Skip to main content
sharethis

กก.นักนิติศาสตร์สากลส่ง 8 ข้อเสนอให้ กก.ปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ปมแก้ ป.วิ.อาญา และ ก.ม.กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การบันทึกภาพและเสียงในการจับและการค้น ในการถามคำให้การและการสอบปากคำ ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เป็นต้น

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในประเด็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ ร่าง พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 24 ก.ค. 2561 

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น และได้ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 8 ประเด็นโดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือให้คณะกรรมการฯ สามารถปรับปรุงร่างมาตราดังกล่าวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  ประกอบด้วย ก. มาตรา 13/1 การบันทึกภาพและเสียงในการจับและ/หรือการค้น ข. มาตรา 13/2 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ค. มาตรา  121/2 มาตรา 123 และมาตรา 124/2 การร้องทุกข์ในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ การร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และการร้องทุกข์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด

ง. มาตรา 136 การบันทึกภาพและเสียงในการถามคำให้การและการสอบปากคำ จ. มาตรา 161/1  การให้ดุลยพินิจแก่ศาลในการยกฟ้องคดีที่มีการยื่นฟ้องโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย ฉ. มาตรา  165/1  ให้สิทธิจำเลยในการแถลงข้อโต้แย้งและนำเสนอพยานหลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ช. มาตรา  179/1 การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย และ ซ. ร่าง พ.ร.บ. ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม

สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล มีรายละเอียดดังนี้

 

วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรียน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและร่างพระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม

พวกเราส่งหนังสือฉบับนี้ถึงท่านในประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (“ร่าง พ...แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ”) และร่างพระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม (“ร่าง พ...กระบวนการยุติธรรม”) ซึ่งมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งให้มีกฎหมายว่าด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม

ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา

พวกเรายินดีและชื่นชมคณะกรรมการ ฯ ที่บัญญัติมาตราดังต่อไปนี้ในร่าง พ...แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. กระนั้นก็ตาม พวกเราขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังที่ระบุด้านล่างนี้โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือให้คณะกรรมการ ฯ สามารถปรับปรุงร่างมาตราดังกล่าวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  ได้แก่

1. มาตรา  13/1 การบันทึกภาพและเสียงในการจับและ/หรือการค้น

ในมาตรานี้ การกำหนดให้มีการบันทึกการดำเนินการจับและ/หรือการค้นนั้นเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดการกะทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ โดยเฉพาะการละเมิดที่เกิดขึ้นจากการทรมานหรือการประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมโดยเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ค้น อีกทั้งยังเป็นมาตรการคุ้มครองแก่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายจากการถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ข้อเสนอแนะ: พวกเราขอเสนอให้ขยายความในมาตรานี้ให้ครอบคลุมไปถึงการบันทึกภาพและเสียงในสถานที่ใดก็ตามที่มีการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ เช่น บนยานพาหนะของตำรวจ การขยายความนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ และการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายโดยส่วนมากแล้วมักจะถูกกล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ถูกกักขังจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายตัวไปยังหรือออกจากสถานที่กักขัง[1]

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวมิได้หมายถึงเป็นการละเลยความจำเป็นในการใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอให้กับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการประทุษร้ายอื่นๆ โดยควรกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้[2]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: “ในการจับหรือค้น และในสถานที่ใดก็ตามที่มีการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับขณะอยู่บนยานพาหนะของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้เจ้าพนักงานผู้จับ เคลื่อนย้ายตัวหรือค้นจัดให้มีการบันทึกภาพหรือเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่ เป็นกรณียกเว้นเมื่อมีความขัดข้องทางเทคนิคโดยเร่งด่วน เพื่อให้การบันทึกดังกล่าวและการจับกุมเป็นเพื่อความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ความในมาตรานี้ไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดแค่มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

2. มาตรา 13/2 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ในมาตรานี้ การห้ามมิให้เผยแพร่บันทึกภาพหรือเสียงของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ และการห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล

สิทธิได้รับการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(2) แห่งกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง  (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ยืนยันในความเห็นทั่วไป (General Comment) เรื่องพันธกรณีของรัฐตามข้อ14  และสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่าเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนมีหน้าที่`ที่จะต้องมิทำการที่เป็นการด่วนสรุปผลการพิจารณาคดี ผ่านการงดเว้นการแถลงต่อสาธารณะเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา และสื่อมวลชนก็ควรงดเว้นการแถลงข่าวที่เข้าข่ายลิดรอนสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน[3]

ข้อเสนอแนะ: เพื่อการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR  พวกเราขอเสนอให้ขยายความในมาตรานี้ โดยให้กำหนดหน้าที่รวมไปถึงเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน และกำหนดให้ผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับได้รับการคุ้มครองจนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล ทั้งนี้โดยไม่จำกัดหน้าที่เฉพาะสำหรับ “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับหรือพนักงานสอบสวน” และ “ในชั้นจับกุมหรือระหว่างสอบสวน” พวกเรายังขอเน้นย้ำว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13/2  เพื่อป้องกันมิให้มี “การกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา” ควรบัญญัติอย่างชัดเจนให้รวมถึงหน้าที่ในการละเว้นการแถลงต่อสาธารณะที่เป็นการด่วนสรุปความผิดของผู้ต้องหา (prejuding the guilt of a suspect) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือจัดให้บุคคลดังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีความผิดโดยศาล

เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนตามวรรคหนึ่งต้องไม่เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาต่อสาธารณชนหรือยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพหรือเสียงของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาหรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงการละเว้นไม่แถลงต่อสาธารณะในลักษณะเป็นการด่วนสรุปว่าผู้ต้องหามีความผิด แต่ทั้งนี้ มิให้รวมถึงการกระทำตามความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด”

3. มาตรา  121/2 มาตรา 123 และมาตรา 124/2 การร้องทุกข์ในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ การร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และการร้องทุกข์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด

มาตรา 121/2 ให้สิทธิในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ หากพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ มาตรา 123  ให้สิทธิในการร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และมาตรา 124/2 ให้สิทธิในการร้องทุกข์ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด ทั้งนี้ พวกเรายินดีกับการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวช่วยในการประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดถูกริดรอนสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมในเชิงวิธีปฏิบัติ

นอกจากนี้ การให้สิทธิในการร้องทุกข์ในคดีอาญาผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดยังมีส่วนช่วยให้ผู้เสียหายในคดีที่เกี่ยวข้องกับภัยต่อร่างกายหรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งรวมถึงการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ ความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน และการทำร้ายทางเพศหรือการทำร้ายอื่นใด สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น เนื่องจากในคดีดังกล่าวผู้เสียหายมักไม่ประสงค์ที่จะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยตนเอง[4]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี

4. มาตรา 136 การบันทึกภาพและเสียงในการถามคำให้การและการสอบปากคำ

ในมาตรานี้ การกำหนดให้พนักงานสอบสวน “จัดให้มี” การบันทึกภาพและเสียงระหว่างการถามคำให้การหรือการสอบปากคำผู้ต้องหา เป็นมาตรการที่น่าชื่นชม เนื่องจากเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญ จากการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับ ดังกล่าวข้างต้น

ข้อเสนอแนะ: อย่างไรก็ดี ควรกำหนดให้มีการดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในทุกการสอบปากคำ[5] โดยไม่คำนึงถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับข้อหาความผิด เนื่องด้วยอัตราโทษนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิด เพื่อเป็นการประกันว่าการสอบสวนจะดำเนินไปอย่างโปร่งใสและชอบด้วยกฎหมาย พวกเราขอเสนอให้มีการดำเนินการบันทึกภาพและเสียง ไม่เพียงเฉพาะระหว่างการสอบสวนทุกครั้ง แต่ยังรวมไปถึงระหว่างการสัมภาษณ์ใดที่ดำเนินโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายกับบุคคลนอกเหนือจากผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับ ซึ่งได้แก่กับพยานและผู้ร้องทุกข์

การห้ามไม่ให้นำข้อมูลอันได้มาจากการสอบสวนหรือการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการบันทึก [ภาพและเสียง] มาใช้ในชั้นศาลนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พยานหลักฐานอันได้มาจากการทรมานหรือการประทุษร้ายถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล [6]  ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องห้ามภายใต้กฎหมายไทยรวมถึงภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย ได้แก่ ข้อ 15  แห่งอนุสัญญาว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็น ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอให้กับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการประทุษร้ายอื่นๆ โดยควรกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การบันทึก [ภาพและเสียง] ระหว่างการสอบสวนและการสัมภาษณ์ยังมีส่วนช่วยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในการโต้แย้งหากถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยหากผู้ต้องหา ผู้ถูกจับ พยาน หรือผู้ร้องทุกข์กลับคำที่ให้ไว้ระหว่างการสอบสวนหรือการสัมภาษณ์[7]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว:การถามคำให้การ การร้องทุกข์ หรือการสอบปากคำผู้ต้องหา ผู้ถูกจับกุม พยาน หรือผู้ร้องทุกข์ใด ในคดีที่มีข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่ เป็นกรณียกเว้นเมื่อมีความขัดข้องทางเทคนิคโดยเร่งด่วน เพื่อให้การบันทึกดังกล่าวและการจับกุมเป็นเพื่อความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงโดยเคร่งครัด

ห้ามมิให้นำข้อมูลใดก็ตามที่ได้มาจากการสอบสวน การถามคำให้การ หรือการสอบปากคำที่ไม่มีการบันทึกภาพหรือเสียงมาใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

ทั้งนี้ ความในมาตรานี้ไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดแค่มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

5. มาตรา 161/1  การให้ดุลยพินิจแก่ศาลในการยกฟ้องคดีที่มีการยื่นฟ้องโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย

พวกเราชื่นชมบทบัญญัติมาตรานี้ที่มีไว้เพื่อป้องกันการดำเนินคดีที่ไม่จำเป็นและสร้างความเดือนร้อนให้กับจำเลย อันจะช่วยป้องกันมิให้มีการใช้ระบบกฎหมายในทางมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย

ข้อเสนอแนะ: พวกเราเข้าใจว่าเจตนารมณ์ของมาตรานี้นั้นมีไว้เพื่อป้องกันการดำเนินการในทางมิชอบโดยการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (strategic litigation against public participation หรือ SLAAP)[8] ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการหมิ่นประมาททางอาญาตลอดจนกฎหมายอื่น ๆ อาทิ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3  พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และฐานความผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่น เพื่อคุกคามผู้ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

พวกเราชื่นชมเจตนารมณ์และความพยายามของคณะกรรมการ ฯ ในการป้องกันไม่ให้มีการใช้ SLAPP อย่างไรก็ดีพวกเรายังคงห่วงกังวลเนื่องจากในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนของคำว่า “ไม่สุจริต” หรือ “บิดเบือนข้อเท็จจริง”  ถ้าหากมาตรานี้บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ไว้เพื่อปกป้องบุคคลจากการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวควรต้องบัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการพิจารณาใช้ดุลยพินิจยกคำฟ้องที่มีลักษณะเป็น SLAPP  มิใช่เพียงองค์ประกอบที่ว่าการฟ้องคดีเป็นไปโดย “ไม่สุจริต” หรือ “บิดเบือนข้อเท็จจริง”

นอกจากนี้ พวกเรายังห่วงกังวลว่าแม้ว่ามาตรานี้มีไว้เพื่อต่อต้านการใช้กฎหมายในทางที่มิชอบเพื่อกลั่นแกล้งและข่มขู่บุคคล แต่กลับถูกบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ มาตราดังกล่าวไม่สามารถและไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการคุ้มครองจากการดำเนินคดี SLAPP เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติทางอาญา พวกเราไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้มีการดำเนินคดีอาญาเพื่อข่มขู่และกลั่นแกล้งบุคคลผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตั้งแต่แรก จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติในเชิง “ป้องกัน” ดังกล่าว ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคุ้มครองจากการดำเนินคดีเช่นว่า

ทั้งนี้ พวกเราจึงขอเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายภายใน รวมถึงบทบัญญัติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อประกันว่าการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะไม่เป็นความผิดอาญาภายใต้กฎหมายไทย อีกทั้งให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้ในทางแพ่งเพื่อป้องกันการดำเนินคดีที่ไม่จำเป็นและสร้างความเดือดร้อนให้กับจำเลย และปกป้องการดำเนินคดีทางแพ่งจาก SLAPP

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี อย่างไรก็ตามโปรดพิจารณาข้อสังเกตข้างต้นว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรานี้เป็นมาตรการป้องกันการดำเนินคดีด้วย SLAPP  ในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่ถูกใช้ในทางมิชอบเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

6. มาตรา  165/1  ให้สิทธิจำเลยในการแถลงข้อโต้แย้งและนำเสนอพยานหลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง

ในมาตรานี้ จำเลยมีสิทธิในการแถลงข้อต่อสู้ นำเสนอและเรียกพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของตน อันเป็นพัฒนาการที่สำคัญและจำเป็นต่อการประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในการสู้คดี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(3) แห่ง ICCPR

พวกเราขอเรียนว่า แม้ว่าในภาพรวมระบบกฎหมายของประเทศไทยจะดำเนินตามอย่างระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law)  ระบบกล่าวหาที่ปรากฏในระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) กลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการระบบกฎหมายของประเทศไทยโดยเฉพาะในการพิพากษาคดี รวมถึงกฎหมายวิธีสบัญญัติและกฎหมายพยานหลักฐาน การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานื้ถือเป็นการผนวกแนวปฏิบัติที่ดีของระบบกล่าวหาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายของประเทศไทย

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี

7. มาตรา  179/1 การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

ในมาตรานี้ ศาลสามารถดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาลเนื่องจากความเจ็บป่วย ในกรณีที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยยังไม่ถูกจับตัว ในกรณีที่จำเลยหลบหนีจากสถานที่กักขัง และในกรณีที่จำเลยออกจากห้องพิจารณาเพราะศาลสั่งหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 1 4(3) แห่ง ICCPR  รับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าบุคคลนั้น โดยสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ยอมรับว่าการจำกัดสิทธิประการนี้ด้วยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยจะสามารถกระทำได้ก็แต่เฉพาะในสถานการณ์ที่พิเศษยิ่งเท่านั้น โดยกระบวนพิจารณาดังกล่าวจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อเป็นการดำเนินการเพื่อการบริหารงานยุติธรรมที่เหมาะสม เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งนัดพิจารณาล่วงหน้าอย่างเหมาะสมแล้ว แต่กลับปฏิเสธที่จะใช้สิทธิในการปรากฏตัวต่อหน้าศาล[9]

ข้อเสนอแนะ: พวกเราเสนอให้เพิ่มความในมาตรานี้ โดยกำหนดให้ศาลต้องพิสูจน์ว่าได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งวันเวลาและสถานที่สำหรับการพิจารณาคดีให้ทราบล่วงหน้าและเรียกให้ [ผู้ถูกกล่าวหา] มาร่วมฟังการพิจารณาคดี และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธที่จะมาฟังการพิจารณาหรือไม่ โดยมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงจะต้องดำเนินให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย[10]

นอกจากนี้ยังควรระบุไว้ในมาตรานี้ด้วยว่า บุคคลผู้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย มีสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อหน้าบุคคลนั้น ในโอกาสแรกที่บุคคลนั้นทราบถึงการดำเนินคดีเช่นว่า พร้อมกับแสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมและสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีเช่นว่าได้[11]

อีกทั้งหากผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยประสงค์ที่จะ โต้แย้งว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นลับหลังตนเอง ภาระในการพิสูจน์ว่าตนมิได้จงใจหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมหรือในการพิสูจน์ว่าเหตุที่ตนไม่ปรากฏตัวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจะต้องไม่ตกอยู่แก่บุคคลผู้นั้น[12]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: [เสนอแนะให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 179/2]

ในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ศาลจะต้องพิจารณาว่ากรณีครบองค์ประกอบดังต่อไปนี้:

(1)  ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นสำหรับการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งวันเวลาและสถานที่สำหรับการพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหาให้ทราบล่วงหน้าแล้ว และเรียกให้ [ผู้ถูกกล่าวหา] มาเข้าร่วม [การพิจารณาคดี] และ

(2) ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธที่จะมาฟังการพิจารณา

หากมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยและมีผู้ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดในการพิจารณาคดีดังกล่าว แล้วในภายหลังบุคคลดังกล่าวจึงทราบถึงการพิจารณาคดีนั้น บุคคลผู้นั้นมีสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อหน้าผู้นั้น นับแต่โอกาสแรกที่ผู้นั้นทราบเกี่ยวกับการพิจารณาคดีดังกล่าว พร้อมกับแสดงความประสงค์และสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีเช่นว่าได้

ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยประสงค์ที่จะโต้แย้งว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นลับหลังตนเอง ผู้นั้นไม่มีภาระในการพิสูจน์ว่าตนมิได้จงใจหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมหรือในการพิสูจน์ว่าเหตุที่ตนไม่ปรากฏตัวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

ร่าง พ.ร.บ. กระบวนการยุติธรรม

พวกเรายินดีและชื่นชมคณะกรรมการ ฯ ที่เสนอบทบัญญัติต่าง ๆ ในร่าง พ... กระบวนการยุติธรรม เพื่อประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว อันได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(3) แห่ง ICCPR พวกเรายังชื่นชมมาตรา 8  ของร่าง พ.ร.บ. กระบวนการยุติธรรม ที่เสนอโดยคณะกรรมการ ฯ เนื่องจากเป็นการบัญญัติกฎหมายให้มีการระบุผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่แจ้งให้ผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย มิตรหรือทนายความทราบถึงพัฒนาการและความคืบหน้าของการดำเนินงาน

ในประการนี้ พวกเราขอเน้นย้ำว่าการรายงานพัฒนาการและความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องกระทำโดยผู้ประสานงานที่ได้รับมอบหมายในเชิงรุก โดยมิต้องให้ฝ่ายผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย มิตรหรือทนายความเป็นผู้ต้องดำเนินการร้องขอข้อมูลดังกล่าว[13]

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(International Commission of Jurists หรือ ICJ) มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศไทย และเพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำประการใด โปรดติดต่อมายังข้อมูลติดต่อข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ

(ลงลายมือชื่อ)

คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต

ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

 


[1] โปรดดู สมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture), Factsheet (เอกสารข้อเท็จจริง): การบันทึกภาพระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ  การขจัดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการทรมานและการประทุษร้าย’, พิมพ์ครั้งที่ 2 , ค.ศ.2015  , https://www.apt.ch/content/files_res/factsheet-2_using-cctv-en.pdf,  โปรดดู คณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Subcommittee on Prevention of Torture and Other Cruel,Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ SPT), รายงานการเยือนประเทศเม็กซิโกของของ SPT, CAT/OP/ MEX/1 31 พฤษภาคม ค.ศ.2010 , ย่อหน้า 141, https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CAT%2FOP%2FMEX%2F1&Lang=en.

[2] อ้างแล้ว

[3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, 'ความเห็นทั่วไปที่ 32ข้อ 14 สิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมต่อหน้าศาลและคณะตุลาการ และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม’, 23  สิงหาคม 2007 , CCPR/C/GC/32, ย่อหน้า 30, (‘HRC GC 32’), http://www.refworld.org/docid/478b2b2f2.html

[4] HRC GC No. 32 ย่อหน้า 9

[5] คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ความเห็นทั่วไปที่ 2 อนุสัญญาว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี,24 มกราคม ค.ศ.2008, CAT/C/GC/2, ย่อหน้า 14  http://docstore.ohchr.org/SelfServices/FilesHandler.ashx?enc=6QkG1d%2FPPRiCAqhKb7yhskvE%2BTuw1mw%2FKU18dCyrYrZhDDP8yaSRi%2Fv43pYTgmQ5n7dAGFdDalfzYTJnWNYOXxeLRAIVgbwcSm2ZXH%2BcD%2B%2F6IT0pc7BkgqlATQUZPVhi ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รายงานระหว่างรอบปีของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’ 10 สิงหาคม ค.ศ. 2010. UN Doc. A/65/273 ย่อหน้า75, http://www2.ohchr.org/english/issues/torture/rapporteur/docs/A.65.273.pdf ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการทรมานภายใต้มติของคณะกรรมาธิการที่ 2002/38, 17 ธันวาคม 2002, , E/CN.4/2003/68 ย่อหน้า26(g)https://undocs.org/E/CN.4/2003/68

[6] ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการทรมานภายใต้มติของคณะกรรมาธิการที่ 2002/38, 17 ธันวาคม 2002, , E/CN.4/2003/68 ย่อหน้า 26(g) https://undocs.org/E/CN.4/2003/68

[7] คณะกรรมการเพื่อป้องกันการทรมานของยุโรป (European Committee for the Prevention of Torture หรือ CPT), ‘มาตรฐาน CPT’, 2011, CPT/Inf/E (2002) 1 – Rev. 2011, หน้า 9, ย่อหน้า 36,  http://www.psychargos.gov.gr/Documents2/ΝΕΑ/eng-standards.pdf

[8] ตัวอย่าง ประเทศไทย, สิทธิในการตอบข้อซักถาม’, วาระที่ 4 การอภิปรายทั่วไป (ต่อ) การประชุมครั้งที่ 35  สมัยการประชุมสามัญครั้งที่ 37 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน, คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน, 14 มีนาคม ค.ศ.2018 , (เวลา 2:51:00) http://webtv.un.org/meetings-events/treaty-bodies/watch/item4-general-debate-contd-35th-meeting-37th-regular-session-human-rights-council/5751616281001/?term=&lan=original,  โปรดดู ศาลยุติธรรม, ‘ หลักการและเหตุผลเบื้องหลังการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ....’, 2561 ,, http://www.jla.coj.go.th/doc/data/jla/jla_1521605382.pdf  ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติคล้ายกับมาตรา 161/1

[9] HRC GC No. 32 ย่อหน้า 36

[10] อ้างแล้ว; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ‘Maleki v Italy’,  ข้อมูลติดต่อเลขที่ 699/1996, UN Doc. CCPR/C/66/D/699/1996, 27 กรกฎาคม 1999, ย่อหน้า 9.4, http://hrlibrary.umn.edu/undocs/session66/view699.htm ;  องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, คู่มือการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม, 2014, หน้า 158, https://www.amnesty.org/download/Documents/8000/pol300022014en.pdf

[11] HRC GC No. 32 ย่อหน้า54;  ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, , ‘Colozza v Italy (9024/80)’, 12 กุมภาพันธ์ 1985, ย่อหน้า 29, https://www.juridice.ro/wp-content/uploads/2018/04/CASE_OF_COLOZZA_v._ITALY_08.pdf;  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ‘Maleki v Italy’,  ข้อมูลติดต่อเลขที่ 699/1996, UN Doc. CCPR/C/66/D/699/1996, 27 กรกฎาคม 1999, ย่อหน้า 9.5, http://hrlibrary.umn.edu/undocs/session66/view699.htm

[12]ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, ‘Colozza v Italy (9024/80)’, 12 กุมภาพันธ์ 1985, ย่อหน้า 30, https://www.juridice.ro/wp-content/uploads/2018/04/CASE_OF_COLOZZA_v._ITALY_08.pdf;  ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, ‘’Sejdovic v Italy (56581/00) , 1 มีนาคม 2006, ย่อหน้า 87-88, https://hudoc.echr.coe.int/eng#{%22dmdocnumber%22:[%22792978%22],%22itemid%22:[%22001-72629%22]}

[13] โปรดดู ตัวอย่างสำหรับการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 2016 ย่อหน้า 35https://www.icj.org/wp-content/uploads/2017/05/Universal-Minnesota-Protocol-Advocacy-2017-THA-1.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net