Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ฉันเป็นเสรีนิยมนะ”
“ฉันเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่”
“ฉันเป็นมาร์กซิสต์”

ในปัจจุบันเราจะเห็นคนนิยาม(อุดมการณ์)ตัวเองว่าเป็นประเภทนั้น ประเภทนี้ กันอยู่เต็มไปหมด ซึ่งดูเป็นเรื่องน่าสนุกในตอนแรกเพราะเราสามารถจะนิยามตัวเองว่าเป็นอะไรก็ได้ อารมณ์เหมือนได้เดินช็อปปิ้งเลือกเสื้อผ้า บางคนก็บอกว่าตัวเองสมาทานอุดมการณ์แปลกๆ(ที่ตัวเองก็ไม่เคยศึกษา)เพราะว่ามันดู “ยูนีค” ดี หรือบางคนมาเหนือกว่าคือประกาศว่า “ฉันเป็นคนปราศจากอุดมการณ์ ฉันไม่นิยามตัวเองว่าเป็นพวกไหนทั้งนั้น ฉันก็คือฉัน”

จากตัวอย่างเหล่านี้ คือ วิธีคิดของผู้คนก่อนที่จะ “รู้สึกถึงโครงสร้าง”

เพราะเมื่อเรา “ตื่น” และ “รู้สึกถึงโครงสร้าง" เมื่อไร เราจะรู้ว่า
 

“เราไม่ได้เป็นคนเลือกอุดมการณ์ อุดมการณ์ต่างหากที่เลือกเรา”


เห้ย จ้อจี้ป่ะเนี่ย !? อุดมการณ์มันจะมาเลือกเราได้ไงวะ ?
 

ในบทความนี้ผมจะช่วยเปิดไฟฉายส่องไปยังผนังถ้ำ "อุดมการณ์" ที่ครอบงำเราอยู่

ถ้าพร้อมผจญภัยไปกับผมก็อ่านต่อเลยครับ!


ตอนเราพึ่งตื่นลืมตาดูโลกได้ไม่นาน นั่นคือสภาวะที่เรายังไม่ถูกชุดอุดมการณ์ใดๆเข้ามาควบคุม
เราเหมือนกับผ้าขาวที่รอการแต่งแต้มเติมสีสัน..

ต่อมาเราโตขึ้นแล้วเริ่มเรียนรู้ภาษา เมื่อนั้นเมล็ดพันธุ์ “อุดมการณ์” ได้ถูกหว่านลงในผืนจิตใต้สำนึกของเรา

“ภาษา” นั้นเป็นหนึ่งในผลผลิตทางสังคมซึ่งยึดโยงกับค่านิยม,วัฒนธรรม,วิธีคิดอย่างเหนียวแน่น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

ในสังคมที่เชื่อใน “ความอาวุโส” จะมี “คำ” ที่ใช้เรียกลำดับชั้นอายุ อย่างประเทศไทยเราก็จะมี “พี่-น้อง-น้า-ลุง-ทวด ฯลฯ”

หรือในภาษาเกาหลี (ที่มีวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยมเช่นกัน) ก็จะมีคำเรียกลำดับชั้นอายุ ซึ่งละเอียดกว่าไทยเข้าไปอีก

ซึ่งค่านิยมแบบอาวุโสนิยมของเกาหลีนั้นก็มีที่มาจาก “ลัทธิขงจื๊อ” ( Confucianism ) ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งใน “อุดมการณ์รัฐ”

(State  ideology)ของเกาหลี (และประเทศข้างเคียงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน) ซึ่งต่อมาค่านิยมนี้ก็ได้สร้างปัญหาถึงขั้นทำให้เครื่องบินตกได้กันเลยทีเดียว

(บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน: Assertive Pilot)

ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาแบบนี้จะเกิดกับทุกที่ ที่มีการใช้คำเรียก “พี่-น้อง” นะครับ อุดมการณ์นั้นเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่รอการเติบโต ดิน,น้ำ,สภาพอากาศ (ปัจจัยภายนอก) เป็นสิ่งที่ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต ดังนั้น “อุดมการณ์”เดียวกันจะงอกเงยและเข้มข้นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ซึ่งในขณะเดียวกันประเทศที่ไม่ได้มีการใช้คำแบ่งลำดับอายุว่า “พี่-น้อง” ก็จะไม่มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยม (โดยส่วนใหญ่) เช่น คนฝรั่งที่ใช้สรรพนามว่า “I-You”  ก็เรียกคนอายุเด็กกว่าหรือแก่กว่าด้วยสรรพนามเดียวกัน ก็จะไม่ค่อยถือเรื่องความอาวุโส แต่ถ้าในภาษานั้นมีการ “แบ่งเพศ” ในการเรียก เช่น ในภาษาแถบยุโรปหลายๆภาษา สิ่งของต่างๆจะมีเพศของมัน (บางภาษามีเพศกลางด้วย) คนในวัฒนธรรมนั้นๆก็จะซีเรียสกับลำดับชั้นทางเพศมากกว่าลำดับชั้นทางอายุแบบเราๆ หรือ ถ้าจะมีการนับถือผู้สูงวัยก็จะนับถือในแง่ความเชี่ยวชาญและสกิลมากกว่านับถือที่ตัวเลขอายุเพียวๆ

พูดง่ายๆคือ “คำ” หรือ “ภาษา” นั้นเป็น “ฐาน” ในการจัดวางชิ้นส่วนวัฒนธรรมและค่านิยมลงไป ถ้าปราศจากฐานแล้ว ก็ไม่สามารถนำค่านิยมอะไรไปวางบนนั้นได้

ภาษาจึงเป็นตัวบรรจุ “อุดมการณ์” ซึ่งจะเกี่ยวโยงและตอบสนองต่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม (และอุดมการณ์รัฐตลอดเวลา)

นอกจากตัวภาษาเองแล้ว อีกขั้นหนึ่ง คือ การเรียนรู้ภาษานั้น ๆ แล้วได้ใช้ในการอ่าน/เสพสื่อ ของประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ เราก็จะได้รับ “อุดมการณ์” ที่แอบแฝงมาในสื่อนั้นๆด้วย

เช่น ถ้าเราชอบดูหนังฟังเพลงของสหรัฐอเมริกา เราก็จะได้สมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมาด้วย
นั่นคือ อุดมการณ์ที่เรียกว่า “American dream”
 

 ความหมายโดยทั่วๆ ไปแต่เดิมของ “ความฝันอเมริกัน” อาจนิยามได้ว่าเป็น “ความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้พลเมืองบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น ปัจจุบัน ความหมายโดยทั่วไปได้ปรับเปลี่ยนเป็นว่า ความมั่งคั่งของบุคคลขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและการทำงานหนัก ไม่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระดับชั้นที่ตายตัวของสังคมซึ่งความหมายนี้ไปเปลี่ยนไปตามเวลาของประวัติศาสตร์ - Wikipedia

เพลงที่มีเนื้อหาให้ความหวังว่า “ชีวิตต้องเดินตามความฝัน” “ถ้าพยายามเต็มที่แล้วจะประสบความสำเร็จแน่นอน” โดยไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยภายนอกตัวบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จ ความเชื่อในพลังของปัจเจกบุคคลนั่นแหละ คือ “ความฝันแบบอเมริกัน”

ซึ่งจะต่างกับค่านิยมแบบไทยๆดั้งเดิมที่ยังเชื่อเรื่องผีสางนางไม้โชคชะตากำหนด ลิขิตสวรรค์ ตั่งต่าง ว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จ/ไม่สำเร็จของมนุษย์

ที่น่าสนใจคือตอนที่เราสมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมานั้นเราแทบไม่รู้ตัวเลยว่านั่นนับเป็น “อุดมการณ์”

เราคิดว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ที่ใครๆก็คิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่มาจากประเทศมหาอำนาจ ย่อมเป็นไอเดียที่เชื่อถือได้มากกว่าไอเดียแบบ อนุรักษ์นิยมบ้านๆ ของประเทศเรา ประเทศพี่ใหญ่บอกว่าเรื่องนี้ปกติ มันก็ต้องปกติสิ เอ้อ

ในเวลาต่อมาเมื่อเราเสพสื่อที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมหว่านเอาไว้อยู่ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็ค่อยๆเติบโตภายในความคิดเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

และเราจะคิดว่ามันคือเรื่อง “ปกติ”
 

ไม่ต่างอะไรกับการที่ฝนตกจากฟ้า ปลาว่ายในน้ำ


คุณเองที่กำลังอ่านบทความนี้ก็คงมีความเข้าใจเดียวกับผมว่าเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นเรื่องปกติและสากลของโลก ถ้ามีการละเมิดสิทธิกันแสดงว่าเกิดเรื่อง “ไม่ปกติ” ขึ้นและเราต้องต่อต้านการละเมิดสิทธิด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง ขั้นต่ำสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะก้าวไปได้ถึงขั้นไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเราอีกด้วย ว่าจะช่วย “บ่มเพาะ”อุดมการณ์เราขนาดไหน

Louis Althusser อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า

“Ideology has very little to do with 'consciousness' - it is profoundly unconscious.”


อุดมการณ์ทำงานน้อยนิดในระดับจิตสำนึก แต่ทำงานอย่างลึกซึ้งในระดับจิตไร้สำนึก

จิตของเราเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนยอดโผล่พ้นน้ำออกมานิดๆ (จิตสำนึก) แต่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ใต้น้ำ (จิตใต้สำนึก)

จิตใต้สำนึกเราถูกบ่มเพาะมาด้วยการเลี้ยงดู การศึกษา วัฒนธรรม ภาษา ค่านิยม สื่อที่เสพ ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆเหมือนหัวหอมใหญ่ที่ถ้าหากแกะ “เปลือก”ออกทีละชั้นๆจะพบในที่สุดว่าไม่มีอะไรอยู่ข้างใน

หากแต่เป็นเปลือกจำนวนหลายชั้นมาประกอบกัน หัวหอมใหญ่จึงเป็นหัวหอมใหญ่


ดังนั้นเวลาเรา “เลือก” ว่าฉันจะเป็นเสรีนิยม ฉันจะเป็นสังคมนิยม ฉันเป็น ฯลฯ .. เป็นเพียงแค่การตัดสินใจจาก “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น หากแต่สิ่งที่กำหนดอุดมการณ์ของเราจริง ๆ นั้นอยู่ “ใต้พื้นผิวน้ำ”ลงไป ลึกแค่ไหน มิอาจหยั่งถึง
 

เมื่อชาวไทยเดินผ่านผู้ใหญ่ต้องค้อมหัว นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อชาวมุสลิมทำละหมาดเมื่อได้ยินเสียงอะซาน นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อคนในประเทศที่เจริญแล้ว หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปก่อน

นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์


“สามัญสำนึก” คือ รูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์

ด้วยเหตุนี้ “มนุษย์” โดยปกติแบบเราๆท่านๆ จึงไม่สามารถ “เป็นอิสระ” จากอุดมการณ์ได้

ต่อให้วันนึงคุณเดินเข้าป่า (จะเจอเสือตัวใหญ่มั้ยผมก็ไม่แน่ใจ) แล้วตัดสินใจว่าต่อไปจะใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษี ไม่ออกมาพบผู้คน อาศัยเก็บผักผลไม้กิน คุณก็ไม่สามารถหนีจาก “การเมือง” (อุดมการณ์) ที่อยู่ภายใน “ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง”ได้

เช่นเดียวกัน การที่คุณสามารถ “หลุด” จากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไทยๆ ที่ต้องถืออาวุโส ต้องเชื่อฟังคนมีอำนาจและทำตามกฏระเบียบ ไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นอิสระจากอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง หากแต่คุณแค่ “ย้ายกรงขัง” ไปอยู่ในกรงใหม่ที่คุณอาจจะสบายใจกว่ากรงเก่า เท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าถามว่าแล้วมีมนุษย์ที่สามารถเป็น “อิสระ” จากอุดมการณ์ทุกอย่างได้อย่างแท้จริงมั้ย
ก็อาจจะมี

ผมเคยได้ยินมาว่าพวกเขาชอบไปรวมตัวกันที่ “โรงพยาบาลศรีธัญญา”

เผื่อใครสนใจอยากสัมภาษณ์ว่า ทำยังไงถึงชะล้างอุดมการณ์ออกไปได้ ควรลองปรึกษาบุคคลเหล่านี้ดู

โดยสรุปแล้วการ “นิยามตัวเอง” ว่าเป็นคนสมาทานอุดมการณ์แบบไหน นั้นไม่ได้สลักสำคัญในแง่ที่ว่า “นิยามแล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ” หากแต่สำคัญในแง่ของการ “รู้ตัวว่าตัวเองกำลังสมาทานอุดมการณ์ชุดใดอยู่”

ซึ่งการนิยามตัวเองว่า “เป็นกลาง” หรือ “ปราศจากอุดมการณ์” มีความหมายว่า “ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง” คุณมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าคุณเองจะเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าคุณ “ปราศจาก” อุดมการณ์

ในจุดนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณยังไม่ได้ “ปราศจากอุดมการณ์” ถึงขั้นที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังคาแดง

ขอบคุณที่อ่านจบครับ (ฝากแชร์ด้วยเด้ออ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net