาะกิจการของกองทัพเท่านั้น ในขณะที่สถาบันทางการเมืองหลักอื่นๆ ยังคงทำงานต่อไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้ถูกยกเลิกหรืองดการบังคับใช้จากคณะรัฐประหารแต่อย่างใด ดังนั้นรัฐบาลคิม ยอง ซัม จึงยังคงเป็นผลต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในปี 1995 ว่าการตัดสินใจไม่ฟ้องร้องเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจกระจายในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การเคลื่อนไหวกดดันอีกครั้ง


การเปลี่ยนคำวินิจฉัยครั้งสำคัญ

มีการเปิดเผยข้อมูลทุจริตของเผด็จการทั้งสองออกมาเป็นระยะจากองค์กรประชาสังคมต่างๆในเกาหลีใต้ จนสามารถกดดันให้รัฐบาลคิม ยอง ซัม รัฐบาลพลเรือนในเวลานั้นดำเนินการคืนความเป็นธรรมและตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตของชุน ดู ฮวาน และ โร แต วู

ในเวลาต่อมา รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเหตุการณ์การปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 1980 โดยฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญใน 2 ประการ คือ

หนึ่ง การออกกฎหมายพิเศษนี้เป็นการออกกฎหมายเพื่อมุ่งเอาผิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองไว้

สอง การออกกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อหลักนิติรัฐในประเด็นเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับรองกฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุผลว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ทำไปโดยคํานึงถึงหลักการพื้นฐานที่สําคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชําระสะสางความผิดพลาดในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นเรื่องที่ต้องทําเพื่อให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัย อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันอีกว่าการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.1980 ไม่ขัดกับหลักการกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง

คำวินิจฉัยนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การตรากฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมภายในประเทศ โดยกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปในกรอบการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองใน 4 ประการคือ

1.ดําเนินคดีกับอดีตผู้นําที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง

2.ปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย

3.เยียวยาความเสียหายให้แก่เหยื่อและญาติของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และ

4.ค้นหาความจริงเพื่อนําไปสู่การชําระความผิดพลาดที่รัฐเป็นผู้กระทําในอดีต



 ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ปี 2557 ในไทย
ที่มา: Banrasdr Photo

การล้างผลพวงการรัฐประหารของไทย

จากบทเรียนของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการละเมิดสิทธิประชาชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมากันใหม่อีกครั้ง แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านความรุนแรงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้กระทำความผิดจะถูกนำตัวมาลงโทษ เราอาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ได้จากเหตุการณ์ร่วมสมัยที่สุดคือ หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำรายงานรวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา พบว่า มีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การควบคุมตัวติดตาม การควบคุมการเผยแพร่ข่าว ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะประกาศให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการดำเนินการให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดังปรากฏตัวอย่างในตารางสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่มา: รายงาน 4 ปีภายใต้ คสช. สิทธิมนุษยชน และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย โดยศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน

 

สมานแผลของประวัติศาสตร์

ในวาระครบรอบ 4 ปี ของการยึดอำนาจของคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเสนอวิธีจัดการกับผลพวงการรัฐประหาร ตลอด 4 ปี ของไทย อันแสดงให้เห็นว่าภายใต้ความสงบของการปกครองในระบอบรัฐประหาร เมื่อลงลึกไปในแต่ละกรณี เราจะพบความเจ็บปวดมากมายจากเหยื่อ ที่เป็นเพียงประชาชน “ผู้เห็นต่าง” ในทางการเมือง กลับต้องกลายมาเป็น “เป้าหมาย” ในการจัดการของรัฐตลอด 4 ปี หลังการรัฐประหารเป็นมา  

เพื่อยับยั้งมิให้ผลพวงจากการรัฐประหารได้รับการรองรับและบังคับใช้ในภายภาคหน้า รวมถึงเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้กลายเป็นข้อยกเว้นภายใต้เหตุผลความมั่นคงของรัฐอีก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงทางกฎหมายของ คสช. โดยมีตัวอย่างคร่าวๆดังนี้

แยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

ข้อเสนอนี้ให้จำกัดบทบาทของทหารโดยแยกเด็ดขาดจากการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนโดยแท้ โดยอย่างน้อยที่สุด กองทัพต้องยุติการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติการในงานบริหาร นิติบัญญัติ และในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด และต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมและโดยเร็วที่สุด โดยต้องแก้ไขมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน โดยการเสนอชื่อจาก กกต.

จัดการกับผลพวงทางกฎหมาย 

ข้อเสนอนี้แบ่งชุดกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ชุดที่ 1 กฎหมายที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ กล่าวคือ ชุดกฎหมายที่ออกโดยคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมิได้มาจากฐานการใช้อำนาจนิติบัญญัติของประชาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ต้องได้รับการทบทวนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะดำเนินการทบทวนนั้น อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ พรรคการเมือง หรือหน่วยงานรัฐ/องค์กรอิสระก็ตาม

ชุดที่ 2 คือกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้โดยมิชอบ เป็นชุดกฎหมายซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีความและบังคับใช้อย่างเข้มข้นหลังการรัฐประหาร โดยไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับบุคคลซึ่งเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และใช้ฐานกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัยคำพิพากษามีคำรับรองสิทธิทางการเมืองของประชาชน

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ต้องยกเลิกการนำพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร เพื่อยืนยันหลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาล พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ต้องยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐาน สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ต้องออกกฎหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในศาลทหาร เนื่องจากคดีเกิดขึ้นระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลยุติธรรมได้ และขอรับการเยียวยาจากรัฐทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน รัฐควรต้องประกันระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรตุลาการกับประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอันแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการ ต้องยกเลิกการเข้ามากำกับและควบคุมการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน โดยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจมีดุลพินิจเหนือพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี นอกจากนี้ ต้องยุติการดำเนินคดีซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามบุคคลซึ่งเห็นต่างด้วยการใช้ช่องทางสั่งไม่ฟ้องคดี

เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร

การเยียวยาประชาชนเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีข้อเสนอ 2 ประเภท ตามรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ ประเภทที่ 1 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ยอมรับข้อตกลงอันจำกัดสิทธิบางประการ ตาม MOU ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคลที่ลี้ภัยทางการเมือง และบุคคลที่ถูกติดตาม ข่มขู่ หรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันละเมิดต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ

ประเภทที่ 2 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 อันเนื่องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง หรือตกเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถแบ่งพิจารณาตามช่วงชั้นการดำเนินคดีของทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร

จัดการคำพิพากษาที่รับรองความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย และการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิ้นผลไป

การจัดการคำพิพากษาที่มีลักษณะดังนี้ ศูนย์นายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้คำพิพากษาแบ่งออกเป็น 2 ชุด

ชุดที่ 1 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของ คสช. เพื่อลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหารโดย คสช. ต้องทำให้คำพิพากษา ซึ่งอย่างน้อยที่สุด คำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่วินิจฉัยว่า คสช. มีฐานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แม้พระมหากษัตริย์ยังไม่มีพระบรมราชโองการรองรับสถานะของ คสช. ต้องสิ้นผลไปทันที ทั้งนี้ เพื่อทำลายหลักในการวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจอันไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ต้องถูกลบล้างและไม่ถูกนำมาอ้างโดยสถาบันตุลาการในอนาคต

ชุดที่ 2 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย และกลุ่มคำพิพากษาซึ่งนำกฎหมายอันละเมิดสิทธิเสรีภาพมาวินิจฉัยเพื่อลงโทษประชาชน กลุ่มคำพิพากษาซึ่งเป็นผลมาจากการปรับใช้มาตรา 44 มาตรา 47 และ 48 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตลอดจนคำพิพากษาที่วินิจฉัยตามประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งอาศัยฐานอำนาจตามมาตราดังกล่าวในการออกและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ต้องทำให้สิ้นผลไป

บทเรียนและข้อเสนอพอสังเขปที่กล่าวมา ทำให้เราเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มิใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผลักดันอย่างโดดเดี่ยว หากจะต้องกระทำด้วยความละเอียดละออ และต้องอาศัยความพร้อมใจในวงกว้างเพื่อผลักดันข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมโดยเคารพจิตวิญญาณวีรชนประชาธิปไตยในอดีตเป็นหลักหมาย ทั้งนี้เป้าหมายทั้งหมดไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่าการคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้สูญเสีย และพาบ้านเมืองเดินไปให้พ้นจากกับดักทางประวัติศาสตร์บาดแผลกันเสียที

 

รายการอ้างอิง

Kuk Cho. 2007. “Transitional Justice in Korea: Legally Coping with Past Wrongs after Democratization.” Pacific Rim Law & Policy Journal 16 (3): 579-611

Paul Hanley. 2014. Transitional Justice in South Korea: One Country’s Restless Search for Truth and Reconciliation, 9 U. Pa. E. Asia L. Rev. 139

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  http://www.tlhr2014.com/th/?p=8235

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net