Skip to main content
sharethis

อ่านงานวิจัยว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ เมื่อสื่อเสนอข่าวการทำร้ายร่างกายโดยนำตัวตนทางเพศของผู้ต้องสงสัยมาใช้เรียกแทนตัวบุคคล คือการสร้างภาพตัวแทนของคนหลากหลายทางเพศที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ตีตรา และตัดสิน

  • ภาพตัวแทนของคนหลากหลายทางเพศที่สื่อเสนอส่วนใหญ่เป็นภาพลบ ตีตรา ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
  • สื่อใช้ตัวตนทางเพศของบุคคลคนหนึ่งแทนทุกมิติของชีวิตคนคนนั้น สร้างการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางเพศกับการกระทำที่ไม่ดี

ตัวอย่างการพาดหัวและใช้คำเรียกในสื่อ

ข่าวนางสาวกาญจนา สินประเสริฐ ทำร้ายร่างกายนางสาวพิมพิไล ปักษี จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นข่าวโด่งดังในเวลานี้ สร้างความรู้สึกโกรธแค้นให้แก่ประชาชนเป็นวงกว้าง เป็นความโกรธแค้นที่ดูจะแฝงอคติต่อตัวตนทางเพศเข้าไปด้วย เมื่อถ้อยคำแทนตัวผู้ต้องหาหรือนางสาวกาญจนาที่ปรากฏในสื่อมีการนำตัวตนทางเพศมาใช้ ตามด้วยคุณศัพท์ว่า ‘โหด’ กลายเป็น ‘ทอมโหด’ แทบจะทุกพาดหัวสื่อ

ความเป็นทอมโหดคือสิ่งที่สังคมเชื่อมโยงการกระทำของนางสาวกาญจนาและอัตลักษณ์ทางเพศเข้าด้วยกัน แปรเปลี่ยนเป็นภาพตัวแทนที่ประทับลงไปในความนึกคิดของผู้คนซ้ำๆ ว่าทอมกับความรุนแรงเป็นของคู่กัน

“สื่อใส่ชิพในหัวคนเกี่ยวกับแอลจีบีที ชีวิตคู่ของกะเทยต้องจบลงด้วยความเศร้า กะเทยต้องตลก มันมาจากไหน มาจากสื่อหรือเปล่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้ 2 ทฤษฎีหลักคือ Agenda Setting หรือทฤษฎีการจัดวาระกับ Representation คือมันมีประเด็นต่างๆ มากมายในสังคม สื่อก็มีข้อจำกัด จะเลือกอะไรมานำเสนอ สมมติเลือกเรื่องของเลสเบี้ยนมานำเสนอ เขาจะเลือกทุกมิติของเลสเบี้ยนมานำเสนอหรือเปล่า เขาก็จะเลือกสร้างภาพตัวแทนที่ชัดเจนสักอย่างหนึ่ง เพื่อนำเสนอ ซึ่งทำให้เกิด Grand Narrative ที่สังคมรับรู้”

กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายแนวคิดที่ใช้ในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ’ ที่นำเสนอในการประชุม Being LGBT in Asia Thailand Country Dialogue จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี (The United Nations Development Programme: UNDP) ซึ่งสะท้อนสถานการณ์เวลานี้ได้เป็นอย่างดี

ข่าวกับคนหลากหลายทางเพศ

“ภาพตัวแทนของคนหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่เป็นภาพลบ ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้พยายามสะท้อนบทบาทสื่อมวลชนไทยที่เลือกปฏิบัตินำเสนอภาพตัวแทนของคนหลากหลายทางเพศ และดูรูปแบบการนำเสนอ สุดท้าย เมื่อเราเห็นรูปแบบแล้ว เราจะเห็นประเด็นและความท้าทายร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อเสนอข้อเสนอแนะ”

งานศึกษาครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาจาก 6 แหล่ง แบ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ 5 ฉบับและสื่อออนไลน์ 1 เว็บ โดยมีการเก็บข้อมูลตลอด 1 ปี จากนั้นจึงให้ทีมวิจัยซึ่งเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจำแนกและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคนหลากหลายทางเพศ 870 ข่าว โดย 1 ใน 3 มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ถ้านับข่าวจากจำนวนอัตลักษณ์ที่มีการนำเสนอในแต่ละข่าวนับได้ทั้งหมด 1,047 ข่าว อัตลักษณ์ชายรักชายมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือคนข้ามเพศ ขณะที่ข่าวเกี่ยวชายข้ามเพศ (Trans Men) มีปรากฏเพียงร้อยละ 0.9 และแทบไม่มีพื้นที่ข่าวของกลุ่มอินเตอร์เซ็กส์

“อินเตอร์เซ็กส์ไม่มีพื้นที่ในข่าวไทยเลย มีแค่ 2 ข่าว ข่าวหนึ่งพูดถึงชีวิตอันโหดร้ายของการเป็นอินเตอร์เซ็กส์ อีกข่าวเป็นเรื่องมีสองเพศในคนเดียวกัน” กังวาฬ กล่าว

ยังพบด้วยว่า ข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าวทุติยภูมิ โดยมีแหล่งข่าวปฐมภูมิเพียงร้อยละ 10 หมายความว่าข่าวเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มาจากบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวโดยตรง อีกทั้งข่าวส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับข่าวบันเทิง ตามด้วยข่าวอาชญากรรมและการเมืองตามลำดับ โดยไม่มีข่าวที่เกี่ยวกับการศึกษาเลย

นอกจากนี้ มากกว่า 2 ใน 3 ของข่าวที่เกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศมีรูปแบบการนำเสนอแบบ Soft News คือเป็นข่าวสนุกสนาน ส่วน Hard news หรือข่าวที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ มีเพียง 1 ใน 3 ของข่าวทั้งหมด

กังวาฬตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บางข่าวไม่เกี่ยวข้องกับคนหลากหลายทางเพศ แต่การพาดหัวของสื่อก็นำมาใช้เพื่อให้ข่าวขายได้และทำให้บุคคลในข่าวถูกลดคุณค่าลงเพราะข้องเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ เช่น พาดหัวข่าวที่ว่า พระเมาซิ่งเก๋ง พาสีกาตระเวนพร้อมกะเทย ไล่จับระทึก เป็นต้น

ภาพตัวแทน

อะไรคือภาพตัวแทนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่สื่อมวลชนส่งต่อไปยังผู้เสพ จากงานศึกษากังวาฬแบ่งภาพตัวแทนของคนหลากหลายทางเพศออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มหญิงรักหญิง พบว่าสื่อใช้ภาษาและการให้สมญานามที่ตีตรา คุกคาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนำเสนอภาพที่สื่อนัยทางเพศ

“เราถูกเรียกว่าสายเหลือง แต่มิติด้านเพศสัมพันธ์ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของชีวิตเรา มันเป็นแค่ 0.0001 แต่อีก 99 กว่าเปอร์เซ็นต์ คือทำวิจัย สอนหนังสือ สร้างปัญญาชนให้ประเทศนี้ ทำไมจึงไม่เรียกเราด้วยตัวตนจาก 99 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่เอา 0.0001 เปอร์เซ็นต์ มาเรียกแทนทั้งชีวิตของเรา นี่ก็เหมือนกัน (สื่อ) ใช้ตัวตนทางเพศมาแทนชีวิตของเขาทั้งหมด”

กลุ่มชายรักชาย สื่อใช้ภาษาและการให้สมญานามที่ตีตรา คุกคาม ลดทอนศักดิศรีความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่หมกมุ่นกับความสวยงาม เพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และอาชญากรรม และใช้ความเป็นเกย์ลดทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้เป็นข่าว

กลุ่มบุคคลรักสองเพศหรือไบเซ็กช่วล ถูกสร้างภาพตัวแทนเป็นคนที่หมกมุ่นในกามารมณ์เพราะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้กับเพศใดก็ได้

กลุ่มบุคคลข้ามเพศ มีการนําเสนอข่าวแบบตัดสินผู้เป็นข่าว ใช้รูปประกอบในลักษณะที่ตีตรา ใช้ภาษาและให้ฉายานามที่เจืออารมณ์ ลดทอนศักดิIศรีความเป็นมนุษย์ เป็นปัญหาของสังคม ตัวตลก และเป็นผู้มีความ ต้องการทางเพศสูงกว่าบุคคลทั่วไป

กลุ่มบุคคลไม่นิยามเพศหรือเควียร์ (Queer) ถูกทำให้เป็นตัวตลกหรือผิดแปลกไปจากบุคคลทั่วไป เน้นนําเสนอลักษณะที่แตกต่างของบุคคลนั้นโดยทำการตัดสินผู้ที่เป็นข่าว

กังวาฬสรุปว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสื่อยังนําเสนอข่าวโดยขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลหลากหลายทางเพศและนำเสนอในฐานะกลุ่มคนที่ผิดแผกแตกต่างจากผู้คนทั่วไป โดยคัดเลือกและขับเน้นเพยีงบางมิติของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตีตราโดยการกล่าวถึงเพศวิถีที่แตกต่างเพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นการลดทอนความซับซ้อน สร้างความเข้าใจผิด และดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สื่อกำลังทำตัวเป็นศาลและตัวตนทางเพศอธิบายทั้งชีวิตของบุคคล

กังวาฬสะท้อนข่าวนี้ผ่านงานวิจัยว่า

“เราเห็นมันทุกวันๆๆ จนมันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทุกคนก็ใช้คำนี้ แล้วเราก็รู้ว่าพาดหัวข่าวไทยเป็นอย่างไร โดยเฉพาะหัวสี ทอมโหด ทอมหึงโหด ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องอันตราย เหมือนเมื่อก่อนที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป มันเป็นวิธีการใช้ภาษา เมื่อมันฝังอยู่ในหัว ในจิตใต้สำนึก ทำไมเราเกลียดคนนั้น รักคนนี้ โดยที่เราไม่เคยเจอตัวเขาเลย ตอนที่เขาไปทำแผน มีคนออกมาจะรุมประชาทัณฑ์

“หน้าที่ของสื่อคือการนำเสนอข่าว ไม่ใช่ตัดสินเขา แต่ตอนนี้สื่อตัดสินไปแล้วว่าเขาผิด สื่อทำหน้าที่เป็นศาลไปแล้ว ถ้าให้สะท้อนกับงานวิจัยที่ทำมันก็เข้าข่ายเดียวกับข่าวที่นำเสนอเรื่องของคนหลากหลายทางเพศ คือการใช้คำและรูปแบบการนำเสนอ คือใช้คำที่ตีตรา เราไม่ดูว่าคนนั้นเป็นใคร แต่เอาตัวตนทางเพศออกมาเล่นก่อน แทนที่จะใช้คำว่านางสาวกาญจนา คุณกาญนา หรือว่ากาญจนา แต่ใช้คำว่าทอมหึงโหด ทำให้เกิดการดราม่าด้วยการใช้พาดหัวตัวใหญ่ตรงคำว่า สาวทอม แล้วพยายามเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของคนหลากหลายทางเพศเข้ากับเหตุการณ์ที่เป็นด้านลบ ใช้ตัวตนทางเพศแทนตัวตนของเขา”

กังวาฬอธิบายผ่านเหตุการณ์ที่ตนประสบว่า

“เราถูกเรียกว่าสายเหลือง แต่มิติด้านเพศสัมพันธ์ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของชีวิตเรา มันเป็นแค่ 0.0001 แต่อีก 99 กว่าเปอร์เซ็นต์ คือทำวิจัย สอนหนังสือ สร้างปัญญาชนให้ประเทศนี้ ทำไมจึงไม่เรียกเราด้วยตัวตนจาก 99 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่เอา 0.0001 เปอร์เซ็นต์ มาเรียกแทนทั้งชีวิตของเรา นี่ก็เหมือนกัน ใช้คำที่ทำให้เป็นดราม่า ใช้ตัวตนทางเพศมาแทนชีวิตของเขาทั้งหมด กลายเป็นว่าสื่อตัดสินเขาแล้ว คนเป็นทอมไม่ใช่ว่าต้องเป็นทอมโหดอย่างเดียว ทอมก็ทำการทำงาน

“เมื่อพาดหัวข่าวต้องกระชับสั้น ดึงดูด ซึ่งบางทีสิ่งที่ง่ายที่สุดคือการดึงตัวตนทางเพศที่แปลกในความรับรู้ของเขา ผู้คนยังมองความเป็นคนหลากหลายทางเพศเป็นความแปลกแตกต่างจากตัวเอง สะท้อนได้ว่าสังคมไทยไม่ได้มองคนหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์ แต่เป็นบุคคลที่แปลกประหลาด ดังนั้น บุคคลที่แปลกประหลาดย่อมทำสิ่งที่ไม่ดีได้ และสร้างภาพตัวแทนในหัวของผู้เสพ เป็นว่าทอมต้องโหดเสมอ”

เพราะคนคนหนึ่งไม่ได้มีมิติเดียวและการใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้ผูกติดกับเพศใดเพศหนึ่ง

...........

สำหรับคำว่า Grand Narrative คือ  เรื่องเล่าหลักของสังคม ซึ่ง ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ อธิบายในบทความ "ทบทวนการให้ความหมายของการถูกกดบังคับ (กับคนไทย ?)" (ออนไลน์ https://prachatai.com/journal/2013/05/46606) ว่า Grand Narrative คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ของเรื่องเล่าทั่วไปตามสื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ และถ้ามีการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องเล่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกมองว่าผิดไว้ก่อน เหตุผลที่ถูกมองว่าผิดโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก โครงสร้างของการผลิตซ้ำที่มุ่งครอบงำอย่างเข้มข้นในลักษณะที่ชวนให้รู้สึกว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่านี้เป็นความชั่วร้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net