Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เสนอให้เรียกหนี้ที่รัฐบาล คสช. ก่อ ว่า “หนี้ประชารัฐ” เพื่อให้เกียรติกับรัฐบาลผู้ก่อหนี้

เพื่อนๆ หลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แล้วก็เลยถามผมว่า หนี้ประชารัฐ นี้มันคิดเป็นเงินสักเท่าไรกัน? ผมเลยขอตอบเพื่อนๆ ตามนี้นะครับ

เริ่มต้นจากนิยามกันก่อนแล้วกัน จริงๆ คำว่า “หนี้ประชารัฐ” ก็ไม่มีนิยามตายตัว ผมเลยขอลองกำหนดเองว่า

หนี้ประชารัฐ หมายถึง หนี้ที่รัฐบาล คสช. กู้ตรงเพิ่มขึ้น ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนเมษายน 2561


คราวนี้มาดูกันว่า หนี้ประชารัฐเพิ่มขึ้นมาเท่าไร?

ย้อนไปดู ข้อมูลหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 57 รัฐบาลไทยมีหนี้เท่ากับ 3,907,849.2 ล้านบาท แต่พอมาถึงวันที่ 30 เม.ย. 61 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงก็เพิ่มขึ้นเป็น 5,182,896.2 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น หนี้ประชารัฐ จึงเท่ากับ 1,275,047 ล้านบาท ในช่วงเวลา 4 ปี


หนี้ประชารัฐ มากหรือน้อยแค่ไหน

ถ้าเราเอาตัวเลข 1.275 ล้านล้านบาท มาอธิบายง่ายๆ ก็เท่ากับว่า เราต้องเอาเงินล้านบาทมากองกันถึงหนึ่งล้านสองแสนเจ็ดหมื่นห้าพันกว่าครั้ง

และถ้าลองเอาตัวเลขดังกล่าวมาเทียบกับหนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลกู้โดยตรง (5,182,896.2 ล้านบาท) เราจะพบว่า หนี้ประชารัฐคิดเป็น 24.6% ของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงทั้งหมด

แปลว่า หนี้เกือบหนึ่งในสี่ที่รัฐบาลไทยมีทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงเวลา 4 ปีที่รัฐบาล คสช. ปกครองประเทศ


แล้วคนไทยต้องแบกหนี้ของรัฐบาลคนละเท่าไร?

ถ้าเราเอาจำนวนตัวเลขหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงมาหารด้วยจำนวนประชากร จะพบว่า ภาระหนี้รัฐบาลต่อหัวของประชากร ในปี 2557 เท่ากับ 60,006 บาท/คน แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 78,305 บาท/คน ในปี 2561
เท่ากับว่า ภาระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 18,299 บาท/คน ในช่วงเวลา 4 ปี

กล่าวง่ายๆ ก็คือ หนี้ประชารัฐมีมูลค่าเท่ากับ 18,299 บาทต่อคน

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวของผมอยู่ด้วยกัน 5 คน เท่ากับว่า รัฐบาล คสช. ได้ช่วยสร้างหนี้ประชารัฐ ให้ครอบครัวเราต้องร่วมรับผิดชอบเท่ากับ 91,493 บาท เลยทีเดียว


แล้วเราเรียกว่า หนี้ประชารัฐ จะไม่เป็นการล้อเลียนรัฐบาล คสช. เหรอครับ?

ไม่หรอกครับ ผมเชื่อว่า รัฐบาล คสช. จะต้องชี้แจงว่า การกู้เงินเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แปลว่า รัฐบาล คสช. ก็คงภูมิใจกับการก่อหนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น การเรียกว่า “หนี้ประชารัฐ” จึงน่าจะเป็นการให้เกียรติรัฐบาลผู้กู้เงินมากกว่า

นอกจากนี้ การเรียกว่า “หนี้ประชารัฐ” จึงน่าจะช่วยให้เกิดความชัดเจน สำหรับประชาชนในการเลือกตั้งในครั้งหน้า ว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่หนุน คสช. ให้ก่อ “หนี้ประชารัฐ” ต่อไปหรือไม่?

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net