Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รพินทรนาถ ฐากูร กวีรางวัลโนเบลชาวอินเดีย เคยกล่าวไว้ว่า “พุทธะคือผู้ปฏิรูปศาสนาฮินดู” อันที่จริง ถ้าพูดให้ชัด บทบาทพระศาสดาของศาสนาต่างๆ คือบทบาทผู้ปฏิรูปศาสนา ไม่มีศาสนาที่เป็น “อกาลิโก” อยู่จริง มีแต่ศาสนาที่แปรเปลี่ยนและถูกปฏิรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสายธารประวัติศาสตร์ศาสนาที่ทอดยาว

ทำไมพระศาสดาจึงปฏิรูปศาสนา มีเหตุผลที่เราเข้าใจได้ อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) พระศาสดามีชีวิตอยู่ในยุคที่ศาสนามีอิทธิพลสูงต่อชีวิตมนุษย์และสังคม เพราะศาสนาเป็นทั้งหลักการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย รากฐานของจารีตประเพณี และหลักความประพฤติของบุคคล และ 2) ศาสนามีด้านมืดและด้านสว่าง หรือมีด้านร้ายและด้านดี

จึงไม่จริงอย่างที่คนปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่รู้จักศาสนาอย่างผิวเผินสรุปกันง่ายๆ ว่า “ศาสนามีแต่ด้านดี” เพราะศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี หากจะมีด้านร้ายก็เพราะคนใช้ศาสนาอย่างผิดๆ

ในหนังสือ “ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์” ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ ชี้ให้เราเห็นว่า ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มศาสนาก็แสดงให้เห็นด้านที่อำมหิต ไม่คำนึงถึงชีวิตปัจเจกชน เช่นพิธีฝังศพมีการฝังภรรยาและคนรับใช้ เพื่อให้ไปปรนนิบัติรับใช้ผู้ตายในโลกหน้า ปิรามิดก็คือลานฝังศพอันอลังการงานสร้างเพื่อส่งวิญญาณของบรรดาบรมวงศานุวงศ์สู่ความเป็นอมตะ โดยเบื้องหลังความอลังการนั้น เกิดจากการกดขี่แรงงานทาส

แม้แต่ด้านสวยงามของศาสนา ก็เผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ชัดแจ้ง เช่นสวรรค์ในจินตนาการของศาสนาหลักๆ ของโลก ก็คือสถานที่อันพรั่งพร้อมด้วยการเสพสุขของเหล่าเทพบุตรที่มีเหล้าหรือไวน์ชั้นดี และมีเทพธิดาแสนสวยคอยปรนนิบัติรับใช้ ไม่ต่างอะไรกับสถานบันเทิงที่เพียบพร้อมด้วยสุรานารีของบรรดาบุรุษชั้นสูงและร่ำรวยบนโลกมนุษย์

การปฏิรูปศาสนาของพระศาสดา ก็คือการต่อสู้ขับเคี่ยวภายในสังคมศาสนา ด้วยการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ด้านมืดของศาสนา และเสนอทางเลือกใหม่

เช่นการปฏิรูปศาสนาของพุทธะในเทศนาครั้งแรก ซึ่งได้ถูกทำให้จดจำภายใต้ชื่อ “วันอาสาฬหบูชา” เนื้อหาสำคัญก็คือ การวิจารณ์ความเชื่อทางศาสนา 2 ด้าน ที่พุทธะมองว่าเป็น “ทางสุดโต่ง” ได้แก่ การใช้ชีวิตหมกมุ่นในกามสุข กระทั่งมีการสร้างลัทธิความเชื่อที่ว่าหากเราได้ใช้ชีวิตเสพกามสุขอย่างเต็มที่ย่อมทำให้หลุดพ้นได้ และทางสุดโต่งอีกด้าน คือการใช้ชีวิตบนเส้นทางบำเพ็ญตบะทรมานร่างกาย เพราะเชื่อว่าร่างกายของเราคือแหล่งพอกพูนกิเลสตัณหา เมื่อบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายถึงที่สุด จะทำให้เราหมดสิ้นกิเลสตัณหาได้

เมื่อวิจารณ์ว่าทางสุดโต่งจึงไม่ใช่ให้พ้นทุกข์ จากนั้นพุทธะก็เสนอว่า “ทางสายกลางคือทางพ้นทุกข์” เนื้อหาของทางสายกลางคือ “มรรค” หรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง คิดถูกต้อง พูดถูกต้อง กระทำถูกต้อง เพียรพยายามถูกต้อง มีสติและสมาธิถูกต้อง ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดของแนวทางปฏิบัติดังกล่าว แทบไม่มีอะไรที่เป็น “ศาสนา” หากความหมายของศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ด้วยความจริงเชิงประจักษ์ เพราะ “มรรค” หรือทางสายกลางในเทศนาครั้งแรกเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติ ที่อ้างอิงจากประสบการณ์ของพุทธะที่เล่าให้ปัญจวัคคีย์ฟังว่า หลังจากท่านปฏิบัติตามวิธีนี้แล้วก็เกิดปัญญารู้แจ้ง

เทศนาครั้งที่สองของพุทธะได้ก้าวสู่ความจริงที่เป็นแดน “อภิปรัชญา” คือ การเสนอว่า ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยกายกับจิตที่มีลักษณะเกิดดับภายใต้กฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อัตตา” ในความหมายของ “วิญญาณ” หรือ “soul” ที่เป็นอมตะ ซึ่งเป็นการโต้แย้งความเชื่อเรื่องอัตตาของศาสนาพราหมณ์ และในเทศนาครั้งต่อๆ มาก็วิจารณ์เรื่องล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การบูชายัญ และระบบวรรณะเป็นต้นของศาสนาพราหมณ์

เมื่อวิจารณ์ระบบวรรณะก็เท่ากับกำลังก้าวสู่แดน “ศาสนากับการเมือง” เพราะระบบระบบวรณะคือระบบสังคมและการเมืองที่สถาปนาขึ้นโดยศาสนาพราหมณ์ ที่กำหนดว่าชนชั้นไหนคือผู้ปกครอง ชนชั้นไหนคือผู้ถูกปกครองและเป็นทาส และ “คนนอก” ของระบบวรรณะก็คือจัณฑาล ที่ถือเป็น “กาลกิณีชน” ที่แม้แต่มองด้วยสายตา ก็ทำให้เป็นมลทิน หรือ “ซวย” ได้

จากการวิจารณ์ระบบวรรณะ ทำให้พุทธะเสนอความคิดเรื่อง “ธรรมราชา” ที่ไม่ได้ระบุลงไปว่าชนชั้นไหนควรเป็นผู้ปกครอง เพียงแค่เสนอว่า คนเป็นผู้ปกครองควรปฏิบัติตามหลักคุณธรรมอะไรบ้าง

การปฏิรูปศาสนาของพุทธะจึงถูกอธิบายว่า เป็นการทำให้ศาสนาเป็นเรื่องของ “การนำมาปฏิบัติได้จริง” (practical) ด้วยการเสนอหลักศีลธรรมต่างๆ สำหรับนำไปปฏิบัติที่สามารถตรวจสอบผลลัพธ์ได้ในเชิงประจักษ์ ซึ่งมีนัยสำคัญต่างจากความเชื่อว่าชีวิตขึ้นกับพรหมลิขิต กรบูชายัญจะทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือการล้างบาป การไหว้ทิศ และสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นๆ จะทำให้ชีวิตดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อขับเคี่ยวในสังคมศาสนา พุทธะก็หนีไม่พ้นที่จะหยิบยืมความเชื่อทางศาสนาที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันอยู่แล้วมาใช้ในการโน้มน้าวให้คนยอมรับแนวทางที่ท่านเสนอ เช่นความเชื่อเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม สวรรค์ นรก นิพพาน เป็นต้น และยังนำจารีตการเสนอคำสอนผ่านเรื่องเล่าเชิงพงศาวดารแบบสังคมอินเดียร่วมมัยมาใช้อีกด้วย จึงทำให้คำสอนพุทธะมีมิติของความเป็นศาสนาในเชิงเหนือจริงหรือล้ำเข้าไปในแดนเหนือธรรมชาติด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเราเห็นมิติเช่นนี้มากมายในคัมภีร์ไตรปิฎกและอรรถกถา (ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมผ่านการสังคายนาครั้งต่างๆ)

พระศาสดาของศาสนาเอกเทวนิยมสายอับราฮัม ก็เป็นนักปฏิรูปศาสนาทำนองเดียวกัน เริ่มจากอับราฮัมปฏิเสธการแกะสลักรูปเคารพทางศาสนาเป็นสินค้า เพราะเขาเห็นว่าเป็นการแสวงหาความร่ำรวยจากศรัทธาผู้คน เขาจึงเสนอพระเจ้าองค์เดียวที่ไร้รูปเคารพ ถึงยุคโมเสสพระเจ้าองค์เดียวนั้นได้เป็นพลังศรัทธาปลดปล่อยทาสชาวยิวจากชาวอียิปต์เดินทางไกลสู่อิสราเอล อันเป็นแผ่นดินแห่งพันธสัญญา ทำให้ศาสนากับชาติพันธุ์และแผ่นดินของชาวยิวเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือแยกขาดจากกันไม่ได้

แต่การปฏิรูปของเยซู ทำให้พระเจ้าใกล้ชิดมนุษย์เข้ามาอีก เพราะพระองค์คือ “บิดา” เยซูคือบุตรของพระเจ้าผู้เสนอว่า อาณาจักรสวรรค์จะมาสู่โลกนี้ ด้วยการที่มนุษย์รักพระเจ้าอย่างสุดจิตใจและสุดความคิด รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ให้อภัยแก่ศัตรู เมื่อเขาตบหน้าก็จงหันอีกข้างให้เขาตบ รักเพื่อนบ้านก็ไม่ใช่รักเฉพาะคนศาสนาเดียวกัน แต่รักมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนคือบุตรของพระเจ้า

คำสอนของเยซู (ต่อบรรดาผู้ติดตามซึ่งส่วนใหญ่คือคนยากจนหรือกลุ่มคนที่รอคอย “พระเมสสิยาห์” ผู้ที่จะมาช่วยให้รอดจากการกดขี่ของชาวโรมัน) มี “ความหมายเชิงสัญญะ” ทิ่มแทงอำนาจผู้ปกครองชาวโรมันโดยตรง เพราะเป็นอำนาจที่โหดเหี้ยม เท่ากับว่าอาณาจักรบนโลกนี้ที่พวกเขาเป็นผู้ปกครองนั้นเลวร้ายอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอาณาจักรของพระเจ้า ดังนั้นในสายตาผู้มีอำนาจชาวโรมัน เยซูคือกบฏผู้หลอกลวงว่าตนเป็นบุตรของพระเจ้า และในสายตายของบรรดาผู้นำศาสนายิว ที่ถือว่าพวกตนรู้จักพระเจ้าดีกว่าและรับใช้พระเจ้ามาก่อน ชายหนุ่มที่มาจากบ้านนอกอย่างเยซูผู้ประกาศตนเป็นบุตรของพระเจ้าก็คือ “ผู้ดูหมิ่นพระเจ้า” ที่มีโทษสมควรตาย นั่นจึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่มวัยฉกรรจ์ผู้ปฏิรูปศาสนาชาวยิว ที่เริ่มงานเมื่ออายุ 30 ถูกประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนในวัยเพียง 33 ปี

แต่ประหารชีวิตแล้วแทนที่จะจบเรื่อง กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องยาว เมื่อเกิดเรื่องเล่าการฟื้นคืนชีพของเยซู และนักบุญเปาโลทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาของชาวโลก ต่อด้วยจักพรรดิคอนสแตนตินก่อตั้งคริสตจักร ทำให้ศาสนจักรคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปนับพันปี ไม้กางเขนกลายเป็นสัญลักษณ์ในการพิชิตของคอนสแตนติน และในสงครามครูเสด ต่อด้วยสงคราม 30 ปียุคหลังการปฏิรูปศาสนา

จะเห็นว่าแม้ยุครุ่งเรืองของศาสนาคริสต์จะยังคงรักษาคำสอนของเยซูเรื่องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ให้อภัยแก่ศัตรู เมื่อเขาตบหน้าก็จงหันอีกข้างให้เขาตบไว้ในไบเบิลเป็นอย่างดี แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง

พุทธศาสนาหลังยุคพุทธะก็เช่นกัน แม้จะยังรักษาคำสอนเรื่องปฏิเสธระบบวรรณะและหลักศีลธรรมอื่นๆในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่ในความเป็นจริงพุทธศาสนากลับมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสของรัฐต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ตลอดยุคประเพณี

ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่มีศาสนาเป็นแกนกลางของการต่อสู้ต่อรองในเชิงความคิด แม้อาจจะเกิดนักปฏิรูปศาสนาอย่างพระศาสดาเอกของโลก ที่ตั้งคำถามต่อด้านมืดของศาสนาและเสนอคำสอนที่เป็นด้านสว่างแก่มนุษย์ แต่ศาสนาก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมและการเมือง ที่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคได้

ยิ่งกว่านั้นทั้งชื่อและคำสอนของพระศาสดานั้นๆ ยังถูกใช้สร้างระบบชนชั้น การกดขี่ การแบ่งแยกและสงคราม จนเป็นเหตุให้การต่อสู้ต่อรองทางปัญญาของมนุษย์เปลี่ยนจากที่เคยมีศาสนาเป็นศูนย์กลางมาสู่แดนของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ หรือเปลี่ยนจากแดนของ “ศรัทธา” มาสู่แดนของ “เหตุผล” จนเกิดระบบความคิด คุณค่า และระบบสังคมการเมืองแบบสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ-การเมืองเพื่อลดการใช้อำนาจ ความขัดแย้ง และความรุนแรงบนศรัทธาที่ถูกทำให้เป็นกำแพงกั้นเหตุผล

คำถามคือ เราคิดอย่างไรเมื่อเห็นกิจกรรมรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” เห็นภาพผู้นำรัฐบาลจากรัฐประหารพาบริวารนั่งสมาธิ พูดรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และสอนประชาชนว่า “อย่ายึดติด” และเมื่อนึกภาพกว้างออกไป ก็จะเห็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสงฆ์ที่เพิ่มอำนาจรัฐคุมศาสนาและใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือได้มากขึ้น เห็นการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มศาสนาบ้านๆ ที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจครอบงำของรัฐในยุคต่างๆ เห็นรัฐใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมภายใต้วาทกรรมยก “คนดี” ให้มีอภิสิทธิ์ปกครองประเทศโดยบนการล้มล้างเสรีภาพและประชาธิปไตย เป็นต้น

ตกลงเรายังอยู่ในสังคมที่ศาสนายังเป็นแกนกลาง หรือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อสู้ต่อรองทั้งในเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลและสิทธิทางการเมืองเช่นนั้นหรือ

อาสาฬหบูชา เมื่อย้อนมองเทศนาครั้งแรก อันเป็นจุดเริ่มปฏิรูปศาสนาของพุทธะ แล้วหันมามองพุทธศาสนาไทย เราเห็นอะไร เห็นความก้าวหน้าของพุทธศาสนาในมิติปัจเจกบุคคลที่ไปกันได้กับเสรีภาพทางศาสนาอย่างสมสมัย หรือเห็นเพียงมิติศาสนากับการเมืองที่ล้าหลัง เพราะขัดกับทั้งเสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net