Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

พรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคน รวมทั้งข้าพเจ้า ครุ่นคิดมาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ใหม่ๆ แล้วว่า หนทางกลับสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น ยากส์ (ขอใส่ “ส์” แบบพหูพจน์ตามภาษาอังกฤษ อันหมายถึงยากมากๆๆๆๆๆๆ)

ประกอบกับเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานสรุปผลการดำเนินงานของ German – Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยความร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีท่านผู้มีบทบาทเด่นในทางการเมืองหลายท่านเข้าร่วม ในวันนั้น แม้วิทยากรผู้มีชื่อเสียง (ขอสงวนนาม) ร่วมอภิปราย ด้วยทัศนะที่ว่า แม้เรื่องวิกฤตประชาธิปไตยไทยจะหนักหนาต่อการแก้ไขดังที่เห็นอยู่ แต่ในที่สุด เขาก็เชื่อว่าคนไทยเองจะสามารถแก้วิกฤตการเมืองไทยคราวนี้ได้สำเร็จอย่างแน่นอน แต่ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นแย้งไปว่า คนไทยจะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรังครั้งนี้ได้สำเร็จโดยลำพังคนไทยกันเอง แต่เราจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแก้วิกฤตการเมืองและกอบกู้ประชาธิปไตยไทยกลับคืนมา และ ณ วันนี้ข้าพเจ้าก็ยังเชื่อเช่นนั้น

ท่ามกลางความมืดมิด และการเล่นแร่แปรธาตุหลายประการของฝ่ายเผด็จการต่อประชาธิปไตย ที่นำโดย คสช. ของบรรดาแม่น้ำทั้งห้าสายในปัจจุบัน ทำให้การกอบกู้ประชาธิปไตยไทยกลับคืนมา ยังคงเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ (Mission impossible) แต่ดูเหมือนว่าโมเดลแห่งความสำเร็จของการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี (Wild Boar Football Academy) ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ตอนแรกจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะต้องให้เด็กอยู่ในถ้ำราวสี่เดือนจนหมดฤดูฝนและน้ำลดจนไม่เป็นอุปสรรค ตามความคิดเห็นทางเลือกหนึ่งของฝ่ายไทย กลับเป็นไปได้ในที่สุดเพียงไม่ถึงสามสัปดาห์ จากทางเลือกอื่นที่จำเป็นต้องช่วยออกไปโดยเร็ว ไม่พึงรอถึงสี่เดือน เพราะเด็กกำลังเผชิญกับปัญหาปริมาณออกซิเจนในการหายใจที่ค่อยๆลดลง โอกาสการเจ็บป่วยหากอยู่นานเกินไป และรวมถึงปัญหาการต้องจัดการกับการส่งอาหารเข้าถ้ำถึงสี่เดือน ตามความคิดเห็นของฝ่ายผู้เข้ามาช่วยจากนอกประเทศและความเห็นพ้องด้วยของฝ่ายไทยในภายหลัง ทำให้ข้าพเจ้าใจชื้นต่อการกอบกู้ประชาธิปไตยไทยแบบความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้นมาครามครัน อีกครั้งหนึ่ง!


การท้าทายของความร่วมมือระหว่างประเทศกับศักยภาพของคนในชาติ: การอุปมาอุปมัย

หลังจากที่เด็กๆ นักฟุตบอล 12 คน และผู้ช่วยโค้ช 1 คน รวม 13 คน ของทีมหมูป่าอคาเดมี ติดอยู่ในถ้ำตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 อีก 17 วันต่อมา เมื่อวันที่  10 กรกฎาคม 2561  คนไทยและคนทั่วโลกต่างชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของการช่วยเหลือทีมฟุตบอลนี้ออกจากถ้ำได้ด้วยความปลอดภัยในที่สุด

ปฏิบัติการกรณีพิเศษของโลกในครั้งนี้ สื่อยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศล้วนแข่งขันทำข่าวกันอย่างคึกคัก ทั้ง BBC, CNN, ABC และ  Al Jazeera โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าสำนักหลักในอังกฤษ คือ BBC ของประเทศที่นักดำน้ำแกนนำในการช่วยเหลือเด็กมาจากที่นั่น (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 1 ประกอบ) การสนใจของประชาชนทั่วโลกผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ในเรื่องทีมฟุตบอลเด็กไทยติดถ้ำครั้งนี้ ทำให้คนทั่วโลกจำนวนมากอยู่ในสภาพการเสพติดสื่อต่อปรากฏการณ์นี้อย่างใจจดจ่อเป็นแรมเดือน (หลังเด็กออกจากถ้ำได้แล้ว ก็ยังไม่หยุดทันที)  ประเทศไทยจึงเป็นจุดศูนย์กลางของบริบทใหม่แห่งวิกฤตคนสู้ธรรมชาติ อันท้าทายคราวนี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยพลโลกต่างเอาใจช่วยให้ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเด็กไทยพบกับความสำเร็จ แตกต่างจากกรณีการคุมขังบังคับประชาธิปไตยของ คสช. อย่างสิ้นเชิง ที่คนทั่วโลกไม่ได้ใจจดใจจ่อ (หน้าจอและนอกจอโทรทัศน์) ว่า  ประชาธิปไตยไทยจะออกจากถ้ำของการคุมขังบังคับจากฝ่ายเผด็จการได้เร็วที่สุดอย่างไรและเมื่อใด (เว้นแต่รัฐบาลของประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่กระตุ้นเตือนไทยเป็นครั้งคราว) หรือว่าวิกฤตการเมืองและประชาธิปไตยของเรายังไม่ร้ายแรงเพียงพอ?! ที่จะทำให้คนทั่วโลกสนใจ หรือว่าจะต้องเกิดสงครามกลางเมืองไทยเสียก่อนกระมัง พลังภายนอกประเทศจึงจะตื่นตัวกว่านี้!?

หากพิจารณาในเชิงอุปมาอุมัย (Metaphor) ในเรื่องทีมฟุตบอลเด็กติดถ้ำกับประชาธิปไตยไทยที่ถูกคุมขัง/กักขังโดยเผด็จการทหาร คสช. เราจะอธิบายมันได้อย่างไร


ทำไม? – เหตุผลของความไม่สำเร็จกรณีประชาธิปไตยในห้วงเวลาที่ผ่านมา กับ ความสำเร็จกรณีทีมหมูป่า

ความร่วมมือระหว่างประเทศจากนานาชาติต่อประเทศไทยย่อมเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ โดยไม่ต้องสงสัย แต่ก็มีปัจจัยสนับสนุนเข้ามาประกอบ ความเป็นไปของปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบทั้งสองเหตุการณ์ โปรดพิจารณาดังต่อไปนี้


1.ความสามัคคีของคนไทย 

1.1 ก่อนวันรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พรรคประชาธิปัตย์เสียศูนย์ต่อหลักการประชาธิปไตย เลิกทำงานในรัฐสภา คนของพรรคถูกแบ่งหรือแบ่งกันเองอย่างน้อยเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกแปลงกายเป็น กปปส. กลุ่มที่สองสนับสนุน กปปส. อยู่ในท่าที และต้อนรับการรัฐประหาร ที่สร้างสะพานไว้ให้โดย กปปส. (แต่แกนนำกลับไปตั้งพรรคใหม่ในที่สุด) กลุ่มที่สามวิจารณ์สองกลุ่มแรกแต่เป็นเสียงข้างน้อย พรรคเพื่อไทยมีเอกภาพสูง (สมัยก่อน คสช.) ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้เสียงข้างมากอย่างไม่ระมัดระวังเพื่อการชนะในรัฐสภา แต่คัดค้านรัฐประหารอย่างสุดตัวเป็นที่ประจักษ์ ทุกวันนี้ ทั้งสองพรรคใหญ่สุดของประเทศ ยังรักษาการเป็นศัตรูกัน พรรคเพื่อไทยดูจะโน้มเข้าหาพรรคประชาธิปัตย์เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ยอมปล่อยวางความชิงชังที่มีต่ออดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ดร. ทักษิณ ชินวัตร) และพรรคเพื่อไทย พรรคทั้งสองมิได้สามัคคีกันในทางประชาธิปไตยเพื่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังมีพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งทั้งใหม่และเก่าที่ไม่มั่นคงกับหลักการประชาธิปไตย ก็กำลังตระเตรียมความพร้อมและหันเหไปร่วมมือกับ คสช. แต่กรณีถ้ำหลวง คนไทยทุกฝ่าย สามัคคีกัน (ยกเว้นคุณลีนา จังจรรจา และเสียงวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียที่มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ)

1.2 คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรวยและคนชั้นกลาง ละทิ้งระบบรัฐสภา แต่ยอมรับและสะใจกับการรัฐประหาร ในขณะที่คนชั้นล่างจำนวนมหาศาลของสังคม มีทั้งกลุ่มที่พร้อมกับการเข้าช่วยเหลือประชาธิปไตย และกลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการ คนไทยส่วนใหญ่จึงยังไม่สามัคคีกันในทางประชาธิปไตย นักการเมืองจำนวนมากก็มีทั้งนักประชาธิปไตย และนักฉวยโอกาสกับประชาธิปไตยที่มิใช่เลือดประชาธิปไตยแท้ ความร่วมมือกันเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เกิดอย่างเป็นเอกภาพ

1.3 นักการเมืองแนวอนุรักษ์ ฝ่ายนิยมทหาร และผู้นิยมวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้ต่างชาติมาช่วยแก้ปัญหาการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประชาคมอาเซียน หรือแม้กระทั่งสหประชาชาติ ก็ตาม แต่กรณีถ้ำหลวงรัฐบาลไทยติดต่อขอร้องให้ชาวยุโรปมาช่วย ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ และคนไทยแทบทั้งหมดก็ยินดีปรีดาต่อการที่เขาเข้ามาช่วยเหลือกันอย่างกระตือรือร้น 


2. ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการกอบกู้วิกฤต

2.1 ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เป็นหลักในการช่วยเหลือเด็ก เขามีวิทยาการที่รู้จริงและกระทำตนถูกต้องในเรื่องถ้ำและระบบการดำน้ำลึกในถ้ำ อาทิ John Volanthen (ชาวอังกฤษ) Richard Stanton  (ชาวอังกฤษ) Christopher Gewell (ชาวอังกฤษ) และ Jason Mallison (ชาวอังกฤษ) ทั้งสี่ท่านนี้ เป็นตัวหลักในการดำน้ำพาเด็กออกมานอกถ้ำ และในทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Dr. Richard Harris (ชาวออสเตรเลีย) พวกเขามีเทคโนโลยีการดำน้ำและอุปกรณ์เครื่องมือครบครัน และเชี่ยวชาญการใช้ยาเพื่อทำให้เด็กสงบ ในขณะที่ทหารหน่วยซีลส์ของเราส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการดำน้ำลึกในถ้ำ และอุปกรณ์การดำน้ำของเราก็ด้อยกว่าพวกเขามาก แต่อย่างน้อยตัวแทนคนไทย ก็มี พ.ท. นพ. แพทย์ภาคย์ โลหารชุน ของหน่วยซีลส์ไทยที่มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถในการดำน้ำพอสมควร (แต่ไม่ใช่ในถ้ำลึก) และสามารถดูแลรักษาสุขภาพและให้กำลังใจเด็กได้ดีเข้าร่วมการทำงาน (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 2 ประกอบ) 

2.2 หากจะเปรียบหน่วยซีลส์ของไทย (Thai Navy SEALs) ที่ต้องการช่วยให้ทีมฟุตบอลเด็กออกมาจากถ้ำ กับกรณีวิกฤตประชาธิปไตยไทย ก็ต้องเทียบได้เป็น คสช.  ที่ คสช. อ้างว่าทำรัฐประหารเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขหรือจะคืนความสุขให้คนไทยก็ตาม และด้วยสัญญาว่าจะจัดการให้ประชาธิปไตยสากลกลับคืนสู่ประเทศไทยในเวลาอีกไม่นาน แต่ทหารเองกลับไม่มีความรู้จริงและมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จในการกอบกู้ประชาธิปไตย แต่ก็ยังฝืนนำพาการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยของประเทศ ดังที่ฟ้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งการปราบประชาธิปไตย พ.ศ. 2560 การเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง และการเตรียมการเตรียมตนกลับมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งก็คือ การที่ คสช. ต้องการครอง/เล่นการเมืองต่อไปเสียเอง แต่กรณีถ้ำหลวง อาคันตุกะจากประเทศต่างๆ เขารู้จริง และเคยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาในขอบเขตความชำนาญเกี่ยวกับการดำน้ำ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตมามาก เขาจึงตัดสินใจถูกต้อง ทีมคนไทยต้องคล้อยตามเขา ทั้งยังแตกต่างจากหน่วยซีลส์ ตรงที่หน่วยซีลส์ไม่ได้มีพฤติกรรมไปในทางแย่งเด็กเล่นฟุตบอลเสียเอง (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 3 ประกอบ)


3.การอาสาสมัครของผู้กอบกู้วิกฤต

3.1 ผู้เข้าช่วยเหลือทีมหมู่ป่าจากนอกประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำหลักๆ ของโลก มีไม่มาก พวกเขาเน้นการอาสาสมัคร (Volunteer) ฝ่ายเสริมต่างๆ ที่มาช่วยทีมหมูป่าอคาเดมี ทั้งคนต่างชาติและคนไทย ก็ล้วนมาช่วยด้วยจิตอาสา อาศัยสติปัญญา แรงกาย และอุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งกำลังเงินของตนเป็นที่ตั้ง

3.2 การจัดการกับประชาธิปไตยของ คสช. เสมือนอาสาเข้ามา แต่ที่จริงเป็นการยึดอำนาจ นับเป็นการอาสาจอมปลอม ได้อำนาจแล้วก็บังคับและควบคุมด้วย ม. 44 และอื่นๆ ได้การร่วมมือจากคนในประเทศมาด้วยผลประโยชน์และความกลัวเกรงเสียมาก ทั้งคนไทยที่รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ก็คงยังหวาดกลัวต่ออำนาจปืน แต่ คสช. หาได้สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อช่วยกู้วิกฤตประชาธิปไตยไทยไม่ การอาสาของประชาชนที่ออกมาปฏิเสธ คสช. อย่างเต็มที่และสันติวิธี จึงยังมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีในแวดวงมหาวิทยาลัยและกลุ่มนักกิจกรรมการเมืองแนวประชาธิปไตย ยังไม่กว้างขวางพร้อมกันทั่วประเทศ

3.3 การเข้าจัดการกับปัญหาเด็กติดถ้ำของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กระทำในระยะเวลาอันสั้น เสร็จแล้วก็ถอนตัวกลับ ไม่มีใครถ่วงเวลาการช่วยให้เนิ่นนาน แต่การช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยของ คสช. เป็นตรงกันข้าม อ้างเรื่องยุทธศาสตร์ชาติบ้าง การแก้ปัญหาเรื้อรัง และการสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ที่ประชาชนจะได้รับบ้าง เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป แต่การจัดการให้เกิดความปรองดองระหว่างคู่กรณี ซึ่งเป็นสิ่งใหญ่ยิ่งของการแก้วิกฤตการเมือง กลับจัดการเชิงนิติศาสตร์ (กฎหมาย) และให้ศาลตัดสิน อันมิใช่การปรองดอง แต่พึงใช้หลักรัฐศาสตร์และอภัยทานมากกว่า เพื่อประสานประโยชน์และความฟื้นฟูความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ

3.4 ในกรณีถ้ำหลวง อำนาจรัฐเก่าที่ฝืนสังขารตนเองของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารและกลไกของระบบราชการ ไม่ได้เสียอะไรหรือพร่องไป แถมมีชื่อเสียงมากขึ้นเสียอีก แต่หากเอาต่างชาติมาร่วมปฏิรูปประชาธิปไตยไทย อำนาจรัฐเผด็จการเก่าแก่ย่อมลดน้อยถอยลงไปโดยปริยาย เพราะอำนาจอธิปไตยของประชาชนจะถูกสนับสนุนให้เข้าแทนที่ การจะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมตัดสินใจกอบกู้ประชาธิปไตยไทยจึงมีขึ้นไม่ได้ รวมทั้งเสียงของการเอาต่างชาติมาแทรกแซงในประเทศไทย ก็คงดังกระหึ่ม

4. การไม่มีหรือจำกัดผลประโยชน์ในการกอบกู้วิกฤต

4.1 เพื่อนจากต่างประเทศทำงานอย่างเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน อัดแน่นด้วยความเสียสละ และความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังไม่สนใจกับคำว่าฮีโรที่ทั่วโลกมอบให้พวกเขาด้วย (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 4 ประกอบ)

4.2 หาก คสช. จะได้รับเกียรติว่ากำลังทำการกอบกู้วิกฤตหรือสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทยให้เจริญงอกงามแล้ว พวกเขาควรกระทำอย่างอาสาสมัคร โดยไม่รับค่าตอบแทน หรือรับน้อยที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์วิกฤตพิเศษ จะรับเหมือนที่นักการเมืองปกติเขารับไม่ได้ รวมทั้งไม่มุ่งไปสู่การสืบทอดอำนาจ โดยอ้างความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาให้ประชาชนบ้าง และยุทธศาสตร์ชาติบ้างดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็นอะไรเลย ที่รัฐบาลประชาธิปไตยจะทำให้ดีกว่าที่ คสช. กำลังทำหรือประกาศใช้ไม่ได้

4.3 ผู้นำกองทัพและบริวารจำนวนมากในคณะรัฐมนตรี สนช. สภาปฏิรูปแห่งชาติ/สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกอื่นๆ ของ คสช. รวมทั้งว่าที่ ส.ว. 250 คน ในอนาคต ล้วนได้ผลประโยชน์จากการดำรงตำแหนงต่างๆ (ไม่รวมผลประโยชน์เกื้อกูลที่ผิดกฎหมายที่อาจมีด้วย) และในระยะเวลาที่ยาวนานเกินจำเป็น ในการเข้ามาจัดการกับประชาธิปไตย (หัวหน้า คสช. ยังรับเงินเดือนสองทาง คือ เงินเดือนหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ยังไม่รวมเงินบำนาญ ผู้นำอื่นๆ ของ คสช. และในคณะรัฐมนตรีก็เป็นเช่นเดียวกัน ซ้ำนายกรัฐมนตรียังเปรยว่าเขาได้เงินเดือนน้อยเสียอีก??!!)

5. การบริหารการแบ่งงานกันทำ

5.1 ผู้แทนรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ช่วยประสานงานขอความช่วยเหลือไปยังองค์การต่างประเทศ อาทิ องค์การนักประดาน้ำอาสาช่วยเหลือผู้ติดถ้ำ (Derbyshire Cave Rescue Organisation, DCRO) ของอังกฤษ และกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) และบุคคลจากต่างประเทศอื่นๆ อย่างรวดเร็ว  

5.2 ภายใต้การประสานการทำงานของอดีตผู้ว่าราชการ จ. เชียงราย (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน) ผู้มากรู้และใช้กลวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมเชิงรุก ทำให้งานหลักและงานสนับสนุนต่างๆ ถูกวางแผนและปฏิบัติการจริงอย่างเป็นระบบ และทำให้การเอื้ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนกิจกรรมจากฝ่ายรัฐ เอกชน และประชาชนไทย บูรณาการเข้าหากัน ทั้งในภารกิจหลัก - รอง และงานสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งบางเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ก็ได้เข้ามาเกื้อกูลกันยิ่ง ตั้งแต่การจัดวางระบบงานทั้งหมด การดำน้ำหาเด็ก การจัดการสูบน้ำออกจากถ้ำ การตรวจสอบหาช่องโหว่ของถ้ำ อาหารการกิน การให้บริการซักรีดแก่อาสาสมัคร ไปจนถึงการบีบนวดคลายเส้น ฯลฯ

5.3ผู้บัญชาการท่านนี้สามารถบริหารการช่วยเด็กให้รอดตายออกจากถ้ำมืดได้สำเร็จในเวลาอันสั้นเพียง 17 วัน แต่เข้าปีที่ห้าแล้วที่หัวหน้า คสช. ยังไม่สามารถบริหารและประสานความร่วมมือสิบทิศ ทั้งกับผู้คนในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยไทยให้พบกับความสว่างไสวได้เลย

6.การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อ

6.1 สื่อมวลชนกระแสหลัก ทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างก็นำเสนอข่าวนักฟุตบอลเด็กติดถ้ำอย่างต่อเนื่อง และสื่อสังคม (Social media) ของคนเล็กคนน้อยก็ไม่น้อยหน้า ได้นำเสนอข่าวเจาะลึกให้ผู้คนได้ติดตาม อย่างเกาะติดกับสถานการณ์กันอย่างระทึกใจ ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความตื่นตัวและเอาใจช่วยจากคนทั่วโลกให้ภารกิจอันแสนยากนี้ ปฏิบัติได้สำเร็จ

6.2 การเสนอข่าวกระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัคร ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมมือกันมากขึ้นๆ และอย่างค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ผู้ปฏิบัติกู้ภัยในด้านต่างๆ ก็เกิดขวัญกำลังใจจากการจับตาดูของคนทั่วโลก ในสิ่งที่ท้าทายที่สุดต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปฏิบัติการไปด้วย ทั้งยังช่วยให้เกิดบรรยากาศความรักและความผูกพันในระยะยาวของผู้ให้ความช่วยเหลือและผู้รับการช่วยเหลือ

6.3 การที่ คสช. จับประชาธิปไตยไทยไปกักขังไว้จนย่างเข้าปีที่ห้าแล้ว ในห้วงเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนของฝ่ายประชาธิปไตยในไทยทำงานต่อต้านทหารอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่สื่อกระแสหลักทั่วโลก มิได้เข้าร่วมปฏิบัติการอย่างเป็นกระแสเดียวกัน อันจะช่วยให้คนทั่วโลกร่วมกอบกู้ประชาธิปไตยร่วมกับคนไทยอย่างขมีขมันไปด้วย


ทางเลือกของคนไทยกับการกลับคืนมาของประชาธิปไตย

คงมีคนไม่เห็นด้วยกับข้าพเจ้าจำนวนไม่น้อย ที่จะเอาชาวต่างชาติมายุ่งเรื่องการเมืองไทย แต่แท้จริงแล้ว เราต้องการวิทยาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากล หรือกระทั่งความก้าวหน้าและประสบการณ์ในทางประชาธิปไตยที่เขามีมากกว่าเรา เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งและต้องการกระชับมิตรภาพระหว่างประเทศในทางประชาธิปไตยสากล รวมถึงความเป็นคนกลางของเขาที่จะช่วยให้เราไม่จมน้ำตายคาคุกประชาธิปไตยที่ คสช. สร้าง แถมยังทำคลุมๆ เครือๆ ตลอดว่า กำลังเข้ามาทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมบ้างและแบบสากลบ้างกลับคืนมา  

การจะให้ชาวต่างชาติมาร่วมมือแก้วิกฤตประชาธิปไตยให้กับไทย แม้เมื่อเราเดินมาถึง ณ วันนี้เสียแล้วนั้น (จะมีการเลือกตั้งปีหน้า?) ข้าพเจ้าเห็นว่าก็ยังเป็นความจำเป็น มิใช่ว่าต้องทำหลังรัฐประหารใหม่ๆ เพราะวิกฤตประชาธิปไตยไทยยังมีอยู่อย่างมั่นคงตลอดมา พอๆ กับความมั่นคงของ คสช.ที่มีอยู่ตลอดมา หรือจะกล่าวอีกแบบก็ได้ว่าวิกฤตประชาธิปไตยที่แท้จริงก็คือความมั่นคงของ คสช. นั่นล่ะ ข้าพเจ้าจึงยังคาดหวังการดำเนินการความร่วมมืออย่างเป็นทางการที่เปิดเผยระหว่างประเทศ ดังกรณีช่วยทีมหมูป่าก็เป็นไปอย่างเป็นทางการและเปิดเผยที่รัฐบาลของบุคคลหรือองค์การต่างๆ มาร่วมมือกัน

การร่วมมือดังกล่าวย่อมมีทางเลือกหลายทาง การเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเพียงมาให้ข้อมูลและแสดงความเห็นก็ใช่ แต่เป็นเพียงขั้นที่อ่อนมาก ไม่เพียงพอ การจัดตั้งในรูปคณะกรรมการความร่วมมือหรือคณะกรรมการที่ปรึกษาที่เป็นทางการเป็นหนทางหนึ่งที่แข็งแรงและเหมาะสมมากกว่า แต่กรณีปัญหาประชาธิปไตย รัฐสภาสมควรเป็นเจ้าภาพในการทำเรื่องนี้ อย่าหวังจากรัฐบาลให้นำหน้าเลย ให้รัฐบาลสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ จะเหมาะสมกว่า แต่ก็นั่นล่ะ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทนรัฐสภาปัจจุบันนั้น มิใช่สภาประชาชนแท้ เป็นสภาประชาชนปลอม (ของปลอมอยู่ได้ เพราะอำนาจพิเศษ หรือไม่เช่นนั้น ประชาชนก็ไม่มีทางเลือก ต้องยอมใช้ของปลอมไปก่อน) ฉะนั้น สภาผู้แทนของแท้ (หากไม่ 100% ก็เชื่อว่าจะดีกว่าปัจจุบันหลายเท่า) ที่จะได้จากการเลือกตั้งคราวหน้า จึงควรจริงจังในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยแก้วิกฤตประชาธิปไตยไทย โดยสามารถเอาตัวอย่างการช่วยทีมหมู่ป่ามาเป็นต้นแบบ นอกเหนือประสบการณ์อ้างอิงอื่นๆ ที่อาจนำมาประกอบ

อย่างไรก็ตาม หากจะสามารถตั้งกลไกความร่วมมือขึ้นได้ ท่ามกลางวิกฤตที่ยังสถิตอยู่ทุกวันนี้ กลไกในรูปคณะกรรมการที่ข้าพเจ้าเสนอข้างต้นนั้น อาจเรียกว่า “คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศกับรัฐสภาไทยเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย” หรือ “คณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของรัฐสภาและรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยไทย” ซึ่งนอกเหนือผู้แทนจากประเทศที่เหมาะสมและผู้แทนฝ่ายไทยแล้ว ก็ควรหาทางทำให้สหประชาชาติ (UN) เห็นชอบ และติดตามการทำงานร่วมกับสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union, IPU) โดยสามารถมีคณะทำงานย่อยได้เท่าที่จำเป็น และโดยคนไทยก็ต้องร่วมทำงานด้วยอย่างเต็มสติปัญญาและจิตใจ และคณะกรรมการดังกล่าวก็ควรทำหน้าที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อาทิ สักประมาณ 6 เดือน - 1 ปี เพื่อให้เราเอง (คนไทย) หลังจากนั้น ก็ก้าวต่อไปด้วยตนเอง (จากที่เรามีภูมิปัญญาในทางประชาธิปไตยอยู่บ้างแล้ว และการเรียนรู้เพิ่มเติมขณะร่วมมือกับชาวต่างชาติ) แต่การติดตามความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยจากองค์การต่างประเทศก็ควรมีอยู่ต่อไป ภายใต้กลไกของสหประชาชาติและสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ ที่ให้คุณค่ากับหลักการประชาธิปไตยสากลอย่างแข็งขัน

การจะมีคณะกรรมการเช่นนี้ขึ้น ณ สถานการณ์แบบทุกวันนี้ คสช. เองก็สามารถทำได้ หากเขาจะกลับตัวกลับใจ ปล่อยวางอำนาจที่ยึดมา แต่หากจะดีที่สุด ก็พึงมีเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government) และที่เป็นกลางจริงๆ และนั่นก็หมายถึงว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รับใช้ คสช. และรัฐบาลที่ไม่เป็นกลางในการจัดการความขัดแย้งและรังสรรค์ประชาธิปไตย ทั้งยังแฝงไว้ด้วยการสืบทอดอำนาจของตนแบบ คสช. จะต้องยุติบทบาทลง แล้วมีการตั้งสภาหรือคณะนิติบัญญัติแห่งชาติขนาดเล็กแทนชั่วคราว และรัฐบาลเฉพาะกาลที่เป็นกลางดังว่าขึ้นมาใหม่ (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 5 ประกอบ) โดยเป็นรัฐบาลที่ฝ่ายหลักๆ (ไม่ใช่ทุกฝ่าย) ในเวทีความขัดแย้งและฝ่ายที่เป็นกลางหรือเป็นกลางค่อนข้างสูงยอมรับ ให้เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ ใช้แทนฉบับปราบประชาธิปไตย พ.ศ. 2560 ไปก่อน

เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว จึงจะมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้ย่อมเป็นไปได้ยากส์ และทำให้การเลือกตั้งยืดยาวออกไปอีก พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยคงคิดหนักที่จะสนับสนุน แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็จะได้รัฐบาลที่หากไม่เป็นพวกเดียวกับ คสช. ก็จะถูกควบคุมโดยวุฒิสมาชิกของ คสช. (แต่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน) ที่รอการแต่งตั้งอยู่ถึง 250 คน ท่านเหล่านี้ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยทำได้ยากส์เช่นกัน ยังไม่นับปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ การควบคุมบทบาทพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เกี่ยวโยงกันระหว่างนโยบายรัฐบาลกับยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. และการดำเนินการขององค์การอิสระภายใต้การควบคุมของ คสช. ฉะนั้น สองทางเลือกของการจะทำอย่างไรให้ สนช. และ คสช. ยอมยุติบทบาทเพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลที่แท้จริงมาทำงานแทนตน กับการที่ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งมวลจะสามัคคีกันเพื่อเอาชนะเผด็จการ คสช. ในคราวการเลือกตั้ง (ในปีหน้า ?!) จึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักทั้งคู่ แต่ดูเหมือนว่าการทำให้ฝ่ายประชาธิปไตย ชนะเผด็จการทหารก่อนการเลือกตั้ง จะสำคัญกว่าการจะพยายามเอาชนะพรรคของทหารด้วยการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จหลังการเลือกตั้ง ??!!

ข้อเสนอข้างต้น ด้วยการเรียนรู้จากโมเดลการร่วมมือกับคนไทยช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีของชาวต่างชาติที่เป็นประสบการณ์จริง ข้าพเจ้าไม่ได้นั่งเทียนเขียน จึงหาใช่จะให้ชาวต่างชาติมาแทรกแซงการเมืองไทยที่อาจมีผู้ตีความแบบแคบๆ และที่อาจมองว่าเป็นการให้ต่างชาติมาครอบงำการเมืองของประเทศเราไม่ เพราะข้าพเจ้าไม่เห็นผลเสียหายของการร่วมมือหรือสอดแทรกเชิงบวกดังกล่าวมากกว่าผลได้ และในระยะยาวแล้ว ประชาประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักการสากล ที่เราพึงจะได้จากการร่วมมือกันทั้งคนไทยและต่างชาติ (ซึ่งมิได้หมายถึงเราต้องอยู่ในฐานะผู้ตามชาวต่างชาติไปเสียทุกเรื่อง เพราะเรามีความรู้และประสบการณ์ประชาธิปไตยในส่วนที่ถูกต้องมาบ้างแล้ว) จะสนับสนุนความสำเร็จและหรือสร้างคุณค่าให้แก่ประชาชนในการพัฒนาประเทศ มากกว่าการหันไปพึ่งระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารเพื่อแก้วิกฤตการเมืองไทยอย่างซ้ำซาก เพราะหากยังคงทำกันเองเฉพาะคนไทยที่แตกแยกและไม่ยอมรับกันเองอย่างสุจริตใจในทุกวันนี้ และการขาดปัจจัยอื่นๆสนับสนุน ภายใต้การควบคุมของเผด็จการทหารที่มุ่งเพิ่มพูนอำนาจให้ตนต่อไป โอกาสที่ประชาชนจะใช้อำนาจอธิปไตยแท้ของตน เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะและประโยชน์มหาชนใหม่ๆ ที่มีคุณค่ากว่าและแตกต่างจากเดิมก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ถือข้างว่าคนไทยจะแก้ปัญหาการเมืองคราวนี้ได้ด้วยตนเอง แต่การที่คนไทยจะกอบกู้วิกฤตประชาธิปไตยที่ทำท่าว่าจะงอกงามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยพื้นฐาน ให้กลับคืนมาได้ด้วยคนไทยกันเองนั้น ก็มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ใช่ - มันอาจเป็นไปได้ แต่นั่นก็หมายถึงว่าคนไทยกันเองย่อมต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอื่น ที่อาจเป็นไปได้เฉพาะในสังคมของเราเท่านั้น เช่น บารมีของกษัตริย์ผู้ทรงเป็นมิตรแท้กับประชาธิปไตย (พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อาจจะใช่หรือไม่ใช่ – ข้าพเจ้าไม่สามารถระบุได้ แต่ข้าพเจ้ารวมทั้งนักประชาธิปไตยจำนวนมากก็คงคาดหวังเช่นนั้น) และรวมทั้งการอาศัยปัจจัยสนับสนุนตัวอย่างทั้งหกเท่าที่จะทำได้ มาประยุกต์ในบริบทประชาธิปไตยไทยอย่างพึงมีศักยภาพสูงยิ่ง นั่นก็คือ 1) ความสามัคคีของคนไทย 2) ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการกอบกู้วิกฤต 3) การอาสาสมัครของผู้กอบกู้วิกฤต 4) การไม่มีหรือจำกัดผลประโยชน์ในการกอบกู้วิกฤต 5) การบริหารการแบ่งงานกันทำ และ 6) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อ แต่ต่อปัจจัยเหล่านี้ในบริบทของประชาธิปไตยไทย ในมุมมองของข้าพเจ้าเองนั้น เสียดายว่ายังไม่เห็นมันอย่างชัดแจ้ง และดูจะยังไม่เกิดอย่างมีพลังขนานใหญ่ในช่วงเวลาอันใกล้นี้


ปัจฉิมกถา

การเปลี่ยนแปลงในสังคมใดๆ ในเรื่องที่มีปัญหา หากพลังภายในสังคมนั้นๆ อ่อนแอ พลังภายนอกที่เข้มแข็งและมีอารยะมากกว่าย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมที่มีปัญหานั้นได้ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ปรากฏในกรณีการช่วยทีมฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำได้สำเร็จ แต่ไม่มีในกรณีการกอบกู้ประชาธิปไตยไทยออกจากความมืดแห่งการคุมขังได้สำเร็จ จึงยืนยันว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในการช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ที่สำคัญของสังคมหนึ่งๆ ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ย่อมเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่ง

ความสำเร็จของการช่วยทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีดังกล่าว เกิดขึ้นโดยความร่วมสติปัญญา แรงกาย และแรงใจ และอื่นๆ ระหว่างนานาประเทศเป็นหลัก หากลำพังประเทศไทยเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงไม่แน่ใจเลยว่าเด็กเหล่านั้นพร้อมผู้ช่วยโค้ชจะสามารถออกมาได้เมื่อใด อย่างปกติสุข และมีชีวิตรอดทั้งหมด?!

การช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำ กระทำได้สำเร็จ แต่การกอบกู้ประชาธิปไตยไทยด้วยคนไทยกันเองนั้น ยังไม่สำเร็จ มันยากส์แสนสาหัส แต่หากเราร่วมมือกับต่างประเทศ โอกาสสำเร็จจะมีสูงขึ้น

ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าใคร่ขอจบข้อเขียนชินนี้ ด้วยคำขอร้องที่อาจจะดูขัดกับความเห็นที่ข้าพเจ้าเองไม่หวังพึ่งรัฐบาลในการเป็นเจ้าภาพในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้วิกฤตประชาธิปไตยของเรา แต่เพราะ คสช. อยู่ในฐานะผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จในอำนาจรัฐปัจจุบัน รวมทั้งการควบคุมสภาประชาชนเทียม สนช. ด้วยความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ว่า:

“ท่านหัวหน้า คสช. ได้โปรดติดต่อไปยังประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เขาเข้าใจและมีประสบการณ์ระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ไปเถอะครับ (โปรดดูข้อความขยายท้ายบทความที่ 6 ประกอบ)  เชิญเขามาช่วยกอบกู้ประชาธิปไตยไทยเสียที ลำพังท่านและพรรคพวกของท่าน รวมถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยไปอย่างถูกทิศถูกทางอย่างแท้จริงหรอกครับ อย่า เสียเวลาปกครองประเทศและสร้างประชาธิปไตยเทียมๆให้คนไทยในอนาคตต่อไปอีกเลย รวมถึงหากจะพยายามเร่งการทำงานและประชาสัมพันธ์ตนเองให้คนไทยและต่างชาติได้เห็นผลงานรัฐบาล คสช. พร้อมกันไปด้วยนั้น ก็กรุณาหยุดกระทำแบบคลุมคลุมเครือๆ ในเรื่องอนาคตอำนาจการเมืองของท่านและคสช. เสียด้วย โดยประกาศอย่างชายชาติทหาร ให้ประชาชนไทยและทั่วโลกทราบว่า ท่านและทหารทุกนายในทุกกองทัพ มีสปิริตที่จะไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ไม่ตั้งรัฐบาล หรือไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาล หลังการเลือกตั้งคราวหน้าและต่อๆไปในอนาคตอย่างแน่นอน แต่จะขอกลับไปทำหน้าที่เป็นทหารประชาธิปไตยและทหารอาชีพ จะรับใช้ และสนับสนุนรัฐบาลที่ได้จากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงอื่นๆ ดังที่อารยประเทศประชาธิปไตยเขาทำกันอยู่แทน – สาธุ!!!!!”

ท่านและพรรคพวกทำได้ไหม??!!

 

 

ข้อความขยายท้ายบทความ

1. ระหว่างที่ทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีติดถ้ำ วันที่ 23 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2561 ข้าพเจ้าไปเยือนประเทศอังกฤษ คนอังกฤษสนใจเรื่องนี้กันไม่น้อย ท่ามกลางข่าวเด่นๆ อื่นๆ ทั้งการเตรียมการและทะเลาะกันของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในการจัดการกับการออกจากยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ข่าวชัยชนะของทีมฟุตบอลอังกฤษในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ที่รัสเซียติดต่อกันหลายนัด การคัดค้านของชาวบ้านต่อการขยายรันเวย์สนามบินฮีทโทร ที่ทั้ง ส.ส.พรรครัฐบาลและพรรคแรงงานส่วนใหญ่ล้วนลงคะแนนสนับสนุนในรัฐสภาให้ขยายเส้นทาง และการแข่งเทนนิสที่เผ็ดร้อน ณ สนามวิมเบิลดัน ประจำฤดูร้อนปีนี้ อันเป็นปีที่ชาวอังกฤษจำนวนมากเห็นว่าอากาศร้อนตับจะแตก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในขณะนั้นพบว่า ในช่วงแรกๆ ข่าวทีมหมูป่ายังมีน้อย แต่ต่อมาก็ค่อยๆ มี ถี่ขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก BBC  และการที่คนอังกฤษสนใจข่าวนี้มากขึ้นๆ ก็เพราะเขานำเสนอพร้อมกับการยกย่องผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษที่เขาภูมิใจกันมากด้วย (ในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยเป็นนักฟุตบอลเก่า ลงแข่งชิงแชมป์ฟุตบอลนักเรียนกรมพละรุ่นจิ๋ว เมื่อ พ.ศ. 2514 ดูไปแล้วปรากฏการณ์คราวทีมหมูป่าติดถ้ำครั้งนี้ ก็น่าอัศจรรย์ใจมิใช่น้อย เพราะในที่สุดทีมฟุตอังกฤษที่คนอังกฤษหวังกันเต็มที่ว่าปีนี้ตนจะได้แชมป์บอลโลกอีกครั้งเสียที หลังจากเคยได้มาเมื่อ 1966 (52 ปี ที่แล้ว) แต่ในที่สุดก็ไปไม่ถึงฝันอีกแล้ว แต่อาสาสมัครดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษกลับมาบรรลุความใฝ่ฝันด้วยการช่วยทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีของไทยได้สำเร็จ คนอังกฤษจึงได้สิ่งชดเชยที่มีค่าทางจิตใจอันงดงามแบบที่ไม่ได้ใฝ่ฝันมาก่อน จากหัวใจของชาวไทยและชาวโลกไปแทน – ดรามาสุดๆ เลย!!! :)

2. ข้าพเจ้าหวังว่าทหารนายแพทย์ผู้นี้ จะเป็นทหารอาชีพที่เคร่งครัด คือ ไม่แสวงหาอำนาจหรือเล่นการเมืองขณะอยู่ในอาชีพทหาร และข้าพเจ้าใคร่ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการสูญเสีย นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้มีจิตใจดีงามยิ่งที่ต้องสูญเสียชีวิตในภารกิจครั้งนี้ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

3.ในอนาคต เด็กเหล่านี้ก็ควรจะไปประกอบอาชีพใดก็ได้อย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ต้องเป็นทหารกันทั้งหมด/เสมอไป แต่เมื่อโตและประกอบอาชีพใดแล้ว พวกเขาสามารถกลับมารวมทีมอาสาสมัครกู้วิกฤตให้กับสังคมในเรื่องใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้นั้น จึงจะงดงามแท้ เพราะพวกเขารอดตายมาได้ ด้วยจิตวิญาณแห่งการอาสาสมัครเป็นใหญ่)

4. หากคนต่างชาติที่อาสามาช่วยเราจะได้อะไรบ้างในภายหลัง ก็ควรจะเป็นเรื่องการประกาศเกียรติคุณเป็นหลัก ไม่ใช่จะไปลดคุณค่าแห่งน้ำใจด้วยการให้ผลประโยชน์เชิงวัตถุนิยมแก่เขามากมาย แต่หากจะให้กันบ้างเป็นสินน้ำใจ (Token) ก็ต้องจำกัดอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจิตวิญญาณแห่งการเป็นมนุษย์อาสาสมัครจะถูกทำลาย

5. รัฐบาลเฉพาะกาล ดังที่ทราบกันดี คือจะไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ ในความหมายที่สภาผู้แทนราษฎรหาใครเป็นนายกฯไม่ได้ แล้วไปเชื้อเชิญคนนอกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเอาคนจากหลายพรรคการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีประดับบารมีของตน

6. จะเชิญผู้เชี่ยวชาญประชาธิปไตยจากประเทศที่มาช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำก็ได้ อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิงคโปร์ เพราะมีความรู้จริงและมีประสบการณ์ในทางประชาธิปไตยที่มั่นคงมานานเช่นกัน และในเชิงองค์การระหว่างประเทศก็ขอให้มีสหประชาชาติ (UN) สหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (IPU) และอาจรวมถึงประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่สามองค์การหลังไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net