Skip to main content
sharethis

‘อัศวิน’ แจง พื้นที่สวนสาธารณะเปลี่ยนจากเดิม ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย ชี้จะทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ด้านชาวชุมชนที่ถูกบีบให้ย้ายออกจนหมด หลังการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 25 ปี วางแผนซื้อที่ดินกู้โครงการบ้านมั่นคง เล่า “ผมไม่เหลืออะไรเลย ตกงาน ครอบครัวแยกแตกสลาย จิตใจมันหายไปตั้งแต่เรารื้อบ้าน”

สภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ปัจจุบัน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน)

26 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ในวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ย้ายออกจนหมดแล้วในเดือนเม.ย. ไปอยู่ที่ชุมชนกัลยาณมิตร

ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลา ยุติมหากาพย์ 25 ปี ย้าย 25 เม.ย. นี้

ประมวลภาพ+คลิป เสียงสะท้อน ความรู้สึก บทเรียนจากชุมชนป้อมมหากาฬ

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน ของ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้ลงข้อความพร้อมภาพประกอบคือสวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬ ใจความว่า ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับพื้นที่ภายในป้อมมหากาฬ และพร้อมเปิดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยว ตอนนี้พื้นที่ภายในป้อมฯ เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งโล่ง เขียว ร่มรื่น สวยงาม และดูปลอดภัย มองจากมุมไหนเราก็จะได้เห็นความสง่างามของป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติได้ชัดเจนขึ้น และอิ่มเอมมากขึ้น

กทม.ตั้งใจจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่นันทนาการ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ และสวนสันติชัยปราการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และ 24 ก.ค.61 สวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้เชิญชวนให้เข้าไปเยี่ยมชม และระบุถึงช่องทางรับความคิดเห็นสำหรับการปรับปรุงสถานที่ทาง   @aswinbkk

อดีตชาวชุมชนที่ถูกบีบให้ย้ายออก เผยวิถีชีวิตเดิมหาย บ้างตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ด้าน พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า พวกตนเป็นกลุ่มสุดท้ายทั้งหมด 8 หลังคาเรือน ที่ย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ และย้ายมาอาศัยร่วมกับคนในชุมชนกัลยาณมิตร โดยมีข้อตกลงว่าจะสามารถอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งปี หลังจากนี้พวกตนวางแผนจะซื้อที่ดินแถวพุทธมณฑลสาย 2 พร้อมกับครอบครัวอื่นๆ 8 หลังคาเรือนที่ย้ายออกมาด้วยกัน โดยแม้เงินที่มีอยู่ตอนนี้จะไม่เพียงพอ แต่จะไปขอกู้เงินกับโครงการบ้านมั่นคง

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ

อำลาชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนเก่าแก่ดีเกินไปในยุคที่แต่งชุดไทยก็ฟินแล้ว

เมื่อถามเรื่องปัญหาที่เจอในตอนนี้ พรเทพ กล่าวว่า หลักๆ แล้วเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย อาชีพ และจิตใจ บางคนจากที่เคยมีอาชีพค้าขายอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อย้ายออกมาก็ตกงาน บางคนก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนการเดินทาง ค่าใช้จ่ายก็สูงเพิ่มขึ้น

“วิถีชีวิตแบบเดิมที่เราเคยอยู่ในชุมชนมันไม่เหลือแล้ว อันนี้เหมือนเรามาอาศัยเขาอยู่ ก็หวังแต่ว่าถ้าเรามีที่ดินเป็นของเราอีกครั้ง เราจะรื้อฟื้นวิถีชีวิตเดิมๆ ของเรากลับมาได้ อย่างตอนนี้ผมจากคนที่เคยมีบ้าน มีอาชีพ ผมไม่เหลืออะไรเลย ตกงาน ครอบครัวแยกแตกสลาย จิตใจมันหายไปตั้งแต่เรารื้อบ้าน เริ่มตั้งแต่รื้อหลังคาบ้าน ใจมันก็หายแล้ว เรายืนมองแล้วคิดว่ามันมาสุดทางแล้วจริงๆเหรอ” พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ก่อนที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬหลังสุดท้ายจะถูกแบบให้ย้ายออกจากพื้นที่ไปเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับปัญหาที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬประสบนั้น เริ่มต้นจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม. ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬมีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน การพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Heritage Museum) โดยพัฒนาแนวคิดนี้จากโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ

รวมถึงมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1. ชุมชนและนักวิชาการ 2. กรุงเทพมหานคร และ 3. ทหารที่เข้ามาเป็นคนกลาง มีความพยายามหาทางออกด้วยการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net